“คือแมกกาซีนสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มันจะไม่ใช่แมกกาซีนแบบเดิมทั้งในเรื่องเนื้อหาและหน้าที่แล้ว คือเมื่อก่อนมันอาจจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข่าวคราว ผู้สร้างเทรนด์อะไรบางอย่างในสังคม แต่ว่าหน้าที่นี้มันถูกสื่อออนไลน์แย่งชิงไปแล้ว แล้วมันก็ทำให้สังคมนี้มีวงจรที่มันเร็วขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ทีนี้พอชีวิตมันหมุนเร็ว ก็อาจจะเกิดความต้องการความช้าบางอย่างขึ้นมา นิตยสารมันก็อาจจะเข้ามาตอบสนองความต้องการอีกแบบหนึ่ง” -โตมร ศุขปรีชา
ในยุคที่ทุกคนบอกว่านิตยสารกำลังจะตาย ผู้ชายสองคนลุกขึ้นมาทำนิตยสารหัวใหม่เพื่อท้าทายความเชื่อนั้น
MAD ABOUT_ เป็น ‘โปรเจกต์ศิลปะ’ ของสองนักเขียน โตมร ศุขปรีชา และสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) ที่เรากำลังจะได้เห็นกันในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
จากคลิปโปรโมทที่ออกมา นิตยสาร MAD ABOUT_ เป็นการรวบรวมนักเขียนหลากหลายรุ่น หลากหลายสถานะ หลากหลายความคิด ไว้ด้วยกันมากที่สุดครั้งหนึ่งจนทำให้หลายคนตื่นเต้นและอยากเห็นเล่มจริงๆ จนแทบรอไม่ไหว
The MATTER ชวนคุยกับทั้งคู่ถึงโปรเจกต์ครั้งใหม่ที่ช่วยปลุกความเป็นเด็กในตัวพวกเขาออกมาอีกครั้ง และเรื่องราวเกี่ยวกับวงการนิตยสารที่หลายคนบอกว่า Print is dead. และการทำนิตยสารสมัยนี้มันโคตรซบเซา เหงาหงอย แซดอะเบาท์
The MATTER : ทำไมถึงอยากทำนิตยสารขึ้นมา ในตอนที่ทุกคนบอกว่านิตยสารมันกำลังจะตายแล้ว?
นิ้วกลม : คงหลายเหตุผล หนึ่งก็คือ คิดเรื่องนิตยสารมานานมากแล้ว อยากทำนิตยสารตั้งแต่ตอนเรียนจบใหม่ๆ ความอยากนี้ไม่เคยหายไป เราโตมากับนิตยสาร มีนิตยสารที่ชอบและเป็นแฟนหลายเล่ม เวลาที่อ่านก็รู้สึกบ้างว่าเล่มนี้ขมไปหน่อย เล่มนี้หวานไปนิด ก็มีภาพฝันของนิตยสารในฝันทดไว้ในใจแต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำสักที แล้วยิ่งทุกวันนี้เห็นว่าคนอ่านนิตยสารกันน้อยลงก็มีคำถามว่า จริงเหรอที่คนเขาไม่อ่านสื่อกระดาษแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือ ภาวะของชีวิตด้วย เพราะคิดว่าชีวิตตอนนี้ต้องการความตื่นเต้นบางอย่าง ก็เลยอยากทำอะไรใหม่ๆ เพื่อให้ตัวเองมีพลัง พอคิดโปรเจคนี้ขึ้นมา โยนไอเดียกันกับพี่หนุ่มแล้วก็รู้สึกว่า แค่คิดก็สนุกแล้ว รู้สึกว่ามันมีพลังทันทีเลย บวกสองอย่างเข้าด้วยกันก็เลยตัดสินใจทำ
โตมร : จริงๆ ตอนที่คิดเรื่องนี้เนี่ย มันเกิดขึ้นเพราะว่ารถติด มันเป็นความคิดที่ไม่ได้ยับยั้งชั่งใจใดๆ คือรถมันติด ก็คุยกันไปเพ้อเจ้อเรื่อยเปื่อยว่า เอ๊ะ ในท่ามกลางชีวิตที่เหมือนกับว่าไม่มีความหมายเนี่ย เราควรทำอะไรกันดี คุยไปคุยมาก็คิดว่า ลองทำสิ่งที่อยากทำ อย่างหนึ่งก็คือทำนิตยสาร
โดยส่วนตัวแล้วอยู่ในวงการนิตยสารมาตลอด แล้วในปีที่ผ่านมาเนี่ย มันเห็นความซบเซา ความพังทลายของนิตยสารแบบค่อนข้างชัดเจนมาก แต่โดยส่วนตัวคิดว่าเวลาที่อะไรบางอย่างมันถูกหลีกหนีไป มันก็จะเกิดดีมานด์ในสิ่งนั้นขึ้นมาทดแทนเสมอ อาจจะไม่ได้เป็นยุคทองเหมือนเดิม แต่โดยส่วนตัวคิดว่าในเวลาที่คนไม่ได้สนใจมันมาก กลับเป็นโอกาสที่จะได้ทำให้สิ่งนั้นมีตัวตนที่ชัดเจนมากขึ้น เวลาที่คนเข้าไปแห่ไปรุมไปอะไรมากๆ จนเป็นยุคทองเนี่ย มันมักจะเกิดวิธีคิดหรือวิธีทำอะไรบางอย่างที่มันบดบังตัวตนสิ่งนั้นเสมอ
นิตยสารก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ด้วยความที่อยู่ในวงการมา 20 กว่าปี ก็จะรู้สึกว่า มันถูกควบคุมด้วยปัจจัยโน้นนั้นนี้เต็มไปหมด แต่ตอนนี้มันเป็นโอกาสที่ไม่มีใครสนใจมันมากแล้ว เพราะทุกคนหนีมันไปหมด ทุกคนคิดว่ามันไม่มีเงินอยู่ในนี้ ไม่มีคนอ่านแล้ว แต่ว่าการที่เราทำในฐานะที่มันไม่มีคนอ่าน มันจะทำให้เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ขึ้นมา
นิ้วกลม : คิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้น นี่ไม่ใช่โปรเจกต์ที่ทำแล้วมีหวังว่าจะได้กำไร ที่จริงเสี่ยงเจ๊งด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ตั้งต้นด้วยความคิดแบบธุรกิจว่าตลาดต้องการอะไร เราไม่ได้คิดแบบเอาใจตลาดหรือคิดภายใต้ข้อจำกัดทางธุรกิจ พอเริ่มจากแบบนี้ทำให้สิ่งที่ออกมาน่าจะเกิดขึ้นจากเนื้อตัวจริงๆ ของเรา ความคิดจริงๆ ของเรา ความอยากจริงๆ ของเรา
โตมร : คือตอนที่อยู่ในรถติด ที่คุยกันเนี่ยก็คุยกันว่า ยอมใช้เงินได้เท่าไหร่ ยอมเสียเงินได้เท่าไหร่ ก็เลยเริ่มสำนึกว่า ไม่ควรจะเสียมากเท่าที่คิดกัน (หัวเราะ)
The MATTER: คือเท่าที่เข้าใจคือ ออกทุกสามเดือนใช่ไหมครับ ?
โตมร : สามเดือนเล่ม รวมแล้ว 3 เล่ม แค่ 3 พอ จบเลย
“คิดเรื่องนิตยสารมานานมากแล้ว อยากทำนิตยสารตั้งแต่ตอนเรียนจบใหม่ๆ ความอยากนี้ไม่เคยหายไป เราโตมากับนิตยสาร มีนิตยสารที่ชอบและเป็นแฟนหลายเล่ม เวลาที่อ่านก็รู้สึกบ้างว่าเล่มนี้ขมไปหน่อย เล่มนี้หวานไปนิด ก็มีภาพฝันของนิตยสารในฝันทดไว้ในใจแต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำสักที แล้วยิ่งทุกวันนี้เห็นว่าคนอ่านนิตยสารกันน้อยลงก็มีคำถามว่า จริงเหรอที่คนเขาไม่อ่านสื่อกระดาษแล้ว” -นิ้วกลม
The MATTER : ทีนี้มันก็จะมีคนตั้งคำถามกับนิยามของคำว่านิตยสารว่า สิ่งที่ทำมันไม่ใช่นิตยสาร มันไม่มีความคงอยู่ ไม่มีการทำไปเรื่อยๆ สรุปว่ามันเป็น art project มั้ย มันเป็น bookazine หรืออะไร ?
โตมร : จริงๆ แล้วนี่เป็น art project มากกว่า เป็นศิลปะแบบยั่วล้อ เป็นการยั่วว่าฉันจะทำแมกกาซีนนะ แล้วที่เราตั้งใจคือยั่วล้อกับปรากฏการณ์ที่คนถอดใจกับแมกกาซีน อยากทำให้เห็นว่า เฮ้ย อย่าเพิ่งถอดใจสิ มันยังพอมีที่ทางที่มันพออยู่ได้นะ
นิ้วกลม : จะมองว่าเป็นแมกกาซีนหรือไม่เป็นแมกกาซีนก็ได้ แต่สิ่งที่เราตั้งใจคือจะทำแมกกาซีนในฝันออกมา 3 เล่ม ซึ่ง 3 เล่มนั้นไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน ไม่จำเป็นต้องซ้ำแพทเทิร์นเดิม ไม่ต้องเหมือนกัน เพราะว่าฝันเรามีหลายแบบ เล่มที่สองอาจจะเล่าเรื่องด้วยภาพทั้งเล่มเลยก็ได้ คือเราต้องการสิ่งที่โยนลงไปแล้วรู้สึกว่ามันเป็นก้อนหินที่ก่อให้เกิดการกระเพื่อมในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ พอโจทย์มันเป็นแบบนี้ คำตอบว่าต้องทำต่อเนื่อง 12 เล่ม หรือยาวนานอะไรอย่างนั้นจึงไม่ใช่โจทย์ของเรา
โตมร : ผมไม่ได้อยากทำธุรกิจแมกกาซีน เพราะฉะนั้น 3 เล่มก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะแสดงให้เห็นว่าเราต้องการทำอะไร ก็ต้องการทำให้เห็นว่าแมกกาซีนมันสามารถกลับมาเกิดใหม่ได้ ถ้าหากว่ามันยืนหยัดในตัวตนของมันเอง
นิ้วกลม : จริงๆ มันคงต้องตอบละเอียดอ่ะ ถ้าเรามองแมกกาซีนในความหมายเดิม ก็คือสิ่งที่คุณคาดหวังได้ว่าในแต่ละเดือนมันจะออกมาในแพทเทิร์นเดิมใช่ป่ะ อันนั้นมันก็คงเชื่อมโยงไปอีกหลายอย่าง มีทั้ง ad ที่จะมาลง คุณต้องคุย ต้องอธิบายลูกค้ายังไงว่าหัวนี้คืออะไร แต่ทั้งหมดนั้นแหละที่จะเฟรมความเป็นแมกกาซีนในแบบหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมันคือโครงสร้างเดิม แต่สำหรับ MAD ABOUT เราไม่ได้เอากรอบอันนั้นมาจับก่อน ก็อาจทำให้เราได้คิดอะไรที่มันอิสระขึ้น อาจจะใหม่ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนการโยนไปแหละว่า ถ้าเราไม่เอากรอบนั้นมาจับ คนอื่นก็อาจจะคิดกันออกเหมือนกัน มันก็น่าตื่นเต้นดีถ้ามีใครที่มีไอเดียใหม่ๆ แบบนี้เกิดขึ้นอีก คืออยากโยนหินลงไปว่า มันมีไอเดียแมกกาซีนแบบอื่นมั้ยถ้าเราไม่ได้ยึดติดว่าแมกกาซีนต้องเป็นไปตามความหมายเดิม
โตมร : คำว่า magazine หรือภาษาไทยคือนิตยสารเนี่ย มันแปลว่าหนังสือหรือสารที่มันออกมาเป็นนิตย์ คือออกมาอยู่เรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงก็คือ มันไม่มีอะไรที่มันอยู่ได้เรื่อยๆ ตลอดกาล มันจะจบลง นิตยสารก็ถึงช่วงที่มันจะจบลงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่เราออกมาแค่ 3 เล่มโดยใช้คำว่านิตยสารนี่ คำว่านิตยสารตอนหลังมันมีความหมายเฉพาะของมัน เราจะนึกถึงสิ่งพิมพ์ที่มีรูปแบบเฉพาะ เป็นเล่มๆ ความหมายนี้กับความหมายที่ว่า มันจะออกมาเป็นนิตย์ตลอดกาล ก็เลยยั่วล้อขัดแย้งกัน ซึ่งจริงๆ ไม่มีอะไรอยู่ไปเรื่อยๆ ทุกอย่างจะจบลง จะดับลงไปด้วยเหมือนกัน การที่ออกมาแค่ 3 เล่มก็เป็นการโต้ตอบกับความจริงของชีวิตแบบนี้
The MATTER : สิ่งที่ MAD ABOUT ทำ คือพยายามจะทดลองรึเปล่า? เราไม่ได้ตอบโจทย์ความยั่งยืน แต่เราตอบโจทย์ว่าตัวคอนเทนต์ที่มันจะไปได้ หรือว่าไดเรกชันมันจะไปได้ถึงไหน ?
โตมร : ใช่ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ คนรุ่นใหม่ไม่เสพอะไรเป็นระยะเวลานานๆ อยู่แล้ว อย่างสมมติว่าทำธุรกิจอะไรบางอย่างอยู่แล้ว เราก็จะเห็นว่าคนขายของออนไลน์ ขายไปได้สักปีหนึ่งก็ต้องปิดหรือเปลี่ยนคอลเลคชั่นใหม่ๆ คือวงจรชีวิตมันเร็วขึ้น ตัวแมกกาซีนมันก็อาจจะไม่เหมือนเมื่อก่อน ไม่ใช่ว่าทำมาหนึ่งเล่มแล้วจะอยู่ไปได้ยาว 40-50 ปี แต่บางทีมันก็อาจจะเป็นโมเดลแมกกาซีน 5 เล่ม 10 เล่ม หรือ 6 เล่ม นับถอยหลังเล่มจบ ก็ได้เหมือนกัน มันก็อาจจะเป็น experiment แบบนั้นด้วย
นิ้วกลม : ไม่ใช่แค่ในมุมของคนเสพนะ เราว่ามุมคนทำก็ยังเป็น คือถ้าคิดว่าต้องทำยาว เราก็อาจจะไม่อยากทำแล้วก็ได้ เพราะทุกวันนี้มีอะไรใหม่ๆ ให้ทดลองทำเยอะมาก ก็ทำอะไรที่มันเป็นธรรมชาติของเราดีกว่า ส่วนเรื่อง experiment เนี่ย ดีตรงที่ว่า พอเราเริ่มต้นโดยไม่ได้แคร์ว่าจะต้องมี ad มาลงมั้ย มันก็เลยค่อนข้างอิสระ ถ้าคิดว่าจะทดลองอะไรสักอย่าง มันก็คงจะไปได้สุดเท่าที่อยากจะไป ซึ่งตอนนี้คาดหวังไว้อย่างนั้นนะว่าจะไปให้สุดเท่าที่มันจะเป็นได้
The MATTER : มีวิธีการหาเงินยังไงมาทำโปรเจกต์นี้
โตมร : เราคิดเรื่อง crowdfunding ให้คนอ่านได้มีส่วนร่วมด้วย ทีนี้ตอนแรกก็คิดถึงโมเดลพวก Kickstarter อะไรแบบนั้น แต่ว่าตอนนี้รูปแบบคงจะออกมาคล้ายๆ กับ pre-order ออกมาเป็นเว็บนั่นแหละ ให้คนมาสั่งจองล่วงหน้าทั้ง 3 เล่มเลย เพื่อที่จะได้เป็นทุนในการทำทั้ง 3 เล่ม
นิ้วกลม : ตอนนี้มันอาจจะมีความคล้ายคลึงกับ Kickstarter นิดนึง ตั้งใจไว้ว่ามันน่าจะมีจำนวนประมาณนึงที่เราจะบอกคนอ่านว่าขอให้มันถึงเท่านี้ เพราะถ้ามันไม่ถึงเท่านี้ก็อาจจะไม่ทำ ซึ่งตอนนี้ตัวเลขอาจจะอยู่ที่ 2000 เล่ม
โตมร : เราจะระดมทุนคนละ 1200 บาทต่อสามเล่ม (เล่มละประมาณ 400 บาท) จริงๆ แล้วมันคือเล่มละ 395 บาท แต่ว่า 1200 บาทเนี่ย คือรวมค่าส่งที่จะถึงส่งไปถึงที่บ้านด้วย ซึ่งถ้ามีผู้สนับสนุนใจดี ให้มากกว่า 1200 ก็ขอบพระคุณ
The MATTER: จะเป็นโมเดลเดียวในการหาเงินเลย เราจะไม่มีสปอนเซอร์ ?
โตมร : ไม่ได้ปิดกั้นสปอนเซอร์นะครับ แต่ว่าก็ต้องเป็นสปอนเซอร์ที่ต้องเข้าใจว่าเราจะทำอะไรด้วย
นิ้วกลม : ก็อยากมี ad ในแบบที่มันกลมกลืนกับเนื้อหาของเรา ดีไซน์ของเรา ถ้ามีสปอนเซอร์ก็อยากจะคุยกับเขาแบบนั้น
โตมร : หรือว่ามีปรัชญาในเรื่องของสื่อกระดาษ สื่อสิ่งพิมพ์ที่คล้ายๆ กัน อาจจะไม่ใช่สปอนเซอร์ที่เข้ามาบอกว่า ขอซื้อปกนะ แล้วกำหนดว่าเอาคนนี้มาขึ้นปกสิ หรือว่าสปอนเซอร์ที่บอกว่า จะต้องทำ advertorial ด้วยเนื้อหาแบบนี้นะ อาจจะไม่ใช่แบบนั้น ต้องคุยกันได้
The MATTER : เล่มแรกจะออกในงานหนังสือใช่มั้ย ซึ่งก็เหลืออีกไม่นาน พี่ๆ วางแผน Timelineไว้ยังไง ?
นิ้วกลม : ก็จะมีเพจ facebook.com/madaboutmag ครับ เพจนี้มันมีไว้เพื่อเรื่องการสั่งจองเท่านั้นเลย ตอนนี้คิดว่าภายในสองสัปดาห์นี้เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ออกไปให้คนรู้ แล้วก็รอลุ้นว่าจะมีคนส่งเงินมาสนับสนุนให้เราทำไหม ลุ้นตัวโก่ง
โตมร : จริงๆ เรารับจองประมาณ 3000 เล่ม แล้วที่เหลืออีกประมาณ 1-2000 เล่มนี้ก็น่าจะกระจายไป
นิ้วกลม : คิดว่าที่แรกที่จะได้เห็นได้ซื้อก็คืองานหนังสือ แต่หลังจากนั้นแล้ว ตอนนี้ที่มีขายแน่ๆ ก็คือที่ B2S เท่านั้น และก็ร้านหนังสืออิสระ
The MATTER : คนที่จะ preorder หรือโอนเงินมาให้ก่อนนี่จะได้รับสิทธิพิเศษอะไร
นิ้วกลม : ถ้าส่งเงินสนับสนุนมาก็มั่นใจได้ว่าคุณจะมี MAD ABOUT ครบทั้งสามเล่มแน่นอน นอกจากนั้นเราก็มีระดับของการสนับสนุนด้วยครับ เช่น 5000 บาท ได้ลายเซ็นของบรรณาธิการสองคน และ 10,000 ได้พิมพ์ชื่อลงในเล่มที่สามว่าคุณมาร่วมบ้ากับเราอย่างหนัก และจะได้นิตยสารในแบบปกแข็ง
The MATTER : ตอนนี้ก็ได้ทำมาพักหนึ่งแล้ว รู้สึกว่ามันกำลังจะเป็นไปในทางที่เราอยากทำมั้ย ?
นิ้วกลม : คิดว่าใช่ มันอยู่ในช่วงวัยที่เราโตขึ้นด้วย ถ้าเป็นก่อนหน้านี้คงไม่กล้าทำกับโตมรแน่นอน ดูเข้าถึงยาก น่ากลัว และซีเรียส ขณะเดียวกันพี่หนุ่มก็เด็กลงด้วย คือถ้าเป็นพี่หนุ่มเมื่อห้าปีก่อนเราก็ไม่กล้ายุ่งด้วย เพราะเขาเด็กลงแล้วเราก็โตขึ้นนิดนึง ก็คิดว่า เออมันมีจุด intersect กันอยู่ แล้วในส่วนผสมนี้มันก็น่าจะกำลังดีในแบบที่เราอยากเห็น คือมีเนื้อหาที่เข้มข้นพอสมควร ไม่ต้องเข้มมาก สื่อสารออกไปด้วยวิธีนำเสนอที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความครีเอทีฟอยู่ในแต่ละหน้า คิดว่าความเข้มของเนื้อหาจะทำให้งานครีเอทีฟไม่เบาหวิว และความครีเอทีฟก็ช่วยให้ความเข้มข้นนั้นไม่ขมจนไม่น่ากิน
The MATTER : ที่ดูจากวิธีทำงานที่ชวนคนนั้นคนโน้นมาเขียน หรือผลิตชิ้นงาน คล้ายกับว่าเราก็ไม่สามารถที่จะกำหนดไดเรกชันให้กับนักเขียนแต่ละคนได้ มีวิธีดูยังไงว่ามันบาลานซ์อยู่ ?
โตมร : เราอยากให้ MAD ABOUT มันเป็นผ้าใบว่างๆ เป็นแกลเลอรี่ว่างๆ แล้วก็ชวนคนต่างๆมา โดยรู้อยู่แล้วว่าคนเหล่านั้นมีวิธีคิด วิธีเขียน มีตัวตนแบบไหน ความสนุกก็คือว่า เราเอาตัวตนแบบนั้นมาวางเรียงกัน ผสมกัน โดยที่เราก็จะเชิญดีไซเนอร์ที่มาออกแบบแกลเลอรี่หรือแมกกาซีน ให้มาปรุงส่วนผสมเหล่านั้นให้มันกลมกล่อม
แล้วผมกับเอ๋ทำหน้าอะไร อย่างแรกคือเราทำหน้าที่เลือกชวนคนนี้คนนั้นคนนู้นมาอยู่ด้วยกันในแต่ละเล่ม แต่โดยส่วนตัวเวลาทำ MAD ABOUT จะรู้สึกเหมือนกับการอ่านฟิกชันที่เราเองไม่รู้ว่าตอนจบมันจะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นมันก็จะมีความตื่นเต้นอยู่จนกระทั่งถึงตอนจบเลยแหละ มันจะไม่เหมือนแมกกาซีนที่เราเคยทำมาชั่วชีวิต เพราะแมกกาซีนปกติจะมีสูตรของตัวเอง ต้องเริ่มต้นด้วยข่าวสังคมนะ ต้องตามด้วยข่าวรอบโลก แล้วมีบทสัมภาษณ์ใหญ่ มีสารคดีใหญ่ มีคอลัมน์ ปกิณกะ แต่กับ MAD ABOUT เราจะไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คนที่เราชวนเขาอาจะไม่ยอมทำในสิ่งที่เราคาดหวังก็ได้ แต่บางอันเราก็อาจจะบอกว่า อันนี้ที่ทำมาให้ อยากรบกวนว่าเพิ่มเติมอะไรนิดหน่อยได้มั้ย
(The MATTER: ไหนบอกว่าไม่ปรับ) ไม่ได้ปรับ แต่ว่าเราจะเห็นว่าส่วนผสมทั้งหมดมันคืออะไร ถ้าอันนี้มีอะไรเพิ่มขึ้นนิดเดียวมันจะไปลงตัวกับส่วนผสมอื่นๆ มากขึ้นยังไง แต่ไม่ใช่การปรับในแง่ที่แบบว่า โอ้โห คุณทีปกรเขียนแบบนี้มาให้แล้วเราบอกว่าขอเปลี่ยนเป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย มันก็ไม่ใช่แบบนั้น จะมีแค่นิดๆ หน่อยๆ เพื่อจะให้มันชัดขึ้นหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราก็เป็นเหมือนกับเป็นสารหล่อลื่น เป็นน้ำมันเครื่องที่จะทำให้คนเขียนหรือคนทำงานที่เป็นเหมือนลูกสูบในกระบอกสูบของคนออกแบบ แล้วเราก็จะหล่อลื่นนิดนึง มันจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นเครื่องยนต์ที่ทำให้เดินทางไปถึงเป้าหมายโดยที่เราก็ไม่รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร แต่ว่าความน่าตื่นเต้นมันน่าจะอยู่ตรงนั้น
นิ้วกลม : ตอบถึงลูกสูบเลย กูจะตอบไรดีวะเนี่ย (หัวเราะ) ตอนแรกที่คุยกันก็นึกถึงบทบาทของบรรณาธิการ MAD ABOUT ว่ามันคือ Curator แต่พอวันนี้นั่งฟังก็คิดว่า ที่จริงเราทำหน้านี้กันคล้ายๆ เป็นผู้กำกับ คือเราเลือกทีม เลือกเพื่อนร่วมงานในกองถ่าย เลือกตากล้อง เลือกคนจัดแสง เลือกนักแสดงที่เรารู้แล้วว่าเขาเล่นเป็นยังไง แต่พอเลือกมาแล้วเราคุยกับเขาว่าเราอยากเห็นเขาทำอะไร แบบไหน แลกเปลี่ยนกัน เราคัดสรรองค์ประกอบที่ชอบมาสร้างเป็นงานหนึ่งชิ้น เราว่าส่วนที่สนุกของการทำหน้าที่นี้คือการร้อยเรียงเรื่องพวกนี้เข้าด้วยกันเป็นภาพใหญ่ เราเชื่อว่าองค์ประกอบที่เลือกมาจะรวมกันแล้วสนุก บางอย่างอาจบาลานซ์ซึ่งกันและกัน บางอย่างก็กลมกลืนกัน บางอย่างก็ขัดแย้งกัน เราจะร้อยเรียงสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันยังไง
ก็ต้องบอกว่า MAD ABOUT ไม่ได้มีแค่นักเขียนเก่งๆ ที่มารวมกันเท่านั้น แต่มีส่วนผสมอื่นด้วย จริงๆ มันก็มีกองบรรณาธิการนะ ซึ่งก็มารวมตัวกันในวาระพิเศษเหมือนกัน ก็มีหน้าที่ของกองบรรณาธิการด้วย มีส่วนที่เรากับพี่หนุ่มทำด้วย อย่างเราก็อยากไปช่วยคิดเรื่องของอาร์ตด้วย เลยคิดว่าส่วนผสมของ MAD ABOUT มันไม่ใช่แค่คนที่เราชวนมาเขียน แต่มันคือการร้อยเรียงงานของทุกคนเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียวมากกว่า
The MATTER : มีวิธีเลือกนักเขียนยังไง หรือว่าเล่มนี้เลือกตามธีมนี้เล่มนั้นเลือกตามธีมนั้น มีวิธี segment คนแต่ละส่วนยังไง
โตมร : เราก็เลือกด้วยธีมด้วยเหมือนกัน ธีมแรกมันก็คือ Don’t นะครับ เราให้คอนเซปต์กว้างๆ ไปว่าเหมือนกับต่อต้านขัดขืนก็ได้ ขบถก็ได้ อย่าทำก็ได้ ถูกบังคับว่าไม่ให้ทำหรืออะไรก็แล้วแต่ จะตีความยังไงก็ได้ ก็เล่มแรกที่เลือกเราก็เลือกจากคอนเซปต์ด้วย และก็เลือกจากหลายอย่าง เช่น จากคนที่เราคิดว่าน่าจะอยากสนุกกับเรา โดยส่วนใหญ่คือคนที่ทำแมกกาซีน คลุกคลีอยู่กับแมกกาซีน แล้วก็เชื่อแมกกาซีน ที่ดีใจมากๆก็คือ เวลาที่เราโทรไปชวนหรือโทรไปบอกว่าเราอยากทำแมกกาซีนขึ้นมา ไม่มีใครปฏิเสธเลย ทุกคนตื่นเต้นกับความคิดนี้ ในเวลาที่ทุกคนบอกว่า print is dead กระดาษตายแล้ว มันมีโอกาสที่ทุกคนจะได้กลับมาแล้วก็มาปล่อยของด้วยกันอีกครั้ง ก็เลยน่าสนุกดี
นิ้วกลม : เกณฑ์การเลือกง่ายๆ คือเลือกจากคนที่เราชอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนรวมอยู่ในเล่มแรกเท่านั้น (โตมร: ยังมีคนที่เราชอบอีกมากมายที่เราจะชวน) ยังมีอุบไว้ในเล่มสองเล่มสามอีก ก็คิดว่าอยากทำงานกับเขา และคิดว่าเขาน่าจะเหมาะกับหัวข้อของเล่มนั้นๆ
The MATTER : คนที่มาร่วมเขียนด้วย เหมือนเราจะมีความคาดหวังกับงานเขาในรูปแบบหนึ่ง กับคนอ่าน งานที่เราจะได้อ่าน เป็นการตอบสนองต่อการคาดหวังนั้น หรือเป็นการท้าทายความคาดหวังนั้น ?
โตมร : บางคนก็เป็นแบบนั้น เป็นแบบที่เราคาด บางคนก็ไม่เป็นแบบที่เราคาด ต้องรอดู คนที่มาร่วมกับเรามีนักคิดนักเขียนจำนวนมากที่เชื่อในสื่อสิ่งพิมพ์ นอกจากนี้เรายังไปสัมภาษณ์คนที่มีชื่อเสียงในด้านอื่นๆที่ก็เชื่อเรื่องเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน เช่น คุณตูนบอดี้สแลม น้องพิมฐา ผ้าป่าน หรือลูกเกด และอื่นๆอีกหลายคน
โตมร : ขอเติมเรื่องการออกแบบ การออกแบบหนังสือ MAD ABOUT ทั้ง 3 เล่ม จะเชิญดีไซเนอร์สามคนที่ไม่เหมือนกันมาออกแบบ
นิ้วกลม : เป็นดีไซเนอร์ที่เราชื่นชม คนแรกคือ บอม สุรเชษฐ์ ศิลปะบรรเลง เล่มที่สองคือ มานิตา ส่งเสริม เล่มที่สามขออุบไว้ก่อน เราคุยกับดีไซเนอร์ไว้ว่า อยากให้ทุกคนเล่นสนุกให้เต็มที่ เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะออกแบบไม่เหมือนกันเลย หมายถึงว่า รูปเล่มอาจจะไม่เหมือนกันเลยด้วย ซื้อเล่มแรกไป เล่มที่สองอาจจะเล็กลง หรือใหญ่ขึ้น หรืออาจจะเป็นวงกลมก็ได้ แล้วแต่ดีไซเนอร์
The MATTER : ในการทำ MAD ABOUT_ เราต้องการสื่อสารกับคนในวงการนี้ หรือสื่อสารกับคนอ่าน หรือทั้งสองอย่าง?
นิ้วกลม : จริงๆ ไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น มันมาจาก passion ที่อยากให้เห็นสิ่งที่ตัวเองอยากอ่าน แล้วเราเกิดมาในยุคกระดาษ เรารู้สึกว่าในขณะที่วงการมันดูนิ่งๆ เราก็อยากทำอะไรที่อยากเห็นขึ้นมา ส่วนมันจะไปจุดประกายให้ใคร ไปก่อให้เกิดวงกระเพื่อมอะไร คงไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น แต่อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น ถ้ามีคนอื่นคิดแบบอื่นอีกก็ดีใจ รออ่าน รอซื้อ และคิดว่าเขาคงคิดได้สนุกกว่าเราเสียด้วยซ้ำ
อีกมุมหนึ่งที่คิดก็คือ เราคิดว่ามีคนเจเนอเรชันใหม่ที่เติบโตมากับหน้าจอ ซึ่งจริงๆ แทบจะไม่เห็นความหวังนะว่าเขาจะมาซื้อ MAD ABOUT อ่าน แต่เราอยากให้เขาอ่าน เพราะเราคิดว่าสื่อแมกกาซีนมันไม่ใช่หนังสือและมันก็ไม่ใช่เวป แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งอื่นมาแทนความรู้สึกที่ได้จากแมกกาซีนได้ ศิลปะของการนำสิ่งที่หลากหลายมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน หน้านี้ต่อกับหน้านั้น คอลัมน์นี้อ่านจบแล้วมีการ์ตูนอันนี้แทรก เนื้อหานี้เชื่อมอยู่กับ quote อันนี้ เราคิดว่านี่เป็นศิลปะมากๆ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรมาแทนแมกกาซีน ก็เลยอยากทำขึ้นมา ถ้าคนที่ไม่เคยอ่านแมกกาซีน หรืออาจจะยังไม่ชอบแมกกาซีนได้สัมผัส เขาอาจจะรู้สึกรสชาติของมัน และเห็นว่ามันมีการใช้เวลาและความรื่นรมย์กับการอ่านในลักษณะนี้อยู่
The MATTER : เล่มที่สองกับเล่มที่สามเราจะได้เห็นอะไรบ้าง
โตมร : โฆษณาอย่างนี้แล้วกันว่าในนิตยสารทั้ง 3 เล่มเนี่ย จะมีธีมที่ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อออกมาครบทั้ง 3 เล่มแล้วเนี่ย ธีมของทั้ง 3 เล่มจะร้อยเรียงเป็นเนื้อหาเดียวกัน เป็นประโยคเดียวกัน ที่เราจะบอกอะไรบางอย่างกับวงการนิตยสารและสังคมด้วย คือเราก็อาจจะอยากให้ทาย ลองทายกันดูว่าเล่มแรกเป็น Don’t แล้วเล่มที่สองที่สามจะเป็นอะไร
นิ้วกลม : เล่มสองก็จะมีอีกเซ็ตที่ตูมตามไปอีกแบบ ส่วนหนึ่งจะเต็มไปด้วยนักวาดที่เราชอบก็จะมารวมกัน แล้วก็มีนักเขียนฟิกชั่นทั้งหลายที่เราชื่นชมด้วย แต่ก็มี non-fiction ด้วย มันจะมีความอลหม่านมากขึ้น เล่มสองก็จะมีความปั่นป่วนบางอย่างอยู่ซึ่งน่าจะสนุกไปอีกแบบหนึ่ง เล่มสามน่าจะเป็นลักษณะของปรัชญา ลุ่มลึก จริงๆ มันก็คล้ายๆ กับเริ่มจากมีระเบียบ สู่ความไร้ระเบียบ แล้วก็ตกผลึก
โตมร : เพราะฉะนั้น ระเบียบ ไร้ระเบียบ แล้วก็ตกผลึกนี่ ลองทายกันเล่นๆ นะครับ ว่ารวมกันแล้วจะออกมาเป็นยังไง
นิ้วกลม : เล่มแรกอาจจะยังพอคุ้นชิน เล่มที่สองก็จะสนุกเริ่มเดาไม่ได้ แต่ถ้าอ่านสามเล่มต่อกัน มันก็จะได้ความครบถ้วนสมบูรณ์แบบ
“ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของความคิดที่ว่าจริงๆ แล้วไม่มีอะไรอยู่ที่เป็นนิตย์เหมือนกับคำว่านิตยสารหรอก เรายั่วล้อต่อคำว่านิตยสารด้วยการทำมันในระยะสั้น คือเพื่อทำให้มันแย้งกับความคิดที่ว่าคนทำนิตยสารเพื่อที่จะให้นิตยสารอยู่ยงคงกระพันไปตลอด ทั้งหมดมันล้วนเป็นเรื่องชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ต้องไปจริงจังอะไรกับมันมากนัก” -โตมร ศุขปรีชา
The MATTER : เราคิดว่าต่อไปวงการนิตยสารมันจะอยู่ได้จริงเหรอ?
โตมร : เราไม่รู้จริงๆ ว่ามันจะอยู่ได้รึเปล่า แต่โดยความเชื่อส่วนตัว น่าจะมีนิตยสารที่อยู่ได้ น่าจะมีกลุ่มคนที่อ่านหนังสือกระดาษอยู่ มันอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบนิตยสารแบบเดิมละ มันอาจจะเป็นรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับคนอ่านของไทยอะไรแบบนี้
The MATTER : เหมือนเมื่อก่อนคอนเทนต์ในนิตยสารมันจะรวบบางอย่างที่แตกต่างกันเข้ามาไว้ด้วยกัน แล้วมันคิดว่าคนเป็น Stereotype แบบหนึ่ง อย่างเช่น ผู้หญิงต้องอ่านนิตยสารแบบนี้ ผู้ชายต้องอ่านแบบนี้ แต่ตอนนี้คนมันมีความแตกกระจายมากขึ้น ไอ้สิ่งที่มัน ‘รวบแบบนี้’ แบบไหนที่มันจะอยู่ได้ หรือว่าตอบโจทย์คนในสมัยนี้
นิ้วกลม : ส่วนหนึ่งมันก็จริง คือโลกทุกวันนี้มันมีความสนใจที่แตกละเอียดมากๆ มันไม่มี mainstream อีกต่อไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันเราว่า ในแต่ละเศษเสี้ยวของความสนใจ มันก็เข้มข้นในแบบของมันนะ คือเราอาจจะคาดหวังสื่อที่มันมีอิมแพคในวงกว้าง หรือว่ามีกลุ่มคนที่จะเสพมันในระดับกว้างๆ ได้ยากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็คิดว่า คนที่มีความสนใจเข้มข้นเขาก็รอสื่อที่มีเนื้อหาเข้มข้นในเรื่องนั้นๆ อยู่ ซึ่งสื่ออินเทอร์เน็ตอาจจะมอบให้ไม่ได้ เรามองว่ามันก้ำกึ่งมาก คือถ้าไม่มีนิตยสารที่น่าสนใจเกิดขึ้นมันก็พร้อมที่จะหายไปตลอดกาลเหมือนกัน
เราต้องเชื่อมโยงกับ gen ใหม่ให้เขายังอ่านเนื้อหาในแบบนิตยสารให้ได้ เพราะพฤติกรรมมันนำไปสู่ความเคยชิน ถ้าเขาไม่มีอะไรให้อ่าน เขาก็จะชินกับสปีดของหน้าจอ การอ่านในแบบของการอ่านจอ ถ้านิตยสารที่ตอบความต้องการของคนรุ่นใหม่ยังไม่มี สุดท้ายเมื่อหมดยุคของคนรุ่นที่โตมากับนิตยสาร นิตยสารก็อาจจะตายตามไปด้วย
โตมร : คือแมกกาซีนสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มันจะไม่ใช่แมกกาซีนแบบเดิมทั้งในเรื่องเนื้อหาและหน้าที่แล้ว คือเมื่อก่อนมันอาจจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข่าวคราว ผู้สร้างเทรนด์อะไรบางอย่างในสังคม แต่ว่าหน้าที่นี้มันถูกสื่อออนไลน์แย่งชิงไปแล้ว แล้วมันก็ทำให้สังคมนี้มีวงจรที่มันเร็วขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ทีนี้พอชีวิตมันหมุนเร็ว ก็อาจจะเกิดความต้องการความช้าบางอย่างขึ้นมา นิตยสารมันก็อาจจะเข้ามาตอบสนองความต้องการอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าหลังจากเราคุ้นชินกับโลกเร็วๆ ได้สักพัก เราก็จะอยากได้อะไรที่ช้าลงบ้างเพื่อบาลานซ์
นิตยสารจะไม่ได้ทำหน้าที่ trend setter แบบที่มันเคยเป็น แต่ว่าเข้ามาตอบรับความต้องการอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันอาจจะเกิดกับคนจำนวนมากที่มีความต้องการหลากหลาย มีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน แต่ว่ามันอาจจะต้องการสิ่งนี้คล้ายๆ กัน นิตยสารเคยต้องการค่าโฆษณาเพื่อลดต้นทุนให้ราคาขายของมันน้อยลง แต่นิตยสารแบบใหม่อาจจะแพงขึ้น แต่ว่ามีหน้าที่ใหม่ของมัน ซึ่งก็ยังตอบไม่ได้เหมือนกันว่าหน้าที่นั้นคืออะไรบ้าง ถ้าหากว่ามันคนทำไม่ได้หมดใจหรือสิ้นเรี้ยวแรงไปก่อน สื่อนิตยสารที่อยู่รอดได้จะน่าสนใจมาก
The MATTER : อยากให้พูดถึงกระดาษ ว่ามันพิเศษยังไง การรักษากระดาษไว้คือการยึดมั่นถือมั่นอย่างหนึ่งหรือเปล่า
นิ้วกลม : ในมุมคนทำคิดว่ามันมีความตื่นเต้นที่ได้ทำกระดาษในยุคนี้ มันทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น รู้สึกว่ามันเสี่ยงดี ในมุมของการตลาดคิดว่า การพูดว่าจะทำสื่อกระดาษในยุคนี้ จริงๆ ในความเสี่ยงนั้นก็มีความอินดี้อยู่ มีความเท่บางอย่างที่ขายได้อยู่เหมือนกัน จากสื่อที่เคยเป็นแมสที่เขาว่ากันว่ามันอยู่ในช่วงขาลง แล้วมันมีคนบอกว่ากูจะทำอ่ะ มันก็มีอารมณ์อินดี้อยู่นะ
โตมร : มันเป็นการยั่วล้อกับการชั่วครู่ชั่วคราวของสิ่งต่างๆ เช่นเราจะบอกว่าสื่อออนไลน์ดูถาวรกว่ารึเปล่า มี digital footprint ที่มันอาจจะอยู่ตลอดไปหรือเปล่า สื่อกระดาษเนี่ย วันนึงน้ำท่วมก็หายไปแล้วหรือกระดาษค่อยๆ เปื่อยสลายไป แต่ว่าจริงๆ แล้วเราไม่รู้เลยว่าอะไรมันอยู่ได้นานกว่า บางทีกระดาษมันก็อยู่เป็นพันๆ ปีก็ได้ แล้วสื่อดิจิตอลอาจจะมีมากเสียจนทับถมตัวเองไปเรื่อยๆ จนไม่มีทางหาอันเก่าเจอก็เป็นไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราไม่รู้ว่าอะไรอยู่หรือไม่อยู่
ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของความคิดที่ว่าจริงๆ แล้วไม่มีอะไรอยู่ที่เป็นนิตย์เหมือนกับคำว่านิตยสารหรอก เรายั่วล้อต่อคำว่านิตยสารด้วยการทำมันในระยะสั้น คือเพื่อทำให้มันแย้งกับความคิดที่ว่าคนทำนิตยสารเพื่อที่จะให้นิตยสารอยู่ยงคงกระพันไปตลอด ทั้งหมดมันล้วนเป็นเรื่องชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ต้องไปจริงจังอะไรกับมันมากนัก
ความ slow journalism นี่มันมีคุณงามความดีของมันบางอย่าง อย่างหนึ่งคือมันทำให้เราค่อยๆ คิด คนยุคนี้อาจจะคุ้นชินกับการแสดงความคิดเห็นออกมาทันทีทันควัน แต่ว่ากระบวนการของการค่อยๆ คิดมันหายไป เราไม่ค่อยได้เห็นในระยะหลัง
The MATTER : สุดท้ายแล้วเราหวังให้ MAD ABOUT_ เป็นอะไร
นิ้วกลม : มีความรู้สึกหนึ่งเกิดขึ้นตอนที่เริ่มทำ แล้วก็เริ่มคุยกับพี่ๆ เพื่อนๆ เราคิดว่ามันเหมือนเราร่วมกันสร้างพื้นที่ขึ้นมาพื้นที่หนึ่งที่ทุกคนรู้สึกว่าจะได้ลงมาวิ่งเล่นในนั้นอย่างอิสระ สำหรับบางคนอาจจะเป็นการวิ่งในพื้นที่คุ้นเคยอีกครั้ง สำหรับตัวเองเกิดความรู้สึกของความหวัง เรารู้สึกว่าจริงๆ มันก็
อยู่ในช่วงเวลาที่หดหู่ มองไปทางไหนก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีความหวังอะไร โดยเฉพาะในเรื่องของความคิด แล้วก็ความคิดสร้างสรรค์ คุยกับวงไหนก็จบลงด้วยความสิ้นหวัง ก็เลยรู้สึกว่าการสร้างพื้นที่ การเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ขึ้นมามันจำเป็นเพราะว่ามันมีสมองอีกเยอะมากเลยที่ต้องการพื้นที่ปะทะสังสรรค์กัน พอมันมีแรงกระทำบางอย่างที่ก่อให้ความหวัง มันก็จะกระทบต่อๆ ไป พอได้บริหารสมองกัน ก็คงเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาต่อไป
นอกจากนั้น เรื่องของการเลือกคนมาแจมกัน เรารู้สึกว่าสังคมออนไลน์มันมีพื้นที่ให้กับตัวเองเยอะ ตัวเองก็สะท้อนตัวเองออกมาตลอดเวลา เราอยากเห็นพื้นที่ที่มันมีส่วนผสมที่หลากหลาย ความคิดหลายๆแบบมาอยู่รวมกัน ข้างๆกัน
คือคุณไม่ต้องล้อมตัวเองอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ต้องอยู่กับอุดมคติ หรืออุดมการณ์ หรือความคิดทางการเมืองของตัวเองเท่านั้น แต่ว่ามันมีพื้นที่หนึ่งที่คนที่หลากหลายได้แสดงความคิดและปัญญาของตัวเอง ผสมกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง มันก็เป็นภาพสะท้อนสังคมแหละ ว่าความคิดที่หลากหลายเมื่อผสมกันอย่างสร้างสรรค์มันก็จะออกมาเป็นพื้นที่ที่โอเคได้ คงจะดีถ้าผสมออกมาแล้วทำให้รู้สึกว่ามีความหวังขึ้นบ้าง