เดือนธันวาคมเป็นช่วงเวลาของงานเทศกาล ชีวิตของเราถูกแต่งแต้มด้วยสีสัน แสงไฟและเทศกาลแห่งความสุข บรรยากาศสดใสด้วยต้นคริสต์มาสและแสงสี แต่ทำไมอยู่ๆ เราเองกลับรู้สึกหลงทาง รู้สึกเหงาและเดียวดายขึ้นมาในหัวใจ เป็นความรู้สึกที่ตรงข้ามกับบรรยากาศ
เรื่องความเหงา (Loneliness) รวมถึงภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ด้วยว่าเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ความเหงาเป็นประเด็นทางสุขภาพที่สำคัญของโลก (Global Health Priority) เพราะความเหงาเป็นปัจจัยและเงื่อนไขที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ นำไปสู่สุขภาพกายและใจที่ถดถอยลง
ถ้าเรามองไปที่ความเหงา ความยากของความเหงาคือปัญหาในการอธิบาย ความเข้าใจความเหงาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ด้วยความซับซ้อนและความสัมพัทธ์ เพราะเงื่อนไขความเหงาของแต่ละบุคคลมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ประเด็นสำคัญหนึ่งคือ เงื่อนไขเรื่องจำนวน การอยู่ตามลำพัง หรืออยู่กันหลายคนอาจไม่สัมพัทธ์กับความรู้สึกเหงาก็ได้ เราอาจจะใช้เวลา ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ หรือใช้เวลาอยู่ท่ามกลางผู้คน แต่ในหัวใจของเรากลับเหงาและเดียวดายจนอธิบายไม่ได้
ประเด็นเรื่องความโดดเดี่ยว และการอยู่ท่ามกลางผู้คนหรืออยู่ร่วมกับใครอีกคน ถ้าเรามองย้อนไปจะมีเพลงแจ๊สและเพลงในละครบรอดเวย์ยุคหนึ่งชื่อว่า Alone Together ไปจนถึงกรุงเทพฯ เองก็มีบาร์แจ๊สในชื่อเดียวกัน นึกภาพว่าเราอาจจะนั่งอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า รับรู้ความโดดเดี่ยวของกันและกันได้โดยไม่ต้องพูดกัน เป็นกระบวนการที่เราเชื่อมโยงเข้าหากัน และต่างคนต่างใช้เวลาอยู่ตามลำพังไปกับตัวเอง คือความเข้าใจความโดดเดี่ยวที่ทำให้เราไม่เหงา และกลายเป็นความลำพังร่วมกัน (Shared Solitude)
โดดเดี่ยว-ด้วยกัน
การหาความหมายของความเหงา ส่วนหนึ่งคือการกลับไปสู่นิยามเบื้องต้น ความเหงาเป็นความรู้สึกที่จับยากก็จริง แต่คำอธิบายหลักๆ ก็คือการที่เรารู้สึกสูญเสียความเชื่อมต่อ (Connection) กับผู้คน หรืออาจจะสูญเสียความเชื่อมต่อกับจุดหมาย หรือตัวตนของเราเอง เรารู้สึกหลงทาง ว่างเปล่า ดังนั้นนิยามสำคัญของความเหงา จึงหมายถึงทัศนคติที่เรามีต่อการอยู่ตามลำพังนั้นๆ ในบางยุคสมัย เช่น นักคิด หรือนักเขียนมักจะพูดถึงการอยู่ตามลำพังในฐานะพื้นที่ของความคิด การกลับไปอยู่กลับตัวเอง กระทั่งการกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งอย่างหลังเรามักเรียกว่า เป็นความสันโดษ หรือ Solitude
ทีนี้เมื่อเรากลับมาอยู่ในบริบทเมือง หนึ่งในภาพของการใช้ชีวิตในเมือง คือการอยู่ร่วมกันในพื้นที่หนึ่ง ทว่าพื้นที่พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ของคนแปลกหน้า เพลงแจ๊สที่พูดถึงคือภาวะโดดเดี่ยวด้วยกัน จึงเป็นภาพการใช้ชีวิตในเมือง เราคลายเหงาด้วยการนั่งอยู่ท่ามกลางคนอื่น คนอื่นที่เราคาดว่าน่าจะเป็นคนเหงาแบบเดียวกับเรา
