“เหมืองแร่คือตู้ใส่กับข้าวใบสุดท้ายที่บังคับให้ข้าพเจ้าประคองกระเพาะอันอินโรยไปหามัน มันบังคับให้ไปหา ไม่ใช่ขอร้องให้ไป มันต้อนข้าพเจ้ามากกว่าต้อนรับ”
หลายครั้งที่เราตื่นขึ้นมา แสวงหาความสุข พยายามทำความเข้าใจชีวิต วิ่งวนอยู่กับโลกที่แสนจะงงงวย ชีวิตในเมืองใหญ่ของเราหลายครั้งเต็มไปด้วยคำถาม วิถีโลกสมัยใหม่ของเราดูจะตรงข้ามกับชีวิตในเหมืองแร่ของคุณอาจินต์อย่างสิ้นเชิง ความหมายของชีวิตที่เราตามหา บางครั้งคำตอบอาจจะแสนเรียบง่ายและซุกซ่อนอยู่ในชีวิตเลอะน้ำมันขี้โล้ในเหมืองแร่ อยู่ในการเอาตัวรอด การทำงานหนัก และการเข้าใจชีวิตจากหยาดเหงื่อและแรงงาน
งานเขียนของคุณอาจินต์เป็นงานเขียนที่ ‘แมน’ มาก แน่ละ เหมืองแร่ คือประสบการณ์การกรำงานหนักของอดีตนิสิตจากกรุงเทพ และเหมืองแร่เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อร่างตัวตนของอาจินต์ขึ้นมา สำนวนเขียนของคุณอาจินต์จึงเป็นสำเนียงของชายชาตรีที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน แต่ในความเป็นชายนั้นก็ใช่ว่าประกอบขึ้นด้วยความหยาบกระด้าง แต่งานเขียนของคุณอาจิณต์กลับเต็มไปด้วยความอ่อนไหว ความเข้าอกเข้าใจโลก และความรู้สึกจากการใช้ชีวิตและความทรงจำที่ล้นออกมาจากตัวอักษรที่จริงใจและตรงไปตรงมานั้น
ทั้งหมดนี่แหละมั้ง ที่ทำให้เราน้ำตาไหลเวลาที่เราอ่านเรื่องเล่าของคุณอาจินต์ ตัวอักษรที่พาเรากลับไปยังเหมืองกระโสม พาเรากลับไปยังวัยหนุ่มที่ผ่านการทุบตี และสำหรับพวกเราเอง แม้เราจะไม่ได้ถูกทุบตีโดยท่อนเหล็ก แต่การต่อสู้เรียนรู้ความหมายของชีวิตก็ดูจะเป็นประสบการณ์ที่เราต่างเข้าใจได้ไม่ต่างจากความรู้สึกจากเหมืองแร่
เหมืองแร่เป็นเหมือนดินแดนเฉพาะ เป็นพื้นที่ที่ตรงข้ามกับโลกสมัยใหม่ เป็นโลกแห่งการเรียนรู้ การเอาตัวรอด ความรักชีวิต บางครั้งชีวิตก็อาจไม่จำเป็นต้องยุ่งยากซับซ้อน ความหมายของชีวิตอาจถูกนิยามได้ด้วยการทำงานหนัก การอิ่มท้อง เหล้าแรงๆ บุหรี่ และความสัมพันธ์ที่แสนเรียบง่าย
ด้วยความรำลึกถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์ แล้วเราจะฝันถึงดินแดนที่ฝนตกจนภูเขาละลาย ใบไม้โงหัวไม่ขึ้น
“แม้ข้าพเจ้าจะมีรายได้วันละ 6 บาท แต่ข้าพเจ้าได้สิ่งหนึ่งซึ่งหาซื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกวัน สิ่งนั้นคืองานและความจัดเจน ข้าพเจ้ากัดฟันทนต่อไปเพื่อพิสูจน์คำพูดของผู้จัดการภาค และข้อสำคัญกว่านั้น ข้าพเจ้าจะพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทำให้สีชมพูจาง…
จำไว้ สีชมพูจะไม่จางด้วยเหงื่อ แต่มันจะจางด้วยน้ำลาย”
– สีชมพูยังไม่จาง
“เหมืองแร่ไม่ใช่หน้ากระดาษนวนิยายสำหรับเนรมิตให้ตัวเองเป็นพระเอก มันไม่ใช่จอภาพยนตร์สำหรับแสดงความโลดโผนผิดผู้ผิดคน มันไม่ใช่สถานที่สำหรับเที่ยวเตร่เพื่อหากำไรให้แก่ชีวิต หรือเพิ่มสนิมให้แก่ความเหลวไหลไม่เอาถ่าน แต่เหมืองแร่คือตู้ใส่กับข้าวใบสุดท้ายที่บังคับให้ข้าพเจ้าประคองกระเพาะอันอิดโรยไปหามัน มันบังคับให้ไปหา ไม่ใช่ขอร้องให้ไป มันต้อนข้าพเจ้ามากกว่าต้อนรับ”
– มือที่เปิดประตูเหมือง
“เมื่อคราวที่ข้าพเจ้าทำถังขยะนั้น คมถังมันบาดเอาที่โคนนิ้วชี้ พอเลือดเยิ้มๆ ไม่เจ็บหรอกที่แผล วักน้ำมันขี้โล้ลูบแผล็บเดียว เลือดก็หยุด ไม่เจ็บเลยที่แผล เดี๋ยวนี้มันก็จารึกอยู่ที่มือนี้ มือที่เขียนแกร็กๆ อยู่นี้ รอยแผลเป็นเล็กๆ ที่คนอื่นไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร แต่มันมีความหมายต่อข้าพเจ้า เมื่อมองดูมันทีไร ภาพของเหมืองแร่ก็ไหวพะเยิบพะยาบขึ้นมา ในการทำเหมืองแร่ ข้าพเจ้าไม่ได้รับหนังสือคู่มือสักฉบับเดียว แต่ข้าพเจ้ามีแผลคู่มือ สมัยหนึ่งข้าพเจ้าเคยมีความรู้สึกต่อแผลนี้อย่างอดสู แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าได้คิดว่า ถ้ามือเราไม่มีแผลเป็นเสียบ้าง มันก็จะเลี่ยนเกินไป”
– มือที่เปิดประตูเหมือง
“แบมือสองข้างออกมาดู เส้นโชค เส้นลาภมันอยู่ตรงไหนหนอ มองไม่เห็น โชคลาภไม่อยู่กับคนอย่างเราหรอก อย่ามัวไปพิจารณาอยู่เลย เสียงกัดฟันและเสียงร้องจ๊อกๆ ของน้ำย่อยในกระเพาะอันหิวโหยต่างหากที่เป็นของคู่บารมี งาน…งาน…งาน…งานทำไป ปากก็ด่าไป มือก็ทำไป”
– เบ้าหลอมแห่งใหม่
“รูปต่อไปเรือขุดแร่ในยามเย็น ข้าพเจ้าใส่ฟิลเตอร์บรรทุกเข้าไปทั้งสีเขียว-สีเหลืองแล้วถ่ายทวนแสง ผลลัพท์ที่ได้มาเลวมาก ลำเรือขุดมัวหมด เห็นแต่แสงสว่างฝ้าเป็นแฉกๆ แต่ก็ไม่สม่ำเสมอ รูปถ่ายรูปนี้จะเอาไปอวดใครไม่ได้เลยนอกจากตัวเอง มันเป็นรูปที่มีค่าของข้าพเจ้า ค่าของมันไม่ได้อยู่ในกระดาษนั้น แต่มันอยู่นอกกระดาษ มันทำให้ข้าพเจ้าจำตัวเองได้ เหงื่อเปรอะทั้งตัวเมื่อเลิกงาน ยังอุตส่าห์หันหน้าไปถ่ายรูปเรือขุด เหมือนสังหรณ์ว่าวันหนึ่งข้างหน้า มันจะเป็นอนุสาวรีย์แห่งความทรงจำตามลำพังและบัดนี้มันก็ล่วงเข้ามา 14 ปี แล้ว รูปนั้นยังอยู่ แต่คนถ่ายรูปนั้นบัดนี้ได้เปลี่ยนอาชีพ เรือขุดลำนั้นถูกยุบเป็นเศษเหล็ก ป่าดงตรงนั้นป่านนี้คงเงียบเหงาและรกทึบ ข้าพเจ้าอยากไปยืนตรงนั้นก่อนตาย”
-เหมืองแร่รีวิว
“อยากจะให้ท่านได้เห็นฝนที่ตกพรำมา 10 วันติดต่อกัน มันตกเสียจนเราเบื่อและรำคาญ ไม่อยากให้ชีวิตของเราต้องเห็นฝนอีกเลย ภูเขาเปียกจนละลาย ใบไม้โงหัวไม่ขึ้น ดินเละเป็นโคลน แต่เราก็ต้องเดินไปทำงานและเดินกลับ เราทำเหมืองแร่จะสนิมสร้อยไม่ได้ เราต้องทำเราต้องกิน ไอ้ที่จะรวมหัวกันปลูกศาลเพียงตาสังเวยเทวดาให้ฝนหยุดตกเป็นไม่มีวันเสียละ”
– เหมืองแร่โชว์
“ปัจจัยสี่ของชาวเหมืองคือ…
บุหรี่ฉุนๆ – กาแฟแก่ๆ – เหล้าแรงๆ – และล็อตเตอรี่
บุหรี่คือโอโซนสำหรับคนที่ทำงานข้ามวันข้ามคืน กาแฟเป็นอาหารถ่วงท้องแก้หิวและแก้ง่วงดีนักแล เหล้านั้นเป็นยาบำรุงกำลัง ส่วนล็อตเตอรี่คือเงินฝากออมสินชนิดเสี่ยงโชค ไม่ถึงเวลาถูกรางวัลก็ถอนไม่ได้”
– กฎหมายเหมือง
“‘กินอย่าอาย ตายอย่ากลัว
ยากช่างหัว ตายปลด’
กินเข้าไปเถิด จะกลัวอะไรกับความตาย ยากจนหรือหนี้สินนั้น ตายแล้วมันก็ปลดเปลื้องไปเองแหละวะ
นี่เป็นสุภาษิตที่นักธรรมจริยาคงจะขมวดคิ้ว แต่พวกเราชาวเหมืองหัวร่อร่า”
– เสียงเรียกจากคุก!
“เหมืองแร่มีแต่ผู้ชาย เป็นผู้ชายกันทั้งนั้น แต่จะเป็นลูกผู้ชายทุกคนไปหรือ ข้าพเจ้าเองได้เคยแอบถามตัวเองอยู่เสมอว่า เราเป็นลูกผู้ชายหรือเปล่า คำตอบมักจะอ้อมแอ้มไม่ลงตัว เราจะเป็นลูกผู้ชายโดยคำรับรองของตัวเองไม่ได้ ช่างมันเถิด อย่าให้วิเศษถึงขนาดนั้นเลย เอาเพียงแค่เป็นคนก็บุญแล้ว”
– หนีหรือสู้
“มหาวิทยาลัยสอนความรักชาติ แต่เหมืองแร่สอนความรักชีวิต”
– ฝนเหมืองแร่
“‘คนค้าขายไม่มีสวรรค์นรกหรอกคุณ’ เจ้าของร้านหัวเราะกลั้วคำพูด เขากำลังสอนเรื่องของชีวิตแก่ข้าพเจ้า ‘คนค้าขายมีแต่กำไรขาดทุน'”
– ยาแดง