เป้าหมายสูงสุดในชีวิตคืออะไร?
มองภาพตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้าไว้แบบไหน?
อะไรที่กำหนดความสำเร็จในชีวิตคุณ?
เวลาได้ยินคำถามทำนองนี้ บางคนสามารถตอบออกมาได้ทันที ด้วยน้ำเสียงแน่วแน่มั่นใจ พร้อมกับแววตาที่ดูเป็นประกาย คงเป็นเพราะพวกเขามีภาพที่ปรากฏอยู่ในหัวชัดเจนประมาณหนึ่งแล้วว่า ตัวเองอยากจะเป็นใคร อยากมีชีวิตแบบไหน อะไรคือสิ่งที่ต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายในชีวิต
แต่สำหรับบางคน คำถามทำนองนี้อาจทำให้พวกเขาชะงักไปสักครู่ใหญ่ พยายามเค้นอยู่นานหลายนาที เพื่อให้คำตอบออกมาฟังดูดี และเปี่ยมล้นไปด้วยแพสชันอย่างที่คนถามคาดหวังเอาไว้ ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้คิดหรือวางแผนชีวิตอะไรมากไปกว่า การใช้ชีวิตเรื่อยๆ ในแต่ละวันอย่างสงบสุขเท่านั้นเอง
แม้จะทำเป็นตอบไปทีก็เถอะ ถึงอย่างนั้น คำถามทำนองนี้ก็อาจทิ้งความกลัวหรือความกังวลไว้ในใจของพวกเขาหลังจากนั้นไปอีกหลายวัน หลายเดือน หลายปี เป็นความกลัวที่พ่วงมาด้วยคำถามที่ว่า “ผิดมั้ยนะ? ถ้าไม่ได้มีเป้าหมายชีวิตที่ยิ่งใหญ่หรือน่าตื่นเต้นเหมือนคนอื่น” “ผิดมั้ยนะ? ถ้าอยากเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีชีวิตแบบธรรมดาก็พอแล้ว”
Fear of being ordinary
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บังเอิญไปเจอบทความหนึ่งในเว็บไซต์ The Economist ที่มีหัวข้อว่า Why we become so dissatisfied with being ordinary? ซึ่งน่าสนใจตรงที่เพียงแค่อ่านหัวข้อ ก็ทำให้เผลอย้อนกลับมามองดูตัวเองโดยไม่รู้ตัวว่า ชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้เรียกว่าธรรมดาหรือเปล่า? อะไรคือความธรรมดาล่ะ? แล้วความธรรมดาไม่ดีตรงไหน? นั่นสินะ ทำไมเราถึงกลายเป็นคนที่ไม่พอใจกับการมีชีวิตแสนธรรมดาเอาซะได้?
เมื่อนั่งคิดอยู่นานก็พอจะตกผลึกได้ว่า ความหมายของคำว่า ‘ความธรรมดา’ ที่ว่านั้น ท้ายที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลล้วนๆ เพราะการที่เราจะระบุว่าสิ่งไหนธรรมดาหรือพิเศษ ล้วนแล้วแต่สะท้อนออกมาว่า เราเห็นคุณค่าหรือให้ความใส่ใจกับสิ่งนั้นมากน้อยแค่ไหน
ซึ่งชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้ สำหรับเราอาจเรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่พิเศษมากพอแล้ว แค่ตื่นเช้ามาเช็กอีเมล ระหว่างวันก็ทำงาน ตกเย็นกลับบ้านมาเล่นกับหมาแมว ค่ำๆ หน่อยก็เริ่มหาหนังดู ไถโซเชียลมีเดีย ตามข่าวดาราที่ชอบ หากมีวันหยุดสั้นๆ ก็จัดทริปเล็กๆ ไปต่างจังหวัดกับเพื่อน นี่คือชีวิตประจำวันที่เราให้ความสนใจ และมองว่ามีสุขสงบดี ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้
แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก และสังคมมักจะคอยสร้างค่านิยมหรือความหมายให้กับทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เสมอ ทำให้คำว่า ‘ธรรมดา’ ที่เราอาจมองว่าเพียงพอแล้ว เมื่อเดินมาพินิจจากอีกมุมหนึ่ง หรือมองจากสายตาของคนนอก ก็อาจกลายเป็นความน่าเบื่อหน่าย ความไม่ได้เรื่อง หรือความล้มเหลวไปเสียอย่างนั้น
ออกไปกล้า ออกไปซ่าดิวัยรุ่น!
