การเฟ้นหาหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมล่วงเลยมา จนเหลือแคนดิเดตเพียง 2 คน คือ ‘ริชี ซูนัค’ กับ ‘ลิซ ทรัสส์’ สื่ออังกฤษหลายสำนักต่างก็ปักใจเชื่อว่า ‘ทรัสส์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภายใต้ บอริส จอห์นสัน จะได้นั่งเป็นนายกฯ สหราชอาณาจักรคนต่อไป
และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ – พรรคอนุรักษนิยมประกาศเมื่อเวลา 12.30 น. ของวันนี้ (5 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ว่าผู้ชนะในการแข่งขันเพื่อขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ ก็คือ ‘ลิซ ทรัสส์’ ปูทางสู่การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่แห่งสหราชอาณาจักร
โดยที่พรรคอนุรักษนิยมประกาศคะแนนของทรัสส์ คือ 81,326 คะแนน หรือ 57.4% เทียบกับคู่แข่งอย่าง ริชี ซูนัค ที่ได้ 60,399 คะแนน หรือ 42.6%
The MATTER ชวนย้อนดูประวัติของ ลิซ ทรัสส์ ว่าที่นายกฯ สหราชอาณาจักรคนใหม่ ผู้ได้รับขนานนามจากสื่อว่าเป็น ‘shapeshifter’ หรือผู้ที่กลายร่างได้เรื่อยๆ จากการ ‘เปลี่ยนใจ’ หลายๆ ครั้งบนเส้นทางการเมือง สะท้อนความไม่แน่นอนที่ต้องจับตาต่อไปในรัฐบาลชุดใหม่แห่งสหราชอาณาจักร
จากนักศึกษาล้มเจ้า สู่หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม
‘ลิซ ทรัสส์’ หรือชื่อเต็ม ‘แมรี เอลิซาเบธ ทรัสส์’ เกิดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 1975 ในครอบครัวที่เธอพูดเองว่า เป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ โดยมีพ่อเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ แม่เป็นพยาบาล และนักเคลื่อนไหวใหกับแคมเปญยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์
นั่นจึงอาจจะไม่แปลกประหลาดนัก หากบนเส้นทางการเมือง เธอจะเกิดอาการ ‘เปลี่ยนใจ’ หลายครั้ง เริ่มต้นจากปี 1994 ที่เธอในวัย 19 ปี เคยออกมาเรียกร้องให้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เมื่อครั้งเป็นผู้นำฝ่ายนักศึกษาของพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด
“มีเพียงครอบครัวเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐได้ เราชาวเสรีประชาธิปไตยเชื่อในโอกาสที่เป็นของทุกคน เราไม่เชื่อในการที่จะมีใครเกิดมาเพื่อปกครอง” ทรัสส์กล่าวในการประชุมของพรรคครั้งนั้น
ต่อมาภายหลัง เธอเปิดใจถึงจุดยืนดังกล่าวว่า เธอแทบจะเปลี่ยนใจในทันทีหลังจากกล่าวสุนทรพจน์นั้นออกไป
ทรัสส์จบการศึกษาในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากอ็อกซ์ฟอร์ด ชีวิตการเมืองของเธอเกือบจะได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2001 จากการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม เขตเฮมส์เวิร์ต ในเมืองเวสต์ยอร์กเชียร์ แต่ก็พ่ายแพ้ ก่อนจะลงสมัครอีกครั้งในปี 2005 และพ่ายแพ้อีกครั้ง
จนมาถึงปี 2010 เธอจึงได้เข้าสภาฯ ในฐานะ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม เขตเซาธ์เวสต์นอร์ฟอล์ก ก่อนจะเริ่มก้าวกระโดดขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยด้านการศึกษาและดูแลเด็กเมื่อปี 2012 และได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและชนบท เมื่อปี 2014
การ ‘เปลี่ยนใจ’ ทางการเมืองของทรัสส์ เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2016 ในขณะที่สหราชอาณาจักรกำลังลงประชามติเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (EU) ที่รู้จักกันในชื่อ ‘Brexit’
ครั้งนั้น ทรัสส์เป็นฝ่ายสนับสนุนให้สหราชอาณาจักร ‘อยู่ต่อ’ ใน EU เธอเคยบอกว่า การอยู่ต่อถือเป็น ‘ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ’ ของอังกฤษ และเป็นวิธีที่จะทำให้อังกฤษมุ่งหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมภายในบ้านตัวเองได้ – แต่เมื่อผลการลงประชามติออกมาเป็นอีกอย่าง ทรัสส์ก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เธอผิดพลาดไป
ต่อมา ภายใต้รัฐบาลของ เทเรซา เมย์ เธอดำรงตำแหน่งอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ ประธานฝ่ายตุลาการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2016-2017 และตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในปี 2017-2019
จนกระทั่ง บอริส จอห์นสัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล ทรัสส์ก็ถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ในช่วงปี 2019-2021 จนสุดท้ายเมื่อปี 2021 ได้ไต่เต้าขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในที่สุด เป็นผู้หญิงคนที่ 2 ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่อาวุโสที่สุดในรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3
การได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ในครั้งนี้ จะปูทางให้ทรัสส์ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรคนต่อไป เธอจะเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ ต่อจากมาร์กาเรต แทตเชอร์ ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1979-1990 และ เทเรซา เมย์ ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2016-2019
แต่การเปลี่ยนใจในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาบนเส้นทางการเมืองของเธอ ก็ยิ่งทำให้คาดเดาได้ยากว่า รัฐบาลภายใต้การนำของทรัสส์จะดำเนินนโยบายอย่างไร เรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำว่า ไม่แปลกเลย ถ้าสื่อหลายสำนัก เช่น The Washington Post และ CNN จะขนานนามเธอว่าเป็น ’shapeshifter’ หรือเป็นผู้ที่กลายร่างได้เรื่อยๆ
แต่สิ่งที่แน่นอนสำหรับเก้าอี้นายกฯ คนใหม่ ก็คือ ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ เป็นปัญหาอย่างแรกๆ ที่ต้องรับมือ CNN รายงานว่า ค่าไฟและแก๊สหุงต้มรายปีโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงถึง 80% นับตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้เป็นต้นไป ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะพุ่งสูงถึง 13% ในช่วงปลายปีนี้
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา ทรัสส์ไม่ได้เปิดเผยว่าจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร แต่ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า “สิ่งที่ดิฉันอยากจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนก็คือ ดิฉันจะลงมือทำตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ” ก่อนจะมีกระแสข่าวว่า ตัวเลือกหนึ่งคือ เธออาจจะประกาศพักการชำระค่าไฟและแก๊สหุงต้ม
กับอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะพอคาดเดาได้คือ รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของ ลิซ ทรัสส์ น่าจะสนับสนุนยูเครนให้ทำสงครามกับรัสเซีย ไม่แพ้ บอริส จอห์นสัน เธอเคยย้ำว่าเธอจะเป็น ‘เพื่อนที่ดีที่สุด’ ของยูเครน ถ้าชนะเก้าอี้นายกฯ และจะรีบโทรหา โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง
ลำดับต่อไป ทรัสส์จะต้องเดินทางไปที่ปราสาทแบลมอรัล ในสกอตแลนด์ เพื่อเข้ารับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันอังคารที่ 6 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ก่อนจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่หน้าทำเนียบนายกฯ คือ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง เพื่อเริ่มเดินหน้าการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่
จึงจะนับว่าปิดฉากรัฐบาลของ บอริส จอห์นสัน โดยสมบูรณ์ …อย่างน้อยก็ในตอนนี้
อ้างอิง