ไม่ต้องติดตามข่าวสารอย่างเกาะติด แต่ชาวไทยก็คงได้เห็นข่าวเรื่องราคาข้าวผ่านตากันมาบ้าง
เมื่อมีคนนำราคาข้าวที่ตกต่ำมาเปรียบเทียบกับอาหารสุนัขแบบกิโลต่อกิโล แม้จะเป็นคู่เทียบที่ไม่ตรงนัก แต่ภาพที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียก็ขับเน้นได้อย่างชัดเจน ว่าราคาข้าวในปีนี้ตกต่ำในระดับวิกฤต
ชาวเน็ตบางคนด่ารัฐบาลทหารที่ทำงานไม่ได้เรื่อง บางคนด่านายทุนใจดำที่เอารัดเอาเปรียบ บางคนแสดงความเห็นอกเห็นใจชาวนาผู้เสียสละเพื่อคนในประเทศ (ว่าไปนั่น)
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ได้ร่วมวงด่าใคร แต่ใช้พื้นที่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว (Decharut Sukkumnoed) มาเผยแพร่แนวคิด ‘ข้าวลูกชาวนา’ จนกลายเป็นกระแสที่มีเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม ภาครัฐส่งสัญญาณว่าพร้อมสนับสนุน ภาคเอกชนหลายแห่งก็ร่วมวงด้วย และภาคประชาชนอีกไม่น้อยที่อาสามาช่วยในหลากหลายรูปแบบ
เพียงเวลาไม่นาน จากวิกฤตก็เปลี่ยนเป็นโอกาส ที่ลูกชาวนาจะมาขยับตัวเลขรายได้ให้พ่อแม่ชื่นใจ
The MATTER ชวนอาจารย์เดชรัตคุยถึงแนวคิด ‘ข้าวลูกชาวนา’ และในฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ เราเลยถามเรื่องกลไกตลาดอีกเล็กน้อย เพื่อให้พอเห็นภาพถึงที่มาของปัญหาราคาข้าวตกต่ำ
ไม่ยาว ไม่ยากหรอก ลองอ่านกันดู ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกชาวอะไร
เวลาพูดถึงราคาข้าวตกต่ำ สาเหตุหลักๆ มาจากอะไรบ้าง
หนึ่ง ราคาตลาดโลก ข้าวบ้านเราส่งออกตลาดโลกประมาณครึ่งหนึ่ง ราคาตลาดโลกที่ต่ำลง จะถูกนำมาอ้างอิงเป็นราคาในประเทศด้วย สอง ปีนั้นๆ ข้าวออกมาในช่วงเวลาเดียวกันเยอะหรือเปล่า เหมือนอย่างปีนี้ เดือนพฤศจิกายนเดือนเดียว ข้าวออกมา 55 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด เลยส่งผลต่อราคา สาม นโยบายของรัฐบาลที่มาแทรกแซงในแต่ละปี บางนโยบายมีผลต่อราคาโดยตรง เช่น การรับจำนำข้าวที่กำหนดราคาสูงกว่าราคาตลาดปลายฤดู พอเป็นแบบนั้นเลยไม่มีใครขายให้กับที่อื่น ขณะที่บางนโยบายก็มีผลกับราคาโดยอ้อม เช่น ประกันรายได้ คุณขายข้าวได้กี่บาท แล้วมารับเงินชดเชยส่วนต่างจากรัฐ นอกจากนี้ แต่ละปีอาจมีข้าวบางชนิดที่ราคาต่ำลง บางชนิดราคาดีขึ้น ผันแปรไปตามแต่ละช่วงเวลา
ใครเป็นผู้กำหนด ราคาตลาดโลก
ก็คือตลาด แต่ตลาดจะสลับกัน บางเวลาเป็นของผู้ซื้อ บางเวลาเป็นของผู้ขาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นของผู้ซื้อ คือในตลาดมีข้าวมากเกิน ผู้ซื้อเลยเป็นคนกำหนด
ทำไมปีนี้บ้านเราถึงมีปริมาณข้าวมาก
ทุกๆ ปีภาคกลางจะเริ่มทำนากันตั้งแต่ปลายพฤษภาคม หรือต้นมิถุนายน แต่ปีนี้พี่น้องชาวนาภาคกลางทำนาช้าลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง กว่าจะได้เริ่มทำก็ปลายมิถุนายน หรือกลางกรกฎาคม ข้าวเลยออกมาชนกับพี่น้องที่ภาคอีสานในเดือนพฤศจิกายน ราคาข้าวก็ตกลง
