ในช่วงมัธยมและมหาวิทยาลัย คนรอบตัวของเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพื่อนที่เคยปั่นจักรยานเล่นด้วยกันทุกวันสมัยประถมก็แยกย้ายไปมีชีวิตของตัวเอง เพื่อนข้างบ้านที่เคยวิ่งเข้าออกบ้านกันอย่างไม่เกรงใจใครก็เริ่มห่างหายไปจนจำหน้าแทบไม่ได้ ทำไมถึงเป็นแบบนั้นกันนะ
ไม่แปลกที่เราจะทำเพื่อนหล่นหายตามเส้นทางของชีวิต เพราะเพื่อนของเราจะเปลี่ยนไปตามสังคมที่เราอยู่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงเข้ามหาวิทยาลัยที่จะได้เจอกับเพื่อนใหม่ที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาเดียวกันกับเรา เราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่มากขึ้น มีเพื่อนเยอะขึ้นจากการเรียน การทำกิจกรรม สำหรับบางคนก็เรียกได้ว่าเป็นจุดพีคของการมีเพื่อนเลยทีเดียว มาเรียนห้องรวมทีก็มีแต่คนทัก นึกว่านักการเมืองลงพื้นที่
ส่วนการเข้าสู่สังคมของการทำงานก็จะเจอกับเพื่อนที่หลากหลายกว่าเดิม เพื่อนในวัยทำงานอาจนำโอกาสใหม่ในการเติบโตมาให้ด้วย และเพื่อนของเราก็เปลี่ยนไปอีกทีก็ตอนแต่งงานมีครอบครัว ซึ่งน่าเศร้าที่ตอนนั้นจะมีคนหล่นหายอีกเพียบเลย แต่ถ้าพูดถึงเพื่อนที่หล่นหายไปก่อนใครเลยคือ ‘เพื่อนสมัยเด็ก’ ของเราที่เคยวิ่งเล่นกันในวัยอนุบาลถึงประถมนั่นเอง
ในวันที่เราแยกย้าย
ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นหรือเมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยมัธยม เราจะเริ่มรู้ตัวเองว่าเราสนใจอะไร บางคนเริ่มสนใจในกีฬาก็จะแยกตัวออกไปอยู่ชมรมกีฬา หรือคนที่สนใจการเล่นเกมก็จะเข้าหากลุ่มที่เลิกเรียนแล้วไปนั่งเล่นเกมกันต่อ เมื่อความสนใจของเราไม่เหมือนกันอีกต่อไป และวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากได้รับการยอมรับ อยากมีกลุ่มก้อนเป็นของตัวเอง ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่กับเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกันแต่สนใจคนละอย่างกันแล้ว หลายคนจึงพบว่าเพื่อนช่วงมัธยมเป็นเพื่อนที่เหนียวแน่นกว่าเพื่อนช่วงประถมเสียอีก
และเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นหรือช่วงเข้ามหาวิทยาลัย เราจะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นคนละคนโดยสมบูรณ์ เพื่อนสมัยเด็กของเราก็เช่นกัน เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว มิตรภาพที่มีก็มักจะจางหายไปแบบต่อกันไม่ติด เพราะคุยกันคนละภาษา อยู่กันคนละสังคม หรือมีแนวคิดอะไรที่ไม่ตรงกันอีกต่อไปในช่วงเวลาที่ห่างหายกันไป
อยู่มาวันหนึ่งก็มีคำเชิญเข้ากรุ๊ปแชตกรุ๊ปใหม่ พอกดเข้าไปดูก็พบว่าเป็นการรวมตัวของเพื่อนสมัยประถมที่เราแทบจะลืมไปหมดแล้ว ไม่รู้ทำไมถึงรู้สึกว่าไม่สนิทใจกับพวกเขาเหมือนเมื่อก่อนเลย คำตอบก็คือเมื่อตัวเราเปลี่ยนไปแล้ว มุมมองที่มีต่อการที่จะมีเพื่อนสักคนหนึ่งก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรถ้าเราจะแยกย้ายจากกันไปในวันที่ไม่มีอะไรตรงกันอีกต่อไป
เพื่อนในวัยเด็กส่งอิทธิพลกับใจเรามากกว่าที่คิด
ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนคนไหนก็นับเป็นคนสำคัญของเราทั้งนั้น แต่สำหรับเพื่อนในวัยเด็กที่ส่งผลกับใจของเรามากกว่านั้น มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างเพื่อนสนิทในวัยเด็กนั้น สามารถส่งผลถึงความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีในยามที่เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้
