จากค่ายเพลงเล็กๆ ที่ชื่อว่า Big Hit Entertainment กลายเป็นค่ายที่มีศิลปินระดับอย่างโลกอย่าง BTS รีแบรนด์ตัวเองใหม่เป็น HYBE Corporation ในปี 2021 ต่อด้วยการควบรวมค่ายเพลงอื่นๆ ไม่ว่าจะ Source Music, Pledis Entertainment, KOZ Entertainment จนในที่สุดกลายเป็นหนึ่งใน BIG 4 หรือสี่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของวงการเคป๊อป (ร่วมกับ SM, JYP และ YG) มีศิลปินชื่อดังในสังกัด อาทิ SEVENTEEN, TXT, LE SSERAFIM หรือ NewJeans
ทว่าปี 2024 HYBE กลายเป็นค่ายเพลงที่มีดราม่าหรือข่าวฉาวนับไม่ถ้วน จะบอกว่าถูกมองเป็น ‘ตัวร้าย’ แห่งเคป๊อปก็ไม่เกินเลย ไล่ตั้งแต่การสาดโคลนกันไปมาระหว่าง HYBE กับมินฮีจิน (Min Heejin) อดีตซีอีโอของ ADOR (ค่ายในเครือ HYBE) ผู้ปลุกปั้นวง NewJeans, ฮันนิวง NewJeans ให้การต่อคณะกรรมการแรงงานแห่งรัฐสภาเกาหลีใต้ว่ามีการกลั่นแกล้งภายในบริษัท และระเบิดลูกล่าสุดคือทางรัฐสภาทำการไต่สวน HYBE จนมีเอกสารลับหลุดออกมา เนื้อหาคือการพาดพิงศิลปินเคป๊อปมากมายในทางเสียหาย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปินค่ายอื่น) ทำเอาแฟนคลับหัวร้อนกันถ้วนหน้า
เอกสารนี้มีชื่อว่า ‘รายงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเพลงประจำสัปดาห์’ แต่ปัญหาคือมันเต็มไปด้วยข้อความแย่ๆ ในเชิงลดทอนด้อยค่าศิลปิน เช่น “ไอดอล A หน้าตาไม่ดึงดูดเอาเสียเลย” หรือ “ไอดอล B ศัลยกรรมมากจนเกินไป” (ตอกย้ำถึงความหมกมุ่นใน beauty standard ของสังคมเกาหลี) จริงอยู่ว่าวงการธุรกิจใดๆ ย่อมมีความโหดร้ายเลือดเย็น การบลัฟหรือแซะกันไปมาระหว่างคู่แข่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน (เช่น Samsung ทำโฆษณาแซว Apple) แต่ศิลปินไม่ใช่เพียง ‘สินค้า’ พวกเขาเป็นมนุษย์ มีชีวิตจิตใจ และต้องไม่ลืมว่าไอดอลเคป๊อปจำนวนมากยังเป็นเยาวชนด้วย นี่จึงถือเป็นปัญหาในเชิงจริยธรรม
ที่น่าตกใจกว่าคือเอกสารเหล่านี้มีจำนวนเป็นหมื่นหน้า น่าคิดเหมือนกันว่า HYBE มีวัฒนธรรมองค์กรแบบไหน สภาพแวดล้อมบริษัทเป็นอย่างไร ทั้งนี้ตอนแรก HYBE อ้างว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการเพียงการรวบรวมข้อมูลจากโลกออนไลน์ (ซึ่งก็ชวนสงสัยอยู่ดีว่าจะรวมคอมเมนต์ท็อกซิกเป็นกระบุงแบบนี้ไปทำไม มีประโยชน์อะไรกับค่าย)
