นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2564 หลายคนกลายเป็นผู้ว่างงานทันที หลังจากรัฐบาล ‘ยกระดับ’ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 หลายกิจการที่เพิ่งฟื้นตัวจากการระบาดเมื่อต้นปี ต้องถูกปิดชั่วคราวอีกครั้ง
ในวันที่ระบบสาธารณสุขแบกภาระหนักอึ้งจากผู้ป่วยจากโรค COVID-19 รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ทำได้ช้าและทำได้น้อย การใช้ ‘ยาแรง’ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคร้ายเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ดูเหมือนว่า มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจะตามไม่ทันมาตรการควบคุมโรค COVID-19
รัฐบาลไทยไม่ได้ไร้เดียงสาหรืออ่อนประสบการณ์ในการจัดการกับการระบาดของโรค COVID-19 บทเรียนจากปี พ.ศ. 2563 สอนเราว่า มาตรการควบคุมการระบาดกับมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นเป็น ‘เรื่องเดียวกัน’ ต้องคิดพร้อมกัน ต้องมาด้วยกัน
รัฐบาลที่มีความรับผิดชอบมากพอต้องมีคำตอบให้ประชาชนผู้ได้รับกระทบว่าจะให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงที่พวกเขาไม่สามารถทำงานได้
สังคมที่เหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงเฉกเช่นสังคมไทย ทำให้เราเห็นความแตกต่างของผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด เมื่อคนรวยและคนชั้นกลางต้องกักตัวอยู่บ้าน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คือ ‘แรงงานมีทักษะ’ ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือหลักในการทำมาหากิน แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนจนที่มักทำงานในภาคบริการ เป็น ‘แรงงานนอกระบบ’ ลักษณะงานของพวกเขาต้องใช้แรงกาย ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือทำงานไม่ได้ การอยู่แต่บ้านก็เท่ากับไม่ได้ทำงาน
เมื่อไม่ได้ทำงานก็ไม่ได้รับค่าจ้าง เราคงไม่ต้องเสียเวลาพูดถึงเงินออม พวกเขาไม่มีอยู่แล้ว จากสถิติก็บอกว่าคนไทย 12.2 ล้านคนมีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท นั่นหมายความว่า เค้าไม่สามารถใช้เงินออมมาประทังชีวิตได้
ความเหลื่อมล้ำเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ส่วนใหญ่มาจากความคิดช้า ทำช้า ตัดสินใจช้าของรัฐบาล
‘แรงงาน’ กับ ‘ผู้ประกอบการ’ เป็น 2 ส่วนที่แยกจากกันไม่ออก หลายบทความได้พูดถึงแรงงานกันไปบ้างแล้ว แต่ดูเหมือนว่าภาระที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่ความยากของมันก็คือว่า แต่ละธุรกิจก็มีลักษณะการดำเนินการ ข้อจำกัด และทางเลือกที่แตกต่างกัน
ก่อนหน้านี้ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนที่เป็นเจ้าของร้านหมูกระทะบนถนนนิมมานเหมินทร์ที่ จ.เชียงใหม่ ด้วยการระบาดของโรคที่รุนแรง ผนวกกับมาตรการที่รัฐใช้ ร้านหมูกระทะที่เคยมีรายได้วันละหลายหมื่นบาท จ้างลูกน้อง 5 คน สั่งเนื้อหมูวันละหลายสิบโล สั่งถ่านวันละหลายกระสอบ ก็ต้องปรับตัวมาขายแบบ delivery ถ้าพูดจากคนที่ไม่ได้เข้าใจธรรมชาติของธุรกิจ ก็จะมองว่า “ยังไหวอยู่” แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ผู้ประกอบการประเภทนี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้านพร้อม ๆ กัน
อย่างแรกก็คือ ‘ความไม่แน่นอน’ ที่เกิดจากการระบาดของโรค เพราะเค้าไม่รู้เลยว่าสถานการณ์มันจะดีขึ้นตอนไหน และรัฐจะสั่งปิดร้านวันไหน การระบาด 2 รอบที่ผ่านมา แม้จะนั่งทานในร้านได้ แต่คนก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ใช้ระยะเวลานานกว่าจะขายได้เท่าเดิม
อย่างต่อไปคือ ‘ต้นทุน’ จากยอดขายที่ลดลงทำให้ร้านไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ ต้นทุนนี้มีหลายอย่าง เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าวัตถุดิบ รวมไปถึงค่าคนงาน ค่าเช่าดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด ส่วนมาก ร้านประเภทนี้มักทำสัญญาเช่าระยะยาวไว้ตั้งแต่ก่อนมีวิกฤต COVID-19 เจ้าของที่ไม่สามารถช่วยเรื่องค่าเช่าได้เพราะมองว่า ร้านก็ยังเปิดขายอยู่ (ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ยอดขายลดลง) เรื่องนี้ ผู้ประกอบการเจอทั้งขึ้นทั้งล่อง ถ้าปิดร้าน ก็ไม่มีรายได้ แต่ยังต้องเสียค่าเช่า แต่ถ้าเปิด ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แต่ยอดขายก็จะไม่มากพอที่จะทำให้กำไรตกถึงมือผู้ประกอบการ ยิ่งเป็นร้านอย่างชาบู หมูกระทะ การทำ delivery ไม่ใช่เรื่องง่าย
ที่แย่ไปกว่านั้น คือ รัฐบาลไม่มีมาตรการที่ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการ และเท่าที่ออกมา ผู้ประกอบการก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ถ้าไปค้นดูมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ก็มักจะเป็น ‘โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย’ แน่นอนว่าเป็นโครงการที่ดี แต่เจ้าของร้านหมูกระทะรายนี้บอกว่า เขาไม่รู้ว่าจะกู้มาทำอะไร ถ้าเป็นช่วงที่เปิดร้านได้ปกติ ก็มักจะกู้เพื่อลงทุน เพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่ตอนนี้ยอดขายมันไม่ได้ พวกมาคิดเรื่องดอกเบี้ย การกู้ก็อาจจะไม่คุ้ม
การกู้เงินไม่ได้ช่วยให้หาเงินได้เยอะขึ้นในสภาวะเช่นนี้ และถ้ากู้มาแล้ว แต่เศรษฐกิจยังเป็นแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายคืน ในเรื่องช่วยค่าน้ำค่าไฟ ก็เป็นแค่หลักร้อยหลักพัน และถ้าจะต้องปิดร้าน ก็ไม่ต้องเสียพวกนี้อยู่แล้ว
จริงๆ แล้ว ปัญหาใหญ่ของคนทำธุรกิจ คงเป็นเรื่อง ‘ค่าเช่า’ ถ้าเจอเจ้าของที่ที่เข้าใจ ก็อาจจะตกลงเรื่องสัญญากันได้ แต่ส่วนมาก ก็จะเจอเจ้าของที่ที่ยึดทุกอย่างตามสัญญา ตามตัวอักษร ไม่อะลุ้มอล่วย รัฐบาลน่าจะเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เช่ากับเจ้าของที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ร้านจะต้องปิด หรือบางร้าน ยังให้พนักงานอยู่ที่ร้านต่อไปได้แม้ร้านจะปิด อย่างน้อย ลูกน้องก็ไม่ต้องเคว้งคว้าง ไร้ที่อยู่ ขณะที่ร้านบางร้านก็ให้พนักงานออกเลย
รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนร้านที่ไม่ทิ้งลูกน้อง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันมีเรื่องของมนุษยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง การช่วยเหลือกันยามทุกข์ยาก น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้ให้ค่ากับประเด็นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับทุกอย่างอยู่ฝ่ายเดียว
ถามว่า แล้วมีมาตรการอย่างอื่นอีกไหมที่รัฐบาลสามารถทำได้ ต้นปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ซึ่งเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริหารของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ระบุว่า มาตรการเพิ่มเติมที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการ ประกอบด้วย
- การลดดอกเบี้ยเงินกู้และพักชำระหนี้
- การลดหย่อนทางภาษี/เลื่อนการชำระภาษี
- จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ
- กระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้ที่เสียภาษี
- การปรับหลักเกณฑ์ พ.ร.ก. เงินกู้ให้เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน
จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลได้ตอบสนองต่อผลสำรวจ/ข้อเรียกร้องนี้อย่างไร
เมื่อไปดูมาตรการในต่างประเทศ พบว่ามาตรการทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียมีความน่าสนใจ แม้การระบาดของโรค COVID-19 จะทำให้ออสเตรเลียเผชิญกับการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 30 ปี แต่เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี ค.ศ.2563 โตขึ้นมากกว่า 3%
ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ที่เศรษฐกิจโตขึ้นมากกว่า 3% ใน 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งเกิดมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจัดการกับการระบาดของโรคได้อย่างดีเยี่ยม
หนึ่งในสาเหตุหลักของความสำเร็จนี้ก็คือ การที่ออสเตรเลียให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจรายย่อยอย่างจริงจัง ผ่านมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นที่หลากหลาย หนึ่งมาตรการที่สำคัญ คือ JobKeeper Payment ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยให้บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 สามารถจ้างลูกน้องต่อไปได้ โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบด้วย 1,500 ดอลลาร์ออสเตรเลีย(ราว 36,000 บาท)/2 สัปดาห์/ลูกจ้าง 1 คน ซึ่งกว่า หนึ่งในสามของกำลังแรงงานทั้งหมดของออสเตรเลีย หรือราว 3.6 ล้านคน เข้าร่วมโครงการนี้
จากการศึกษาโดย Reserve Bank of Australia พบว่า ราว 20% ของแรงงานซึ่งได้รับ JobKeeper Payment จะถูกเลิกจ้างในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ถ้าหากพวกเขา ‘ไม่ได้รับการช่วยเหลือ’ จากโครงการ ซึ่งหมายความว่าโครงการ JopKeeper Payment ได้ช่วยให้คนออสเตรเลียไม่ต้องตกงานกว่า 7 แสนคน
นอกจากนั้น ยังมีโครงการที่ชื่อว่า Boosting Cash Flow for Employers สำหรับผู้ประกอบการระดับ SME ที่ไม่ปลดพนักงานออก โดยจะจ่ายให้มากถึง 20,000-100,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 480,000 – 2,400,000 บาท) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ นายจ้างที่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกน้องยังมีสิทธิได้รับเงินขั้นต่ำอีก 10,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 240,000 บาท)
ดังนั้น การที่เศรษฐกิจของออสเตรเลียยังคงดำเนินต่อไปได้ แม้จะจัดการกับการระบาดด้วยมาตรการที่รุนแรง ทั้งการห้ามการเดินทางข้ามรัฐ การห้ามชุมนุมเกิน 4 คน รวมถึงห้ามออกจากบ้านเว้นแต่ซื้ออาหารและไปตรวจโรค COVID-19 เป็นเพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจรายย่อยและการจ้างงาน
แต่นอกจากมาตรการทางเศรษฐกิจจะคลอดออกมาช้าแล้ว รัฐบาลไทยยังหมกหมุ่นอยู่แต่ตัวเลข GDP ที่จะเอา 4% ให้ได้ โดยระบุว่าจะอาศัยการส่งออก การลงทุนจากภาครัฐ และการบริโภคของประชาชน
แล้วอะไรล่ะที่สำคัญที่สุด?
จากงานวิจัยล่าสุดของ ศาสตราจารย์ Peter Warr แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย บอกว่า ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา คือ ‘การลงทุน’ ที่ทำให้ปริมาณของทุนทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร โรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขึ้น
ทุนเหล่านี้มาจากการลงทุนของต่างประเทศ การลงทุนของภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชน โดยที่ 69% ของการสร้างทุนทั้งหมดในประเทศมาจากการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนไม่ได้เสกขึ้นมาได้ แต่มันมาจากเงินออมและความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ
ในวันที่รัฐบาลควบคุมการระบาดไม่ได้ และในวันที่ธุรกิจล้มหายตายจากจนไม่สามารถออมได้ น่ากังวลว่าการลงทุนซึ่งเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม GDP ไม่ใช่ดัชนีที่สามารถวัดความกินดีอยู่ดีของคนในประเทศได้ รัฐบาลควรเลิกหมกหมุ่นกับตัวเลขไม่กี่หลัก และหันมามองว่าสภาพชีวิตความเป็นจริง ทั้งของคนทั่วไปและคนชายขอบเป็นอย่างไร โดยเฉพาะหลังจากการประกาศใช้มาตรการควบคุมโรคระบาด
มีคำพูด ๆ หนึ่งที่บอกว่า “ตายเพราะอดอยากมากกว่าโควิด”
เราจะยินดีกับชัยชนะจากการควบคุมโรคได้อย่างไร ในวันที่คนส่วนใหญ่ยังคงหนีตายจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากมาตรการที่ใช้ควบคุมโรค
ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับ 2 Js ซึ่งก็คือ ‘Jobs and Jabs’ การสร้างการจ้างงานต้องควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน (่jab แปลว่าแทง หมายถึงการฉีดวัคซีน) เพื่อให้การควบคุมโรคกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมกัน