เหงาจังเลย แต่ก็ไม่ได้อยากมีใครนะ แถมก็คงไม่มีใครอยากมาเป็นเพื่อนกับเราตอนนี้หรอก วัยนี้แล้วหาเพื่อนก็ยาก แต่ก็เหงา เหงาไม่ไหวแล้ว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอยากตอบไลน์ที่ดองเอาไว้ 9,999+ ข้อความเลยสักนิด แต่ก็เหงานะ แล้วก็จบที่วนลูปแบบนี้ต่อไป
ความเหงาเป็นเรื่องธรรมดา คนเราเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก็ต้องเผชิญกับความเหงากันทั้งนั้น ถึงเราจะเพิ่งบอกว่ามันจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผลกระทบของมันยิ่งใหญ่ระดับที่สามารถทำลายสุขภาพเราได้ ทั้งกัดกินใจเราแล้ว ยังส่งผลกับการนอนหลับของเราอีกด้วย
ดั่งที่บริทนีย์เคยร้องเพลงเอาไว้ว่า ‘My loneliness is killing me.’ (กรุณาอ่านด้วยเสียงแหบและใส่ทำนอง) บริทนีย์ไม่ได้พูดเกินจริงเลย เพราะจากงานศึกษาที่รวบรวมและวิเคราะห์ผลการศึกษาเกือบ150 ชิ้นในงานวิจัยก่อนหน้านี้ พบว่าความเหงาทำให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตของเราสูงขึ้น ถ้าให้เปรียบเทียบกับการสูบบุหรี่ เรามีโอกาสลาโลกเพราะความเหงามากกว่าอีก
แค่ไหนที่เรียกว่าเหงา
ไม่มีเพื่อนสนิท เลิกงานแล้วไม่มีกิจกรรมอะไรทำต่อ ไม่มีแฟน หรือแบบไหนกันแน่ที่แปลว่าเรากำลังเหงา ถ้าให้นิยามความเหงาตามหลักการแล้ว คือความแตกต่างระหว่างความคาดหวังของคุณภาพของความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ถ้าอธิบายให้ง่ายขึ้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีเพื่อนกี่คน เราอาจจะมีเพื่อนแค่คนเดียว (ซึ่งนั่นฟังดูเหมือนเป็นคนเหงา ถ้ายังไม่ได้ลงรายละเอียด) แต่ตราบใดที่เรายังมีความสุขกับเพื่อนคนเดียวของเรา และไม่รู้สึกว่าต้องการอะไรเพิ่มเติม เราก็ไม่ใช่คนเหงา
หลายคนบอกว่าแค่มีแฟนก็เตรียมโบกมือลาวงการคนเหงาได้แล้ว ถ้าว่ากันตามหลักการ แบบอธิบายให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น คือ ต่อให้เรามีแฟน แต่ถ้าแฟนไม่ได้มีเวลาให้เราให้เท่าที่ควรจนเราต้องทำอะไรเองคนเดียว เกิดเป็นความรู้สึกหม่นหมองในใจ รู้สึกต้องการเวลา และกำลังคาดหวัง (อย่างลมๆ แล้งๆ) ว่าแฟนจะมีเวลาให้ แต่ก็ผิดหวังทุกทีไป ก็เท่ากับว่าเรายังเป็นคนเหงาอยู่ ไม่ได้จากวงการไปไหน
ความเหงาไม่ใช่แค่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น แก้ได้ และแตกดับไป แต่การอยู่ในห้วงความเหงาจะทำให้เราเปลี่ยนไปเป็นคนละคน กาย วินซ์ (Guy Winch) นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ Emotional First Aid ได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดความเหงาขึ้นมาในใจเอาไว้ว่า ความเหงาจะทำให้เรามองคนอื่นในแง่ร้ายกว่าที่เป็นจริง มักจะมองความสัมพันธ์ที่คนอื่นหยิบยื่นให้ในแง่ลบ คิดว่ายังไงก็คงจะถูกคนอื่นปฏิเสธเสมอ และปิดกั้นตัวเองในที่สุด และเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรากำลังตะโกนบอกตัวเองแบบคอเป็นเอ็นว่า “คนนั้นไม่ได้อยากเป็นเพื่อนกับเราหรอก” รู้ตัวอีกทีก็อยู่ในวงการคนเหงามานานจนจำไม่ได้ว่าก้าวเข้าวงการมาตอนไหน
ความเหงาส่งต่อให้กันได้
มีงานศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ใน Journal of Personality and Social Psychology ทีมนักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลที่ใช้เวลาติดตามมากว่า 60 ปี ค้นพบว่าความเหงานั้นส่งต่อให้กันได้ ซึ่งรายละเอียดของงานศึกษานี้ค่อนข้างยาว และถูกพูดถึงในหลายรูปแบบ เราเลยขอเล่าแบบสั้นๆ ให้ว่า ถ้าคนไม่เหงามาอยู่ใกล้ชิดกับคนเหงา คนไม่เหงาคนนั้นจะกลายเป็นคนเหงาได้ในไม่ช้า ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว เราจะต้องประสบพบเจอกับความเหงารวมเป็นเวลา 48 วันต่อปี แต่การที่เรามีเพื่อนเป็นคนเหงาสักคนหนึ่ง จะเพิ่มวันเวลาแห่งความเหงาเข้าไปอีกถึง 17 วัน แต่ไม่ได้หมายความว่าให้พวกเราชาวคนเหงาชี้หน้ากันเองว่า “เธอนั่นแหละที่ทำให้ฉันเป็นคนเหงา”
นิโคลัส คริสทาคิส (Dr. Nicholas A. Christakis) แพทย์และนักสังคมสงเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ให้ความเห็นกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า การที่ความเหงาติดต่อกันได้ ก็เหมือนกับด้ายรันบนเสื้อไหมพรมนั่นแหละ การดึงด้ายเส้นเดียวที่รัน ก็อาจทำลายเสื้อไหมพรมได้ทั้งตัว คนเหงา 1 คน ก็อาจทำให้เครือข่ายสังคมทั้งหมดพังทลายลง
เพราะถ้าเรารู้สึกเหงา เราจะแผ่รัศมีความเหงาออกมาออกมาโดยไม่รู้ตัว และเราจะเริ่มตีตัวออกห่างจากคนอื่น หรือในทางกลับกัน ก็เป็นคนอื่นที่ตีตัวออกห่างจากเราเพราะสัมผัสรัศมีความเหงาที่เราแผ่ออกมาได้ ซึ่งคนที่ยังอยู่กับเราก็สามารถซึมซับความเหงาจากเราโดยที่เขาไม่รู้ตัว และค่อยๆ ก้าวเข้ามาในวงการคนเหงาอย่างช้าๆ ซึ่งรู้ตัวอีกทีก็ไม่เหลือใครเสียแล้ว
บอกลาวงการคนเหงา
ไม่ยาก ถ้าอยากออกจากวงการคนเหงา กาย วินซ์ (Guy Winch) นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ Emotional First Aid ก็ได้แนะนำวิธีการปรับความคิดเพื่อเลิกเป็นคนเหงาที่ไม่สิ้นสุดนี้เอาไว้ว่า ก่อนอื่นเราจะต้องเริ่มจากการปรับมุมมองการมองโลกของเราก่อน เพราะความเหงาทำให้เราระวังตัวเองจากการถูกปฏิเสธจากสังคมมากขึ้น จนบางครั้งก็กลายเป็นตีความการกระทำของคนรอบข้างว่า “พวกเขาไม่ได้อยากคุยกับเราสักเท่าไหร่หรอก” ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะสานสัมพันธ์กับคนรอบข้างไป
แต่ถ้าพยายามลบความคิดเหล่านั้นออกไป รวบรวมความกล้าออกไปคุยกับคนอื่น แล้วดันจังหวะไม่ดี พบกับการถูกปฏิเสธจริงๆ แน่นอนว่าเราจะซ้ำเติมตัวเองด้วยประโยคประมาณว่า “เห็นมั้ย ก็คิดตั้งแต่แรกแล้วว่าเขาไม่ได้อยากคุย” อย่าเพิ่งซ้ำเติมตัวเอง แต่ลองวิเคราะห์ดูว่า ทำไมเราถึงถูกปฏิเสธกันนะ บางครั้งคำตอบอาจจะอยู่ที่เรา (ซึ่งเป็นคนเหงามานาน) เป็นคนหน้าเหวี่ยง หรือเราติดนิสัยกอดอก (ซึ่งการกอดอกเป็นภาษากายที่สื่อถึงการปิดรับ อีกฝ่ายอาจไม่สบายใจที่จะคุยด้วย) หรือเราไม่ได้คุยกับใครมานาน วิธีการคุยของเราเลยดูไม่ธรรมชาติจนอีกฝ่ายอึดอัดก็ได้
แต่เรื่องพวกนั้นเราค่อยมาปรับปรุงกันได้ มันไม่เคยสายไปที่จะมีเพื่อนอีกครั้ง แค่อย่าปล่อยให้ความเหงากัดกินใจเราจนท้อ ถ้าเราพยายามทางนี้แล้วมันยังไม่ได้ อย่าเพิ่งเสียใจกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น มันมีครั้งต่อไปเสมอ ฝึกยิ้มและเป็นคนเป็นมิตร หาโอกาสที่จะเข้าสังคมหรือหาเพื่อนใหม่อยู่เสมอ สักวันเราต้องออกจากวงการนี้ได้
ไม่ผิดหรอกที่เราจะเป็นคนเหงา ทุกคนก็เหงากันทั้งนั้น แค่ต้องรู้วิธีรับมือกับมัน ไม่ให้มันมากัดกินใจเรามากเกินไปก็พอ
อ้างอิงจาก
Guy Winch, Emotional First Aid. น.71-73, 91-98