พรุ่งนี้วันวาเลนไทน์แล้วสินะ บนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก หากไม่เห็นสเตตัสแสดงโสดสนิท ก็ย่อมจะเห็นใครต่อใครคงพรั่งพรูอารมณ์ ‘อินเลิฟ’ กันเสียยกใหญ่ (แอบส่องดูอยู่นะจ๊ะ)
เพื่อต้อนรับ 14 กุมภาพันธ์ที่กำลังจะมาถึง ผมจึงเลือกบอกเล่าเรื่องราวคู่รักคู่หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทยช่วงทศวรรษ 2460 หรือเกือบหนึ่งร้อยปีที่แล้วว่าด้วยนายไปรษณีย์กับเมียสาว การพลัดพราก บทกวีอันเป็นอนุสรณ์ และดวงจิตผูกพันที่เดินทางข้ามผ่านกาลเวลา
อ้อ เตือนคุณผู้อ่านล่วงหน้าสักหน่อย โปรดเตรียมหยาดน้ำตาไว้บ้างเมื่อถึงเวลาที่มันควรพลัดหลั่ง
เอาล่ะ ผมขอผายมือแนะนำนายไปรษณีย์คนที่ได้พาดพิงไปแล้ว เรียกเขาว่า ‘เจ้าคุณถม รัชตะประกร‘ หรือถ้าเอ่ยขานอย่างเต็มยศ ‘อำมาตย์เอก พระยาพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์’
ขอเกริ่นชีวประวัติสักนิด เจ้าคุณถมเป็นบุตรชายคุณหลวงวิเศษสมบัติ (รุ่ง รัชตะประกร) ข้าราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และบุญเกิด ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2418 เติบโตจากเด็กสู่หนุ่มแน่นในบ้านละแวกคลองวัดสุวรรณอุบาสิการาม ฝั่งธนบุรี ปัจจุบัน คุณผู้อ่านไปเสาะหาตามชื่อวัดไม่เจอหรอก แต่ตัววัดยังมีอยู่แถวคลองสานด้วยนาม ‘วัดสุวรรณ’
แหล่งศึกษาหาความรู้สำหรับเจ้าคุณถมในวัยเยาว์ได้แก่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ พอสำเร็จวิชาเบื้องต้นได้ไปครองจีวรที่วัดเทพศิรินทราวาส โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นพระอุปัชฌาย์
กิจการไปรษณีย์สยามเริ่มก่อตัวในทศวรรษ 2420 ดังปรากฏกรมไปรษณีย์และตึก ‘ไปรษณียาคาร’ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรก ถัดต่อมาในปีพุทธศักราช 2441 รัฐบาลผนวกกิจการโทรเลขมาไว้ด้วยกัน เรียกว่า ‘กรมไปรษณีย์โทรเลข’ ก่อนหน้านั้นราวสองปี ในเดือนเมษายน พุทธศักราช 2439 ถมลาสิกขาพร้อมเข้ารับราชการ ‘นักเรียนไปรสนียการที่ 1’ (สะกดตามภาษายุคนั้น) กินเงินเดือน 12 บาท เขาปฏิบัติหน้าที่การงานด้านนี้เรื่อยมาจนเลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งนายไปรษณีย์เอกในทศวรรษ 2460 มีบรรดาศักดิ์พระยา กินเงินเดือน 500 บาท (โอ้โห เงิน 500 บาทยุคนั้น สามารถซื้อตั๋วนั่งเรือบินโฉบเฉี่ยวเหนือฟากฟ้าพระมหานครได้กว่า 20 เที่ยวเชียวนะ)
พระยาพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์ตอนนั้นจัดเป็นบุรุษน่ารักใคร่ในหมู่ญาติสนิทและมิตรสหาย กิริยามารยาทเรียบร้อย อัธยาศัยกว้างขวาง รักการอ่าน รวมถึงค่อนข้างมีความรู้ภาษาอังกฤษ
