โรคซึมเศร้า ความเครียด อาการวิตกกังวล เป็นปัญหาสุขภาพทางจิตที่ถูกยกมาพูดถึงในปัจจุบันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับมือ การรักษา การเยียวยาจิตใจ
ในหมู่ของศิลปินและไอดอลเกาหลี เรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง แทยอน สมาชิกวง Girls’ Generation ออกมาเปิดเผยผ่านอินสตาแกรมสตอรี่ว่า เธอกำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้า และพยายามที่จะรักษาอยู่
ไม่เพียงแค่แทยอน ที่เคยออกมาเปิดเผยถึงอาการของตัวเอง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็มีศิลปิน และไอดอลอีกหลายคน ที่ได้ออกมาเปิดเผย และเล่าถึงอาการ ประสบการณ์ความเครียดที่พวกเขาได้รับ และต่อสู้ ทั้งยังมีกรณีที่น่าเศร้า อย่างการฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย เพราะความเครียด และโรคที่เกิดขึ้นด้วย
ความเครียดจากการไม่ได้แสดงออก ความรู้สึกว่างเปล่า และความคิดเห็นด้านลบ
เพราะการเป็นไอดอล จำเป็นต้องร้อง ต้องเต้น และต้องระวังเรื่องการวางตัว มีบุคลิกที่ดีต่อหน้าแฟนๆ ยิ้มแย้ม แม้ต้องทำงานหนักในช่วงมีงานที่อัดแน่น ดังนั้น เรื่องของความสัมพันธ์ส่วนตัว ไปจนถึงเรื่องของปัญหาสุขภาพจิต จึงกลายเป็นเหมือนเรื่องต้องห้ามในวงการที่ไม่ค่อยมีการพูดถึง แต่เรากลับเห็นปัญหานี้ ที่แพร่หลาย และมีไอดอลมากมายที่ต้องเผชิญกับอาการเครียดเหล่านี้ในวงการ K-Pop
กรณีการฆ่าตัวตายของจงฮยอน วง SHINee จากอาการโรคซึมเศร้า ในช่วงปลายปี 2017 ทำให้ประเด็นเรื่องสุขภาพจิต เริ่มถูกพูดถึงและถูกตระหนักมากขึ้นในวงการ K-Pop ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการไม่สามารถแสดงออกทางอารมณ์ เป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะการต้องรักษาภาพลักษณ์ที่ดีตลอดว่า ซึ่งปัญหานี้ จงฮยอนเคยเล่าว่า ในรายการที่ไปออกว่า สำหรับเขามันเป็นเรื่องยากที่จะพูดถึงความรู้สึกของตัวเอง เพราะเขากลัวจะถูกตัดสินจากสาธารณะ และคนที่ไม่ได้สนิทกับเขา
ปาร์คคยอง แห่งวง Block B ก็เคยให้สัมภาษณ์ผ่านทางBBC Korea ถึงแรงกดดัน และความยากลำบากทางจิตใจของการเป็นไอดอล และคนที่มีชื่อเสียงว่า “มีคนจำนวนมากที่เดบิวต์โดยที่ไม่มีความรู้สึกของตัวเอง พวกเขามาตระหนักได้ในภายหลังว่า ทุกการเคลื่อนไหวและทุกคำพูดที่พวกเขาพูดนั้นกำลังถูกเฝ้าสังเกต”
และ “โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าคนดังมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขา … พวกเขาไม่มีโอกาสมากมายที่จะแสดงว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรจริงๆ” ซึ่งเขาเองก็เล่าว่า เขาไม่เคยเปิดใจกับใครเลย เพราะเขาไม่ต้องการเป็นภาระให้คนที่เขาห่วงใย