ตอนหลังก็ลบแถลงอันนี้ไป แล้วบอกว่าเดี๋ยวจะไปขอโทษศิลปินทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่ข่าววงใน (ที่ไม่คอนเฟิร์ม) ล่าสุดคือ คนเขียนเอกสารอาจไม่ใช่พนักงานไก่กาของ HYBE แต่เป็นนักเขียนรุ่นใหญ่ ซึ่งถ้าจริงก็แปลว่านี่ไม่ใช่แค่เอกสารกอสซิปอ่านตอนพักกลางวัน แต่เป็นการจ้างมืออาชีพมาเขียนความเห็นเพื่อชี้นำองค์กร
เรื่องยิ่งลามปามไปใหญ่ เพราะเอกสารที่หลุดมาไม่ได้มีแค่การโจมตีศิลปินคู่แข่ง แต่อาจมีหลักฐานว่า HYBE ใช้กลยุทธ์ที่ร้ายกาจอื่นๆ เช่น การโจมตีว่าศิลปินค่ายอื่นได้รางวัลเพราะแฟนเพลงช่วยกันโกงโหวต, การพยายามลดบทบาทของวง NewJeans เนื่องจาก HYBE มีปัญหากับมินฮีจิน หรือกระทั่งศิลปินของ HYBE ยังถูกใช้เป็นหมากของการสร้างกระแสทางลบเพื่อให้ได้พื้นที่ข่าว เช่น ตอนที่ค่าย BELIFT LAB ในเครือ HYBE ประกาศว่าชื่อแฟนคลับของวง ILLIT ชื่อ LILLY สร้างความไม่พอใจกับคนจำนวนมาก เพราะมันไปพ้องกับชื่อด้อมอื่นหรือชื่อศิลปินวงอื่น ซึ่งก็ยากจะเชื่อว่าค่ายจะซื่อจนไม่รู้เลยว่าดราม่าจะตามมา (อนึ่ง ปัจจุบัน ILLIT เปลี่ยนชื่อด้อมเป็น GLLIT แล้ว)
อย่างไรก็ดี บทความนี้ไม่ได้จะมานั่งบ่นค่าย HYBE อย่างเดียว (เพราะเขาสาปกันไปทั้งโลกแล้ว) แต่คำถามชวนคิดคือ เราควรทำอย่างไร? หรือเราทำอะไรได้บ้าง? ในแง่ปัจเจก การมีสติในการเสพสื่อหรือการควบคุมอารมณ์ (พูดง่ายๆ ‘อย่าอินเกิน’) น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ อย่างประเด็นเอกสารหลุดที่มีพูดถึง ลิซ่า BLACKPINK ด้วย จะเห็นว่าสำนักข่าวไทยนำเสนอกันยกใหญ่ ก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ ลิซ่าเป็นคนไทย เป็นที่รักของชาวไทย แต่สื่อบางเจ้าดูจะปลุกเร้าอารมณ์อย่างชัดเจน ผสมรวมไปกับกระแสชิงชังเกาหลีใต้ที่ ตม.เกาหลีจับคนไทยเข้าห้องเย็นบ้าง ส่งคนไทยกลับบ้าง แต่เป็นการปลุกกระแสชาตินิยมไปซะงั้น
หรือถ้า HYBE จงใจสร้างข่าวใดๆ ให้แฟนคลับระหว่างศิลปินตีกันจริง (ที่เรียกว่า fan wars) ก็เพราะ HYBE อ่านเกมออกว่าลักษณะเด่นของแฟนคลับเคป๊อปคือมีความผูกพันทางอารมณ์กับศิลปินอย่างสูง พร้อมจะปกป้องศิลปินและด่าทอคนที่มาว่าร้ายหรือคนที่เรามองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ยิ่งมีการรวมกลุ่มเป็นด้อม การตีกันมันเลยขยายวงกว้าง
คำถามคือเราจำเป็นต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสงครามนั้นหรือ ถ้ามองว่านี่เป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ที่ปั่นโดยค่ายเพลง หรือมากกว่านั้น มีความจำเป็นที่เราต้องผูกพันตัวเองเป็นด้อมนั้นด้อมนี้ขนาดนั้นหรือเปล่า เราสามารถเป็นแฟนคลับของไอดอลสักคนสักวงโดยไม่เอาตัวเองไปยึดติดกับด้อมหรือความคิดรวมหมู่ใดๆ ก็น่าจะได้เช่นกัน
ส่วนในสเกลที่ใหญ่ขึ้นอย่างการสู้กับค่ายเพลง ต้องพูดตามตรงว่าเป็นไปได้ยากอยู่ มันคือการสู้กับองค์กรที่มีอำนาจ การฟาดฟันกับระบบทุนนิยมขนาดใหญ่ เกือบทุกค่ายเพลงเคยล้วนทำเรื่องแย่ๆ มักจะออกมาขอโทษ แล้วก็ลอยตัวไป ปรับปรุงตัวบ้าง สร้างคดีใหม่บ้าง นอกจากนั้นค่ายเพลงใหญ่ยังมีอิทธิพลอย่างมากในอุตสาหกรรมเพลง บางค่ายสามารถแบนอดีตศิลปินในสังกัดตัวเองให้ติด blacklist จนไม่ได้ขึ้นรายการเพลง ไม่ได้ออกรายการโทรทัศน์เป็นเวลาสิบกว่าปี (ผายมือไปทาง เจสสิก้าอดีตวง Girls’ Generation)
แต่ตัวอย่างของแฟนคลับที่ไฝว้กับค่ายเพลงก็มีให้เห็นอยู่เนืองๆ เช่น ช่วงปลายปี 2022 แฟนเพลงพากันไม่ซื้ออัลบั้มใหม่ของวง LOONA เนื่องจากมีข่าวว่าค่าย Blockberry Creative ปฏิบัติกับศิลปินอย่างย่ำแย่ จนอัลบั้มถูกยกเลิกการวางจำหน่าย, ตุลาคม 2024 แฟนคลับอินเตอร์พร้อมใจกันไม่สั่งอัลบั้มใหม่ของ RIIZE หลังจาก SM ประกาศว่าซึงฮันออกจากวง จนร้านขายสินค้าเคป๊อปในหลายประเทศหยุดขายสินค้าของ RIIZE ไปด้วย หรือกรณีของ HYBE มีประชาชนร่วมกันลงชื่อผ่านเว็บไซต์ของสมัชชาแห่งชาติเกาหลี เพื่อถอดถอน HYBE จากบริษัทที่ได้สถานะ Top Job Creation Company
อย่างไรก็ดี การต่อสู้ด้วยวิธีการ ‘แคนเซิล’ กับค่ายเพลงบางทีเป็นเรื่องลำบากใจ ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์แบบมือถือ ตู้เย็น เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ เราก็เลิกซื้อโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่การหยุดซื้อผลงานจะกระทบศิลปินไปด้วย เรียกอีกแบบว่าค่ายเพลงมีศิลปินเป็น ‘ตัวประกัน’ ทีนี้แฟนคลับก็ต้องชั่งน้ำหนักเอาแหละ เช่นว่าแคนเซิลตอนนี้ ยอดอัลบั้มศิลปินลดลง แต่ค่ายเพลงอาจทำตัวดีขึ้น ส่งผลดีในอนาคตกับศิลปิน และกรณีของ HYBE ที่ถูกคนสาปส่งจนราคาหุ้นตก แถมยังมีรัฐสภาเกาหลีเข้ามาตรวจสอบด้วย อาจช่วยให้ทางค่ายปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน (มั้ง)
ขอส่งท้ายว่าระหว่างที่เขียนบทความนี้ เมื่อผู้เขียนค้นคำว่า HYBE ทีไร โลโก้ของค่ายพร้อมกับสโลแกน WE BELIEVE IN MUSIC ก็จะเด้งขึ้นมาทุกครั้ง เหมือนกับเรื่องตลกร้ายเพราะจากพฤติกรรมต่างๆ นานาของ HYBE ก็ชวนให้เคลือบแคลงใจว่าพวกเขายังเชื่อในดนตรีหรือไม่ ตอนนี้พวกเขาเชื่อในอะไรกันแน่ แต่ดูเหมือนว่าแฟนเพลงจะไม่ค่อย ‘เชื่อถือ’ ในค่ายนี้สักเท่าไรแล้ว
อ้างอิงจาก