กฎหมายที่ดี จะต้องไม่ละเว้นผู้นำให้อยู่เหนือกฎหมาย
แม้ว่าเราจะเจอกับวิกฤตโรคระบาดมาปีกว่าแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถควบคุม หรือจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อได้ ทั้งโดยเฉพาะในการระบาดระลอก 3 นี้ เรายิ่งเห็นสถานการณ์หลายอย่าง จากการบริหารงานของรัฐบาล หรือผู้บริหารสูงสุดของรัฐที่บกพร่อง ไม่มีการสื่อสารที่แน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นการโดนเลื่อนคิวฉีดวัคซีน การประกาศปิดแคมป์ ปิดไม่ให้นั่งทานในร้านอาหาร หรือแม้แต่มีประชาชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เสียชีวิต จากการรอเตียง
ความผิดพลาดเหล่านี้ สร้างความสับสนให้ประชาชน และยังส่งผลกระทบทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ ร่างกาย ไปถึงชีวิตของประชาชน ซึ่ง รศ.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ชี้ว่า หากผู้บริหารรัฐบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างขาดความรับผิดชอบ และผิดพลาด กลไกทางกฎหมาย รวมถึงศาล ควรจะมีส่วนที่จะสามารถเอาผิด และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ด้วย
แนวคิดเรื่องกระบวนการเอาผิดผู้นำผู้บริหารสูงสุดจากการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินผิดพลาด คืออะไร มีกระบวนการอย่างไรบ้าง
การเอาผิดผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผมคิดว่าควรต้องใช้กระบวนการตามกฎหมาย ก็คือต้องฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญา คดีแพ่งก็คงเป็นเรื่องของละเมิดเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนคดีอาญาก็อาจเป็นมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาเรื่องของเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจริงๆ มันมีกระบวนการทางกฎหมายตามปกติ ในการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ มันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีบทบัญญัติที่ยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่
ถ้าดูตัวเนื้อหาบทบัญญัติ ก็จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้ยกเว้นความผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในทุกกรณี แต่ท่วงทำนองการเขียนซึ่งอ่านเข้าใจยาก ทำให้คนรู้สึกว่าการจะไปเรียกร้องเอากับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ทำให้คนรู้สึกหมดหวัง ในทางตรงกันข้าม บทบัญญัตินี้ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดความรู้สึกว่าสามารถบริหารจัดการสถานการณ์อย่างไรก็ได้ ไม่ต้องกังวลที่จะต้องรับผิด
ผมคิดว่ามันเป็นการเขียนไว้โดยมีวัตถุประสงค์ในเชิงจิตวิทยา ทำให้คนไม่กล้าฟ้อง ทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่กลัวที่จะต้องรับผิด แต่ความจริงแล้วประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายสามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจ ประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหายได้อยู่ มันต้องมีคนเริ่มนะครับ เริ่มฟ้องร้องเป็นคดีในศาล
อย่างที่อาจารย์พูดถึง พรก.ฉุกเฉิน ที่มีการใช้มาปีกว่าแล้ว ตอนนี้อาจารย์มองว่า พรก.ฉุกเฉินมันยังจำเป็นอยู่ไหม และเราเห็นความบกพร่องเขารัฐ จากการใช้กฎหมายนี้อย่างไรบ้าง
จริงๆ ตั้งแต่แรกเริ่มการบังคับใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ ก็มีการตั้งคำถาม ว่ามันจำเป็นต้องใช้กฎหมายฉบับนี้ไหม หรือว่ากฎหมายฉบับอื่นๆ ที่มีอยู่ มันเพียงพออยู่แล้ว อย่างเช่นตัวพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ซึ่งก็ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินไว้อยู่แล้วพอสมควร แต่ว่ารัฐก็ตัดสินใจเลือกใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งในช่วงนั้นมีเรื่องของการชุมนุมประท้วงอยู่ด้วย มันเลยน่าสงสัยว่าเป็นการฉวยโอกาสใช้กฎหมายฉบับนี้คุมม็อบเสียด้วยเลย
ถ้าเราดูเจตนารมณ์ดั้งเดิมของพระราชกำหนดฉบับนี้ ผู้ร่างต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคง เช่น การควบคุมสถานการณ์ที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะชุมนุมประท้วงมีการใช้ความรุนแรงทั้งหลาย แต่ตอนนี้มันถูกนำมาใช้ผสมปนเปกันไปทั้งการควบคุมการระบาดของโรคติดต่อด้วย ผสมรวมกับการควบคุมการชุมนุมประท้วงซึ่งยังไม่ปรากฎว่ามีการใช้ความรุนแรงหรือละเมิดรัฐธรรมนูญ
แม้ว่าความชอบธรรมในการบังคับใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ก็ถูกตั้งคำถามตั้งแต่ต้น แต่สถานการณ์ความร้ายแรงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนทำใจยอมรับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ และยอมให้รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารสถานการณ์ รัฐบาลจะใช้กฎหมายอะไรก็แล้วแต่ คนก็คงไม่ได้ติดใจ ซึ่งถ้าสังเกตดูประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่รัฐบาลเขาก็ใช้กลไกของกฎหมายฉุกเฉินในการแก้ไขสถานการณ์
แต่ว่าผ่านไปหนึ่งปีกว่าแล้ว เราเริ่มเห็นอย่างชัดเจนได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายฉุกเฉินไม่ได้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคนก็เริ่มตั้งคำถามกันมากว่า ผู้ที่มีอำนาจใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ด้วยความรับผิดชอบหรือไม่ ผมคิดว่าการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งกฎหมายฉุกเฉินและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทั้งตัวองค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริการจัดการสถานการณ์มีความสับสนวุ่นวายมาก
เราเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากหลายตัวอย่าง เช่นเรื่องการดึงอำนาจเข้าสู่หน่วยงานกลาง อย่าง ศบค. นายกรัฐมนตรีรวบอำนาจของรัฐมนตรี หรือของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายต่างๆ มาอยู่ที่ตัวเอง บางครั้งก็ใช้อำนาจนั้นในลักษณะที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและรวมศูนย์ แต่หลายครั้งก็ปล่อยหน่วยงานของรัฐในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่นเนี่ยตัดสินใจแก้ปัญหากันไปเองไปแบบคนละทิศคนละทางกัน อันนี้ก็เป็นปัญหาเรื่องของการจัดวางความสัมพันธ์ขององค์กรผู้ใช้อำนาจในการแก้ปัญหา
เรื่องของกระบวนการตัดสินใจและการประกาศบังคับใช้คำสั่ง หรือมาตรการในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในหลายครั้งไม่ได้ทำด้วยความระมัดระวัง หรือความรอบคอบ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดเลยที่เราเจอบ่อยๆ ก็คือ การออกประกาศอย่างทันทีทันใด โดยที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนที่ได้รับผลกระทบได้เตรียมตัวก่อนล่วงหน้าพอสมควร หรือว่ามีการบอกอย่างไม่เป็นทางการอย่างหนึ่ง แต่ว่าในเวลาไม่นานนัก ก็มีการออกประกาศซึ่งมีเนื้อหาที่แตกต่างจากที่บอกประชาชนไปก่อนหน้า หรือว่าหน่วยงานหนึ่งออกประกาศอย่างหนึ่ง เช่น กรุงเทพมหานครออกประกาศอย่างหนึ่ง แต่ ศบค. ออกมาสั่งยกเลิกทีหลังภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง นี่เป็นตัวอย่างใช้อำนาจโดยขาดความรับผิดชอบซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายในทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
จริงๆ ตัวกฎหมายฉุกเฉินไม่ได้มีปัญหามากในตัวมันเอง ในสถานการณ์ที่มันมีความร้ายแรงแบบนี้ รัฐบาลทุกรัฐบาลมีความชอบธรรมในการใช้กฎหมายฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในการใช้ ต้องใช้อย่างรับผิดชอบ และด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด อันนี้เป็นหัวใจเลย เราเห็นตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงที่ผ่านมา เป็นการบริหารจัดการแบบมักง่าย และใช้อำนาจโดยขาดความรับผิดชอบ ไม่ละเอียดรอบคอบเลย แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก
สถานการณ์ที่คนจำนวนมากต้องตกงาน ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัว โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาตามสมควร อย่างที่เราเห็นกันเร็วๆ นี้ คือ ภาพคนงานติดอยู่ในแคมป์คนงานต่างๆ ไม่มีอาหาร ไม่มีความช่วยเหลือ เป็นตัวอย่างความเสียหายที่ชัดเจนมาก แต่ความเสียหายที่ร้ายแรงที่สุดก็การสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่เกิดจากบริหารจัดการที่ผิดพลาดเรื่องการรักษาผู้ป่วย การจัดหาวัคซีน และการจัดสรรวัคซีน เหล่านี้นี้เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดของการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ขาดความรับผิดชอบ
แสดงว่าจริงๆ แล้ว พรก.ฉุกเฉิน ที่เหมือนจะต้องมาอุดช่องโหว่ มันกลายเป็นทำให้เราเห็นช่องโหว่ และความบกพร่องของรัฐบาลชัดเจนขึ้น
ใช่ครับ ผมมองอย่างนี้ครับว่าตัวกฎหมายฉุกเฉินเนี่ยมันมาช่วยอุดช่องโหว่อย่างที่บอก มาช่วยเสริมให้รัฐบาลสามารถมีเครื่องไม้เครื่องมือในการแก้ปัญหาทางกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ อย่างบูรณาการ และอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ว่าต้องใช้อย่างรับผิดชอบ และละเอียดรอบคอบอย่างที่สุด คือระดับความระวังในการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแบบนี้มันต้องเป็นระดับความระมัดระวังที่สูงที่สุดเลย เพราะว่าสิ่งที่ตามมา ผลลัพธ์ของการใช้อำนาจโดยขาดความละเอียดถี่ถ้วน ขาดความระวัง และความรับผิดชอบเนี่ย มันคือความเสียหายที่ใหญ่หลวงมาก ทั้งต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก
รัฐบาลมีดาบอาญาสิทธิ์อยู่แล้วแต่ใช้ไม่เป็น หรือใช้โดยขาดความรับผิดชอบ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซ้ำร้ายยังสร้างปัญหา และความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีก ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในการใช้อำนาจและการออกมาตรการทั้งหลาย และคำถามต่อสภาวะความเป็นผู้นำของผู้ใช้อำนาจ
อาจารย์มองว่า การเอาผิดกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐ หรือผู้นำประเทศ จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานแก่สังคมอย่างไรได้บ้าง
การใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ได้รับการชดเชยจากการใช้อำนาจโดยมิชอบไม่เพียงแต่เป็นการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง แต่เป็นการสร้าง accountability หรือความรับผิดชอบในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยเช่นกัน
อย่างที่ได้กล่าวไป พระราชกำหนดฉุกเฉินไม่ได้ปิดช่องการฟ้องหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยสิ้นเชิงนะครับ ยังมีช่องอยู่ เพียงแต่ว่า ไม่ค่อยมีคดีที่มีการฟ้องร้องกันอย่างจริงจัง ทำให้คนไม่เห็นตัวอย่างว่ามันจะทำได้อย่างไร และผู้ใช้อำนาจไม่มีตัวอย่างให้เรียนรู้ ผมคิดว่าศาลเองก็ต้องจริงจังกับการตรวจสอบการใช้อำนาจ เพราะศาลเป็นกลไกที่สำคัญมากในการสร้างความรับผิดชอบให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้อำนาจ ว่าคุณจะใช้อำนาจหน้าที่โดยขาดความรับผิดชอบไม่ได้ ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจหน้าที่ในกรอบกฎหมายที่มันสุจริตก็ไม่มีปัญหา เพราะเราก็เข้าใจว่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้หรอกว่าจะสำเร็จ หรือล้มเหลว แต่ว่าถ้าคุณปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ด้วยความระมัดระวังในระดับสูงสุดแล้ว มันก็ไม่มีใครโทษคุณ
แต่ถ้าคุณไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานตรงนั้น คุณก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งศาลต้องมาชี้ว่า มันมีระดับความรับผิดชอบ หรือระดับความระมัดระวังที่เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีในการใช้อำนาจนี้อยู่ เมื่อศาลส่งสัญญาณให้ฝ่ายบริหารได้รับทราบอย่างชัดเจนแล้ว ผมคิดว่ามันจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดความระมัดระวังในการใช้อำนาจมากขึ้น
