“เธอยังคิดถึงเขาอยู่อีกเหรอ?” น่าจะเป็นประโยคที่เรากลัวว่าจะต้องพูดหรือได้ยินที่สุดประโยคหนึ่งในความสัมพันธ์
ระยะการเดินของเราบนเส้นทางชีวิต เราพบและพ้นผ่านผู้คนมากมาย บางคนเป็นคนรู้จักที่พบแล้วจากกันแบบผิวเผิน บางคนกลายเป็นเพื่อนแท้เป็นที่พึ่งพิงของกันและกันได้เสมอ บ้างก็เป็นคนใกล้ชิดที่เราและเขาพบกันแล้วรู้สึกหลอมรวมกันจนมีอิทธิพลต่อกันและกัน ส่วนบางคนก็อาจเคยเป็นเช่นนั้นหรือหวังจะเป็นเช่นนั้น แต่ด้วยสาเหตุบางประการกลับต้องเดินจากกันไปราวกับคนไม่เคยรู้จักกัน ทิ้งเอาไว้ก็เพียงชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่เปลี่ยนเราทั้งคู่ไปตลอดกาล
ยังคิดถึงอยู่หรือเปล่า? บ่อยครั้งการคิดถึงหรือไม่คิดถึงไม่ได้เป็นตัวเลือกเลยด้วยซ้ำ นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกอย่างซึ่งเกี่ยวข้องกับความทรงจำต่อคนรักเก่าเป็นเรื่องน่ากลัว และเป็นเรื่องใหญ่หากเราแตะต้องมัน ทั้งกับตัวเราเองและกับคนรักในความสัมพันธ์ปัจจุบัน แบบนั้นแล้วเราจะแตะต้องความทรงจำในส่วนนี้ได้มากขนาดไหน?
บ่อยครั้งการคิดหรือไม่คิดถึงไม่ได้เป็นตัวเลือกเลยด้วยซ้ำ
นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกอย่างซึ่งเกี่ยวข้องกับความทรงจำต่อคนรักเก่า
เป็นเรื่องน่ากลัว
เราจะพูดคุยเรื่องคนรักเก่าที่ผ่านมาดีไหมนะ และจะคุยยังไงดี?
สิ่งที่ควรจะถามก่อนการพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ในอดีตว่าเป็นเรื่องที่ควรหรือไม่นั้น คงต้องถามกันก่อนว่าแล้วจะคุยเรื่องนี้ไปทำไม?
ความหมายของความสัมพันธ์นั้นคงแตกต่างกันไปแล้วแต่คนตอบ แต่ในแง่มุมหนึ่งเราอาจมองการพูดคุยนี้เป็นการสร้างข้อตกลงระหว่างคนรักของเรา ข้อตกลงเหล่านั้นมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงมากมาย ทั้งรูปแบบความสัมพันธ์ของเราจะเปิดขนาดไหน? ความคาดหวังปลายทางของความสัมพันธ์นี้จะเป็นยังไง? เราจะคิดเรื่องนั้นเลย หรือให้มันดำเนินไปก่อนแล้วค่อยว่ากัน? และอีกมากมายที่สุดแล้วแต่ว่าแต่ละคู่จะให้ความสำคัญ
แต่ว่าเรื่องของเธอกับเขามันจบลงไปแล้วหรือเปล่า? ดังนั้นเรื่องที่ควรจะเป็นจุดโฟกัสของเราทั้งคู่คือความสัมพันธ์ตรงหน้าไม่ใช่เหรอ?
ความสัมพันธ์และประสบการณ์ของมนุษย์เป็นเรื่องซับซ้อน ในความเป็นจริงแม้เราจะพูดว่าความสัมพันธ์หนึ่งจบไปแล้ว แต่ข้างในใจของเรายังคงมีชิ้นส่วนจากทุกความสัมพันธ์ที่ผ่านมาหลงเหลืออยู่ไม่มากก็น้อยเสมอ ทั้งเรื่องที่เราสนใจ วิธีที่เราแสดงความรัก นิสัยและการกระทำทั้งดีและไม่ดีที่เคยชินติดตัวมา หรือแม้แต่วิธีที่เราเลือกรักใครสักคน ส่วนประกอบของมนุษย์คนหนึ่งจะเป็นอะไรไปได้ หากไม่ใช่ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านเขามา อดีตย่อมมีส่วนต่อการสร้างข้อตกลงในความรักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การพูดคุยเกี่ยวกับมันสำหรับหลายๆ คู่จึงอาจเป็นเรื่องจำเป็น
ในความเป็นจริงแม้เราจะพูดว่าความสัมพันธ์หนึ่งจบไปแล้ว
แต่ข้างในใจของเรายังคงมีชิ้นส่วนจากทุกความสัมพันธ์ที่ผ่านมา
หลงเหลืออยู่ไม่มากก็น้อยเสมอ
ทว่าการพูดคุยเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกเช่นนี้ ก็ต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมากเช่นกัน การเดินเข้าไปพูดคุยเรื่องของคนรักเก่าอย่างปลอดภัยที่สุด คือการหาเหตุผลให้ชัดเจนที่สุด ด้วยท่าทีที่ไม่เผชิญหน้า ด้วยความเข้าใจว่าอาจจะมีเหตุผลอื่นใดที่คนรักของเราไม่สามารถคุยเรื่องเหล่านั้นได้ในเวลาหนึ่ง เพราะในแง่หนึ่งนั้น มุมมองของพวกเขาต่อการคุยเรื่องนี้อาจจะเป็นความกลัวและความไม่ชอบเปรียบเทียบ ซึ่งแม้ว่านั่นจะไม่ใช่สิ่งที่เราตั้งใจก็ตาม
การคุยเรื่องความสัมพันธ์ในอดีตและการเปรียบเทียบ เป็นเรื่องที่ไม่อาจตัดขาดกันได้เต็มร้อยในแง่หนึ่ง เพราะสิ่งที่เรากำลังทำคือการพยายามหาทางเดินไปในอนาคตข้างหน้า ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตเพื่อหาหนทางว่าเรากำลังเดินอยู่ตรงไหน? เป็นทิศทางที่เราต้องการจะไปอยู่แน่หรือเปล่า? และที่สำคัญคือทางที่เรากำลังเดินและจุดหมายที่กำลังไปถึงนั้น เป็นทางเก่าที่รอประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอยู่หรือไม่? ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบนั้นก็ถือเป็นดาบสองคมกับความสัมพันธ์ของเราได้เช่นกัน
การเปรียบเทียบในความสัมพันธ์ส่งผลยังไงกับเราได้บ้าง?
หนึ่งในคำตอบสามารถพบได้ผ่านงานวิจัย Social comparison of romantic relationships: The influence of family, friends, and media โดยคริสติน เวสเนอร์ (Kristin Wesner) จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยไอโอวา สหรัฐอเมริกา เป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบคุณค่าของความสัมพันธ์คนรักของเรากับความสัมพันธ์ข้างเคียง
งานวิจัยเล่าว่า มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างมาตรวัดเกี่ยวกับค่าของความสัมพันธ์ที่คงตัวแน่นอนได้ สิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้คือการนำมาตรฐานที่เคยมีอยู่แล้วเป็นตัวตั้งเพื่อวัดค่าอะไรสักอย่าง ซึ่งก็คือการเปรียบเทียบนั่นเอง นอกจากงานวิจัยนี้จะหาว่าคนเราให้น้ำหนักข้อมูลที่ได้จากความสัมพันธ์เปรียบเทียบใดมากที่สุดแล้ว ยังหาอีกว่าผลของการเปรียบเทียบเหล่านั้นจะเป็นยังไงต่อความสัมพันธ์บ้าง โดยสำหรับบทความนี้เราจะพาทุกคนไปดูการค้นพบอย่างหลังกัน
ผู้วิจัยพบว่า การเปรียบเทียบในตัวของมันเองอาจไม่ได้เป็นปัญหาในความสัมพันธ์ แต่คู่รักที่เปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตัวเองกับความสัมพันธ์ที่พวกเขามองว่าคุณภาพสูงกว่า จะมีโอกาสทำให้ความมั่นคงลดลง มีโอกาสเลิกรากันสูงขึ้น และมีมุมมองต่อความสัมพันธ์ของตัวเองแย่ลง ที่น่าสนใจคือการเปรียบเทียบนี้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ความมั่นคงสูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้นหนทางที่จะเพิ่มมุมมองแง่บวกของเราต่อความสัมพันธ์ คือการไม่มองว่าความสัมพันธ์ใดดีกว่าหรือแย่กว่า แต่ควรเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของความสัมพันธ์เรากับความสัมพันธ์อื่นๆ แล้วปรับตัวตาม