เกิดมาทั้งที ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า อย่าเสียเวลาไปเปล่าๆ!
ฝันให้ไกลและไปให้ถึง!
You only live once!
เมื่อเราไม่ได้ใช้ชีวิตตามแท็กไลน์ที่เห็นในโฆษณา หรือเคล็ดลับความสำเร็จของผู้บริหารบริษัทต่างๆ เราจึงเริ่มถามตัวเองแล้วว่า ชีวิตนี้กำลังถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่าหรือเปล่า? เราเป็นคนที่จืดจางเกินไปหรือเปล่า? ไลฟ์สไตล์ของเราไม่สมกับวัยที่ควรจะกล้าบ้าบิ่นหรือเปล่า? ไม่โปรดักทีฟ ไม่สนุกสุดเหวี่ยง ไม่ได้ทำงานในฝัน ไม่เคยได้รับรางวัลอะไร ไม่มีภาพลักษณ์แบบในพินเทอเรส ไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่มีภาพสวยๆ เท่ๆ อัพโหลดลงโซเชียลมีเดีย ไม่มีคนกดถูกใจหรือติดตามเป็นหมื่นเป็นแสน ไม่ได้สร้างประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ ไม่ได้ค้นพบหรือคิดค้นนวัตกรรมที่น่าฮือฮา
ขณะนั้นเอง Fear of being ordinary หรือ Koinophobia ความกลัวการเป็นคนธรรมดา ก็เริ่มเข้ามาสัมผัสกับจิตใจของเราทีละนิดๆ ทำให้เราเริ่มมีความคิดที่จะทำอะไรสักอย่างให้ชีวิตตัวเองดูน่าสนใจมากขึ้น เป็นการแต่งตัว เปลี่ยนการฟังเพลง เปลี่ยนงานอดิเรก เปลี่ยนสังคมที่คบหา เพื่อที่สุดท้ายก็ได้รู้ว่า การเป็นตัวเองที่ใครมองว่าธรรมดา อาจพิเศษที่สุดแล้ว
Being ordinary is okay!
ด้วยความจริงที่ว่าทุกคนมองสิ่งไหนธรรมดาหรือพิเศษไม่เหมือนกัน จึงทำให้เกิดความจริงที่ว่า ความกลัวการเป็นคนธรรมดาที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้ เป็นเพียงแค่ ‘กับดัก’ เท่านั้น
เคยได้ยินคำว่า The perfectionist trap หรือ The productivity trap กันบ้างหรือเปล่า? ทั้งสองคำนี้เกิดขึ้นจากการที่จริงๆ แล้วสังคมที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ ทำให้เราตกหล่มหรือกับดักทางความคิดบางอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อกระตุ้นให้เราต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบหรือโปรดักทีฟมากเกินความจำเป็น
โดยกับดักที่ว่านี้คงหนีไม่พ้น ‘โลกทุนนิยม’ ที่คอยกล่อมเราให้ต้องทำงานหนัก แต่ละวินาทีในแต่ละวัน ต้องถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด สร้างผลิตผลออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อไปถึงจุดที่จะสามารถมีกำลังซื้อวัตถุมากมาย มีไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา น่าอิจฉา เป็นหน้าเป็นตาในสังคม แต่ลืมไปว่าค่าแรงขั้นต่ำของประเทศนี้ ไม่ได้ตอบแทนคนทำงานหนักอย่างสมศักดิ์ศรีขนาดนั้น การจะไม่มีกระเป๋าแบรนด์ รถหรู บ้านหลังใหญ่ หรือกลายมาเป็นคนที่มีชีวิตแสนธรรมดาอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงไม่ใช่ความผิดของเราเสมอไป
และกับดักความสมบูรณ์แบบที่เราพลาดตกลงไปอยู่ทุกวัน นั่นก็คือ ‘โซเชียลมีเดีย’ ที่อยู่ในมือนั่นเอง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม พินเทอเรส ทุกอย่างล้วนเต็มไปด้วยด้านที่งดงามของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์หรือไลฟ์สไตล์ แต่น้อยนักที่เราจะเห็นด้านที่ตกต่ำของพวกเขา แม้แต่เราเองก็อยากนำเสนอแต่สิ่งดีๆ ลงในนั้นเช่นกัน แล้วเราจะเอาทั้งหมดที่เห็นในโซเชียลมีเดีย มาสรุปได้ว่าชีวิตทุกคนพิเศษไปหมด มีเพียงเราที่ธรรมดาอยู่คนเดียวแบบนั้นได้ยังไงกัน
การสังเกตกับดักเหล่านี้ได้ จะทำให้เรากลับมามองชีวิตตัวเองใหม่อีกครั้ง โดยไม่ตัดสินความธรรมดานั้นให้เป็นเรื่องแย่ หรืออาจเปลี่ยนความคิดไปเลยว่าจริงๆ แล้วชีวิตเราไม่ได้ธรรมดาอะไรสักหน่อย เพราะเราก็ค้นพบความพิเศษเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันอยู่แล้ว ได้ลองทำกับข้าวเมนูใหม่ๆ ได้ดูหนังเรื่องใหม่ๆ ค้นพบทริคที่ช่วยล้างคราบสกปรกออกในพริบตา หรือศัพท์แปลกๆ จากหนังสือที่ซื้อมาดองไว้ เหล่านี้ถ้าเรามองว่าเป็นอะไรที่พิเศษ มันก็คือความพิเศษนั่นแหละ ไม่จำเป็นต้องตั้งข้อสงสัย หรือนำไปเปรียบเทียบกับใครหรอก
และบางครั้งการเป็นคนธรรมดา มีชีวิตที่ธรรมดา ก็กลายเป็นข้อได้เปรียบอย่างน่าประหลาดใจ เพราะเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำอะไรที่พิเศษได้ ไม่สามารถออกไปท่องเที่ยว ออกไปพบปะเข้าสังคม หรือออกไปทำกิจกรรมสุดเหวี่ยงข้างนอก ความธรรมดาที่อยู่รอบตัวกับเรามาโดยตลอดนี่แหละ ที่จะเป็นตัวสร้างความสุขให้เราได้เรื่อยๆ ไม่มีวันหมด
แต่หากวันหนึ่ง เราจะออกจากความธรรมดานั้นดูบ้าง เพื่อไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือลองทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรหรอกนะ เพราะบางทีเราอาจจะเจอความธรรมดาใหม่ที่แสนพิเศษสำหรับเรา ซึ่งเราสบายใจที่จะเป็น มีความสุขที่จะทำ และยินดีอยู่ร่วมกับสิ่งนั้นมากขึ้นก็ได้
สุดท้ายที่อยากฝากไว้ก็คือ การมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นเรื่องที่ดีเสมอ ไม่ว่าจะกับเรื่องไหนก็ตาม แต่หากเป้าหมายนั้นไม่ได้ดูน่าตื่นเต้น น่าสนใจ หรือยิ่งใหญ่อลังการอย่างที่ใครคาดหวังไว้ ก็ลองกลับมาทบทวนกับตัวเองดูว่า คนที่กำลังใช้ชีวิตของเราอยู่นั้นเป็นใคร คนที่จะอนุญาตให้เราไปกินอาหารอร่อยๆ เลือกเพลงเพราะๆ ให้เราฟัง หรือพาตัวเราไปเที่ยวสถานที่ที่สวยงาม คนนั้นใช่เราหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ งั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจมากก็ได้นะ
หากเราตระหนักได้ว่าความธรรมดาคือความสุขในชีวิต หรือการใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาทั่วไป ทำให้เราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ มีเวลามากพอให้กับคนสำคัญและกิจกรรมที่ชอบ ก็โอบกอดความธรรมดานั้นเอาไว้ให้แน่น เพราะท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความกดดันมากมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะสามารถมีชีวิตในแบบที่อยากเป็น โดยเฉพาะการเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีความสุข ซึ่งถ้าสามารถเป็นได้ก็หมายความว่า เราเองก็กำลังบรรลุเป้าหมายสูงสุดอยู่เหมือนกันนั่นแหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก