วันนี้ (6 กรกฎาคม) ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาของเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ระบุว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี จากกรณีโพสต์เล่าประสบการณ์เพศสัมพันธ์ในเรือนจำ โดยศาลเห็นว่าเนื้อหาของโพสต์เป็นการ ‘ยั่วยุกามารมณ์’ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาถูกคุมขังระหว่างฎีกามาแล้ว 154 วัน ทำให้ต้องรับโทษจำคุกอีกราว 6 เดือน
เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่เอกชัยเล่าถึงประสบการณ์ในเรือนจำ โดย 1 ในนั้นก็คือเรื่อง ‘ชีวิตในเรือนจำครั้งแรกของผม’ ที่มีเนื้อหาบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำชาย
ต่อมา เขาก็ถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้อง และในวันที่ 28 เมษายน 2564 ศาลอาญาพิพากษาเห็นว่า “ข้อความมีลักษณะเข้าข่ายลามกอนาจาร และในส่วนที่จำเลย (เอกชัย) อ้างว่าเขียนข้อความเพื่อต้องการสะท้อนปัญหาในเรือนจำ จำเลยสามารถใช้วิธีเขียนข้อความในลักษณะอื่นได้ พิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา” โดยเขาก็ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ในวันที่ 19 เมษายน 2565 ศาลอุทธรณ์ก็คำพิพากษายืน โดยเห็นว่าข้อความของเอกชัย “กล่าวถึงการมีเพศสัมพันธ์ในเรือนจำอย่างโจ่งแจ้ง สื่อไปในทางลามกอนาจาร ผิดวิสัยของวิญญูชนผู้รู้ผิดชอบตามปกติพึงปฏิบัติหากจะสะท้อนปัญหาในเรือนจําให้ได้รับการแก้ไขดังที่จําเลยต่อสู้ เพราะสามารถใช้ถ้อยคําที่เหมาะสมสื่อความหมายได้”
หลังจากนั้น เอกชัยก็ถูกคุมขังระหว่างยื่นฎีกา 5 เดือน และยื่นฎีกาเพื่อต่อสู้ในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะเขาเห็นว่าการโพสต์เรื่องราวดังกล่าวเป็นการเขียนแนวนิยาย ไม่ได้มีเจตนาจะสื่อสารเรื่องลามก แม้ว่าจะมีถ้อยคำที่ไม่สุภาพ แต่ก็มองว่าไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ อีกทั้งเขายังยื่นฎีกาเพิ่มเติมในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการคำนวณโทษจำคุกที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายอีกเช่นกัน
ในวันนี้ ศาลฎีกาก็อ่านคำพิพากษา ระบุว่า ข้อมูลที่เอกชัยโพสต์ลงเฟซบุ๊ก “เป็นข้อมูลที่บรรยายยั่วยุกามอารมณ์ มีการเล้าโลม ส่อคุกคามอารมณ์ บรรยายถึงอวัยวะเพศล่วงล้ำหลายครั้ง ซึ่งเป็นข้อมูลอันลามก อีกทั้งเฟซบุ๊กของจำเลยเปิดสถานะเป็นสาธารณะ จงใจเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาศาลฎีกาไม่เห็นแย้ง ที่จำเลยฎีกามาไม่มีน้ำหนักเพียงพอ”
ส่วนของการพิจารณาเรื่องการที่ศาลอุทธรณ์สั่งลงโทษจำคุก 1 ปีว่าเป็นโทษที่หนักเกินไปหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าโทษดังกล่าวเหมาะสมแล้ว จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา
อีกทั้ง หลังจากอ่านคำพิพากษา เอกชัยก็พยายามโต้แย้งศาลเรื่องการนับโทษจำคุกที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 ซึ่งควรจะคำนวณโทษจำคุกเหลือ 10 เดือน 20 วัน แต่ข้อมูลจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ระบุว่า “ศาลยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะเพิ่มหรือลดก่อนก็ได้”
แล้วทำไมเอกชัยจึงโต้แย้งศาลเรื่องการคำนวณโทษ?
เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 บัญญัติไว้ว่า “ในการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ศาลตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มหรือลด ถ้ามีทั้งการเพิ่มและการลดโทษที่จะลง ให้เพิ่มก่อนแล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มแล้วนั้น ถ้าส่วนของการเพิ่มเท่ากับหรือมากกว่าส่วนของการลด และศาลเห็นสมควรจะไม่เพิ่มไม่ลดก็ได้”
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกเอกชัย 1 ปี โดยมีการเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม (เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก และได้กระทำความผิดใดๆ อีกในระหว่างภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษ) และมีการลดโทษตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม (ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ) เมื่อส่วนของการเพิ่มโทษและลดโทษเท่ากัน ศาลจึงเห็นสมควรไม่เพิ่มและไม่ลดโทษ คงโทษจำคุกไว้ที่ 1 ปี
แต่ถ้าพิจารณาตามกฎหมายอาญา มาตรา 54 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่าศาลสามารถมีดุลยพินิจคำนวณโทษจำคุกของเอกชัยได้ 2 วิธี ดังนี้
“วิธีที่ 1 เพิ่มโทษก่อน แล้วจึงค่อยลดโทษจากผลที่เพิ่ม: หากศาลคำนวณตามวิธีนี้ ก่อนเพิ่มหรือลดโทษเอกชัยจะมีโทษจำคุก 1 ปี เมื่อเพิ่มโทษหนึ่งในสามจะมีโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน จึงค่อยนำผลลัพธ์นี้มาลดโทษลงหนึ่งในสาม เท่ากับว่าเอกชัยจะมีโทษจำคุกหลังลดโทษ 10 เดือน 20 วัน”
“วิธีที่ 2 ไม่เพิ่มและไม่ลดโทษ (วิธีที่ศาลใช้): หากศาลคำนวณตามวิธีนี้ ส่วนของการเพิ่มโทษและการลดโทษที่เท่ากันนี้จะหายกันไป ไม่เพิ่มและไม่ลดโทษ เท่ากับว่าเอกชัยจะมีโทษจำคุกคงเดิมตามที่พิพากษาคือ 1 ปี”
จากผลลัพธ์ในข้างต้น ศูนย์ทนายก็ระบุว่า แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้ว่าจะเพิ่มและลดโทษด้วยวิธีใด “แต่ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) โดยเฉพาะในกรณีการบอกเล่าประสบการณ์ของเอกชัย ไม่ได้เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม ศาลจึงควรใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณ บังคับแก่จำเลย”
อ้างอิงจาก