“พวกกูเนี่ยของจริง มึงจำไว้!”
คือคำประกาศกร้าวของตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) บางนาย หลังรุมทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวระหว่างสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC2022 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ทั้งที่ผู้สื่อข่าวรายนั้นติดเครื่องหมายแสดงตัวและตะโกนบอกว่า “ผมเป็นสื่อ” อยู่หลายครั้ง
ในเหตุการณ์เดียวกัน มีสื่อมวลชนอีกอย่างน้อย 3 คนได้รับบาดเจ็บ ทั้งถูกตำรวจ คฝ. พุ่งเอาโล่มากระแทกจนนิ้วแตก-อุปกรณ์เสียหาย หรือถูกขว้างขวดแก้วขว้างจากแนวเจ้าหน้าที่เข้าใส่จนเกือบตาบอด
ทั้งหมดติดเครื่องหมายแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชนเช่นกัน
ยังไม่รวมถึงผู้ชุมนุมอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะ ‘พายุ บุญโสภณ’ จากกลุ่มดาวดิน ที่ถูกยิงกระสุนยางเข้าที่ตากระทั่งสูญเสียการมองเห็น ทั้งที่คู่มือการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่อัพเดทล่าสุดในปี 2565 ก็กำหนดให้เล็งยิงท่อนล่างของร่างกายหรือขา แล้วกระสุนยางนั้นพุ่งไปที่เบ้าตาได้อย่างไร
ผ่านมาครบเดือนแล้ว ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบจากคนในเครื่องแบบใดๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจสั่งการ
แถมยังปรากฎข้อมูลใหม่ๆ ออกมาว่า ปฏิบัติการในวันดังกล่าวอาจขัดกับคำสั่งศาล-ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
“พวกกูเนี่ยของจริง มึงจำไว้” เสียงคำรามจากกลุ่มคนที่ปกปิดใบหน้า บนเครื่องแบบยังไม่ปรากฎชื่อเสียงเรียงนาม – จนชวนสงสัยนิยามคำว่า ‘ของจริง’ ของคนกลุ่มนั้น หมายถึงอะไรกันแน่
..ของจริง คือ การกล้าทำ กล้ารับผิด
..ของจริง คือ กล้าเผชิญหน้าความจริง
..ของจริง คือ ไม่หนีการถูกตั้งคำถามใดๆ
หรือของจริง คือ การหนีเข้ากลีบเมฆ ปล่อยเบลอให้คนลืมๆ กันไป แล้วสักวันหนึ่งก็กลับมีพฤติกรรมแบบเดิมๆ พอถูกตั้งคำถามอีก ก็ทำมึนต่อ ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่แก้ไขอะไร
ขัดคำสั่งศาลแพ่งหรือไม่
ข้อเท็จจริงโดยสรุปของเหตุการณ์วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ตำรวจ คฝ. เข้าสกัดกั้นและสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC2022 ที่ถนนดินสอ ระหว่างกำลังเคลื่อนขบวนจากลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีการปะทะกันหลายครั้ง ระหว่างเวลา 10.00-12.30 น.
เหตุการณ์วันดังกล่าว ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสรุปว่า มีสื่อมวลชนอย่างน้อย 4 คนได้รับบาดเจ็บ พร้อมออกแถลงการณ์ขอนัดหมายเข้าพบ ผบ.ตร. เพื่อสื่อสารถึงปัญหาของการทำงานของตำรวจ คฝ. ต่อผู้มีอำนาจโดยตรง (เพิ่งได้รับนัดหมายเป็นวันที่ 21 ธันวาคม 2565 หลังเกิดเหตุการณ์นับเดือน)
การสลายการชุมนุมของตำรวจ คฝ. ที่ทำให้สื่อมวลชนบาดเจ็บ ยังอาจขัดกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ พ3683/2564 (คดีซึ่งสื่อมวลชนหลายรายร่วมกันฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จากกรณีถูกตำรวจ คฝ. ยิงกระสุนยางเข้าใส่จนบาดเจ็บ เมื่อปี 2564) ที่ศาลระบุไว้ว่า สตช. ต้อง “..ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน..”
การสลายการชุมนุมที่มีสื่อมวลชนบาดเจ็บหลายราย ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนไปยื่นคำร้องของให้ศาลแพ่งเรียกตัวแทน สตช. มาไต่สวนว่า ได้ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งศาลอนุมัติและกำหนดวันเรียกตัวแทน สตช. มาไต่สวนในวันที่ 17 มกราคม 2566 เวลา 09.00 น.
ในขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อก็ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ามาช่วยตรวจสอบว่า การสลายการชุมนุมของตำรวจ คฝ. ในวันดังกล่าว มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
สลายม็อบก่อนศาลอนุมัติ
คู่ขนานกันก็มีตัวแทนผู้ชุมนุมไปยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาช่วยตรวจสอบ โดยมี กมธ. 2 ชุด รับเรื่องไว้ตรวจสอบ ได้แก่ ‘กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน’ และ ‘กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน’
ผลจากการเรียกตัวแทนฝั่งตำรวจ ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายและดำเนินการสลายการชุมนุม ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 มาชี้แจงต่อที่ประชุม กมธ.กฎหมายฯ ในการประชุมครั้งที่ 110 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 แม้ตัวผู้ถูกเชิญซึ่งสื่อมวลชนบางสำนักชอบเรียกว่า ‘บิ๊กตำรวจ’ จะไม่มาปรากฎตัวแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าจะ ผบ.ตร., ผบช.น. ผู้การตำรวจ คฝ. แต่ให้ลูกน้องมาชี้แจงแทน ประกอบด้วย ประกอบด้วย พ.ต.อ.พิทักษ์ สิทธิกุล รอง ผบก.สายตรวจปฏิบัติการพิเศษ, พ.ต.อ.ธนายุทธ ภูมิงาม ผกก.กลุ่มงานสอบสวนกองบังคับการสืบสวนสอบสวน และ พ.ต.ท.รักษ์ชยุตม์ สายพร้อมญาติ รอง ผกก.ฝ่ายอำนวยการ 3 กองบังคับการอำนวยการ ซึ่งทั้งหมดอ้างว่าอยู่ในคณะกรรมการที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลตั้งขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลจากตัวแทนตำรวจเหล่านี้ ยอมรับว่าปฏิบัติการสลายการชุมนุมวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ทำขึ้นก่อนที่จะได้รับการอนุมัติจากศาลแพ่ง ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ???
“มีการไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งแล้ว แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการพิเศษ ศาลจะนัดพิจารณาเฉพาะคดีที่นัดหมายไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ส่วนกรณีขอให้เลิกการชุมนุม ศาลนัดไปพิจารณาเป็นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 แทน” ตัวแทนตำรวจรายหนึ่งกล่าวยอมรับต่อที่ประชุม กมธ.กฎหมายฯ
อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยทักท้วงไว้ว่า หลังจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ กทม. ถูกยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 การจะเข้าสลายการชุมนุมหรือให้เลิกการชุมนุมใดๆ จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 21-24 โดยเฉพาะการขอให้ศาลสั่งเลิกการชุมนุม
“การสลายการชุมนุมที่แยกถนนดินสอในวันนี้ จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ..เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจลืมไปว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกยกเลิกไปแล้ว และดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จะไปสลายการชุมนุมหรือจับกุมผู้ชุมนุมโดยไม่ทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายไม่ได้”
โดย อ.ปริญญาเสนอให้มีการดำเนินคดีเป็นตัวอย่าง เพราะการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องฟ้องร้องเอาผิดให้ถึงนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาของ สตช. ด้วย
ไม่ใช่ “สลายการชุมนุม” ???
แต่ฝ่ายตำรวจเองก็เตรียมถ้อยคำไว้แก้ต่างเรื่องการสลายการชุมนุมก่อนที่ศาลแพ่งจะอนุมัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะไว้แล้ว
นั่นคือไม่เรียกปฏิบัติการในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ว่า “สลายการชุมนุม” แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า “จับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า”
มีการใช้คำๆ นี้ ทั้งในการชี้แจงต่อที่ประชุม กมธ.กฎหมายฯ และปรากฎในโพสต์ที่ พล.ต.ต.ธนันท์ธร รัตนสิทธิภาคย์ ผู้การตำรวจ คฝ. ให้รางวัลกับตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานในวันดังกล่าว
ท่ามกลางข้อสงสัยว่า แล้วจะไปขอให้ศาลแพ่งอนุมัติไว้แต่แรกทำไม ???
ปัจจุบัน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในเหตุการณ์วันดังกล่าว ซึ่งกรรมการทั้งหมดเป็นตำรวจใน บช.น. แต่ยังไม่มีการเผยแพร่รายชื่อว่ามีใครบ้าง
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของตัวแทนตำรวจที่มาชี้แจงกับ กมธ.กฎหมายฯ ดูแนวโน้มเหมือนตั้งประเด็นว่า การที่ตำรวจ คฝ. สลายการชุมนุมอย่างรุนแรง จนทำให้มีสื่อมวลชนบาดเจ็บจำนวนมาก อาจเป็นพฤติการณ์ ‘เฉพาะตัว’ ของตัวบุคคลนั้นๆ หรือไม่? เช่น เกิดจากความเครียดหรือความกดดันในการปฏิบัติหน้าที่?
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เคยกล่าวชี้แจงไว้ว่า เมื่อตำรวจ คฝ. มีมาก จึงใช่ว่าจะควบคุมได้ 100%
คำชี้แจงจากตัวแทนที่ยังไม่น่าพอใจ ทำให้ กมธ.กฎหมายฯ เชิญ ‘บิ๊กตำรวจ’ ที่มีอำนาจสั่งการหรืออยู่ในเหตุการณ์จริงๆ มาชี้แจงด้วยตัวเอง ในการประชุมครั้งที่ 112 วันที่ 21 ธันวาคม 2565 โดยเชิญ ผบช.น., ผู้การนครบาล 1, ผู้การตำรวจ คฝ. และผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ ให้มาชี้แจงด้วยตัวเอง
รอดูอีกครั้งว่าจะมาด้วยตัวเองหรือไม่ หรือส่งคนอื่นๆ มาชี้แจงแทนอีก
‘ความรับผิดชอบ’ จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงได้ปรับปรุงตัวเอง ทำงานให้ดีขึ้น มีมาตรฐาน เป็นมืออาชีพ กระทบฝ่ายอื่นๆ น้อยที่สุด
การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ยังมีความสำคัญตรงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายปกติ ไม่ใช่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ซึ่งหากตำรวจ คฝ. สามารถทำสิ่งดังแล้วไม่ต้องรับผิดใดๆ ก็จะสร้าง ‘บรรทัดฐาน’ ว่าต่อไปพวกเขาสามารถใช้ ‘วิธีการเดียวกัน’ กับการชุมนุมสาธารณะอื่นๆ หลังจากนี้
..ไม่ว่าจะประเด็นการเมือง ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ ราคาสินค้าเกษตร แรงงาน ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก
..ไม่ว่าจะในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐบาลชุดอื่นๆ ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน (ฝ่ายที่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าอยากออกมาชุมนุมในอนาคตเมื่ออำนาจเปลี่ยนขั้ว ก็เตรียมรับมือกับปฏิบัติการของตำรวจ คฝ. ในรูปแบบเดียวกัน)
1 เดือนผ่านไป นับแต่เสียงคำราม “พวกกูเนี่ยของจริง มึงจำไว้” เรายังไม่เห็นว่า ทางตำรวจได้แสดงความเป็น ‘ของจริง’ อย่างเป็นรูปธรรมใดๆ