กล่าวโดยสรุปคือ การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ไม่ได้มีแค่แบบเดียว และการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ที่วัดว่าคุณภาพสูงหรือต่ำกว่านั้นก็ไม่ช่วยให้ความสัมพันธ์ของตัวเราเองดีขึ้น มีแต่ทำให้แย่ลงหรืออิ่มตัว แต่สิ่งที่ทำให้คุณภาพของความสัมพันธ์สูงขึ้นได้ คือการเรียนรู้จากความสัมพันธ์ของคู่อื่นและปรับตัวเข้าหาในแง่ดีที่เราคิดว่าทำได้ ซึ่งนั่นอาจรวมไปถึงการมองไปยังความสัมพันธ์ของตัวเองในอดีตด้วยนั่นเอง
หนทางที่จะเพิ่มมุมมองแง่บวกของเราต่อความสัมพันธ์
คือการไม่มองว่าความสัมพันธ์ใดดีกว่าหรือแย่กว่า
อย่างไรก็ดี การที่ใครหลายคนสามารถเล่าเรื่องความสัมพันธ์ในอดีตได้นั้นถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์จะจบลงอย่างสวยงาม บางความสัมพันธ์ไม่ได้จบลงที่ความเสียใจ แต่เกิดแผลที่ใจและติดตัวของคนคนหนึ่งไปเป็นเวลานานด้วยซ้ำ อาจเป็นความสัมพันธ์ที่รุนแรงทั้งทางกายหรือทางใจ เช่น การนอกใจ การถูกบงการควบคุม ฯลฯ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเมื่อคนรักของเราหรือตัวเราเองเป็นผู้อยากจะเล่าเรื่องความสัมพันธ์เหล่านั้นในฐานะเหยื่อที่เรียกว่า Abusive Relationship การรับฟังเรื่องราวของอีกฝ่ายจึงเป็นเรื่องจำเป็น
Revictimization คือการตกเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์ที่ถูกกดทับหรือถูกใช้ความรุนแรงทางเพศซ้ำ งานวิจัยจำนวนมากพบว่า คนที่เคยเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์รูปแบบเหล่านั้น มีโอกาสที่จะประสบมันซ้ำอีกครั้งด้วยหลากหลายเหตุผล ทั้งการทำซ้ำเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถก้าวผ่านมันได้ การเลือกความเจ็บปวดที่ตัวเองรู้จักดีแทนการเลือกประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่รู้ว่าคืออะไร หรือภูมิคุ้มกันที่โดนลดจากการเกิดเหตุครั้งแรก ฯลฯ
ทำไมเราต้องพูดถึงการตกเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์ซ้ำ? นั่นก็เพราะในสังคมของเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องการันตีได้ว่า แฟนใหม่ของเราจะไม่ทำร้ายเราเหมือนคนก่อนหน้า บ่อยครั้งเหลือเกินเมื่อเหยื่อจากความสัมพันธ์ที่ถูกกดทับพูดออกมา หรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเอง คำถามต่างๆ ของพวกเขาถูกด้อยค่าลงด้วยมุมมองที่คนมักโทษเหยื่อว่า ไปทำอะไรมาถึงถูกกระทำ? คนอื่นไม่เห็นโดนเลย คิดมากไปหรือเปล่า? ซึ่งคำตอบเหล่านั้นก็สามารถเป็นอีกหนึ่งแผลใจที่เกิดกับพวกเขาได้
ลองคิดว่าหากพวกเขากล้าพอที่จะบอกคนรัก แต่ถูกปฏิเสธล่ะ?
แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายต่อความรู้สึกของคนคนหนึ่งเลย แต่การไม่ได้พูดในสิ่งที่ตัวเองต้องพูดเอง ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายต่อความรู้สึกของอีกคนด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นอย่างน้อยๆ การรับฟังเรื่องราวที่เป็นบาดแผลจากอดีตเพื่อสร้างความสนับสนุนเอง ก็เป็นส่วนสำคัญในการโอบอุ้มความสัมพันธ์เอาไว้ และมันอาจเป็นบทสนทนาที่ทำหน้าที่เหมือนกระจกเงาสะท้อนตัวเรา ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่เรากระทำต่อคนรักนั้นเข้าข่ายการกดทับผู้อื่นด้วยหรือไม่
ความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องง่าย การปรับตัวเข้าหาคนอีกคนในระดับที่ใกล้ชิดกว่าใครทั้งหมดในโลก ก็ไม่เคยเป็นเรื่องที่ง่ายเช่นกัน การพูดคุยกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์นั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดได้โดยทันที จะด้วยการคิดวาระและสาเหตุที่จะพูดคุย การแลกเปลี่ยน การควบคุมโทนของบทสนทนา จังหวะ และความพร้อม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญต่อการพูดถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการตกลง แล้วจึงจะทำให้เราทั้งคู่เดินไปด้วยกันได้
อ้างอิงจาก