“แพ้แค่นิดเดียวเอง” “แค่วอร์มเฉยๆ” “จอยไม่ดีอะ” “เมื่อกี้ต่อให้” สารพัดคำอธิบายว่าทำไมความพ่ายแพ้ครั้งนี้มันถึงไม่ควรถูกนับจากฝ่ายที่ต้องหน้าแห้งเมื่อเห็นผลลัพธ์ว่า ตนไม่ได้รับชัยชนะนั้นไป สถานการณ์แบบนี้มีให้เห็นกันบ่อย ตั้งแต่เรื่องขำขันอย่าง เล่นเกมกับเพื่อน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ระดับชาติอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่โดนัล ทรัมป์ ประกาศไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และยังประท้วงถึงความไม่โปร่งใสในการนับคะแนนอีกด้วย
มันอาจจะกลายเป็นเรื่องขำขันหากการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้นี้ เป็นแค่ตอนเราเล่นวินนิ่ง (Winning Eleven) กับเพื่อน แต่พอมันเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น ไม่ว่าจะแข่งกีฬาหรือการเลือกตั้ง การไม่ยอมรับความพ่ายแพ้แม้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นทางการแล้ว อาจทำให้มันดูไม่ใช่เรื่องขำขันสักเท่าไหร่ เพราะนั่นหมายถึงการไม่ยอมรับกติกาที่ตกลงกันไว้ ทั้งที่การพ่ายแพ้ในอะไรสักอย่าง มักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว
ทำไมบางคนถึงไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ให้ ‘grandiose narcissism’ อธิบายกัน
มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า narcissism หรือ การหลงตัวเอง ชื่นชมตนเองมากเกินไป เป็นลักษณะนิสัยที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตนเองอยู่แล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ ได้แก่ grandiose narcissism และ vulnerable narcissism ซึ่งลักษณะนิสัยที่ใกล้ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้นั้น grandiose narcissism ใกล้เคียงที่สุด
โดยคนที่มีลักษณะนิสัยแบบ grandiose narcissism นั้น มักจะแสดงออกแบบเล่นใหญ่อยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องการกดขี่ ความเกรี้ยวกราดต่อผู้อื่น งานวิจัยจาก Pennsylvania State University ตีพิมพ์ใน Journal of Personality Disorders ได้กล่าวลักษณะนิสัยนี้ไว้ว่า มักจะหลงใหลตัวเองมากเกินไป ปฏิเสธความอ่อนแอ ใช้วิธีการสั่ง บังคับ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และลดคุณค่าของผู้ที่มาทำลาย self-esteem ของตน
ถามว่าทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร? นั่นก็เพราะเขาต้องการให้ภาพลักษณ์ของตัวเองนั้นออกมาในด้านบวกอยู่เสมอ ทักษะ ความสามารถ ความนับถือ ก็ต้องออกมาดูดีไม่แพ้กัน ด้วยความมั่นใจที่สูงปรี๊ด หากบกพร่องอะไรไปสักอย่างจึงเป็นเรื่องค่อนข้างกวนใจ เพราะความพ่ายแพ้ ความอ่อนแอ สิ่งเหล่านี้มันไปลดหรือไปทำลายความมั่นใจของตัวคนคนนั้น ถ้าหากมันเกิดขึ้น คนที่มีลักษณะนิสัยนี้จึงไม่อาจยอมรับมันได้ง่ายๆ
พูดให้เห็นภาพกว่านั้น เวลา grandiose narcissism มั่นใจในอะไรสักอย่าง (โดยเฉพาะมั่นใจในตัวเอง) เขาจะมีความเชื่อว่า เก่งในสิ่งๆ นั้น และไม่อาจมีใครมาเอาชนะได้ง่ายๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีความสามารถในด้านนั้นเหมือนกัน เมื่อวันหนึ่ง ความมั่นใจที่มีถูกทำลายลงด้วยความพ่ายแพ้ ความพ่ายแพ้นั้นจะเป็นหลักฐานอันชัดเจนที่จะบอกว่า ไม่ได้เก่งอย่างที่ตัวเองคิด ความพ่ายแพ้ที่เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวจึงถูกปฏิเสธไปโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้ความมั่นใจอันสูงส่งนั้นต้องไหวติง และมันจะตามมาด้วยการโทษอะไรสักอย่าง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี รู้สึกว่าความพ่ายแพ้นี้ไม่ได้เกิดขึ้น มันเป็นเพราะปัจจัยภายนอก ปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาก่อก่วน
เราเลยได้เห็นการปฏิเสธความพ่ายแพ้ ราวกับสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพียงเพราะผลลัพธ์นั้นไปทำลายความมั่นใจ และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมใครสักคนถึงไม่อาจยอมรับความพ่ายแพ้ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก