เมื่อระยะทาง เวลา และหน้าที่ขวางกั้น ความห่างเหินเลยเกิดขึ้นระหว่างเรา แชตที่เคยคึกคักเริ่มกลับกลายเป็นตอบโต้กันอย่างเชื่องช้า ความห่างไกลทำให้เราสนิทกับเพื่อนน้อยลงหรือเปล่านะ?
ในตอนที่เรายังเป็นเด็ก การที่เราจะเป็นเพื่อนกับใครสักคนหนึ่งมันง่ายกว่าตอนนี้มาก เราสนิทกับใครสักคนได้เพียงเพราะเรานั่งข้างกัน เราเจอหน้ากันทุกวัน เราตื่นเช้ามาด้วยความรู้สึกอยากไปเจอเพื่อน อยากจะคุยเรื่องการ์ตูนที่อ่านมาเมื่อวานใจจะขาด เลิกเรียนก็อยากจะอยู่เล่นด้วยกันจนค่ำ เราแชร์พื้นที่ร่วมกัน เราใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการอยู่ด้วยกัน เราเลยสนิทกันชนิดที่ว่าใครก็แยกเราจากกันไม่ได้
ตอนโตขึ้นมาหน่อยก็จะมีเรื่องของความสนใจ พื้นเพ สังกัด ฐานะทางสังคม ประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งเคมีเข้ามาเกี่ยวด้วย ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้เจอกับใครสักคนหนึ่งที่เราสามารถสนิทด้วยได้ และถ้าเจอแล้วก็อยากรักษาเอาไว้ให้เราเป็นเพื่อนสนิทกันไปตลอด
แต่ถ้าอยู่มาวันหนึ่ง ชีวิตเราก็เปลี่ยนผันไป ทำให้เราต้องไกลจากเพื่อนล่ะ? ไม่ว่าจะไกลด้วยภาระหน้าที่ ไกลด้วยเวลา หรือไกลด้วยระยะทางก็ตาม เราจะยังสนิทกันเหมือนเดิมอยู่ไหม
เราใช้เวลาร่วมกัน เราเลยสนิทกัน
มีงานศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคนซัสที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Social and Personal Relationships ชี้ให้เห็นว่าการจะเป็นเพื่อนแบบผิวเผินกับใครสักคนหนึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 50 ชั่วโมงร่วมกัน และเมื่อสะสมเวลาไปถึง 90 ชั่วโมง เราจะเริ่มเป็นเพื่อนกับเขาจริงๆ แต่ถ้าอยากเป็นเพื่อนสนิทกัน ต้องสะสมจำนวนชั่วโมงให้ถึง 200 ชั่วโมงเลยทีเดียว
การใช้เวลาร่วมกันนี้อาจจะหมายถึงการไปเที่ยวเล่นด้วยกัน ชวนกันไปคาเฟ่ คุยเล่นกันทุกวัน หรือแม้กระทั่งเล่นเกมด้วยกันก็นับรวมอยู่ด้วย การมีพื้นที่ในชีวิตร่วมกันจะทำให้เราค่อยๆ ใกล้ชิดกันมากขึ้น จากบทสนทนาเรื่องข่าวรายวันหรือสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ต จะเริ่มกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัว ความลับที่ไม่เคยบอกใครมาก่อน และรู้ตัวอีกทีเราก็สนิทกันจนเลิกคบกันไม่ได้แล้ว (เพราะเดี๋ยวความลับจะรั่วไหลหมด)
ยิ่งไปกันใหญ่สำหรับคนที่มีลักษณะภาษารักตามแนวคิดของแกรี แชปแมน (Gary Chapman) เป็น ‘การใช้เวลาร่วมกัน’ ที่จะรู้สึกได้รับความรักเมื่อได้ใช้เวลากับคนสำคัญ ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นภาษารักที่น่าจะใช้กับแค่คนรักก็จริง แต่ความรักที่มีให้เพื่อนก็เป็นความรักรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นบางครั้งเราก็สื่อสารด้วยภาษารักของตัวเรากับเพื่อนของเรา เราอยากชวนเพื่อนไปไหนมาไหนด้วย อยากให้เพื่อนสนใจเราในเวลาที่อยู่ด้วยกัน (หยุดไถหน้าจอมือถือสักที! เงยหน้ามาฟังก่อน!) ซึ่งคนที่มีลักษณะภาษารักนี้จะเหงาหงอยเป็นพิเศษเมื่อห่างไกลจากเพื่อนสนิท
เหินห่างและจางหาย
