ความรักเป็นเรื่องสวยงาม เป็นเรื่องของ ‘หัวใจ’ การที่เราจะรักใครหรือรักอะไรก็ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง เกิดจากความชอบพอ ความผูกพันธ์ ไปจนถึงเกิดจากอะไรก็ไม่รู้ ไม่มีสาเหตุ แต่ก็รักแหละ ในทำนองเดียวกันถ้าจะหมดรักหมดใจก็หมดกันได้ไปดื้อๆ สิ่งที่เรามักได้ยินในเพลงรักทั้งหลายก็มักจะเป็นเรื่องทำนองนี้ ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก ที่อยู่ๆ จะมาก็มา จะหมดก็หมดลงได้ เป็นเรื่องของหัวใจ จะมาบังคับกะเกณฑ์ให้รัก ให้หมดรักได้ไง! ยังไงก็เป็นไปไม่ได้
แต่บางที ‘ความรัก’ ที่ดูโรแมนติก ดูเสรี และเป็นไปเองตามเรื่องตามราว แต่เอาเข้าจริงก็ดูเหมือนว่าในชีวิตหนึ่งของคนเรา ‘ความรัก’ ก็ดูจะเป็นภาคบังคับอย่างหนึ่งที่เราๆ ท่านๆ ควรจะผ่านการรักใครซักคน ใครๆ ก็อยากจะมีรักหรือลองรักใครซักคนดูซักครั้ง ทั้งที่เราต่างก็รู้ว่ามักจะลงเอยด้วยความเจ็บปวดเสมอ
ในเรื่องรักๆ ที่ดูเป็นอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ อาจจะมีประเด็นของการเป็นภาคบังคับหรือภาระหน้าที่เจือปนอยู่ด้วย เช่นว่า สมมุติว่าเรามีคนมาชอบ มารัก มาทำดีกับเราด้วยมากๆ แต่ใจเราบอกว่า ไม่ได้จริงๆ เราก็จะรู้สึกผิดนิดหน่อยที่เราไม่สามารถ ‘ให้ความรัก’ คนๆ นั้นตอบกลับไปได้ แถมในกระบวนการของความรักก็ดูจะมีกิจวัตรหรือหน้าที่บางอย่างที่คนรักต้องปฏิบัติต่อกันที่ทำไปทำมาจนเกิดความสับสนว่าเรากำลังทำเพราะรัก หรือทำเพราะหน้าที่กันแน่ จุดนี้เองจึงดูเหมือนว่า ‘ความรัก’ จึงเกี่ยวข้องกับ ‘ภาระหน้าที่’ อยู่เหมือนกัน
ข้อถกเถียงเรื่องความรักในฐานะหน้าที่
นักคิดในโลกตะวันตกค่อนข้างขบคิดเรื่องความรักและหน้าที่ที่จะต้องรักกันมาพอสมควร เพราะว่า ‘ความรัก’ ถือเป็นแกนสำคัญในทางจิตวิญญาณและในทางศาสนา แต่ว่าในพระคัมภีร์มีการใช้คำว่า ‘ต้องรัก’ เพื่อนมนุษย์ ดังนั้นพวกนักคิดเองก็เริ่มทบทวนว่า เอ๊ะ! แบบนี้ความรักจะกลายเป็นภาระ เป็นหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติตามรึเปล่านะ …แล้วถ้าเรา ‘ต้องรัก’ แบบนี้ความรักที่น่าจะ ‘ไม่มีเงื่อนไข’ จะกลายเป็นมี ‘เงื่อนไข’ ประกอบการรักอยู่ด้วยรึเปล่า
ในการถกเถียงว่าตกลงแล้วเราจะรักอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยที่อยู่บนเงื่อนไข (condition) ของความเป็นมนุษย์ว่าเราต้องอยู่โดยรักใครหรืออะไรด้วยหรือเปล่า Evgenia V. Cherkasova อาจารย์ปรัชญาจาก The Pennsylvania State University บอกว่าเธอเองก็สงสัยเหมือนกันจึงลงมือและหาคำตอบจากความคิดของนักปรัชญาสำคัญๆ คือ Dostoevsky และ Kierkegaard
จากข้อถกเถียงยากๆ อาจจะพอสรุปเป็นคำตอบที่เรียบง่ายของ Cherkasova ว่า ‘ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข’ ก็เป็นสิ่งที่เราๆ ท่านๆ มีแหละ เรารักและปรารถนาดีกับคนอีกคนโดยที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่เรามี ‘หน้าที่’ ของเราในเรื่องรักนั้นๆ ซึ่งอาจจะสรุปแล้วฟังดูน้ำเน่านิดหน่อย คือ สุดท้ายแล้วเราก็มีหน้าที่ในการรัก เงื่อนไขและหน้าที่ในเรื่องรักๆ ของเราอยู่ การดูแลหัวใจของเรา ดูแลหัวใจของคนอื่นให้ดีและให้จริงจัง เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบในการรักอย่างซื่อสัตย์ทั้งต่อความรู้สึกของตนเองและต่อคนอื่นด้วย
‘หล่มรัก’ ความรู้สึกที่เราอาจจะเคยแคลงใจ
จากการถกเถียงเชิงความคิดกลับมาสู่โลกของภาคปฏิบัติ ความรักเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องยืนระยะ หลายครั้งที่ เอาล่ะ ตอนที่เริ่มรักกันใหม่ๆ หัวใจมันก็สั่นไหว มีความปรารถนาต่อกัน (passion) อย่างแรงกล้า แต่พอคบและทำกิจวัตรร่วมกันไปได้ซักระยะ หลายคู่ก็เริ่มจะสงสัยแล้วว่า ในความสัมพันธ์แบบที่เจอกันทุกวัน กินข้าวด้วยกัน บอกฝันดี ซื้อของขวัญให้กันตามวาระ ทำไปทำมามันชักจะจืด และหลายๆ ครั้ง ก็เหมือนทำไป ‘ตามหน้าที่’ ‘ตามความเคยชิน’ ทำไปเรื่อยๆ ก็อาจเกิดวิกฤติในความรู้สึกว่า นี่เราทำไปเพราะรัก หรือแค่ทำไปตามหน้าที่กันแน่ล่ะเนี่ย
ถ้าอธิบายด้วยคำง่ายๆ คือช่วงแรกรักหรือช่วงความรู้สึกพุ่งพล่านก็จะฝ่อๆ ลงไปตามกาลเวลา ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ความรู้สึกรักร้อนแรง (passionate love) จะซาลง คำตอบของผู้เชี่ยวชาญเรื่องรักก็กลับไปสอดคล้องกับนักคิดที่ว่า หน้าที่ของเราคือการซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองและรับผิดชอบกับความรู้สึกของอีกฝ่ายอย่างจริงจัง
ความรักในตัวมันเองก็น่าจะและควรจะยืนอยู่บนลักษณะที่ไม่มีเงื่อนไข เป็นเรื่องของความรู้สึกและความปรารถนาดีมากกว่าการคิดคำนวนเรื่องภาระหน้าที่หรือการแลกเปลี่ยน เช่นว่า ฉันรักเธอนะ ทำนู่นทำนี่ให้เธอนะ ฉันเป็นคนรักเธอนะ เธอก็ต้องตอบแทนฉันสิ ถ้าความรักกลายเป็นติดเงื่อนไข และไม่สามารถกู้คืนความรู้สึกกลับมาได้แล้ว การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความจริง ด้วยหัวใจของเราก็ดูจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างหนึ่ง
ถ้าเรารู้สึกว่าความรักนั้นกลายเป็นภาระ ความรักนั้นอาจจะมาถึงวันหมดอายุ แต่ถ้าความรู้สึกของสองคนยังมอบให้แก่กันอย่างไม่มีเงื่อนไข หน้าที่ของเราต่อความรักนั้นก็อยู่ที่การยินยอมพร้อมใจที่ลงทุนลงแรงในการทำนุบำรุงความรักกันต่อไป