ปีนี้พี่น้องชาวนาภาคกลางทำนาช้าลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง กว่าจะได้เริ่มทำก็ปลายมิถุนายน หรือกลางกรกฎาคม ข้าวเลยออกมาชนกับพี่น้องที่ภาคอีสานในเดือนพฤศจิกายน ราคาข้าวก็ตกลง
ปีนี้รัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนชาวนาไหม
มีครับ แต่จำกัดอยู่เฉพาะข้าวหอมมะลิกับข้าวเหนียว ปีนี้ราคาข้าวเหนียวไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร การแทรกแซงราคาก็ไม่ค่อยมีผล ส่วนข้าวหอมมะลิรัฐบาลก็เคาะราคาออกมาช้า ชาวนาเลยไม่แน่ใจ ส่วนหนึ่งที่พร้อมเกี่ยวก็ขายไปก่อน ราคาข้าวหอมมะลิเลยร่วง ส่วนข้าวขาวรัฐบาลไม่ได้ช่วยอยู่แล้ว ราคาก็ลงไปเรื่อยๆ ที่คนตกใจเพราะราคาข้าวหอมมะลิตกมาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน เรารู้ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมว่าปีนี้ข้าวจะออกมาชนกันเดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านก็ต้องการตัวเลข แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจน การตัดสินใจช้าไป
ทำไมถึงต้องมีนโยบายอุดหนุนชาวนา
ถ้าพูดเฉพาะในประเทศ ผู้ซื้อในตลาดมีอำนาจมากกว่าผู้ขาย หลายครั้งก็เหวี่ยงจนเกษตรกรอยู่ลำบาก เลยทำให้ทุกๆ รัฐบาลเข้ามาสนใจ จริงๆ นโยบายลักษณะนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว เช่น การรับจำนำข้าว บ้านเราใช้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) แต่จะไม่เกี่ยวกับราคาโดยตรง หลักการคือกำหนดราคาให้สูงกว่าราคาต้นฤดู เกษตรกรก็ยังไม่ขาย และมาจำนำก่อน แต่ราคานั้นต้องต่ำกว่าราคาปลายฤดู พอราคาปลายฤดูขึ้น ชาวนาก็เอาข้าวไปขาย ถ้าเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่การบิดเบือนกลไกตลาดโดยตรง แต่เป็นทางเลือกให้เกษตรกร จะขายทันก็ได้ หรือจะรออีกสามสี่เดือนค่อยขายก็ได้ ส่วนการประกันรายได้จะเป็นการช่วยเหลือทางสวัสดิการสังคม จะไม่ส่งผลต่อราคาโดยตรง
เราปล่อยให้ตลาดทำงานเองโดยไม่ต้องมีนโยบายจากภาครัฐได้ไหม
ก็ได้ครับ แต่เกษตรกรก็ต้องมียุ้งฉาง มีเงินทุนหมุนเวียนมาใช้บริหารจัดการ เป็นรูปแบบที่ตัวเองสามารถเลือกได้ แบบนั้นถึงจะเป็นกลไกตลาดที่แท้จริง เราต้องไม่ลืมว่ากลไกข้อหนึ่งที่ช่วยให้ตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ No Barriers to Entry and No Barriers to Exit ถ้ากลไกการซื้อขายมีความไม่เป็นธรรม คนขายไม่อยู่ก็ได้ แต่ความเป็นจริงคือชาวนาออกไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรมาช่วย คือมาทำให้เขามี No Barriers to Exit ถ้าเขา No Barriers to Exit เมื่อไร ทุกอย่างจะเป็นไปตามกลไกตลาด แต่เวลาพูดในเชิงเศรษฐศาสตร์ เรามักจะพูดถึง No Barriers to Entry แต่จริงๆ ข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการต่อรอง คือ No Barriers to Exit ด้วย ทุกกรณีแหละ เช่นถ้าคุณยังไม่ได้ผูกพันอะไรกับผม คุณก็มีความสามารถในการต่อรอง แต่เมื่อคุณผูกพัน แล้วคุณปลีกตัวออกไปได้ยากกว่าผม คุณเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเจรจาต่อรอง รัฐบาลควรเข้ามาช่วยตรงนี้ จริงๆ ตั้งแต่แรกกลไกจำนำข้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้ ไม่ได้ต้องการเข้ามาแทรกแซง รัฐไม่ได้เป็นฝ่ายรับซื้อข้าวเอง
จุดเริ่มต้นของ ‘ข้าวลูกชาวนา’ เกิดขึ้นได้อย่างไร
ผมหารือกับหลายๆ คน แล้วมองว่าลูกชาวนาน่าจะไวที่สุดในการประสานกับชาวนาซึ่งคือพ่อแม่ กับเพื่อนในมหาวิทยาลัย เพื่อนในที่ทำงาน และเพื่อนรอบๆ ตัว มีนักศึกษาจากเกษตรศาสตร์คนหนึ่ง โพสต์เฟซบุ๊กไปครึ่งวัน ได้รับออเดอร์ไป 500 กิโล ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกข้าวหอมมะลิที่ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่กิโลละ 9 บาท ชาวบ้านน่าจะขายได้กิโลละ 15 บาท หรือตันละ 15,000 บาท ขณะที่ข้าวขาว ปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ 7.5 บาท ถ้าได้กิโลละ 8 บาท ก็เป็นส่วนต่างที่พอจะทำตลาดได้อยู่
ต้องบอกก่อนว่า ‘ลูกชาวนา’ ไม่ใช่แบรนด์ แต่เป็นแนวคิด มีคนส่งข้อความมาทางเฟซบุ๊กขออนุญาตใช้ชื่อ ไม่ต้องขอนะครับ มันเป็นคำกลางๆ อยู่แล้ว ใช้ได้เลย หรือคุณจะมีแบรนด์ของตัวเองก็ได้ ถ้าใครสนใจ เราก็อยากให้หาจากลูกชาวนาใกล้ๆ ตัว เพราะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมถึงผมไม่ได้มีข้าวในมือ แต่ถ้าสอบถามมา เราจะประสานให้ว่าใครมี ถ้าใครมีข้อสงสัยเรื่องการสีข้าว เรื่องการขาย ผมอาจตอบไม่ได้ทุกอย่าง ก็จะช่วยหาคำแนะนำให้ เรามีเครือข่ายโรงสีทั้งที่สุพรรณบุรี พะเยา เชียงราย ถ้าขนไปได้เขาก็ยินดีอำนวยความสะดวกให้ แต่ถ้าขนไม่ได้ ก็ลองดูว่าจะช่วยกันยังไง เราอยากให้แต่ละคนทำเอง ไม่จำเป็นต้องผ่านเรา วิธีการไม่ต้องเหมือนกันก็ได้
เป็นแนวคิดที่ขจัดคนกลางที่เทอะทะเกินไป
ครับ แต่ก็ไม่เชิง เพราะเราคงทำไม่ได้ขนาดนั้น ข้าวลูกชาวนาเป็นการเพิ่มทางเลือก การซื้อขายของพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรกับเพื่อนๆ ของลูกชาวนาจะไม่มีคนกลาง ข้าวจากผู้ผลิตมาสู่ผู้บริโภคได้เร็วขึ้น แต่คนกลางในห้างก็ยังมีอยู่
ลูกชาวนาเป็นแนวคิดเพื่อสร้างกระแสในสังคม ให้ชาวนารู้ว่ามีทางเลือกและเห็นช่องทางการตลาด แต่เวลาพูดคำว่า ‘ช่องทางการตลาด’ เราเหมือนจะมองในแง่ของการขายอย่างเดียว แต่การขายแบบนี้เราจะได้ฟีดแบคด้วย ลูกชาวนาจะวางแผนได้ว่าข้าวแบบนี้เพื่อนชอบ ขายได้ราคาดีกว่า ระยะต่อไปก็เป็นการแก้ปัญหา ผู้ประกอบการต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ต้องโฆษณาสินค้า ต้องคัดคุณภาพ บรรจุถุง ขนส่ง เก็บรักษา กระจายสินค้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ยินดีจะช่วย
ยกตัวอย่างคำว่า ‘คุณภาพข้าว’ ก็มีหลายมิติ และมีศัพท์หลายแบบในวงการ ตั้งแต่พันธุ์ข้าว สีของข้าว ลักษณะการสี ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง กล้องมาก กล้องน้อย ขัดหยาบ คุณค่าทางโภชนาการ ถ้าเราทำข้าวอินทรีย์ การอธิบายกระบวนการผลิตกับผู้บริโภคซึ่งเป็นเพื่อนๆ ของเรา ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งถ้าผ่านการตรวจรับรองแล้วยิ่งดี หรือถ้าเรามีความคิดเรื่องอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นถิ่น ก็ถือเป็นจุดขายได้ รวมไปถึงการบอกว่าเป็นข้าวที่มาจากเกษตรกรโดยตรงเช่นกัน นักศึกษาของผมคนหนึ่งทำการศึกษาค้นคว้าอิสระ เรื่องปัจจัยที่มีผลทำให้ผู้บริโภคยินดีที่จะซื้อข้าว พบว่าข้อนี้สำคัญ โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย เช่น ถ้าบอกได้ว่าซื้อข้าวจากเจ้านี้แล้วเกษตรกรจะได้รับเงินสูงกว่า โพสต์นั้นก็จะมาแรงมาก คล้ายกับร้านกาแฟชื่อดังที่พูดถึงเรื่องแฟร์เทรด
เห็นมีกระแสเรื่องการขายข้าวทางเฟซบุ๊กอาจผิดกฎหมาย
ท่านรองปลัดกระทรวงยุติธรรมตอบมาชัดเจน สิ่งที่เราทำไม่ใช่การขายตรง กรณีที่ผิดกฎหมายนั้นเป็นการขายแบบที่มีเอเย่นต์ขายต่อๆ กันไป แต่ของเราเป็นลูกมาขายให้กับคุณพ่อคุณแม่ โพสต์เฟซบุ๊กไม่ผิด สามารถดำเนินการได้ครับ บางคนห่วงว่าจะโดนจับเพราะปะฉลากเองไหม ผมไปค้นมาให้เล็กน้อย ในกรณีข้าวบรรจุถุง ต้องระบุชนิดของข้าวสาร บอกวิธีการหุงต้ม ใส่น้ำเท่าไร อันนี้คือสิ่งที่ราชการกำหนดไว้ เป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์
สิ่งที่เราทำไม่ใช่การขายตรง กรณีที่ผิดกฎหมายนั้นเป็นการขายแบบที่มีเอเย่นต์ขายต่อๆ กันไป แต่ของเราเป็นลูกมาขายให้กับคุณพ่อคุณแม่ โพสต์เฟซบุ๊กไม่ผิด สามารถดำเนินการได้
แนวคิดการขายข้าวเองพูดกันมานาน มองว่าเพราะอะไรโมเดลนี้ถึงยังไม่แพร่หลายมากนัก
ผมว่าชาวนาไม่มีประสบการณ์นะ นี่แหละครับ ครั้งนี้เลยใช้สถานการณ์มาช่วยปลุกเพื่อให้เกิดการลงมือทำ
ที่ผ่านมาชาวนาต้องการเงินทุนหมุนเวียน ต้องมีเงินไปจ่ายค่ารถเกี่ยว จับจ่ายใช้สอย การจำนำข้าวก็เพื่อเงินทุนหมุนเวียน ต้องดูว่าจะมีหน่วยงานไหนมาช่วยได้บ้าง ประเด็นนี้ที่เราพูดถึงภาครัฐเพราะมีทั้งไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ ถ้าเอามาเติมได้ก็ดี ส่วนในแง่ความรู้ต่างๆ และวิธีการจัดการมันสามารถเรียนรู้กันได้
อาจารย์คาดหวังอะไรจากการเผยแพร่แนวคิดนี้
ผมอยากให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น เป็นการตื่นตัวอย่างเข้าใจด้วย ผมไม่อยากให้เป็นแค่การสีข้าว บรรจุถุง แล้วเอามาส่ง แต่ถ้าจะดีกว่านั้น เขาควรคิดถึงคุณภาพ คิดว่าเราเป็นคนหุงจะรู้สึกยังไงกับผลิตภัณฑ์ รวมถึงรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ผู้บริโภคเองก็จะได้เข้าใจว่าผู้ผลิตมีเงื่อนไขยังไง เช่น ผู้บริโภคอาจไม่รู้ว่าผู้ผลิตต้องการเวลา อยากช่วยก็อยากซื้อทันที (แต่จริงๆ แล้วอาจทำไม่ได้ตลอด) ซึ่งเป็นเรื่องปกตินะครับ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาอยู่ห่างกัน อย่างที่บอกว่าลูกชาวนาไม่ใช่แบรนด์ ความฝันสุดท้ายคืออยากให้ทุกคนมีแบรนด์เป็นของตัวเอง แบรนด์ของพ่อแม่ หรือแบรนด์ของชุมชนก็ได้ ซึ่งมันก็มาจากสิ่งต่างๆ ที่เราทำจนผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือ