ทุกครั้งที่สังคมเดินเข้าสู่เขต ‘วิกฤติ’ แน่นอนว่ามันกระทบเรื่องของ ‘เศรษฐกิจ’ ไปด้วยแบบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และทันทีที่เศรษฐกิจดิ่ง ก็หนีไม่พ้นที่จะทำให้ใจคนหมดหวังตามไปด้วย
แน่นอนว่าการระบาดร่วมสมัยอย่าง COVID-19 ตั้งแต่ปลาย พ.ศ.2562 ที่หลายคนบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หนักหนารองจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็น่าจะหนักในใจของใครหลายคนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อการระบาดรอบล่าสุดด้วยสายพันธุ์ที่รวดเร็วรุนแรงขึ้น มีคนตายจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อเพิ่มไม่หยุด
งานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดทำขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติคน’ พาเราไปดูว่าผลกระทบของเศรษฐกิจที่ซบเซาจากโรคระบาด ทำอะไรกับใจคนได้บ้าง โดยพูดถึงทั้งเคสในไทย และเคสต่างประเทศทั่วโลกที่ผ่านมา
งานวิจัยฉบับนี้ตีพิมพ์เมื่อ พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ระบุว่า จากงานศึกษาในอดีตและข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้ส่งสัญญาณเตือนว่าวิกฤติ COVID-19 น่าจะทำให้ปัญหาสุขภาพจิตในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเต็มไปด้วยวิกฤติเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนรอบด้าน
เจาะข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต และฐานข้อมูลการสืบค้นของคนไทย
มีสามตัวชี้วัดที่น่าสนใจที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เพื่อยืนยันว่า เรื่องของผลกระทบเศรษฐกิจมีนัยสำคัญต่อหัวจิตหัวใจคน และอัตราฆ่าตัวตาย
‘การสำรวจปัญหาสุขภาพจิตของประชากรไทย พ.ศ.2556’ และ ‘อัตราการฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2540–2562’ บอกถึงเหตุการณ์ต้มยำกุ้งปี 40 ซึ่งทำให้มีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุดระหว่างปี พ.ศ.2540–2560 โดยในปี พ.ศ.2541–2542 มีอัตราการฆ่าตัวตายมากถึง 8.12–8.59 คน ต่อประชากร 1 แสนคน จากนั้นก็น้อยลงเรื่อยๆ และเพิ่มอีกทีในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2552–2562 (ปีสุดท้ายที่กรมสุขภาพจิตทำการสำรวจ)
ทว่า กรมสุขภาพจิตได้รายงานผ่านเว็บไซต์ด้วยว่า ในช่วง COVID-19 ไตรมาส 1–2 ของปี พ.ศ.2563 อัตราฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2562 อยู่ที่ 7.3 คนต่อประชากร 1 แสนคน (เป็นจำนวนเกือบใกล้เคียงกับวิกฤติต้มยำกุ้ง)
ขณะเดียวกันปี ‘ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการจากหน่วยงานในกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศรายปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558–2563’ พบว่า ปี พ.ศ.2563 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น 2 เท่าในตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จาก 1.4 ล้านคนใน พ.ศ.2558 เป็น 2.7 ล้านคนใน พ.ศ.2563
ตัวเลขน่าจับตา คือ มีผู้ป่วยซึมเศร้ามากถึง 355,537 คน และโรควิตกกังวล 356,988 คน และผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากปี พ.ศ.2558 (จาก 4,722 คน สู่ 23,510 คน) ซึ่งผู้ทำวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขของปี พ.ศ.2563 อาจจะมากกว่านั้น เพราะในช่วงที่ล็อกดาวน์ก็อาจจะมีผู้ป่วยบางรายไม่ได้เข้ารับบริการต่อเนื่อง
อีกข้อมูลที่น่าสนใจจากฐานสืบค้นข้อมูล trend.google ระบุสอดคล้องกันด้วยว่า ในหลายปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Doctor Google’ หรือการสืบค้นข้อมูลโรคผ่านทางเสิร์ชเบราเซอร์ ซึ่งพบว่า ในปี พ.ศ.2560 –2563 มีการค้นหาคำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ มากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ตามมาด้วย ‘ฆ่าตัวตาย’ ทว่านักวิจัยก็ระบุ ไว้ว่า ข้อมูลการเสิร์ชอาจแสดงแค่ปรากฏการณ์ ไม่ได้สื่อถึงสุขภาพจิตเสมอไป แต่ก็เป็นภาพรวมหนึ่งที่สะท้อนแนวโน้มสุขภาพจิตในประเทศไทย ขณะปัจจุบันได้
สรุปปัจจัยกระทบสุขภาพจิตในยุควิกฤติต่างๆ
งานวิจัยพาไปดูงานศึกษากรณีต่างประเทศว่าวิกฤติต่างๆ ในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตผู้คนมากน้อยแค่ไหน โดยมีเคสศึกษาในอดีต และ COVID-19 มาบอกเล่าให้ฟัง ซึ่งผู้วิจัยสรุปปัจจัยที่ส่งผลกับสุขภาพจิตออกมา เป็น 4 กลุ่ม
ปัจจัยมหภาค
เป็นปัจจัยที่บอกว่าเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองภาพรวมแย่ลง มักจะพาให้ใจคนทุกช่วงวัยแย่ลงได้ด้วย