ว่าถึงฝ่ายชายไปแล้ว หันมองทางฝ่ายหญิงบ้าง เธอชื่อแม่เอื้อน บุตรีพระสีหราชฤทธิไกร (ทองคำ สีหะอุไร) ที่ต่อมาคือ ‘คุณหญิงพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์’ มิพักต้องเฉลยแล้วสิครับว่าเจ้าหล่อนน่าจะเป็นยอดดวงใจของชายใด
พรหมลิขิตชักพาให้ ‘พ่อถม’ และ ‘แม่เอื้อน’ โคจรมาประสบพบเจอ แม้อายุจะห่างเหินกันกว่า 14 ปี (แม่เอื้อนเกิดเมื่อ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2432) บ่มเพาะเสน่หาจนนำไปสู่การเข้าพิธีวิวาห์ กระทั่งครองรักครองเรือนร่วมกันในที่สุด
สามีภรรยาคู่นี้ต่างเกิดวันอังคาร หากเปรียบเปรยตามสีประจำวันเกิดแล้ว ความสุขของทั้งสองคนย่อมมิแคล้วเป็นสีชมพู
ดูเหมือนราบรื่นดีอยู่ครับ แต่ชีวิตรักคนเรานั้นช่างน่าแปลก พอมีรสชาติหวานชื่นก็มักจะมีรสชาติขื่นขมเจือปนมาด้วย บางครั้งชอกช้ำรุนแรงกระทั่งทำให้หัวใจร้าวราน
ในวัย 33 อยู่ดีๆ แม่เอื้อนกลับถูกมัจจุราชเกี้ยวพาราสีไปได้สำเร็จ เธอสิ้นสุดลมปราณเมื่อวันพุธที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2465 (เทียบตามศักราชปัจจุบันคือ ปีพุทธศักราช 2466 แต่เพราะประเทศสยามก่อนหน้าปีพุทธศักราช 2482 ยังเริ่มต้นนับวันขึ้นปีใหม่ที่เดือนเมษายน)
เช่นเดียวกับใครต่อใครหลายคนที่สูญเสียคนรัก เจ้าคุณถมทำความรู้จักพิษสงความโศกสลด มิเคยคาดคิดว่าความตายจะมาเคาะประตูเรียกภรรยากะทันหันแบบนี้ แม่เอื้อนยังสาวอยู่แท้ๆ คนอายุมากกว่าอย่างเขาสิ น่าจะไปสู่ภพอื่นแทนเธอ
อ้อ ยังจำพระยาสีหราชฤทธิไกรได้ไหมครับ ตอนที่บุตรสาววายชนม์ ท่านอยู่ในสถานะพระภิกษุจำพรรษาวัดราชบพิธ โดยดำรงตำแหน่งพระราชาคณะ สมณศักดิ์พระสุวรรณรัศมี อันที่จริง พ่อตาของนายไปรษณีย์ถมมีเรื่องราวชีวิตน่าติดตามยิ่งนัก เป็นทั้งนายตำรวจคนสำคัญสมัยรัชกาลที่ 5 เคยปฏิบัติราชการเมื่อคราวปราบฮ่อเมืองหนองคาย และเคยจัดโรงนิทรรศการหรือ ‘เอ๊กซหิบิชั่น’ (ฝีปากคนรุ่นนั้นล่ะฮะ) ในงานฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี (พุทธศักราช 2425) ทางด้านงานเขียนก็มีหนังสือเล่มสำคัญได้แก่ นิทานเทียบสุภาษิต ซึ่งมีจำนวนเกือบร้อยเรื่อง ในปีพุทธศักราช 2463 ได้มีการคัดนิทานจำนวน 3 เรื่องมาจัดพิมพ์สำหรับแจกในงานศพหลวงวิเศษสมบัติ มิใช่ใครอื่นเลยครับ ก็คือบิดาของลูกเขยอย่างพระยาพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์ ส่วนการที่พระยาสีหราชฯ ตัดสินใจบวชช่วงวัยชรานั้น ก็เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายรัชกาลที่ 5 ภายหลังพระองค์เสด็จสวรรคต เล่ากันด้วยว่าตอนทราบข่าวนี้ ท่านเจ้าคุณถึงกับเป็นลมหมดสติ นับแต่นั้น เจ้าคุณจึงได้รับฉายาเรียกขาน ‘โนกี้’ เพราะจงรักภักดีคล้ายๆนายพลญี่ปุ่นชื่อโนกี้ผู้ฮาราคีรีตัวเองตายเมื่อจักรพรรดิมุสุฮิโตสิ้นพระชนม์
วกมาเล่าถึงนายไปรณีย์ถมกันต่อ หลังจากเมียตายนอกจากจะจ่อมจมความทุกข์แล้ว ในทางกลับกันยังเกิดแรงผลักดันให้เขาขะมักเขม้นใช้ความรู้ภาษาอังกฤษสร้างสรรค์ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ห้วงยามแห่งความระทมใจนี้เองที่ทำให้คนยุคหลังมีโอกาสได้อ่านบทกวีเลื่องชื่อของลอร์ด ไบรอน (Lord Byron) อย่าง Childe Harold’s Pilgrimage ผ่านสำนวนแปลพากย์ไทยว่า ‘การธุดงของไชล์ฮาโรลด์ส’
เดี๋ยวนี้ คงหาอ่านตัวเล่มหนังสือได้ยากยิ่ง นี่ไงครับ เหตุผลที่ผมจำเป็นต้องเล่าต่อเรื่องนี้ฝากไว้ในความรับรู้ของคุณผู้อ่าน
พระยาพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์หาใช่เพียงนึกแปลบทกวีของลอร์ด ไบรอนฉาบฉวยเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ซบเซาเศร้าสลดลงบ้างเท่านั้น แต่จงใจทำให้ดีที่สุดด้วยเจตนาจะจัดพิมพ์เป็นของชำร่วยในงานฌาปนกิจศพแม่เอื้อน ทุกคราวเมื่อเขาเผชิญหน้าต่อแผ่นกระดาษ เกาะกุมดินสอปากกาอยู่ในมือ ความหมายของสิ่งที่เรียกว่า ‘พลานุภาพรัก’ ได้กลับมาเจิดจรัสอีกครั้ง เสมือนการส่งไปรษณีย์ทางจิตไปสู่อีกภพหนึ่ง เจ้าคุณถมเพียรถอดเนื้อความจากตัวอักษรภาษาอังกฤษแล้วมาเรียบเรียงในตัวอักษรภาษาไทยโดยอาศัยชั้นเชิงฉันทลักษณ์หลากหลาย ทั้งโคลงสี่สุภาพ, อินทรวิเชียรฉันท์, อินทวงศ์ฉันท์, สาลินีฉันท์, ภุชงคประยาตฉันท์, วิชชุมมาลาฉันท์, วสันตดิลกฉันท์, อุเปนทรวิเชียรฉันท์, กาพย์ฉบัง และกลอนสุภาพ
ลอร์ด ไบรอนคือใครกันนะ? จอร์จ กอร์ดอน ไบรอน (George Gordon Byron) คือชื่อเต็มของจินตกวีชาวอังกฤษ เขามีชีวิตอยู่ช่วงคริสต์ศักราช 1788-1824 ผู้สร้างสรรค์บทกวีเปี่ยมล้นมนต์เสน่ห์ ส่งอิทธิพลอย่างยิ่งต่อแวดวงอักษรศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 ถือเป็นหัวขบวนพวกกวีโรแมนติกคนสำคัญเลยทีเดียว พอเอ่ยนามไบรอน ผลงานชิ้นเอกที่มักจะเคียงคู่กันมาย่อมมิพ้น Don Juan (คนไทยอาจคุ้นเคยว่า ดอนฮวน) และ Childe Harold’s Pilgrimage สำหรับเรื่องหลังนั้น กวีเจ้าเสน่ห์เริ่มรจนาขึ้นในปีคริสต์ศักราช 1812 จากการได้ตระเวนเที่ยวไปในหลายประเทศในช่วงคริสต์ศักราช 1809 – 1811 นับแต่โปรตุเกสสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จวบจนทะเลอีเจียนในเขตตุรกี โดยพรรณนาการเดินทาง (คล้ายๆ สุนทรภู่เขียนนิราศ) และเปิดเผยความนึกคิดของตัวละครชายหนุ่มอย่าง ‘Childe Harold’ ผู้เบื่อหน่ายชีวิตประจำวันแบบสังคมชนชั้นสูงจึงออกไปผจญโลกแล้วดื่มด่ำประสบการณ์ที่พบเห็น ประหนึ่งสะท้อนความในใจของตัวไบรอนเอง
ใน ‘การธุดงของไชล์ฮาโรลด์ส’ ซึ่งเป็นพากย์ไทยนั้น เท่าที่ผมลองอ่านเปรียบเทียบกับพากย์ภาษาอังกฤษดูคร่าวๆ พระยาพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์ได้เริ่มแปลตั้งแต่แคนโต้ (Canto) ตอนที่ตัวละครหนุ่มอยู่บนเกาะแอลเบียน (Albion เป็นชื่อเรียกเดิมของเกาะอังกฤษ) ดังผมจะยกโคลงสี่สุภาพเปิดเรื่องมาแสดง
มีมาณพหนึ่งครั้ง โบราณ
เนาว์เกาะอลไบออนธาร หล่อล้อม
มิชอบประพฤติการ บริสุทธิ์
คบเพื่อนสูงต่ำพร้อม โลดร้อง เปลืองเวลา
ลองสังเกตนะครับ ในพากย์ไทยเรียก ‘Albion’ ว่า ‘อลไบออน’ และในหนังสือพบอีกจุดน่าสนใจยิ่งกว่าคือนายไปรษณีย์ถมแปลชื่อตัวละคร ‘Childe Harold’ เป็น ‘ฟิลริโบลด์’ มิหนำซ้ำ ยังใช้ตลอดทั้งเล่ม
ฟิลริโบลด์ชื่ออ้าง ของเขา
มั่งคั่งผู้ดีเก่า สืบเชื้อ
ผมเองยังนึกสงสัย ทั้งๆ ที่จากชื่อหนังสือก็ชัดเจนว่า ‘ไชล์ฮาโรลด์ส’ แต่ถ้าให้ลองเดา บางทีอาจผิดพลาดในขั้นตอนแกะลายมือแล้วนำไปจัดพิมพ์
นอกเหนือจากนี้ มีอยู่ตอนหนึ่งได้พาดพิงถึงเพลง ‘Savior, like a shepherd lead us’ ซึ่งเป็นบทขับร้องของชาวคริสเตรียนวิงวอนขอให้พระเยซูทรงช่วยนำทาง เจ้าคุณถมเรียกแทนเสียงภาษาไทยเป็น ‘เพลงซะวิเออไลก์อะเชเปอดลิดอัส’ พร้อมทั้งแปลความหมายเสียอ่านยากอย่าง ‘อุปถัมภกเหมือนเอฬกบาลนำเรา’
กล่าวกันว่า ลอร์ด ไบรอนได้แรงบัลดาลใจขณะพำนักอยู่ไม่ห่างไกลจากเมืองลิสบอนในโปรตุเกสจนนำไปสู่การเขียน Childe Harold’s Pilgrimage เขาสอดแทรกบรรยากาศไว้ในบทกวีด้วย ซึ่งเจ้าคุณถมแปลมาสู่พากย์ไทย โดยอาศัยชั้นเชิงอินทรวิเชียรฉันท์ “ลิสโบนประเทศใหญ่ สุวิลัยสง่างาม ปัจจานิกะขาม เพราะประพันธะไมตรี…” หรือตอนบรรยายทัศนียภาพแวดล้อมว่า “ภูผาประหลาดเหล่า ดุจะเหลากุนาตมภ์ บ้างแหว่งตะแคงคม ปรุปุมระคายคลำ เปนเวิ้งชะโงกงอน มะรุซ้อนระหว่างอำพ์ ม่วงสีขจีดำ รุธิรานิภาแพร ดังจัดวิสูตรห้อย ระยะย้อยตลึงแล การเขียนมิอาจแปล วะจะแจ้งกะเจอจัง”
ตัวละครในเรื่องยังผ่านทางประเทศสเปนด้วย แต่นายไปรษณีย์เปลี่ยนมาเลือกใช้อินวงศ์ฉันท์ ดังความว่า “มิช้าประจบเขต ตะประเทศสะเปญวิบูลย์ ผิดโปรตุกัลภูริ์ ชะนะล้วนอรุณภิบาล แลเห็นดรุณหนึ่ง สุระอึงณะข้างละหาน ไล่ฝูงแกะประมาณ สะตะเศษทะเวศทุรน…”
อีกถ้อยร้อยกรองที่ผมเองรู้สึกชอบมากคือตอนกล่าวถึงเมรัยต่างๆ ที่พวกนายทหารเลี้ยงฉลองกันภายหลังชนะศึกสงคราม ในพากย์ไทยสื่อสารด้วยรูปแบบวสันตดิลกฉันท์ “ตั้งบาร์สุรารสประเสริฐ สิริเปิดอุดมเดีย ระดาสองุ่นวิสะกีเบียร์ วะระมุทบรันดี มาดเอียร์ลิเกอร์มะละค๊อก เตะละฮ๊อกและเชอรรี ปอร์ตไวนะเบอรคดี สะตุเวาทะแชมเปญ โซดาวิวิธมะธุอุทก หิมะหมกระเยือกเย็น เหล่านายทะหารกะขะณะเห็น ฤจะเว้นมิลิ้มลอง…” อ่านแล้วชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าสนุกๆเกี่ยวกับยอดนักแต่งฉันท์นามชิต บุรทัตว่า คราวหนึ่งชิตได้ลุกขึ้นยืนขณะมึนเมาแล้วพรั่งพรูด้นวสันตดิลกฉันท์ออกมาสดๆ “เชิญดื่มเถอะดื่มสุรมฤตย์ ปิยมิตรสหายเรา ทุกเมื่อและอย่าเกะกะเพราะเมา สุขกายสบายมาน เอ้หมึงบรั่นและวิสกี้ รสดีอร่อยหวาน ดื่มเพื่อบำรุงมนสราญ ขณะเหงาและเศร้าใจ”
โอ๊ย ผมชักจะพาคุณผู้อ่านออกทะเลไปบนกระดานดำวิชาภาษาไทยสมัยมัธยมมากไปแล้วหรือเปล่าครับ เอาอย่างงี้ ด้วยเนื้อที่จำกัด ผมคงจาระไนเนื้อหาแค่คร่าวๆ พอสังเขป แต่ใคร่เย้ายวนคุณผู้อ่านว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจสำหรับผู้นิยมศึกษาเกี่ยวกับบทร้องกรองไทย และการแปลวรรณคดีอังกฤษมาสู่วรรณกรรมไทยอย่างยิ่ง ที่แน่ๆ บ้านเรามีความพยายามแปลบทกวีของลอร์ด ไบรอนมาตั้งนานแล้วนะครับ ทว่ายังไม่ค่อยมีใครทราบเท่าไหร่นัก
เกือบจะลืมไปแล้วเชียว ‘การธุดงของไชล์ฮาโรลด์ส’ ฉบับพระยาพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์มิได้ครบถ้วนทั้งเรื่องตามที่ไบรอนเขียนไว้หรอก มีเหตุอันทำให้เนื้อความหยุดชะงักลงตรงกลอนแปดว่า “แลบัดนี้การรบสงบหมด ผู้ถือพรตก็ต้องเปลื้องเรื่องยวนยุ่ง ไม่สมัครักเฟ้อบำเรอบำรุง อย่างเดียวมุ่งพบพระประทานพร ขอช่วยด้วยให้ได้ไปพรุ่งนี้ แนะวิธีจัดสรรแลผันผ่อน จนฉันรอดปลอดไภยไปดงดอน นับว่าหล่อนเจือจุนเปนบุญจริง“
ที่แปลคั่งค้างเพียงแค่นี้ ก็เพราะในเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2467 (เทียบตามศักราชปัจจุบันได้แก่ ปีพุทธศักราช 2468) นิวมอเนีย (Pneumonia) ซึ่งก็คือโรคปอดอักเสบ หรือชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า ‘ปอดบวม’ โหมเล่นงานท่านเจ้าคุณถมเสียหนักหน่วง อาการสาหัสรังแกร่างกายนายไปรษณีย์เอกจนทรุดโทรมลงเรื่อยๆ แพทย์หลายคนพยายามรักษาสุดความสามารถแล้ว แต่มิอาจเยียวยา
ล่วงผ่านวันครบรอบสองปีมรณกรรมของแม่เอื้อนไปได้เพียงสองสัปดาห์ ย่ำค่ำวันเสาร์ที่ 21 มีนาคม นิวมอเนียกำเริบขึ้นเวลา 7.30 ล.ท. และปลิดห้วงลมหายใจผู้ป่วยไข้ไว้ที่อายุ 49 ปี เจ้าคุณถมจากไปขณะเปี่ยมล้นความมุ่งมั่นอยากจะสร้างงานแปลชิ้นสำคัญให้ลุล่วง การธุดงของไชล์ฮาโรลด์สจึงปิดฉากลงทั้งๆที่ยังไม่เสร็จสิ้น
คุณผู้อ่านอาจสะดุดตาต่อ ‘เวลา 7.30 ล.ท.’ เอ๊ะ แล้วมันกี่โมงกันแน่ล่ะเนี่ย ผมเองมิอาจละเลยที่จะอธิบายจุดนี้เช่นกัน เผื่อทีใครไปเจอในหนังสือเก่าๆ ช่วงทศวรรษ 2460-2470 จะได้ร้อง อ๋อ เข้าใจกระจ่างแจ้งคำว่า ล.ท. ย่อมาจาก หลังเที่ยง ‘7.30 ล.ท.’ ก็คือ 19.30 น. ครับ ส่วนอีกคำที่ใช้ระบุเวลาย่อมมิพ้น ก.ท. หรือ ก่อนเที่ยง นั่นเอง
ท้ายสุดจึงกลายเป็นว่า เรือนร่างไร้วิญญาณทั้งสามีภรรยาต้องมาฌาปนกิจพร้อมกันในคราวเดียวกัน ผู้เป็นแม่งานจัดพิธีให้ได้แก่ บุญเกิด รัชตะประกร มารดานายไปรษณีย์เอก ในวาระนี้ บุญเกิดยังได้นำเอาต้นฉบับงานแปลของบุตรชายเท่าที่แปลไปแล้วมาจัดพิมพ์เป็นของชำร่วย ดังที่เธอเล่าว่า “หนังสือเรื่องการเที่ยวทุดงของไชลฮาร์โรลด์ส (Childe Harold’s Pilgrimage) นี้ต้นฉบับเปนคำโคลงฝรั่ง พระยาพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฏร์ (ถม รัชตะประกร) ได้พยายามแปลแลเรียบเรียงขึ้นเปนคำโคลงแลบทกลอนภาษาไทย ความตั้งใจของพระยาพิทักษ์ฯ ที่ได้แปลแลเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้นก็เพื่อจะทำเปนของชำร่วยสำหรับการฌาปนะกิจศพคุณหญิงเอื้อนภรรยา แต่เสียใจที่พระยาพิทักษ์ฯแปลแลเรียบเรียงยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็บังเอิญมาถึงอนิจกรรมเสีย”
เพราะฉะนั้น “…ข้าพเจ้าจึงได้รวบรวมขึ้นสำหรับพิมพ์แจกแก่ท่านผู้ที่ได้มีความกรุณามาช่วย ทั้งนี้ข้าพเจ้าขอแผ่ส่วนกุศลบุญราศีแก่ท่านผู้มีพระเดชพระคุณตลอดถึงพระยาพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์แลคุณหญิงพิทักษ์ไปรสนียราษฎร์ (เอื้อน) ผู้บุตร์แลสใภ้ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ขอจงได้รับกุศลผลบุญ บรรลุถึงสวรรค์สมบัติแลนิพพานสมบัติจงทุกประการเทอญ”
คู่รักที่ผมภูมิใจนำเสนอได้โบกมืออำลาไปจากบรรทัดตัวอักษรแล้ว พ่อถมและแม่เอื้อนตายในเดือนสุดท้ายของปีเหมือนกันนั่นคือ มีนาคม (อย่าลืม การนับศักราชแบบเก่าเริ่มวันขึ้นปีใหม่ที่ 1 เมษายน)
เหตุไฉนเจ้าคุณถมจึงเลือกจะถ่ายทอดผลงานของลอร์ด ไบรอนออกสู่ภาษาไทย อุตสาหะแปลแด่เมียรักกระทั่งเวลาที่ตนเองล้มป่วย ข้อกังขาวนเวียนในความรู้สึกผม หรืออาจเพราะบทกวี Childe Harold’s Pilgrimage อบอวลกลิ่นอายโรแมนติก กระนั้น หากลองพิจารณาถึงชีวประวัติผู้ชายทั้งสอง แนวคิดทางความรักดูแตกต่างกันเหลือเกิน นายไปรษณีย์เอกแน่วแน่มั่นคงต่อภรรยาแม้ตายจากไปแล้ว ส่วนชายเจ้าชู้ฉาวโฉ่เยี่ยงไบรอน ท่านบารอนนักรักที่ทั้งชีวิตเต็มไปด้วยสัมพันธ์สวาทและปัญหากับหญิงสาวนับไม่ถ้วน เลิกรากับเมียไม่รู้กี่หน เอาเถอะ ผมตามสืบเสาะจนได้ความแล้วจะแวะมาฝอยให้ฟังอีกที
คงมิใช่การกล่าวเลิศลอยเกินไปถ้าจะบอกว่าความรักหาได้สิ้นสุดลงเพียงเพราะร่างกายคนเราสูญสลายเป็นเถ้าธุลีพลานุภาพของมันย่อมอวลกรุ่นเสมอต่อให้กาลเวลาล่วงผ่านกว่าหนึ่งศตวรรษ ผลงานแปลเรื่องการธุดงค์ของไชล์ฮาโรลด์สคือเครื่องพิสูจน์ชั้นดีแม้ท้ายที่สุดพระยาพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์จะไม่ประสบความสำเร็จในการแปลสู่พากย์ไทย แต่ก็นับว่าบริบูรณ์ยิ่งแล้วในฐานะอนุสรณ์แห่งรักแท้
Text by Artyasit Srisuwan
Illustration by Yanin Jomwong
อ้างอิงข้อมูลจาก
– พิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์,อำมาตย์เอก พระยา. การธุดงของไชล์ฮาโรลด์ส. พิมพ์แจกในการพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาพิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์ แลการศพคุณหญิงเอื้อน
– พิทักษ์ไปรสนีย์ราษฎร์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2468
– บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด. 10 ปี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2556
– มานิจ ชุมสาย, หม่อมหลวง. ประวัติการไปรษณีย์เมื่อเริ่มแรก. กรุงเทพฯ: กรมไปรษณีย์โทรเลข, 2520
– ผจงวาด วายวานนท์. ‘ลอร์ด ไบรอน กวีเอกของอังกฤษ’ ใน เลียบ เบญจกาญจน์ อนุสรณ์. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนางสาวเลียบ เบญจกาญจน์ ณ วัดธาตุทอง พระโขนง 24 พฤษภาคม 2508. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2508.
– วิลาศ มณีวัต. ชุมนุมกวีโลก. กรุงเทพฯ : ดับเบิ้ลนายน์ พริ้นติ้ง จำกัด, 2542
– สีหราชฤทธิไกร, พระยา (ทองคำ สีหอุไร). นิทานเทียบสุภาษิต. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระสุวรรณ
– รัศมี เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2471. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2471
– สีหราชฤทธิไกร, พระยา (ทองคำ สีหอุไร). นิทานเทียบสุภาษิต. พระนคร: บรรณาคาร, 2508
– เอนก นาวิกมูล. คนเก่าของไทย. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2551
– Byron, George Gordon Byron, Baron. Childe Harold’s pilgrimage and Don Juan.ed.by John Jump. London: Macmillan,1973.
– Byron, George Gordon Byron, Baron. The major works. ed. By Jerome J. McGann. Oxford ; New York : Oxford University Press, 2008