โชอา อดีตสมาชิกวง AOA เป็นไอดอลอีกคน ที่ออกมาประกาศถึงอาการโรคซึมเศร้า และนอนไม่หลับ จนทำให้เธอตัดสินใจออกจากวง โดยเธอบอกกับแฟนๆ ว่า เธอต้องรับมือกับโรคนี้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าเธอจะมี ‘ภาพลักษณ์ที่สดใส’ แต่แท้จริงแล้ว เธอมักจะร้องไห้ระหว่างการโปรโมทเป็นประจำ และเพื่อไม่เห็นแฟนๆ ต้องกังวลกับอาการป่วย ทำให้เธอต้องคอยบังคับตัวเองให้ปรากฏตัวอย่างมีความสุข ซึ่งเมื่อยิ่งบังคับตัวเอง อาการป่วยของเธอกลับแย่ลงเรื่อยๆ
ไม่เพียงแค่ประเด็นเรื่องการแสดงออกของอารมณ์ แต่ยังมีประเด็นของความโดดเดี่ยว ความเหงา การกังวลในความสามารถของตัวเอง และการไม่รู้เป้าหมายที่ไอดอลเกาหลีเผชิญ
IU นักร้องโซโล่หญิงที่โด่งดังของเกาหลีใต้ แม้เธอจะเป็นศิลปินที่ได้รับการชื่นชมจากผลงานเพลงมากมาย แต่เธอก็ได้เล่าให้ฟัง ในรายการ Healing Camp ว่า เธอเคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่างเปล่า และกังวลในความสามารถของตัวเองในฐานะนักร้อง เธอจึงพยายามด้วยการกินอาหาร จนอาเจียนออกมา และทนทุกข์กับโรคบูลิเมีย (โรคล้วงคอ) เป็นเวลาหลายปี ก่อนจะได้รับการรักษา
เช่นเดียวกับมินจี อดีตสมาชิกวง 2NE1 ที่เล่าว่า เธอเริ่มต้นเป็นไอดอลตั้งแต่อายุยังน้อย (14 ปี) ซึ่งทำให้เธอขาดการเข้าสังคมกับเพื่อนวัยเด็ก และไม่รู้วิธีเริ่มความสัมพันธ์กับผู้อื่น ในช่วงวัย 16-17 ปี ระหว่างช่วงการโปรโมทเพลง ‘Can’t Nobody’ และ ‘I Am the Best’ เป็นช่วงที่เธอประสบสภาวะซึมเศร้า และมีความคิดฆ่าตัวตาย ทั้งยังสับสนในแพชชั่นของตัวเอง เธอเล่าว่าเมื่อจบการแสดงบนเวที เธอมักรู้สึกว่างเปล่า และไม่รู้ว่าชีวิตของตัวเองควรไปในทางไหน
ไอดอลเกาหลี ยังเป็นอาชีพหนึ่งที่รับมือความคิดเห็นมากที่สุด โดยเฉพาะจากชาวเน็ตออนไลน์ ซึ่งข้อความเหล่านี้ มีทั้งในแง่บวก และลบ ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของตัวศิลปินด้วย
มินจี เล่าว่าเธอเองเคยผ่านช่วงที่วงถูกคอมเมนต์เรื่องหน้าตา และรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากไอดอลวงอื่นๆ หรือ RM หัวหน้าแห่งวง BTS ที่เล่าในเชิงเดียวกันว่า เขาเคยนั่งคิดถึงคอมเมนต์ที่ชาวเน็ตได้พิมพ์ในเวลา 5 วินาทีว่า ‘ฉันไม่ชอบผู้ชายคนนี้’ ไปอีกเป็นเวลา 5 ชั่วโมง ในระยะเวลา 5 วันเลยด้วย
ซึ่งผู้จัดการวงไอดอลเกาหลีเอง ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ว่า
“แม้เขาจะพยายามปกป้องศิลปินจากโรคซึมเศร้า แต่มันก็ยากที่จะปกป้องศิลปินจากความเครียด ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะคิดว่า พวกเขาจะยุ่งเกินกว่าที่จะอ่านความคิดเห็นออนไลน์เกี่ยวกับพวกเขา แต่ความจริงแล้วพวกเขาอ่านมันทั้งหมด และมันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ผู้จัดการกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ ที่กลายเป็นการทำร้ายร่างกาย เกิดเป็นการฟ้องร้อง และคดีความ อย่างของคู ฮารา อดีตสมาชิกวง KARA รวมถึงความเครียดอื่นๆ จากคอมเมนต์เรื่องการศัลยกรรมของเธอ จนทำให้เธอตัดสินใจพยายามฆ่าตัวตายเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือไว้ทัน
จิตแพทย์ กับการเข้ารับการรักษา
ประเด็นเรื่องความเครียด และโรคซึมเศร้าของศิลปิน ยังเป็นที่พูดถึงในวงการแพทย์เช่นกัน โดยคิม บยองซูจิตแพทย์แห่งศูนย์การแพทย์อาซาน ซึ่งมีผู้ป่วยที่มีชื่อเสียงหลายคนเข้ารับการรักษาได้ชี้ว่า ไอดอลและศิลปินที่เป็นที่สนใจของสาธารณชนมีความเสี่ยงสูงต่อสภาวะซึมเศร้า จากสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่แน่นอน และการแยกแยะตัวตน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะซึมเศร้าบ่อยครั้ง
“การศึกษาทางจิตวิทยาแสดงให้เห็นแล้วว่า เซเลบที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์ และศิลปะมีความเป็นไปได้สูงขึ้นในการพัฒนาภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนธรรมดา ผู้คนในวิชาชีพดังกล่าวมีความอ่อนไหวต่ออารมณ์แปรปรวนและการบริโภคอารมณ์มากกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า” เขากล่าว
ทั้งคิมยังเสริมว่า บุคคลสาธารณะต้องผ่านการแยกแยะตัวตนซึ่งแบ่งออกเป็นอัตลักษณ์ ‘ตัวตนของสังคม’ และ ‘ตัวตนจริง’ ซึ่งเมื่อช่องว่างของตัวตนกว้างขึ้น พวกเขาจะเสียสมดุล และอาจสูญเสียตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง อยู่กับรูปลักษณ์ที่สวมหน้ากาก ที่อาจทำลายตัวของพวกเขาได้
นอกจากนี้ สำหรับไอดอล และศิลปินเกาหลี ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าพบจิตแพทย์ หรือไปยังคลินิกเพื่อรักษาตัว ซึ่ง ปาร์ค ซังฮี จิตแพทย์แห่งศูนย์ให้คำปรึกษา Sharon และอดีตไอดอลในยุค 90 ก็ได้แสดงความเห็นว่า บุคคลที่มีชื่อเสียงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคทางจิต แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษา ซึ่งบางครั้งคือการลังเลใจที่จะไปหาจิตแพทย์ เพราะกลัวเป็นที่รับรู้ของสังคม
ซึ่งจิตแพทย์ยังเล่าว่า ไอดอล และศิลปินหลายคนต้องแอบไปพบแพทย์ ในขณะที่ส่วนใหญ่ยังคงซ่อนอาการป่วยทางจิตของพวกเขาอยู่
การต่อสู้ และการเยียวยา
“การกลายเป็นคนมีชื่อเสียงอาจเหมือนกับการข้ามแม่น้ำที่คุณไม่สามารถหวนกลับได้ บางคนอาจคิดว่าคนดังมักจะถูกรายล้อมไปด้วยผู้คน แต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวของพวกเขานั้นจำกัด และแคบจริงๆเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ที่จริงจังกับผู้อื่นเพราะพวกเขามักป้องกันตัวเองด้วยความคิดว่า คนเข้าหาพวกเขาเพราะรูปลักษณ์ และชื่อเสียง ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาโดดเดี่ยว แม้กระทั่งกับเพื่อนสนิท และครอบครัว” จิตแพทย์ คิมกล่าว
แม้ว่าจะต้องทนทุกข์กับอาการเครียด และโรคซึมเศร้า แต่ไอดอลหลายคนก็ออกมายอมรับ เปิดเผยถึงอาการ และได้ใช้งานของพวกเขาในการเยียวยาอาการป่วยทางจิตทางเผชิญอยู่ เช่น Suga แร็ปเปอร์ของวง BTS ที่เคยเปิดเผยเรื่องการต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า ซึ่งเขาได้ออกมิกซ์เทป Agust D ที่พูดถึงช่วงที่เขาเป็นภาวะซึมเศร้า, OCD และหวาดกลัวสังคม ในช่วงกำลังจะเป็นไอดอล
Suga เล่าว่าอาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดกับเขาจริง และเพลง ‘The Last’ ก็เป็นเพลงที่พูดถึงการขอความช่วยเหลือทางจิต อาการที่กำเริบ การไปพบหมอ ซึ่งเขาเล่าที่มาของการแต่งเพลงนี้ว่า อาการหวั่นวิตกเป็นเรื่องที่เกิดในทุกช่วงเวลา “ผมเองก็หวั่นวิตก คุณเองก็เป็นเหมือนกัน ผมจึงอยากให้เราได้มาเรียนรู้มันไปด้วยกัน” และนอกจากนี้ เพลงของวง BTS เองยังมักมีเนื้อหาพูดถึงการรักตัวเอง ให้คุณค่าตัวเอง และต่อสู้กับความกดดันต่างๆ ด้วย
ทาโบลแร็ปเปอร์ของวง Epik High ก็เป็นศิลปินอีกคนที่เคยเล่าว่าเขาเผชิญกับอาการหดหู่ เครียด และนอนไม่หลับ ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำเพลงที่พูดถึงปัญหาสุขภาพจิตขึ้นมา ในอัลบั้มล่าสุดของวง ‘Sleepless In __________’
แทร็กหนึ่งในอัลบั้มนี้ ที่ชื่อว่า Eternal Sunshine มีท่อนฮุคที่ถามว่า ‘คุณรู้สึกเหงาหรือเปล่า? คุณไม่สบายด้วยความวิตกกังวลหรือเปล่า?’ ซึ่งทาโบลเล่าว่า นั่นคือสิ่งที่เขารู้สึก ในเนื้อเพลงเขาถึงเพิ่มคำว่า ‘Same here’ (ที่นี่ก็เหมือนกัน) เพราะเขารู้สึกว่าผู้คนจำนวนมากกำลังรู้สึกแบบนี้ และเป็นการเตือนตัวเองว่าเขาไม่ใช่คนเดียวในโลกที่รู้สึกเช่นนี้ และหวังว่าจะทำให้คนอื่นๆ ได้สบายใจเมื่อรู้ว่ามีคนที่รู้สึกเช่นเดียวกัน
การออกมาเปิดเผย และพูดคุยกับแฟนๆ ของแทยอน ผ่านทาง Q&A ในอินสตาแกรมสตอรี่ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เธอได้ให้กำลังใจแฟนคลับของเธอที่กำลังต่อสู้กับอาการซึมเศร้าด้วยประโยคว่า “มันจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน” ทั้งยังเล่าว่า การที่เธอมาพูดคุยแบบนี้ “เพราะฉันคิดว่าตัวฉันเองต้องการความเข้มแข็งมากขึ้น ขอบคุณทุกคน ฉันได้กำลังใจจากทุกๆ คนวันนี้ และฉันจะไม่เป็นไร” ทั้งยังคิดว่าการพูดคุยกันจะทำให้ได้รู้จักกันมาขึ้นด้วย
ดร.ซนซุกฮัน แพทย์ประสาทวิทยาได้กล่าวถึงวิธีที่แทยอน ได้ออกมาโพสต์พูดคุยกับแฟนๆ ว่า เป็นเหมือนการ ‘ร้องไห้อย่างกล้าหาญเพื่อขอความช่วยเหลือ’ ซึ่งบ่อยครั้ง ผู้มีชื่อเสียงจะไม่เข้ารับการรักษา หรือมักจะหยุดรับการรักษาไป เนื่องจากมุมมองเชิงลบของสังคมที่มีต่อโรคซึมเศร้า ที่มีผลต่อจิตใจพวกเขา
ดร.ซน ยังพูดถึงปฏิกิริยาของแฟนคลับ ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยในสถานการณ์นี้ ด้วยการแสดงการสนับสนุน และความรัก แทนที่การวิจารณ์ที่อาจจะโจมตีจิตใจของเธอ ที่จะส่งผลเสียต่ออาการ ซึ่งในครั้งนี้ ถือเป็นความกล้าหาญอย่างมากที่เธอสารภาพถึงการดิ้นรนกับสิ่งที่เผชิญ ความเจ็บป่วยและกำลังขอความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ดร. ซนยังสรุปด้วยว่า อาการซึมเศร้าเป็นสิ่งที่สามารถส่งผลต่อคนที่มีชื่อเสียง และคนทั่วไปเช่นเดียวกันเมื่อมีผู้ที่กล้าขอความช่วยเหลือ จึงเป็นเวลาที่จะให้กำลังใจและปลอบโยนพวกเขาแทนที่จะตัดสินพวกเขา
อ้างอิงจาก