ไม่ใช่เพียงแค่ศาลอย่างเดียว ผมคิดว่านักกฎหมายก็มีส่วนสำคัญมากในการกระตุ้นให้ฝ่ายบริหารต้องใช้อำนาจด้วยความระมัดระวังและด้วยความรับผิดชอบ ในขณะที่ทุกภาคส่วนรวมพลังกันส่งเสียงให้ผู้ใช้อำนาจได้ยินว่าเขาได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบ และต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีความรับผิดชอบ มีความรวดเร็วมากขึ้น ผมคิดว่านักกฎหมายไม่สามารถนิ่งเฉยได้ นักกฎหมายก็ต้องรวมพลังกันบอกให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายทราบว่า มันมีช่องทางทางกฎหมายที่จะเอาผิดผู้ที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ และเรียกร้องค่าเสียหาย รวมถึงส่งสัญญาณให้ผู้ใช้อำนาจทราบว่าผู้ใช้อำนาจมีความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือขาดความรับผิดชอบ
เหมือนบ้านเราเอง มันเป็นเพราะว่าสังคมรู้สึกว่าผู้มีอำนาจมันแตะต้องไม่ได้ด้วยใช่ แต่จริงๆ แล้วกฎหมาย ไม่ควรละเว้นแม้แต่ผู้นำเลยด้วย
ถูกต้อง จริงๆ กฎหมายที่ดีจะต้องสร้างความรู้สึกให้คนที่ใช้อำนาจ รู้สึกว่ามีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ และมีความกลัวที่จะต้องรับผิดทางกฎหมาย และกฎหมายที่ดีต้องส่งเสริมให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ สามารถที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมายในการได้รับการเยียวยาได้
ผมคิดว่า พรก.ฉบับนี้เป็นฉบับที่ไม่ค่อยดีในบางส่วน เพราะว่ามันทำให้คนไม่รู้สึกว่ายากที่จะเรียกร้อง ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แล้วด้วยลักษณะของคนไทยด้วย เราเองก็ค่อนข้างจะเชื่อใจ เชื่อถือ และก็เดินตามผู้มีอำนาจด้วย เพราะงั้นแล้วก็เป็นปัญหาที่ตัวผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอยู่ด้วยเหมือนกัน
อย่างไรตามในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าทัศนคติของคนไทยก็เปลี่ยนไปเยอะมาก เราเริ่มปกป้องสิทธิของเราเองมากขึ้น และก็เรียกร้องให้มีการแก้ไขและรับผิดชอบในสิ่งที่เราเห็นว่ามันไม่ถูกต้องชอบธรรม
หรือเรียกได้ว่าบรรทัดฐานหนึ่งที่อาจารย์พูดถึง อาจเป็นการที่คนกล้าและ มองว่ากฎหมายเป็นช่องทางหนึ่งในการตรวจสอบมากขึ้นด้วย
ใช่ครับ ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องไม่จำนน ต้องไม่เงียบต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือการใช้อำนาจของรัฐอย่างขาดความรับผิดชอบ ซึ่งผมดีใจนะครับ ว่าในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นได้ว่าคนในสังคม เขาออกมาเรียกร้อง คือคนเห็นชัดเจนว่า การจัดหาวัคซีน การกระจาย จัดสรรวัคซีน หรือว่าการจัดการกับเรื่องของผู้ป่วยเนี่ย มันมีประสิทธิภาพแค่ไหน แล้วหน่วยงานของรัฐได้ทำด้วยความรับผิดชอบระดับสูงสุดไหม พอมันไม่เป็นอย่างที่ควรเป็นเนี่ย คนก็ออกมาเรียกร้อง ออกมาตำหนิ มันก็เกิดการแก้ไข
แต่ว่าต้องเรียนว่า บางเรื่องเป็นเรื่องที่เราส่งเสียงดังๆ ออกไปเพื่อแก้ไข มันก็อาจดีขึ้น แต่ว่าในบางเรื่อง รัฐใช้อำนาจโดยขาดความรับผิดชอบแล้วมันก่อให้เกิดความเสียหาย เรื่องพวกนี้มันต้องเป็นเรื่องของการเยียวยา เป็นเรื่องของการที่คนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนี่ย เขาควรจะต้องมีสิทธิในการได้รับการชดใช้ และชดเชย แล้วเขามีสิทธิที่จะต้องเรียกหาคนที่มารับผิดชอบในทางกฎหมาย ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้จริง มันไม่ใช่แค่การเรียกร้องด้วยการพูด และจบไป ถ้าเราอยากจะเห็นเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ก็ต้องไปที่ศาล เพราะศาลเท่านั้นที่จะเป็นคนชี้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนที่จะต้องมารับผิด
ในการเอาผิดเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีความเห็นของนักกฎหมายท่านอื่นเช่นกัน ที่มองว่า ความผิดพลาดของผู้บริหาร ถึงขั้นเจตนาทำให้คนตาย อาจารย์มองว่าอย่างไร
ผมว่าเป็นไปได้ คือถ้าเขาเห็นถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว และได้รับทราบคำเตือน มีบทเรียน แต่ก็ยังไม่นำพา ไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น และยังคงทำผิดพลาดซ้ำซาก หรือก่อให้เกิดความเสียหายแบบเดิมๆ แบบนี้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของการจงใจ หรือเจตนาก่อให้เกิดผลร้ายขึ้น ส่วนการกระทำในทางกฎหมายอาจจะมีทั้งการกระทำแบบกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ การที่เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ละเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ในทางกฎหมายเรียกว่าการงดเว้นกระทำการ ซึ่งมีผลทางกฎหมายอย่างเดียวกับการกระทำทั่วไป
สถานการณ์ในขณะนี้ ผมมองว่าหลายเรื่องเนี่ยมันเลยระดับความประมาทเลินเล่อแล้ว เมื่อเริ่มเกิดสถานการณ์แพร่ระบาด เจ้าหน้าที่ของไม่รู้แน่ชัดหรอกว่าสถานการณ์แบบนี้ มาตรการที่ใช้ จะให้ผลลัพธ์อย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐทำได้เพียงแค่ใช้ความระมัดระวังในระดับสูงสุดในการพิจารณาออกมาตรการทั้งหลาย และพยายามจัดการอะไรต่างๆ ให้ดีที่สุด ผลลัพธ์อาจจะออกมาดีบ้างไม่ดีบ้าง เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่ก็มีคนตายเยอะ แต่ว่าเขาก็พยายามจัดการอย่างดีที่สุดตามมาตรฐานความระมัดระวังสูงสุด แน่นอนว่ามันก็มีความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่ผมคิดว่าประชาชนเข้าใจ และให้อภัยได้
แต่พอมันผ่านไปกว่าหนึ่งปี ในขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มฟื้นตัว เริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่เรายังคงมีปัญหาควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ การตัดสินใจของผู้ใช้อำนาจยังผิดๆ พลาดๆ ขาดความระมัดระวัง ทั้งๆ ที่สถานการณ์ที่พบเจอในปีนี้ไม่ใช่สถาการณ์ใหม่โดยสิ้นเชิง
แสดงว่าการจัดการเป็นอยู่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในระดับที่ควรจะเป็น เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะไม่สามารถยอมรับ หรือนิ่งเฉยได้
ในช่วงที่ผ่านมา คนพูดถึงความเป็นธรรมของศาล และตุลาการกันมากขึ้น และยังมีเรื่องของการตัดสินผู้นำ อย่างกรณีบ้านพักหลวง ถึงแม้ว่ามันจะคนละศาลกัน แต่ว่าในภาพรวมของตุลาการ อาจารย์มองว่า เรายังมีความหวังที่จะเห็นผู้นำถูกตรวจสอบในระบบตุลาการไทยอย่างเที่ยงธรรมใช่ไหม
ครับ จริงๆ เราก็มีนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงที่ถูกตัดสินให้ต้องรับโทษในคดีอาญา หรือในคดีแพ่งอยู่หลายเคสด้วยกัน มันพอมีตัวอย่างอยู่ แต่กรณีความรับผิดชอบผู้มีอำนาจรัฐบาลในระดับสูงสุด อย่างเช่นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเนี่ย ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนักในบ้านเรามากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลมีอำนาจทางการเมืองสูงมาก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเปิดช่องให้เขามีอำนาจพิเศษภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉิน มันยิ่งทำให้คนรู้สึกว่า การตรวจสอบผู้นำสูงสุดในทางบริหารเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเต็มที
ตรงนี้ ศาลต้องแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ไม่มีใครหลีกหนีการตรวจสอบไปได้ และถ้ามันเกิดมีอะไรผิดพลาด ไม่ว่าจะโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อเนี่ย ทุกคนต้องรับผิดชอบ ต้องมีคนเริ่มต้นทวงหาความรับผิดชอบอย่างจริงจังโดยใช้กระบวนการศาลและศาลก็ต้องจริงจังและกล้าหาญในการตรวจสอบ