ในวันที่เราห่างไกลกัน โซเชียลมีเดียทำให้การเชื่อมต่อกับใครอยู่แค่ปลายนิ้วก็จริง แต่น่าเศร้าที่มันไม่ได้ทำให้ใจเราใกล้กันตลอดไปได้ เพราะมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society Open Science เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียและความแข็งแรงของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ชี้ให้เห็นว่ามันไม่ได้ผลถ้าเราจะใช้โซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียวในการรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทเอาไว้ ไม่ว่าอย่างไร การรักษาความสัมพันธ์ต้องใช้การเจอหน้ากันอยู่ดี
โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) ศาสตราจารย์ในภาควิชาจิตวิทยาการทดลองของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดผู้เป็นเจ้าของงานวิจัยนี้ได้อธิบายเอาไว้ว่า โซเชียลมีเดียนั้นสามารถช่วย ‘ชะลอ’ ความห่างเหินที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ได้ในเวลาที่เราไม่สามารถเจอเพื่อนได้ก็จริง แต่มันไม่สามารถ ‘ป้องกัน’ ความห่างเหินที่ยังไงก็ต้องเกิดขึ้นได้
เขายังแนะนำอีกว่า ถ้าเราไม่ได้เจอหน้าเพื่อน ไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันเลย จากเพื่อนสนิทก็สามารถลดระดับความสัมพันธ์ลงมาเป็นเพื่อนธรรมดาคนหนึ่ง หรือบางกรณีก็สามารถลดลงไปเป็นเพียงแค่คนรู้จักได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้ามากสำหรับคนที่ห่างไกลกันด้วยระยะทาง เพราะเราคงทำอะไรมากไปกว่าการคุยกันในโซเชียลมีเดียไม่ได้แน่
แล้วจะทำอย่างไรถ้าเราต้องไกลกัน
เมื่อระยะทางและไทม์โซนไม่เป็นใจ มันเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะคิดมากไปเองว่า ‘เราคงไม่ได้สนิทกันเหมือนก่อนแล้ว’ และการคิดแบบนี้จะทำให้เราไม่กล้าที่จะคุยกับเพื่อนอย่างสนิทสนมเหมือนก่อน และสุดท้ายก็กลายเป็นเราต่างคนต่างเริ่มเคยชินกับหน้าจอแอปแชตที่ว่างเปล่า และห่างหายกันไปในที่สุด
มาริสา จี ฟรานโค (Marisa G. Franco) นักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนได้ให้คำแนะนำว่า ในกรณีที่เราจะต้องลาจากเพื่อนไปไกล การทุ่มเทใจให้เพื่อนเป็นสิ่งที่ต้องคุยกัน ซึ่งการทุ่มเทใจในที่นี้หมายถึงการติดต่อไปอย่างสม่ำเสมอ การหาเวลากลับมาเจอกันบ้าง ทำให้เพื่อนรู้ว่าพวกเขายังมีความหมายสำหรับเราเสมอ และพยายามจัดการกับความคิดฟุ้งซ่านว่าเพื่อนจะไม่อยากคุยกับเราแล้ว
การสร้าง ‘สิ่งยึดเหนี่ยว’ ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการรักษาความสัมพันธ์ เรามีอะไรที่ชอบเหมือนกันหรือเปล่า ยังมีสิ่งที่คุยกันทีไรก็ติดลมจนลืมเวลาอยู่บ้างไหม สิ่งที่จะทำให้เราทักมาคุยกันอยู่เสมอ การที่มีความสนใจร่วมกันจะช่วยให้เรามีความทรงจำที่พิเศษชนิดที่ไปคุยกับเพื่อนคนไหนก็ไม่เหมือนกับคนนี้
แต่เมื่อมองมุมที่กว้างขึ้น มิตรภาพก็ไม่สามารถลุกโชนได้ด้วยการส่งคลิปหมาแมวหรือคุยเรื่องหนังที่ชอบอย่างเดียว การใช้เวลาอัปเดตชีวิตกันและกัน คุยเรื่องที่รู้สึกแย่ ปลอบใจกันบ้างในเวลาที่อ่อนแอ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกว่าเดิม เพราะเรารู้ว่าจะไม่มีใครเข้าใจกันไปมากกว่านี้แล้ว
แต่ถ้าใจเราใกล้กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จะระยะทางกี่พันกิโลเมตรก็คั่นระหว่างเราไม่ได้หรอก
อ้างอิงจาก