ท่ามกลางสังคมที่กดดันให้ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ไม่ร้องไห้ ไม่อ่อนแอ ทำให้ผู้ชายไม่กล้าที่จะแสดงรู้สึกของตัวเองออกมา และไม่มีพื้นที่ในการปลดปล่อยความเศร้าเหล่านั้น แต่ไม่ใช่กับบทเพลงของ แม็กซ์ เจนมานะ พื้นที่เล็กๆ ที่อยากให้คนฟังได้ระบายทุกความรู้สึก โดยไม่จำเป็นต้องมีบริบททางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง
ความคาดหวังที่กดทับความอ่อนไหวในตัวผู้ชายไม่ให้เล็ดรอดออกมา แม้แต่น้ำตาก็ยังเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะกลัวจะถูกมองว่าไม่แมนเอาเสียเลย toxic masculinity จึงถูกพูดถึงในฐานะแนวคิดที่ทำร้ายสุขภาพจิตของผู้ชาย และทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการแสดงออกทางความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่ง
ขณะเดียวกัน แม็กซ์—ณัฐวุฒิ เจนมานะ นักร้องหนุ่มเสียงเอกลักษณ์ที่มาพร้อมกับซาวด์กีตาร์สุดเศร้า กลับมาปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ ‘Crybaby’ ให้แฟนเพลงได้ฟัง หลังจากผลงานก่อนหน้า ‘วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า’ ได้โด่งดังและกลายเป็นที่รู้จักไปเรียบร้อย ด้วยเนื้อหาที่ปลอบประโลมใครหลายคนให้กล้าที่จะปลดปล่อย ‘น้ำตา’ ของตัวเองออกมา The MATTER จึงชวนแม็กซ์มานั่งพูดคุยถึงประเด็นความเศร้า ความอ่อนแอของผู้ชาย และกรอบแนวคิดในสังคมที่อาจเป็นพิษต่อจิตใจของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว
หัวใจที่เต็มด้วยบาดแผล
แต่ซ่อนมันใต้รอยยิ้มที่ดูดีเกินไป
— Crybaby, Max Jenmana
พูดถึงซิงเกิ้ลใหม่ ‘crybaby’ เพลงนี้เติบโตขึ้นมาจากเพลงก่อนๆ ยังไงบ้าง?
เพลงนี้เป็นซิงเกิ้ลแรกในอัลบั้มใหม่ นับจากอัลบั้มที่แล้วมาสองปี ตั้งแต่เพลง วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ผมก็ไม่ได้ปล่อยเพลงของตัวเองเลย ซึ่งอัลบั้มที่แล้วเป็นความคิดของผมในช่วงวัยนั้น ช่วงที่ผมทำเพลง วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า หรือ ไวน์ ในอัลบั้ม Let there be light เป็นช่วงที่ผมจัดการปัญหาแบบไม่เด็ดขาด ตอนนั้นเราเจอปัญหาในวัย 26-27 ปี วิธีแก้ของเราก็คือการหนี หรือหาคนเข้าใจ อย่างเพลง ปีศาจ ก็จะพูดถึงความหวังที่จะมีใครสักคนมาเข้าใจว่าฉันเป็นปีศาจร้าย เพลง วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ก็คือการหนีปัญหา หนีคนที่ไม่โอเค หนีสิ่งที่เราไม่โอเค หรือเพลง ไวน์ ก็คือการยอมรับว่ากูคงได้เท่านี้จริงๆ
สิ่งเหล่านี้มันไม่มีผิดไม่มีถูก แต่มันเป็นการแก้ไขปัญหาในช่วงวัยนั้น แต่ผ่านมาสองปี ถามว่ามีอะไรเปลี่ยนไปไหม ก็คงเป็นแค่วิธีจัดการปัญหาแบบใหม่ เพลง Crybaby ก็คือการชนปัญหา ชนความรู้สึกของตัวเองว่ากำลังรู้สึกอะไร ถ้าเรายอมรับว่าอ่อนแอ เราอยากจะร้องไห้ก็ร้องไห้ออกไปเลย มันน่าจะดีกับสุขภาพมากกว่า
ในแง่ของเทคนิคดนตรี ความแปลกใหม่ก็คงอยู่ที่เสียงกีตาร์และก็ความเป็นแบนด์ที่มากขึ้น เพราะอัลบั้มที่แล้วผมเขียนด้วยกีตาร์โปร่งตัวเดียว รอบนี้ก็เขียนเหมือนเดิม แต่ว่ายืมมือของนักดนตรีคนอื่นมากขึ้น อย่างเพลง Crybaby ผมขอพี่มาตร Groove Riders มาช่วยคิดกลองให้ ดนตรีก็จะมีความเป็นแบนด์มากขึ้น กีตาร์เปลี่ยนเป็นกีตาร์ไฟฟ้า ใช้เสียงกลองมากขึ้นซึ่งจะให้ฟีลลิ่งประมาณยุค 90s มีการใช้กีตาร์เอฟเฟกต์ที่ชื่อว่า Cry Baby จริงๆ เหมือนกันชื่อเพลง เป็นเสียง wah wah เสียงเหมือนเด็กร้องไห้ ซึ่งท่อนโซโล่ก็พยายามทำให้มันเป็นกิมมิก เป็นการแผดเสียงร้องไห้ของเด็ก กลายเป็นมีความร็อคขึ้นมาทันทีเลย
แต่เนื้อหาก็ยังพูดถึง ‘ความอ่อนแอ’ ในตัวของมนุษย์อยู่ ทำไมหลายๆ เพลงถึงอยากให้คนฟังแสดงความอ่อนแอออกมา?
เพลงนี้ไม่ได้แสดงความอ่อนแอ แต่ให้ชนกับความอ่อนแอ เพลงเก่าๆ คือโชว์ว่า “กูอ่อนแอ” แต่เพลงนี้คือ “กูอ่อนแอแล้วทำไมล่ะ ชนแม่งเลย” ไม่ต้องอธิบายให้มากความ ใช้น้ำตาเป็นตัวแทนของคำอธิบายนั้นแทน
เราอยากจะร้องไห้ก็ร้องไห้ รู้สึกเสียใจก็เสียใจ
ถูกมีดบาดจะแอ๊บว่าไม่เจ็บไปทำไม ก็ร้องไห้ไปเลย
เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า เป็นผู้ใหญ่ต้องไม่ร้องไห้ ต้องเข้มแข็ง น้ำตาคือความอ่อนแอ ซึ่งสังคมไทยมันถูกสอนมาแบบนี้ มันไม่ใช่ เพราะตามหลักธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราสร้างน้ำตาออกมาเพื่อให้รู้ว่ากำลังเจ็บ จริงๆ แล้วผมแอบแอนตี้ยาแก้ปวดนะ คือถ้าเรากินยาแก้ปวดเราจะไม่รู้ว่าเราเจ็บตรงไหน เราต้องทนเจ็บไปเลยเพราะเราจะได้รู้ว่า อ๋อ ตอนนี้เราปวดไหล่ข้างซ้ายอยู่ เราจะได้รู้ว่าเราจะไม่ใช้ไหล่ข้างนี้ เราจะรู้ว่าเราต้องรักษามันยังไง หรือทำยังไงไม่ให้มันเจ็บอีก แต่ถ้าเรากินยาแก้ปวดไป พยายามกดมันไว้ไม่ให้รู้สึกเจ็บ ไม่ยอมรับว่าเราเจ็บปวด มันไม่น่าเวิร์ก มันจะเป็นผลเสียมากกว่า
เพลง Crybaby บอกให้ร้องไห้ออกมาจนกว่าน้ำตาจะหมดไป แต่ในสังคมที่มีกรอบความคิดว่า ‘เป็นผู้ชายอย่าร้องไห้’ หรือ ‘เป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง’ คุณอยากบอกอะไรกับพวกเขา?
เราไม่ควรเอาฮอร์โมนส์เพศชายมาเป็นข้ออ้าง คนเราต้องเหนือกว่านั้น ต้องเหนือกว่าสิ่งที่ร่างกายสร้างมา ซึ่งสังคมมันถูกขับเคลื่อนด้วยภาพลวงตามานานมากแล้ว ผมเป็นคนไม่เชื่อเรื่องชาติพันธุ์ เพศ หรือประเทศ คนเราควรจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ถ้าเขาสบายใจที่จะอยู่ตรงนั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะไล่ใครไปอยู่ที่อื่น หรือบอกว่าคุณไม่มีสิทธิ์ทำงานที่นี่เพราะคุณเป็นผู้หญิง คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่า คุณไม่ควรมาเป็นเพื่อนเราเพราะคุณสีผิวแบบนี้ มันผิด คนเรามันเป็นมากกว่านั้นได้
toxic masculinity ในสังคม มันทำร้ายคนๆ หนึ่งยังไงบ้าง?
toxic masculinity มันทำให้เพศชายดูแย่นะรู้หรือเปล่า มันทำให้ความเป็นชายมันถูกตั้งคำถามว่า กูต้องเป็นคนแบบนี้เหรอ ถ้ากูเป็นผู้ชาย กูต้องเหยียบย่ำคนอื่นที่ไม่ใช่เพศตัวเองเหรอ ก้าวร้าวเหรอ มันผิดหรอที่ผู้ชายต้องเป็นคนยอม เป็นคนนิ่ง เป็นคนสุภาพนุ่มนวล อะไรพวกนี้มันเป็นไม่ได้เหรอ คือเป็นผู้ชายแล้วยังไงวะ มันกลายเป็นว่าคนที่ไม่สู้คนมันเป็นคนที่ไม่แมน มีเรื่องมาต้องมีเรื่องกลับแบบนี้เหรอ หรือเห็นผู้หญิงแล้วต้องแซวเหรอ
แม้กระทั่งเพศอื่นๆ ทำไมวงการบันเทิงไทยต้องทำให้กะเทยเป็นคนตลก มันเป็นการเหมารวมไปหน่อย แล้วการเหมารวมมันก็เป็นอะไรที่ toxic ไม่ว่าจะเกย์ กะเทย ผู้ชาย หรือผู้หญิง เอาเรื่องนี้ออกไปแล้วมองที่ตัวตนจริงๆ อย่างบางประเทศเนี่ย เกิดมาแบบไม่มีเพศก็มี คุณอยากเป็นใครคุณก็ค่อยว่ากันอีกที แล้วคุณจะได้รู้ว่าจริงๆ คุณรักใครในแบบที่เขาเป็นเขาจริงๆ หรือเปล่า
masculinity คืออะไร ผมยังหาคำอธิบายไม่ได้นอกจากกูมีฮอร์โมนส์เพศชายมากกว่าเพศหญิง…แค่นั้นเอง แล้วฮอร์โมนเพศชายทำอะไรได้บ้าง ก้าวร้าวเหรอ? มันคือตัวแทนของความดีตรงไหน? มันไม่ได้นิยามสิ่งที่เรากระทำเลย ซึ่งผมว่ามันเป็นภาพลวงตาซึ่งทำให้เกิดผลเสียมานานมากแล้ว ทั้งเรื่องผิวสี ชาติ เพศ แต่ก่อนผู้หญิงลำบากกว่านี้อีก เราคิดว่าเราควรจะเปิดกว้างเรื่องนี้ได้แล้ว ไม่ว่าจะเพศไหนหรือว่าใคร ควรจะดูสิ่งที่เขาทำมากกว่า
แล้วคุณให้นิยาม ‘ความแมน’ หรือ ‘ความเป็นผู้ชาย’ ไว้ว่ายังไง?
ความแมนเป็นเรื่องโกหกทั้งนั้นเลยครับ แต่ก่อนความแมนมีไว้ทำอะไร มีไว้เพื่อเป็นกุศโลบายให้ผู้ชายไปรบแล้วรู้สึกฮึกเหิม คุณต้องปกป้องประเทศชาติและครอบครัว สมัยนี้เราต้องก้าวไปข้างหน้าได้แล้ว ต้องยอมรับในความเป็นตัวบุคคลมากขึ้น ผมว่าผู้หญิงบางคนเข้มแข็งกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ เอาจริงๆ คนที่คอยช่วยเหลือผมเป็นผู้หญิงหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นแฟนหรือผู้จัดการ ผมว่าชีวิตผมรอดได้เพราะผู้หญิงนะ
คิดว่าตัวเองเป็นคนเข้มแข็งไหม?
ไม่ตลอด ไม่มีใครเข้มแข็งได้ตลอดเวลาหรอก ขนาดซุปเปอร์ฮีโร่ยังทำไม่ได้เลย
ข้างในฉันแทบทนไม่ไหว
ให้น้ำตาเป็นตัวแทนทุกคำอธิบาย
— Crybaby, Max Jenmana
ถ้าน้ำตาไม่ใช่ตัวแทนของความอ่อนแอ แล้วน้ำตาคือตัวแทนของอะไร?
มันคือสัญญาณ สัญญาณของความเจ็บปวด ความดีใจ หรืออารมณ์อะไรก็ตาม น้ำตาไม่ได้เป็นตัวแทนของอะไร มันคือสัญญาณบอกว่าเรารู้สึกอะไรอยู่ตอนนี้ อย่าง tears of joy แบบนี้ก็มี ดีใจน้ำตาไหลออกมาก็มี ไม่ต้องไปให้ความหมายกับอะไรมาก มันเป็นแค่สัญญาณเฉยๆ
เล่าให้ฟังได้ไหมว่าร้องไห้ล่าสุดเรื่องอะไร?
ดูหนังครับ (หัวเราะ) จำไม่ได้ว่าซึ้งหรืออะไร เห็นมั้ย น้ำตามันยังบอกไม่ได้เลย บางครั้งมันก็ปนๆ กัน ไม่ต้องไปนิยามมันหรอกครับ ที่ดูล่าสุดน่าจะเรื่อง Breaking Bad มั้ง โหดมากแต่ร้องไห้ ฟังเพลงก็ร้องไห้ ช่วงนี้ร้องไห้ง่าย
แล้วหลังจากร้องไห้รู้สึกดีไหม?
รู้สึกดีครับ เพราะว่าก่อนหน้านี้ผมไม่ร้องไห้เลยมาประมาณหลายปีเหมือนกัน เหมือนมีบางอย่างห้ามเอาไว้ แล้วข้างในมันรู้สึกเหมือนเป็นระเบิดเวลา รู้สึกอัดอั้นมากเลย แต่พอร้องไห้แล้วรู้สึกมันดีมาก เราว่ามันน่าจะดีต่อสุขภาพมากกว่านะ
ที่ไม่ร้องไห้เป็นเพราะเราไม่ร้องเอง หรือเพราะคนอื่นคาดหวังว่าเราจะต้องไม่ร้องไห้ออกมา?
ก็ด้วยครับ แต่ก่อนเวลาร้องไห้ เราจะคิดว่ามีใครเห็นเราร้องไห้ไหม มีใครเห็นเราเจ็บไหม เหมือนพยายามมากเกินไป เป็นการร้องไห้ที่ไม่จริง มันพยายามสร้างซีนดรามาติกเพื่อการร้องไห้ ซึ่งร้องไห้มันก็คือการร้องไห้แค่นั้นเอง คือการชนอารมณ์ตัวเอง ไม่ต้องการให้ใครมาเป็นผู้ชมเวลาเราร้องไห้ เราร้องไห้คนเดียวก็ได้แล้วตอนนี้ ถ้ามีลูกมีหลานก็อย่างจะสอนว่าร้องไห้ไปเถอะ มันไม่ได้อ่อนแอนะ
เพลง ‘ปีศาจ’ พูดถึงตัวตนของเราที่อาจทำให้คนอื่นผิดหวัง ในชีวิตจริงเคยถูกคาดหวังอะไรจากคนรอบข้างบ้าง?
ทุกคนต้องถูกคาดหวังอยู่แล้วแหละ แต่ผมว่าผมคาดหวังกับตัวเองเยอะ หลายๆ คนก็น่าจะเป็น ตอนผมเขียนเพลง ปีศาจ ผมซึมเศร้าอยู่ช่วงหนึ่ง มันเป็นช่วงอายุหนึ่งที่ผมก็ยอมรับว่าผมคิดแบบนั้น เหมือนผมหาคนเข้าใจ แต่โมเมนต์นี้มันคือการเดินทางต่อจากนั้น คือผมไม่ต้องการคนเข้าใจแล้ว ผมไม่อยากอธิบายอะไรแล้ว ผมมีน้ำตาแทนคำอธิบาย เหมือนในเนื้อเพลง Crybaby ผมแค่อยากจะร้อง ร้องออกไป จนกว่าน้ำตาจะหมดไป จะไม่ทนเก็บไว้
ที่บอกว่ามีช่วงหนึ่งเคยเกลียดชังตัวเอง ความรู้สึกนี้มันมาจากตัวเองหรือสังคม?
เป็นเพราะเราคาดหวังให้คนอื่นมองว่าเราดี เราคาดหวังว่าเราจะดูดีในสายตาคนอื่น ซึ่งมันเพื่ออะไรก็ไม่รู้ ตอนนี้ผมก็เริ่มเข้าใจแล้ว
ทำไมถึงกลับมารักตัวเองได้ เป็นเพราะเห็นคุณค่าอะไรในตัวเอง?
อายุมั้งครับ แก่ขึ้น เวลาจะเยียวยาทุกอย่าง เดี๋ยวจะเข้าใจเองครับ
เห็นว่าคุณชอบเขียนหนังสือ ช่วงนี้อยากเขียนเกี่ยวกับอะไร?
อยากเขียนเรื่องสั้นครับ แต่ยังไม่ได้เริ่มเลย ขึ้นโครงไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ลงมือจริงจัง คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘ความโรแมนติกถึงตาย’ ผมว่าคนเราที่ตายด้วยความรักเนี่ย แม่งเจ๋งมากเลยนะ แต่ความรักไม่ได้เป็นแบบเดียวนะ เป็นความรักหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็นรักงาน รักความฝันของตัวเอง หรือการยอมตายได้ด้วยอุดมคติอะไรบางอย่างของตัวเอง ผมว่าเป็นเรื่องโรแมนติกมาก อยากลองเขียนเป็นเรื่องสั้นๆ แบบสั้นโคตรๆ
ในฐานะศิลปินคนหนึ่ง อยากให้เพลงหรือผลงานของตัวเองช่วยเหลือคนอื่นๆ ยังไงบ้าง?
อยากเป็นความหวัง อยากเป็นเพื่อน ผมเคยคิดไว้ว่าเพลงผมเป็นเพื่อนกับพวกเขาได้ อยากให้รู้ว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่เจอเรื่องแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมเลยพยายามใส่ความจริงเข้าไปในเพลง ไม่แน่ใจว่ามันเป็นความจริงสำหรับใครหรือเปล่า แต่อย่างน้อยมันเป็นความจริงสำหรับตัวผมเอง มันเป็นเพื่อนกับผมได้ หวังว่ามันก็เป็นเพื่อนกับคนอื่นได้เหมือนกัน เป็นความหวังให้พวกเขาว่าสักวันหนึ่งมันจะผ่านไปได้ เพราะทุกเพลงผมจะไม่ได้หม่นๆ ลงไปแล้วจบ คือผมจะมีการเผยอขึ้นมานิดนึงว่าสักวันจะกลับมาดีขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศไหน อายุเท่าไหร่ หากการร้องไห้มันช่วยปลดปล่อยความเศร้า หรือระบายความอัดอั้นในใจของเราให้เบาลง มันก็คงไม่ใช่เรื่องน่าขายหน้าสักเท่าไหร่ อย่างที่เนื้อเพลง Crybaby ได้บอกไว้ว่า “มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย just cry, baby”