งานวิจัย ‘Are recessions good for your health?. The Quarterly journal of economics’ ในปี ค.ศ.2000 ระบุว่าในสหรัฐอเมริกาพบอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่ม 1.3% เมื่ออัตราว่างงานของรัฐเพิ่มขึ้น 1%
ด้านวิจัย ‘Short-run effects of job loss on health conditions, health insurance, and health care utilization. Journal of health economics’ ในปี ค.ศ.2015 ซึ่งทำการศึกษาบุคคลเดิมก่อนและหลังตกงาน พบว่าการสูญเสียงานและรายได้ของผู้คนกลุ่มนั้น ส่งผลให้สุขภาพจิตและกายแย่ลง เพราะมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตเพิ่มขึ้น
ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (Poverty and common mental) ระบุว่า ความยากจนส่งผลให้สุขภาพจิตของคนแย่ลง โดยพบความสัมพันธ์เชิงบวก 70% เลยทีเดียว ระหว่างความผิดปกติทางจิตกับความยากจน
นอกจากนี้งานศึกษาในยุโรปยังพบว่า กลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำ ยากจน อายุมาก มีโอกาสหรือการสนับสนุนทางสังคมน้อย และเผชิญความไม่มั่นคงในการจ้างงาน จะพบโรควิตกจริตและซึมเศร้าค่อนข้างสูงกว่าคนกลุ่มอื่น
และยังมีวิจัยอีกฉบับพบว่า ความกังวลทางด้านการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนยากจน ทำให้ประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการรับรู้ลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจนได้มากขึ้น
ความเครียดในสังคมก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตเช่นกัน งานศึกษาที่ญี่ปุ่นชื่อ ‘Prevalence of Health Care Worker Burnout During the Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) Pandemic in Japan’ เมื่อปี ค.ศ.2020 พบว่า ในการระบาด COVID-19 ระลอกแรก พบอากาหมดไฟในกลุ่มคนการแพทย์ซึ่งคาบเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าถึง 30% โดยพบในพยาบาลมากที่สุด
ปัจจัยระดับบุคคล
‘ความอดทนต่อความไม่แน่นอน’ (tolerance to uncertainty) เป็นบุคลิกหนึ่งที่ชี้วัด่ามีผลต่อสุขภาพจิต โดยในอังกฤษพบว่า เมื่อสถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง คนที่อดทนต่อความไม่แน่นอนได้น้อย จะทุกข์ใจมากกว่าคนกลุ่มอื่น และมีโอกาสเกิดการเจ็บป่วยทางจิตเภทได้รุนแรง โดยในกลุ่มของคนที่ต้องแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว โดยเฉพาะผู้หญิง จะพบปัญหาสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มอื่น
มาตรการปิดเมืองและการกักตัว
งานศึกษาปี ค.ศ.2020 ‘The psychological impact of quarantine and how to reduce it: Rapid review of the evidence.’ พบว่า ผู้ที่ต้องกักตัวจากโรคระบาด ทำให้พวกเขาเกิดความวุ่นวายทางอารมณ์ ความกลัว วิตกกังวลใจ ซึมเศร้า โมโหง่าย นอนไม่หลับ และมีความเครียดต่อเนื่องหลังเหตุการณ์ตามมา ซึ่งมีการยืนยันเชิงข้อมูลคล้ายกันทั้งในอังกฤษ ญี่ปุ่น อิตาลี สวีเดน นอกจากนั้นการปิดเมืองและกักตัว ยังทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว มีปัญหาหนักขึ้น ในอังกฤษและอเมริกาพบว่า อัตราความพยายามฆ่าตัวตายและการใช้ยาเสพติด สูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น
ในช่วงกว่าหนึ่งปีครึ่งที่ทั่วโลกใช้ชีวิตกับการระบาดใหม่อย่างเป็นทางการ COVID-19 เป็นตัวแปรที่ทำให้ผู้คนมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ทั้งจากสถานการณ์ความไม่แน่นอน และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่สั่นคลอน
ในปี พ.ศ.2564 แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานสุขภาพจิตออกมาอย่างเป็นทางการ แต่การไล่ดูข้อมูลย้อนกลับ และข้อมูลจากประเทศอื่นก็พบว่า มีความเป็นไปได้ที่วิกฤติ COVID-19 จะส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยและอัตราการจบชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (และอาจจะมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง) ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสุขภาพจิตคนไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ไม่รวดเร็วนัก
COVID-19 กระทบหลากมิติของผู้คน ทั้งวิถีชีวิต หน้าที่การงาน ความยากจนฉับพลัน ความภาคภูมิใจในตัวเอง และสำคัญที่สุดคือเรื่อง ‘ปากท้อง’ ทั้งหมดเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก และนำมาซึ่งผลกระทบทางจิตใจ จากความไม่แน่นอนของภาพรวมชีวิตตนเอง และผู้อื่น ทั้งในวันนี้ และในอนาคตข้างหน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan