อยากเป็นเพื่อนกับคนนี้จัง ดูมีเรื่องที่สนใจก็คล้ายกัน แต่ที่เขาเงียบๆ ไป เพราะแค่ขี้อาย หรือไม่อยากคบกับเรานะ
เมื่อถึงเวลาที่ต้องอยู่สังคมใหม่ สถานที่แปลกตา สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นการผูกมิตรกับใครสักคน เพื่อทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและอุ่นใจในขณะนั้น แต่ก็มีบางครั้งที่เกิดอาการไม่แน่ใจขึ้นว่าการเข้าหาแบบนี้โอเคไหม ที่เขาถามคำตอบคำ ไม่เคยเป็นฝ่ายชวนคุยก่อนเลย เป็นเพราะเข้าสังคมไม่เก่ง หรือไม่อยากเป็นเพื่อนกับเราจริงๆ กันแน่นะ
แม้จะมีพฤติกรรมบางอย่างที่คล้ายกันระหว่างเพื่อนทั้ง 2 แบบนี้ จนทำให้เราตีความไม่ออก สรุปแล้วเราควรเดินหน้าต่อยังไง จะทำความเข้าใจธรรมชาติของคนนั้นแล้วหาวิธีสานสัมพันธ์ หรือตัดขาดกับมิตรภาพที่ดูเหมือนเราเป็นคนพยายามอยู่ฝ่ายเดียวดี
The MATTER ชวนมาทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างเพื่อนที่เข้าสังคมไม่เก่งและคนที่ไม่อยากคบกับเรา พร้อมหาวิธีรับมือเมื่อเจอสถานการณ์นี้กัน
เพื่อนคนนี้ แค่เข้าสังคมไม่เก่ง
หากเป็นคนที่เข้าสังคมเก่งอยู่แล้ว การผูกมิตรกับใครสักคนคงไม่ใช่เรื่องยาก แค่การส่งยิ้มทักทาย เล่าเรื่องตลกอย่างเปิดเผย ก็ทำให้เราสนิทกันได้อย่างรวดเร็วแล้ว แต่สำหรับบางคนที่ไม่ถนัดเข้าสังคม การเข้าไปตีสนิทดูต้องใช้เวลามากเป็นพิเศษ เพราะดูเหมือนว่าพวกเขาต้องการพื้นที่ส่วนตัว หรือนิ่งเงียบจนเดาทางไม่ออก
โซนัล อานันด์ (Sonal Anand) นักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลว็อคฮาร์ต ในอินเดีย บอกว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ เราย่อมอยากเข้าสังคมเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ทุกคนจะอยากเข้าสังคมเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องปกติหากจะมีบางคนที่อยากใช้เวลาอยู่กับตัวเอง นอนดูซีรีส์ในวันหยุดโดยไม่ออกไปพบปะกับใคร
โซนัลบอกว่าสัญญาณที่บอกว่าคนนั้นไม่ชอบเข้าสังคมที่เราอาจสังเกตได้คือ มักเป็นคนที่ชอบทำอะไรคนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียว กินข้าวคนเดียว หรือชอบทำกิจกรรมกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ มากกว่า ไม่ชอบพูดคุยกับใครเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงที่จะทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มองว่าการไปเที่ยวเล่นกับคนอื่นเป็นเรื่องน่าเบื่อ เขินอายเวลาอยู่ในงานปาร์ตี้ รู้สึกไม่สบายใจเวลาต้องสบตาหรือกอดทักทาย หรือบางครั้งกลัวการปฏิเสธ เพราะคิดว่าคนอื่นๆ ไม่น่าจะเข้าใจมุกตลกของตัวเอง หรือไม่อยากพูดคุยด้วย
ถึงแม้บางคนจะไม่ชอบเข้าสังคม อย่างไรก็ตามการมีเพื่อนที่คอยอยู่ข้างๆ หรือคนที่คอยสนับสนุนก็ยังจำเป็นสำหรับจิตใจไม่น้อย จากบทความของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ระบุว่า คนที่มีเพื่อนจะมีความพึงพอใจในชีวิตและมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าได้น้อยกว่า และช่วยสร้างความเป็นส่วนหนึ่งและเพิ่มความสุขได้
หากเราอยากเป็นเพื่อนที่มีนิสัยอย่างที่บอกไปข้างต้น จอห์น สโตกเกอร์ (John Stoker) ประธาน DialogueWORKS ฝึกอบรมครูและทรัพยากรในหลักสูตรปรัชญาสำหรับเด็ก และผู้เขียนหนังสือ Overcoming Fake Talk ก็ได้แนะนำวิธีเข้าหาคนขี้อายหรือไม่ชอบการเข้าสังคมว่า อาจลองเริ่มต้นด้วยการถามคำถามง่ายๆ แบบไม่ตัดสิน เช่น ถามชื่อ หรืออาหารที่ชอบ เลี่ยงคำถามที่ตอบเพียงแค่ ใช่หรือไม่ เพื่อสร้างความเชื่อใจและให้อีกฝ่ายเปิดใจที่จะพูดคุยมากขึ้น
นอกจากนี้อาจลองถามหาความสนใจอื่นๆ เช่น งานอดิเรก หรือสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ตอนนี้ หรือบางทีอาจลองเสนอตัวเพื่อให้ความช่วยเหลือบางอย่างในขณะที่อีกฝ่ายอาจไม่กล้าเอ่ยปากก่อน ก็เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีเช่นกัน
แม้ว่าคนไม่ถนัดการเข้าสังคมจะชอบอยู่คนเดียว และไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มต้นความสัมพันธ์ก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเป็นเพื่อนกับใครไม่ได้ เพราะบางครั้งอาจแค่เป็นอาการประหม่าเมื่อต้องเข้าสังคมเท่านั้น หากเข้าหาด้วยความจริงใจ ก็อาจกลายเป็นเพื่อนคนสำคัญในอนาคต
ส่วนคนนี้ ไม่อยากเป็นเพื่อนกับเรา
“ไม่เป็นฝ่ายเริ่มบทสนทนาก่อน ไม่ออกมาเจอหน้า” ดูเผินๆ สัญญาณเหล่านี้ก็คล้ายๆ กับคนที่เข้าสังคมไม่เก่งเหมือนกัน แต่สิ่งบอกได้ว่าเรากำลังเจอคนที่ไม่อยากคบเป็นเพื่อนแล้ว คือ มีแต่เราที่รู้สึกว่ากำลังพยายามอยู่ฝ่ายเดียว
หลายครั้งที่เราต่างก็อาจเคยมีเพื่อนสนิทที่พูดไม่เก่ง หรือไม่ถนัดการเข้าสังคม ซึ่งเริ่มต้นจากความสนใจใกล้เคียงกันจนเป็นมิตรภาพที่แข็งแรง คอยซัปพอร์ตซึ่งกันและกัน แต่บางครั้งการที่เราเป็นฝ่ายเริ่มก่อน โดยที่อีกฝ่ายไม่เคยให้ความรู้สึกแบบเดียวกันกลับมาก็อาจเป็นไปได้ว่านี่เป็นหนึ่งในสัญญาณที่คนนั้นไม่อยากเป็นเพื่อนกับเรา
สก็อตต์ บี (Scott Bea) นักจิตวิทยาคลินิก อธิบายว่านี่อาจเรียกว่าเป็น one-sided relationship หรือความสัมพันธ์ใดๆ ก็ตามที่ต้องใช้ความพยายาม ใช้พลังงาน และมีสิ่งที่ต้องทำไม่สมดุลกัน แถมยังไม่ได้รับการตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็น อาจสังเกตได้จากสัญญาณต่อไปนี้ เช่น เราต้องเป็นคนเริ่มต้นเข้าหาก่อนตลอด อีกฝ่ายขาดความกระตือรือร้น มักจะสงวนท่าที หรือหยาบคายใส่ขณะพูดคุยกัน หลีกเลี่ยงที่จะมาเจอ แคนเซิลนัดกะทันหัน เราพยายามมากกว่าอีกฝ่ายเสมอ ไม่มีปฏิสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียเลย หรือหากเจอกันอีกฝ่ายจะพูดคุยแต่เรื่องตัวเองเท่านั้น
ความสัมพันธ์อยู่ฝ่ายเดียว ไม่ใช่แค่การที่เรามีเพื่อนที่ไม่จริงใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับเราอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เข้ามากัดกินใจ ทำให้เรามีปัญหาด้านการรับรู้คุณค่าของตัวเอง รวมถึงขัดขวางการเติบโต เนื่องจากความความสัมพันธ์นี้มักทำให้เราติดอยู่การคอยสนับสนุนคนอื่น จนแทบไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตัวเองเท่าที่ควร
ท้ายที่สุดยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ในอนาคตด้วย เพราะทำให้เราเริ่มสร้างกำแพงเพื่อป้องกันไม่ให้ใครทำร้าย และขัดขวางไม่ให้สร้างมิตรภาพที่ดีและจริงใจ ทำให้การพบปะผู้คนใหม่ๆ ที่อาจเป็นเพื่อนที่ดีและคอยสนับสนุนกันยากขึ้น
เมื่อพยายามรักษาความสัมพันธ์อยู่ฝ่ายเดียวแล้วแต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย คงถึงเวลาที่ต้องโบกมือลากับมิตรภาพอันเปราะบางนี้สักที เคนดรา เชอร์รี่ (Kendra Cherry) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูทางจิตสังคมให้คำแนะนำที่จะยุติความสัมพันธ์แบบนี้ คือ
- ยอมรับความจริง: ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับว่าเราไม่ได้สามารถเป็นเพื่อนได้กับทุกคนและไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเป็นเพื่อนกับเราได้ หากเราเห็นสัญญาณที่เขาไม่อยากเป็นเพื่อนกับเราจริง สิ่งสำคัญคืออย่ารู้สึกแย่กับตัวเอง
- กำหนดเดดไลน์: แม้ว่าการประกาศเวลาแยกทางอย่างชัดเจนในเร็ววันจะเป็นเรื่องยาก แต่แค่ขอให้มีกรอบเวลาในใจคร่าวๆ ว่าเราพร้อมจะไปจากความสัมพันธ์นี้เมื่อไหร่ เช่น ภายใน 1 เดือน หรือ 1 สัปดาห์ และถ้าหากเวลานั้นมาถึงก็ควรออกจากความสัมพันธ์นี้อย่างที่ตั้งใจทันที
- โฟกัสไปที่ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ: การยอมรับว่าคุณอาจจะไม่ถูกใจใครอาจเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่หันกลับมามองคนพร้อมจะอยู่เคียงข้างคุณไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ด้วยการการใช้เวลาไปกับมิตรภาพแบบอื่นๆ ที่สนับสนุนคุณแทน เช่น เพื่อนกลุ่มอื่น ครอบครัว คนรัก หรือสัตว์เลี้ยง ซึ่งช่วยให้คุณกลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง
เป็นเรื่องปกติที่เราอยากสร้างมิตรภาพกับใครสักคน หลายครั้งที่ความสัมพันธ์ก็ช่วยให้เราเติบโตขึ้นได้ แต่หากความสัมพันธ์นั้นไม่ได้ช่วยทำให้เรารู้สึกดี อาจถึงเวลาที่เราต้องทบทวนความสัมพันธ์นี้และเดินออกมาเพื่อรักษาใจตัวเอง
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Editorial Staff: Runchana Siripraphasuk