ความแปลกประหลาดของการโดดเดี่ยวด้วยกันในบริบทของคำว่า Alone Together จึงเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ของคนเมืองและของคนเหงา ผู้คนที่แสวงหาการคลายเหงา ที่อาจไม่ได้นำพาไปสู่การเชื่อมต่อกันอย่างเป็นรูปธรรม การได้นั่งอยู่ข้างๆ คนอื่น ได้รับรู้ว่าเราไม่อยู่คนเดียว ในแง่นี้ถือเป็นการเชื่อมโยงคนเหงาเข้าหากัน แค่เรารับรู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว หรืออยู่ลำพัง แค่นั้นเราก็รู้สึกอบอุ่นใจ เป็นความเชื่อมต่อที่อาจไม่ต้องนำไปสู่การพูดคุย หรือสานสัมพันธ์ที่เป็นรูปธรรม แต่เป็นความเข้าใจที่เราเข้าใจกัน โดยไม่ต้องพูดหรือแสดงออกมา
ความสัมพันธ์ในความเงียบ
จากภาพความโดดเดี่ยวที่เราสัมผัสได้ และการที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ลำพังเพียงลำพัง ความรู้สึกมีเพื่อนร่วมเดียวดาย อาจนำไปสู่ความเหงาที่บรรเทาเบาบางลงบ้าง นอกจากการอยู่ลำพังด้วยกันแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งภาพความสัมพันธ์ในความเดียวดายที่เราเรียกว่า การอยู่ลำพังร่วมกัน หรือ Shared Solitude
ถ้าเราจะนิยามอย่างง่าย ความสัมพันธ์แบบอยู่ลำพังร่วมกันคือ การที่เราใช้เวลาในพื้นที่กายภาพร่วมกับใครอีกคน แต่ทั้งคู่อาจจะไม่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ไม่ต้องพูดคุยกันคลายเหงา แต่ในการใช้เวลาร่วมกันนั้น ต่างฝ่ายอาจจะจมดิ่งกลับเข้าไปในพื้นที่ตัวตนของตัวเอง ต่างคนอาจจะต่างอ่านหนังสือ ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ในขณะเดียวกันการอยู่กับตัวเองนั้น ก็รับรู้ถึงพื้นที่ในการกลับเข้าหาตัวเองของอีกฝ่าย เป็นการใช้เวลาด้วยกันในความเงียบ
ภาพของการอยู่โดดเดี่ยวด้วยกันในนัยเชิงบวก เราอาจเห็นจากวรรณกรรมอย่างนิทานภาพ งานเขียนที่มักพูดถึงความสัมพันธ์ของเพื่อนที่มีความลึกซึ้งในการใช้เวลาร่วมกันตามลำพัง เช่น ในหนังสือภาพเรื่อง Frog and Toad ตัวเรื่องพูดถึงเพื่อนที่มีความแตกต่างกัน ใช้เวลาร่วมกันบ้าง และในบางเวลา ทั้งคู่ก็มีพื้นที่และเวลาของตัวเองสำหรับการมีชีวิตและเติบโตในพื้นที่ของตัวเอง
แนวคิดเรื่องการอยู่ลำพัง-ด้วยกัน จึงเป็นอีกหนึ่งมุมมองในความสัมพันธ์ เป็นภาพที่เราอาจมองเห็นในนิทานเด็ก ที่วาดภาพตัวละครใช้เวลาร่วมกันในความเงียบ ทว่าในความเงียบนั้นกลับเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน มีการปล่อยที่ว่างระหว่างกัน เป็นพื้นที่ของการเติบโตของแต่ละฝ่าย ในขณะเดียวกันในความเงียบและที่ว่างนั้น เราก็อาจสัมผัสถึงการเชื่อมต่อกันได้
การเชื่อมโยงซึ่งกันและกันในความเงียบ การกลับไปหาตัวเอง รูปแบบความสัมพันธ์แบบต่างคนต่างกลับไปสู่ตัวเองนี้ ในบางความเห็นอธิบายว่า การเชื่อมต่อกันระหว่างมิตรสหาย หรือคนรักในการอยู่ร่วมกันเงียบๆ นี้ มีนัยของการไม่เรียกร้อง คือเราไม่ต้องเรียกร้องให้อีกฝ่ายทำอะไร ไม่ต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ แต่เป็นการที่เรามีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีพื้นที่ให้กันและกัน
และในการมีพื้นที่ที่ทั้งเว้นว่างและเชื่อมโยงกันนี้ ก็อาจทำให้เราเข้าใจการอยู่ตามลำพังโดยที่ใจไม่พัง รู้สึกเข้าใจความสันโดษในการแสวงหาความหมาย กลับเข้าไปในใจของเราเองไปพร้อมกัน
อ้างอิงจาก