บางเรื่องราวในความสัมพันธ์อาจดูเหมือนเรื่องปกติ แต่ความจริงกลับเป็น ‘red flag’ ที่นำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงได้
หลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงในความสัมพันธ์ บ่อยครั้งที่จะพบสัญญาณอันตรายก่อนหน้า ที่คนพูดติดปากว่า red flag อยู่กระจัดกระจาย เช่นที่เพิ่งเกิดขึ้นกับ จีจี้—สุพิชชา ปรีดาเจริญ เน็ตไอดอลวัย 20 ปีที่ถูกยิงเสียชีวิต พร้อมกับแฟนหนุ่มนักเรียนเตรียมทหาร ที่คาดกันว่าอายุราว 17-18 ปี (จึงเป็นเหตุให้สงวนชื่อตามกฎหมาย)
ภาพการถูกทำร้ายร่างกายโดยแฟนเก่า คำบอกเล่าจากปากคนใกล้ชิด ข้อความสนทนาในโลกออนไลน์ อย่าง “กลับไปมึงตายแน่ กูจะฆ่ามึง” ล้วนสะท้อนพฤติกรรมที่นำไปสู่อันตรายต่อชีวิตทั้งสิ้น แต่ก็หมดยุคที่จะโบ้ยความผิดให้กับผู้ถูกกระทำด้วยคำถามว่า ‘ทำไมถึงไม่ออกมาจากความสัมพันธ์แย่ๆ เหล่านั้น’ ไปนานแล้ว
รู้ว่ายากเหลือเกินที่จะยุติความสัมพันธ์ The MATTER จึงถือโอกาสพูดคุยกับ บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่าเหตุใดความสัมพันธ์แย่ๆ ที่นำไปสู่เหตุรุนแรงถึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในบ้านเรา
1
“เกือบ 1 ใน 4 ของผู้หญิงไทย ถูกทำร้ายโดยบุคคลใกล้ชิด ทั้งใช้อาวุธปืน ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย เป็นแพทเทิร์นที่เกิดซ้ำๆ”
‘อีกแล้วเหรอ’ เชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นในใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าแปลกใจ หากเราไม่ปล่อยให้กลายเป็นความชินชา จนไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของเหตุการณ์
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ครั้งเมื่อปี 2018 ที่ อ.บุญวรา ยกขึ้นมาพูดถึงระบุไว้ว่า ผู้หญิงทั่วโลกราว 30% ต่างเคยต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงทั้งทางกายและใจจากคนใกล้ชิด ซึ่งตามคาดบ้านเราก็ไม่พลาดติดอันดับต้นๆ ด้วยเกือบ 1 ใน 4 ของผู้หญิงไทยยังคงถูกทำร้ายโดยบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะคนรัก หรือสามี “ตัวเลขกำลังสะท้อนว่าไม่ใช่เรื่องเฉพาะกรณีแล้ว”
สถานการณ์นี้รุนแรงจริงไหม? ตอกย้ำด้วยข้อมูลจากงานวิจัยรวมกันของ UNODC และ UN Women ที่ชี้ว่าปี 2021 มีผู้หญิงและเด็กหญิงราว 81,100 คนถูกฆ่าโดยเจตนา และในปีเดียวกันมีผู้หญิงราว 45,000 คนทั่วโลกที่ถูกฆาตกรรมโดยคนรักใกล้ตัว ไม่ก็สมาชิกในครอบครัว โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้หญิงหรือเด็กหญิงมากกว่า 5 คนถูกฆ่าทุกๆ 1 ชั่วโมงโดยสมาชิกในครอบครัว
แถมรู้ๆ กันอยู่ว่าตัวเลขเหล่านี้อาจประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ เพราะน้อยคนที่กล้าออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้ถูกกระทำด้วยหลายปัจจัย
2
“สังคมไทยมีลักษณะ ‘อำนาจนิยมสูง’ ผนวกกับค่านิยม ‘ชายเป็นใหญ่’ ทั้ง 2 ปัจจัยต่างเป็นปัญหาโครงสร้างสังคม เราถึงได้เห็นเหตุใช้ความรุนแรงขนาดนี้บ่อยๆ”
ด้วยองค์ประกอบที่ผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง อีกทั้งผู้เสียชีวิตอีกรายที่ถูกคาดการณ์ว่าเป็นผู้ก่อเหตุก็เป็นลูกชายคนใหญ่คนโตในแวดวงทหาร จึงไม่น่าแปลกใจที่กรณีดังกล่าวนี้จะถูกจับจ้องเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดียังคงมีผู้เสียหายที่ทุกข์ทรมาน และเฝ้ารอการช่วยเหลืออีกมาก ตามคำอธิบายของ อ.บุญวรา ที่ว่ามี 2 ปัจจัยสำคัญฝังรากลึกให้คนกล้าใช้ความรุนแรง คือ
- วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่มีสูงในสังคมไทย คือ ผู้คนชอบใช้อำนาจ และต้องการแสดงอำนาจ ด้วยการควบคุมบุคคลรอบข้าง
- ค่านิยมชายเป็นใหญ่ ที่ต้องควบคุมสถานการณ์ไปตามที่ปรารถนา โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ของคู่รัก เราถึงได้พบเห็นการทำร้ายร่างกาย เพื่อให้อีกฝ่ายยอมทำอะไรบางอย่าง
