รู้ตัวอีกทีเราก็โดดเดี่ยวเสียแล้ว
ในชีวิตของเรา เราต่างผ่านผู้คนและสังคมมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนข้างบ้าน เพื่อนร่วมห้องเรียน ฯลฯ เมื่อเติบโตขึ้น เส้นทางพาเราเดินไปยืนในที่ใหม่ๆ อยู่เสมอ ที่ทางเหล่านั้นมาพร้อมกับสังคมใหม่ๆ และก้าวเดินนั้นก็มาพร้อมกับการจากลา จากเด็กนักเรียนที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนฝูง กลายเป็นนักศึกษาในกลุ่มเพื่อนที่เล็กลง ไปสู่ผู้ใหญ่ผู้โดดเดี่ยว และรู้ตัวว่าโอกาสการสร้างเพื่อนใหม่ของเราน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อความรับผิดชอบและโครงสร้างของชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไป
เรื่องดังกล่าวอาจดูเป็นปัญหาของการเติบโต และการก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม สถิติจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐอเมริกา กลับพบว่าเหยื่อของความโดดเดี่ยวนั้น นอกจากจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ช่วงวัยของผู้คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวมากที่สุดกลับลดลงด้วย โดยพบมากที่สุดในวัย 15-24 ปี และพบมากเสียจนกระทรวงผู้รวบรวมสถิตินี้เรียกมันว่า ‘โรคระบาดแห่งความเหงา’ (Loneliness Epidemic)
ทว่าความเหงาและระยะห่างระหว่างเรามาจากไหน? แล้วโรคแห่งความเหงานี้มีผลกระทบมากไปกว่าจิตใจหรือไม่?
ปัจจัยของความเชื่อมต่อทางสังคม
ก่อนจะรู้จักกับความเหงา เราต้องทำความรู้จักกับความเชื่อมต่อทางสังคมก่อน เพราะมันเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความเหงา ซึ่งพบได้ในการรวบรวมสถิติและงานวิจัย Our Epidemic of Loneliness and Isolation ที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ สำหรับปี 2023 เป็นการรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของความสัมพันธ์ภายในสังคม โดยสิ่งที่ผู้รวบรวมนิยามว่าเป็นตัวชี้วัดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนความสัมพันธ์ที่คนคนหนึ่งมีเท่านั้น แต่ตกอยู่ภายใต้ 3 เสาหลัก นั่นคือ
- โครงสร้าง (Structure) – คือจำนวนและความหลากหลายของกลุ่มคนในสังคม และความถี่ของการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเหล่านั้น เช่น ขนาดครัวเรือน ขนาดของกลุ่มเพื่อน หรือคู่แต่งงาน
- หน้าที่ (Function) – คือความสัมพันธ์เหล่านั้นเติมเต็มหน้าที่อะไรบ้าง อาจจะเป็นได้ทั้งการสนับสนุนทางความรู้สึก เป็นการฝึกสอน หรือเป็นการสนับสนุนยามวิกฤต
- คุณภาพ (Quality) – คือปฏิสัมพันธ์ที่นำมาซึ่งผลลัพธ์ในแง่บวกหรือแง่ลบ โดยวัดได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น ความรู้สึกเติมเต็มในความสัมพันธ์ ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ หรือการถูกตัดขาดจากสังคม
การพูดถึง 3 เสาหลักนี้ต้องอย่าลืมคำนึงว่า เรากำลังพูดถึงมนุษย์กันอยู่ นั่นหมายความว่า เราอาจใช้มันเป็นไกด์ไลน์กว้างๆ ได้ แต่ด้วยความยิบย่อยของความเป็นมนุษย์ก็ไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่าแบบไหนคือคนที่มีความสัมพันธ์ดีหรือไม่ดี เพราะ “บ่อยครั้งเรามักนึกถึงตัวชี้วัดความเชื่อมต่อหรือไม่เชื่อมต่อทางสังคมแบบขาวดำ เช่น คนเราต้องเหงา หรือไม่ก็ไม่เหงาไปเลย แต่ในความเป็นจริงมันมีเฉดสีมากกว่านั้น” ข้อความโดยผู้รวบรวมที่เขียนไว้พร้อมบอกว่า ตัวชี้วัดเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี แม้ตัวชี้วัดทั้ง 3 เสาหลักอาจจะไม่บอกทุกอย่างได้แน่นอน แต่ที่เราต้องพูดถึงก็เพราะว่ามันสามารถบอกเทรนด์ของสังคมโดยกว้างได้ ซึ่งเทรนด์ในปัจจุบันพบว่า
ความเชื่อมต่อทางสังคมโดยรวม กำลังดิ่งลงอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา
เราต่างห่างกันขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเทียบสถิติเกี่ยวกับความเชื่อมต่อทางสังคมตั้งแต่ปี 2003-2020 พบการลดลงของการมีปฏิสัมพันธ์ในครัวเรือน และการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวนอกครัวเรือน ทั้งการทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้อื่น และการมีส่วนร่วมในสังคมกับเพื่อนฝูงและผู้อื่น รวมไปถึงการแยกตัวจากสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อน Covid-19 จะมาถึงด้วยซ้ำ
ในขณะที่ข้อมูลข้างต้นคือสถิติของสหรัฐฯ แต่เราในฐานะคนที่อาศัยอยู่ในสังคมเมืองปี 2023 เมื่อมองไปรอบๆ และมองเข้าไปภายในตัวของเราเอง ก็ยากจะปฏิเสธว่าสังคมของเราทำให้เราเหงามากเหลือเกิน แม้ว่าเราจะถูกห้อมล้อมไปด้วยผู้คน แต่การมองไปยังเหตุผลและปัจจัยที่นำไปสู่ความเหงาและการตัดขาดจากสังคม อาจทำให้เถียงได้ว่าเราน่าจะเหงายิ่งกว่าคนในสหรัฐฯ เสียด้วยซ้ำ ซึ่งจากการรวบรวมงานวิจัยข้างต้นก็พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมต่อทางสังคมนั้นมีมากมายหลายระดับ คือ
- ปัจจัยในระดับบุคคล เช่น การเป็นโรคเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพจิต ความพิการทางประสาทสัมผัส เพศ สถานะทางสังคม ฯลฯ
- ปัจจัยในระดับความสัมพันธ์ เช่น นิสัยและพฤติกรรมต่อคนรอบข้าง หรือความเห็นอกเห็นใจ ฯลฯ
- ปัจจัยในระดับชุมชน เช่น การมีหรือไม่มีพื้นที่สาธารณะ สถานศึกษา สถานที่ทำงาน หรือการคมนาคม
- ปัจจัยในระดับสังคม เช่น บรรทัดฐานทางสังคม วัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยี ความไม่เท่าเทียม นโยบายสาธารณะ ฯลฯ
เมื่อคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ แล้วก็ไม่แปลกเลยที่จะรู้สึกเหงา เพราะเราอยู่ในประเทศที่ต้องใช้ชีวิตเกินครึ่งอยู่บนถนน บางแห่งไม่มีรถสาธารณะที่ดีพอจะเข้าถึงเสียด้วยซ้ำ บางพื้นที่ไม่สามารถทำให้รู้สึกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่น และพื้นที่สาธารณะที่อนุญาตให้เราทำกิจกรรมก็มีน้อยแห่ง
ความเหลื่อมล้ำทางสังคมทำให้เรามองไม่เห็นคนจำนวนมาก
จนกลายเป็นพื้นที่หล่อเลี้ยงความห่างไกลได้อย่างดี
และความห่างไกลนั้นก็ส่งผลเสียหลากหลายแง่มุม
ระยะห่างที่ทำลายกาย ใจ และชุมชน
เราอาจคิดว่าผลกระทบของความเหงาอยู่แค่เพียงที่ใจของบุคคล ซึ่งอาจจะจริง เพราะเมื่อเหงา เราก็เศร้าและเสียสุขภาพจิตไปกับความเสี่ยงต่อโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า เช่นเดียวกันกับสาเหตุของมันที่มาจากหลากหลายแห่ง ทำให้ผลกระทบไม่ได้เกิดแค่ในระดับจิตใจ แต่มากไปถึงร่างกายและชุมชนได้เลยทีเดียว
งานวิจัยจำนวนมากที่กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ อ้างอิงมา กล่าวถึงผลกระทบในแง่ลบต่อร่างกาย จากความเหงาเพราะขาดการเชื่อมต่อทางสังคมว่า มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากยิ่งกว่าการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน มากกว่าโรคอ้วน มลพิษทางอากาศ หรือการดื่มเหล้า 6 แก้วในทุกวันเสียด้วยซ้ำ ทั้งยังมีโอกาสทำให้เราเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน มากกว่าคนที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นอยู่ตลอด
ส่วนผลเสียในระดับชุมชน อาจมาในรูปแบบของสุขภาพประชากรโดยรวมแย่ลง และผลเสียทางเศรษฐกิจของชุมชน หากไม่มีการแบ่งปันข้อมูลเพื่อพัฒนา การเติบโตในแง่เศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ ก็จะหยุดนิ่ง ถ้าคนในสังคมไม่สื่อสารหรือรู้จักกัน อาจนำไปสู่สังคมที่ขาดความปลอดภัยภายในชุมชน หรือหากขาดการมีส่วนร่วมในสังคม ก็จะนำไปสู่การขาดกำลังต่อรองของชุมชนต่อรัฐผู้มีอำนาจตัดสินใจ
โรคระบาดแห่งความเหงานี้ เป็นภัยที่มีผลในแง่ร้ายกว่าที่คิด และมันยังเป็นผลพวงซึ่งมองไม่เห็นจากหลากหลายปัจจัย แล้วเราจะทำยังไง ถ้าพื้นดินที่เรายืนบังคับให้เราเหงา?
อ้างอิงจาก