สก็อตต์ บี (Scott Bea) นักจิตวิทยาคลินิกของคลีฟแลนด์คลินิกได้ให้ความเห็นกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า เพื่อนสนิทในวัยเด็ก คือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเพราะช่วงเวลาชีวิตที่ใช้ด้วยกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นประเภทของความสัมพันธ์ที่อยู่ยืนยงกว่าประเภทอื่น เพราะมันเกิดในช่วงเวลาที่เราต้องการความผูกพันเพียงอย่างเดียวจริงๆ ไม่มีปัจจัยอื่นมาผสมเลย
ลองนึกถึงวันเวลาที่เรายังเป็นเด็ก เมื่อผู้ใหญ่ถามเราว่า “ไหน มีเพื่อนสนิทหรือยัง” เราจะตอบชื่อของเพื่อนสนิทเราออกมาได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ต่างกับช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไปที่ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าเราสนิทกันพอหรือยัง หรือเราคิดว่าเราสนิทกับเขาอยู่ฝ่ายเดียวนะ หรือว่าเราเป็นแค่เพื่อนร่วมงานกัน คิดยังไงก็คิดไม่ออกว่าจะตอบคำถามง่ายๆ นี้ยังไงดี และถ้ามีคำถามตามมาในเรื่องของเหตุผลว่า “ทำไมถึงสนิทกัน เล่าให้ฟังหน่อย” เราที่ยังเป็นเด็กก็จะมีเหตุผลแบบเด็กๆ น่ารักๆ ประมาณว่า เพราะเล่นกับเพื่อนคนนี้แล้วสนุกดี หรือไม่ก็เพราะนอนกลางวันอยู่ข้างกัน
มีงานวิจัยที่นักจิตวิทยาพัฒนาการได้ทำสังเกตการเกิดขึ้นของมิตรภาพในเด็กอายุ 1 ปีว่าถึงแม้พวกเขาจะยังไม่สามารถสื่อสารผ่านคำพูดได้ แต่พวกเขารู้จักคำว่า ‘มิตรภาพ’ ผ่านการเลือกที่จะเล่นกับเพื่อนคนเดิมในทุกวัน ยิ้มให้เพื่อน หรือร้องไห้โยเยนเวลาที่เพื่อนคนนั้นไม่อยู่ และยิ่งไปกว่านั้นยังมีงานวิจัยที่สังเกตเด็กอายุ 16-33 เดือนว่าพวกเขาสามารถรับรู้ได้เวลาที่เพื่อนร้องไห้หรือมีเรื่องไม่สบายใจได้อีกด้วย
ถ้าอยากมีกันและกันอีกครั้ง
แต่การแยกย้ายจากกันก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะก็ยังมีคนที่สามารถจับมือของเพื่อนสนิทสมัยเด็กเอาไว้ได้จนถึงทุกวันนี้โดยไม่ห่างหายจากกันไปไหน ซึ่งหัวใจสำคัญของมันคือ ‘ความสม่ำเสมอ’ แม้ว่าเราจะเติบโตมาสนใจคนละอย่างกัน แต่การที่เรายังได้เจอหน้ากัน ยังอัปเดตเรื่องราวในชีวิตกันและกันอยู่ตลอดไม่ห่างหาย ทำให้ระยะห่างระหว่างเรานั้นน้อยลง และมีโอกาสที่จะรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้อย่างยืนยาว
ถ้ากำลังคิดว่าอยากกลับไปคุยกันอีกครั้งจังเลย แต่ก็ไม่กล้าทักไปคุยเพราะกลัวเพื่อนจะลืมเราไปแล้ว หรือต่อให้เพื่อนจำได้ก็กลัวจะต่อกันไม่ติด ข่าวดีก็คือยังไม่สายเกินไปหรอก เพราะข้อความจากเพื่อนสมัยเด็กที่เคยสำคัญกับเรานั้นมีค่าเสมอ
จากการแนะนำของ ซาบรินา โรมานอฟฟ์ (Sabrina Romanoff) นักจิตวิทยาคลินิกและศาสตราจารย์มหาวิทยาเยชิวา การเริ่มติดต่อเพื่อนเก่ากลับไปโดยไม่ให้เกิดความอ้ำอึ้งอาจเริ่มจากการค้นหาโปรไฟล์โซเชียลมีเดียของเขา ติดตามดูว่าชีวิตเขากำลังทำอะไรอยู่ มีอะไรที่เราพอจะชวนเขาคุยได้บ้าง ฟังก์ชั่นสตอรี่นี่แหละที่เป็นโอกาสทองของการติดต่อเพื่อนกลับไป
เมื่อได้คุยกันเล็กน้อยแล้ว ลองชวนอัปเดตชีวิตกันและกัน คุยเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในสมัยที่เราสองคนยังเป็นเด็กจะทำให้เราทั้งสองได้ค้นใจตัวเองว่าแต่ก่อนเคยสนิทกันมากแค่ไหน ค่อยๆ อัปเดตชีวิตกันและกัน และอย่าลืมว่า ‘ความสม่ำเสมอ’ จะคอยทำให้มิตรภาพมีชีวิตชีวาและไม่จืดจางหายไปไหน
ว่าแล้วก็ลองทักเพื่อนไปเลยดีมั้ยนะ
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Kotchamon Anupoolmanee
Proofreader: Runchana Siripraphasuk