อย่างไรก็ตามเราต้องให้ความเป็นธรรมกับศาลด้วยว่า ในบางคดี อาจจะมีข้อโต้แย้ง มีข้อสงสัยในการทำหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม หรือว่าศาลปกครองก็ดี ว่าเป็นไปตามหลักการกฎหมาย หรือเป็นธรรมหรือไม่ แต่ก็มีอีกหลายคดีที่เราเห็นตัวอย่างของการทำหน้าที่ด้วยกล้าหาญและเป็นธรรม
ผมคิดว่าพอมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้นำรัฐบาล มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความกล้าหาญในทางจริยธรรมเยอะมาก ศาลต้องอาศัยความกล้าหาญมากในการที่จะตัดสินคดีให้เป็นไปตามกฎหมายและปราศจากอคติ ตรงนี้ ผมคิดว่าคนในสังคมมีส่วนสำคัญมากในการช่วยทำให้ตุลาการ หรือผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีมีความกล้าหาญที่จะตัดสินคดีให้ถูกต้องตามหลักการ ผมคิดว่าในหมู่ของนักกฎหมายด้วยกันเอง ต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการที่จะสนับสนุนให้ตัวผู้พิพากษา หรือนักกฎหมายให้ได้ทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
เราต้องออกมาพูดกันเยอะๆ ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีเพื่อน เมื่อเขาทำในสิ่งที่ถูกต้องก็พร้อมจะมีคนมาสนับสนุน ไม่ใช่หมายความว่าจะเล่นพรรคเล่นพวกนะครับ แต่หมายความว่าทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่เดียวดาย แต่มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เพื่อนร่วมวิชาชีพที่ต้องการที่จะรักษาความเป็นธรรมและมีความกล้าหาญพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างผู้ที่ทำหน้าที่ถูกต้องเสมอ และสถานการณ์ในตอนนี้ ผู้คนในทุกภาคส่วนก็ออกส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรม นักกฎหมายเองจะนิ่งเฉยไม่ได้
เวลานักกฎหมายส่งเสียงมันมีความสำคัญมาก เพราะว่าเราคือคนที่รู้กฎหมาย และก็เข้าใจกระบวนการยุติธรรม พอนักกฎหมายส่งเสียงทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ และและทำให้เพื่อนร่วมวิชาชีพไมว่าจะทำหน้าที่อะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น อัยการ ผู้พิพากษา หรือแม้กระทั่งทนายความที่ทำหน้าที่แก้ต่างให้กับผู้เสียหายรู้สึกอุ่นใจ ว่าเขาไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเดียวดายในกระบวนการยุติธรรม
ก่อนหน้านี้ก็มีเคสของครอบครัวคุณอัพ อัพ VGB (กุลทรัพย์ วัฒนผล) ที่เสียชีวิตจาก COVID-19 ระหว่างรอเตียงรักษา ครอบครัวเขาก็ได้ฟ้อง นายกฯ และก็ ศบค. เรียกร้องค่าชดเชย จากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาด้วย
กรณีของคุณอัพเป็นตัวอย่างที่ดีของการพิทักษ์สิทธิตามกฎหมายและพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าแม้การใช้อำนาจตาพระราชกำหนดฉุกเฉินก็อาจต้องรับผิด แต่กรณีนี้เข้าใจว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างเดียว ซึ่งตามมาตรา 17 ของกฎหมายฉุกเฉิน เขียนชัดเจนว่าไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย แต่การที่บทบัญญัติถูกเขียนไว้อย่างงงๆ อาจทำให้หลายคนอาจจะเข้าใจผิดไปว่า อย่างมากก็ฟ้องได้แค่ค่าเสียหาย แต่จริงๆ แล้วอย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้า กฎหมายไม่ได้ห้ามการที่ผู้เสียหายจะฟ้องร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องรับผิดทางอาญา หมายถึงว่าต้องถูกลงโทษทางอาญาหรือต้องรับผิดในทางวินัย ยังทำได้อยู่
จริงๆ แล้วผมคิดว่า เพราะว่าถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง ด้วยความรับผิดชอบเนี่ย กฎหมายมันจะเป็นเกราะกำบังเอง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความรับผิดชอบ ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือโดยไม่สุจริต ต่อให้มีบทบัญญัติกฎหมายยกเว้นความผิดไว้ บทบัญญัติแบบนี้ก็ขัดกับรัฐธรรมนูญ และขัดกับหลักกฎหมายทั่วไป แล้วศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม หรือศาลปกครองก็ดี มีหน้าที่ต้องชี้ว่า บทบัญญัติแบบนี้ไม่สามารถคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจแบบผิดๆ หรือว่าขาดความรับผิดชอบได้