“นำไปสู่การกำหนดบทบาทว่าผู้ชายต้องเด็ดขาด แสดงออกถึงความแข็งกร้าว ที่ว่าคนไทยนี้รักสงบ อาจไม่เป็นตามนั้น” อ.บุญวรา แสดงความเห็น
3
“หลายเคสที่ผู้หญิงแจ้งความว่าถูกคุกคามจากคนรัก แต่เจ้าหน้าที่มองว่าเป็นเรื่องในบ้าน ‘เดี๋ยวดีกันตำรวจเป็นหมา’ แต่คงลืมคิดไปว่าที่เขาต้องดีกันเพราะไม่มีทางเลือก เพราะเจ้าหน้าที่ไม่พยายามมากพอที่จะเข้าไปแทรกแซงตั้งแต่ต้น”
คงไม่มีใครอยากเจ็บตัวก่อน ถึงจะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งนี่นับเป็นช่องโหว่ใหญ่ของกฎหมายบ้านเรา อย่างในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่ต้องการแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว แต่นั่นก็จะเข้าขายกก็ต่อเมื่อพวกเขาเป็น ‘ครอบครัว’ ตามนิยามกฎหมายกำหนดเท่านั้น
แม้จะมีการระบุถึงบุคคลที่พึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน แต่ด้วยรูปแบบความสัมพันธ์ของคู่รักที่ไร้ข้อจำกัดอย่างทุกวันนี้ ก็ยากที่ทุกคนจะได้รับการคุ้มครอง หรือต่อให้เกิดขึ้นก็อาจไม่ทันการเสียแล้ว ในต่างประเทศถึงได้มีคำสั่งในการคุ้มครองผู้ที่เสี่ยงจะตกเป็นผู้ถูกกระทำล่วงหน้า อย่างการห้ามเข้าใกล้ในระยะที่กำหนด เป็นต้น
“บ้านเราชอบรอให้เกิดความรุนแรงแบบซีเรียสเสียก่อน ขู่ฆ่าบางครั้งยังบอกว่าเฉยๆ แค่อารมณ์ชั่ววูบ ไม่ทำจริงหรอก”
นี่ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาของการถือครอง และพกพาอาวุธปืน ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อยู่ก็บ่อย แต่ดูฝ่ายรัฐจะยังไม่ได้มีความพยายามในการแก้ไขเสียที
4
“‘เห้ย ฉันโดนแฟนตบ’ ไม่ใช่เรื่องอวดเพื่อนอยู่แล้ว ถ้ามีใครสักคนมาเล่าให้เราฟัง นั่นคือ red flag ว่าเขาไม่ไหวแล้ว”
ทั้งที่รู้ว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ย่ำแย่ แต่ไม่ใช่ทุกคู่ที่จะก้าวออกมาอย่างราบรื่น หากไม่ได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝั่ง นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมต่อให้มีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นยังยากที่จะเลิกรา ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็รู้ดีถึงได้พยายามหาคนที่ไว้ใจ ซึ่งต่อให้ไม่สามารถช่วยเหลือให้หลุดพ้นได้ทันที แต่ก็จะประคับประคอง หรือคอยช่วยเหลือจนกว่าจะหาทางออกได้
“การพูดคุยเพื่อบอกเล่ากับคนใกล้ชิด เพื่อน คือสัญญาณว่าไม่ไหวแล้ว เพราะประสบการณ์การถูกแฟนทำร้ายไม่ง่ายที่จะบอกคนอื่น ถึงได้เห็นตัวเลขการรายงานการคนถูกทำร้าย หรือล่วงละเมิดจากคนใกล้ตัวต่ำมากในไทย”
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงผู้หญิงที่ถูกกระทำเท่านั้น ผู้ชายก็ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงได้เช่นกัน และยิ่งซับซ้อนกว่าที่จะร้องขอความช่วยเหลือ เหตุผลหนึ่งก็ด้วยการถูกกดทับจากค่านิยมที่ว่าผู้ชายต้องเข้มแข็งนั่นเอง
5
“คงต้องกลับไปมองสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ตราบใดที่เราเคารพความเป็นมนุษย์ ที่มองว่าทุกคนเท่ากัน ก็จะไม่มีใครใช้อำนาจเหนือใคร”
นับตั้งแต่ต้นจนจบ ตามคำอธิบายของ อ.บุญวรา ที่มองว่าการใช้ความรุนแรงในสังคมไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเฉพาะกลุ่ม หรือเกิดขึ้นในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาโครงสร้างสังคมทั้งหมดที่หล่อหลอมให้คนกล้าที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน
“ในฐานะมนุษย์ไม่มีใครอยากถูกทำร้าย ข่มขู่ ควบคุม ถ้าทุกคนเรียนรู้ถึงประเด็นนี้ คุณก็จะไม่ปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไม่สมควร”
ดูเหมือนปัญหาการใช้ความรุนแรงในความสัมพันธ์ คงจะไม่ได้แก้ไขได้ทั้งหมดในเร็ววันนี้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่นักวิชาการอาวุโสรายนี้ทิ้งท้ายไว้ คือ “ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก และไม่มีความรุนแรงรูปแบบไหนที่ยอมรับได้”