ถ้าไม่ใช่แค่ค่าเสียหาย ในทางอาญา และในทางวินัย โทษที่จะได้รับ จะรุนแรงอย่างไรบ้าง
จำคุกครับ ถ้าเกิดว่าเป็นอาญาที่เห็นชัดเจนเลย คือกรณีเจ้าพนักงานปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งก็มีโทษจำคุกและโทษปรับ และอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ถ้าเกิดมีการฟ้องเป็นคดีอาญาขึ้นมา นักกฎหมายหลายคนกังวลกันว่า แนวโน้มของศาล พอเห็นว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายฉุกเฉิน ศาลจะไม่รับฟ้องเลย เพราะศาลมองว่าเขามีอำนาจตามกฎหมายพิเศษ ตามกฎหมายฉุกเฉิน เป็นการใช้อำนาจซึ่งก็อาจมีความเสียหายเกิดขึ้นบ้าง เพราะมันเป็นวิกฤตการณ์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ซึ่งตรงนี้ศาลคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะวิกฤตการณ์นี้ หรือโรคระบาดนี้เกิดขึ้นมาตั้งปีกว่าแล้ว เพราะงั้น ข้ออ้างที่บอกว่าไม่เคยเจอมาก่อน หรือการที่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้ ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเราผ่านประสบการณ์มาปีกว่าแล้ว มันไม่ควรมีความผิดพลาดซ้ำๆ เดิมๆ อีกแล้ว นอกจากนี้มีตัวอย่างที่ประสบความสำรเในต่างประเทศเยอะแยะ เพราะฉะนั้น ถ้ามีคดีมาทางอาญาหรือทางวินัยมาถึงมือศาล ศาลต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ และเรายังหวังว่าศาลจะช่วยกำหนดมาตรฐานความระมัดระวังในการใช้อำนาจบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน
แต่ผมไม่ได้บอกว่าศาลจะต้องตั้งธงเอาผิดรัฐบาล เพราะการพิจารณาคดีมันก็ต้องดูกันตามพยานหลักฐาน แต่สิ่งที่เรียกร้องคือไม่อยากให้ศาลปฏิเสธโอกาสที่จะพิจารณาคดีเพียงเพราะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเมื่อถ้าว่าเจ้าหน้าที่รัฐผิดจริง เราก็อยากเห็นว่าศาลวางหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างจริงจัง และเป็นระบบ
อย่างที่อาจารย์บอกว่า ประเทศไทยมีเคสน้อย หรือแทบจะไม่มีเลย
ใช่ครับ คือในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีน้อยมากที่คนเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิด คือในสถานการณ์ปกติทั่วไป แน่นอนว่ามันก็มีเป็นเรื่องปกติใช่ไหมครับ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง ทางวินัยทั้งหลาย ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าพอเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมันก็ต้องบอกว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยก็ไม่ใช่ เพราะเราก็เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบต่างๆ อยู่เยอะมากใช่ไหมครับ ส่วนใหญ่เป็นสถานการณ์ทางการเมือง แต่ว่าในช่วงเวลานี้ มันก็เป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวกับสาธารณสุข เกี่ยวกับโรคระบาด ถ้าเป็นแบบนี้เราไม่ค่อยเห็นความรับผิดของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่าไหร่
แต่ก็เริ่มมีเคสในต่างประเทศแล้ว อย่างอินเดียเองก็มีฟ้องเจ้าหน้าที่ ฟ้องผู้นำ หรืออย่างล่าสุด บราซิลก็มีศาลสูงที่รับฟ้องว่า ปธน.อาจเกี่ยวโยงกับการทุจริตวัคซีน อาจารย์มองว่าเคสเหล่านี้มันจะเป็นบทเรียน หรือตัวอย่างในเชิงกฎหมายกับเราอย่างไรบ้าง
ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก จริงๆ ในบราซิล ประธานาธิบดีเขาก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นคนที่ได้รับความนิยมมากในช่วงแรกๆ แต่ว่าเขาก็ดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดมาโดยตลอด สไตล์เขาก็คล้ายๆ โดนัล ทรัมป์พอสมควร แต่สุดท้ายแล้ว พอมันเกิดการบริหารจัดที่ผิดพลาดมากๆ เข้า ก็ถึงถึงจุดที่สังคมต้องเรียกร้องหาความรับผิดชอบ ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ ผมไม่อยากให้เราคิดว่าผู้ใช้อำนาจรัฐเป็นนักการเมืองที่เราชอบ เป็นคนที่เราเลือกมา เราเลยให้อภัยได้ แต่อยากให้ก้าวข้ามอคติ แล้วถามว่าเขาสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าเป็นอยู่หรือไม่ ถ้าเป็นเราเองหรือนักการเมืองคนอื่นใช้อำนาจแบบเดียวกัน เราจำแบบเดียวกับเขาหรือไม่
แน่นอนว่า ระบบกฎหมายของแต่ละที่มันก็อาจมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่ว่าหลักกฎหมายทั่วไป มันเหมือนกันหมด คือเมื่อมีอำนาจ คุณต้องมีความรับผิดชอบในการใช้อำนาจนั้นด้วย ถ้าคุณใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดชอบ ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบสิทธิของประชาชนหรือใครก็แล้วแต่ คุณต้องรับผิดชอบ และคุณมีความผิด อันนี้เป็นหลักกฎหมายทั่วไป มันไม่ควรจะมีใครได้รับการยกเว้น ไม่ว่าจะในสถานการณ์แบบไหน
เพราะฉะนั้นในส่วนของไทยเอง ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประชาชนให้อำนาจผู้นำรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐแบบเบ็ดเสร็จผ่านทางกฎหมาย แต่คุณเมื่อคุณใช้ไปโดยปราศจากความรับผิดชอบ และก่อให้เกิดความเสียหาย คุณก็ต้องรับผิด ผมคิดว่าสำหรับประชาชนหลายคน มันเลยช่วงเวลาที่เรียกว่าเลย honeymoon period ไปแล้ว คุณได้ลองผิดลองถูกกับการใช้มาตรการและนโยบายต่างๆ มามากเพียงพอแล้ว ในช่วงเวลานี้ไม่ควรมีความผิดพลาดง่ายๆ เกิดขึ้นอีกแล้ว
อาจารย์มองว่าตัวกฎหมายที่ตอนนี้มีปัญหา มันต้องมีการแก้ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรไหม
ผมมองอย่างนี้ครับว่า ตัวกฎหมายไม่ใช่ปัญหาหลัก แน่นอนมันมีข้อบกพร่อง เราพูดถึงมาตรา 17 อย่างที่ผมบอกไป เป็นมาตราที่มีปัญหา เขียนไว้ไม่ดี และมันไม่ส่งเสริมให้ผู้ที่เดือนร้อนกล้าที่จะใช้สิทธิ และอาจสร้างความเชื่อผิดๆ ให้เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดชอบ
แต่ว่าอย่างที่ผมบอกไป สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่เรื่องกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจก็คือศาล หรืออัยการที่จะต้องเข้าไปจัดการ มันมีวิธีการในทางกฎหมายในการแก้ปัญหาได้หมด ถึงกฎหมายไม่ดีอย่างไร นักกฎหมายจะมีเครื่องมือในการจัดการกับกฎหมายที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ผมจึงมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหา อยู่ที่เรื่องของกระบวนการตรวจสอบโดยหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมากกว่า คือตัวกระบวนการยุติธรรมเนี่ยมันมีปัญหามากกว่า แต่ผมไม่อยากโทษนักกฎหมายทั้งหมดนะครับ
ปัญหาของกระบวนการยุติธรรม มันมีมาตั้งแต่แรกเริ่ม ตั้งแต่ต้นทางของมันเลย ตั้งแต่คน ผู้เสียหาย คือ หนึ่ง ตัวผู้เสียหายเองเนี่ยต้องรักษาสิทธิของตัวเอง สอง คือตัวกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นอัยการหรือศาล จะต้องเข้าใจระบบการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และเข้าใจบทบาทตัวเองในฐานะกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ที่ประชาชนบอกว่า ‘ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย’ มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้ดูเหมือนว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทำได้ยากมาก ศาลต้องทำให้ประชาชนอุ่นใจว่าไม่ว่าในสถานการณ์แบบไหนศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้กับประชาชนได้เสมอ พวกเราต้องช่วยกันส่งเสียงกระตุ้น เตือนให้ศาลและเพื่อนนักกฎหมายด้วยกันตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญยิ่งยวดตรงนี้
ในขณะเดียวกันเราก็ต้องส่งสัญญาณไปยังผู้ที่ใช้อำนาจ ว่าคุณจะต้องใช้อำนาจด้วยความระมัดระวัง ด้วยความรับผิดชอบ ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากคุณใช้อำนาจโดยขาดความระมัดระวังและขาดความรับผิดชอบ ก่อให้เกิดความเสียหาย คุณก็จะต้องรับผิดและรับโทษ