จะสนุกแค่ไหนกันนะ ถ้าคนเราย้อนเวลาไปในช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ได้ เพราะหลายเหตุการณ์เราแทบจินตนาการภาพไม่ออก ใหม่ขึ้นหน่อยก็อาจถูกบันทึกในชัตเตอร์เดียว เลยถึงคราวที่ ‘Midjourney’ ปัญญาประดิษฐ์สายวาดจะอวดฝีมือสักหน่อย
ไหนๆ อดีตนักวิจัย NASA ผู้ก่อตั้ง เคยออกตัวว่าไม่ได้มาทำลายวงการศิลปะ แต่มาผลักดันเสียด้วยซ้ำ The MATTER จึงถือโอกาสวาระ 24 มิถุนายน 2475 ที่คณะราษฎรทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ให้เจ้า AI ลองวาดภาพประกอบเหตุการณ์บางช่วงบางตอน
ย้ำกันสักนิด ภาพประกอบทั้งหมด ไม่ใช่ภาพจริง!!! เป็นการจินตนาการวาดของ AI ซึ่งมีข้อจำกัดในการใส่คีย์เวิร์ด ทั้งบุคคล และช่วงเวลา
1. รวมตัวก่อนเคลื่อนกำลังพล
คีย์เวิร์ดที่ป้อน : The military leaders and ordinary people stood together in a meeting with cars or tanks behind them in Bangkok 1950
หลังจากเตรียมการมายาวนานมากกว่า 7 ปี ก็ถึงวันดีเดย์จริง และเช่นเดียวกับทุกยุคสมัย ปฏิบัติการมักเริ่มต้นขึ้นด้วยการควบคุมการสื่อสาร โดยควง อภัยวงศ์ คณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ที่นำทีมตัดสัญญาณโทรศัพท์
จากนั้นไปผนวกกำลังกลุ่มผู้ก่อการ ฟากฝั่งทหารที่เรารู้จักกันดี อย่างพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หรือ พจน์ พหลโยธิน หลวงพิบูลสงคราม หรือ แปลก พิบูลสงคราม เป็นต้น
บันทึกเหตุการณ์จากหลายแห่ง บอกเล่าคล้ายคลึงกันว่า แกนนำผู้ก่อการใช้ความเป็นทหารชั้นผู้ใหญ่ ล่อหลอกทหารผู้น้อยที่อยู่ด่านหน้าให้เปิดประตูให้โดยง่าย ด้วยความที่เคยเป็นอาจารย์มาก่อน ก่อนจะทำการควบคุมกำลังพล และยานยนต์หุ้มเกราะจากกรมทหารม้าที่ 1 เอาไว้
2. ทหารและพลเรือนราว 2,000 คนมารวมตัวกันด้วยกลอุบาย
คีย์เวิร์ดที่ป้อน : 2,000 Thai solider armed with weapons gather at the Ananta Samakhom Throne Hall in 1932.
จะทำการใหญ่ก็จำเป็นต้องแสดงแสนยานุภาพด้วยกำลังพล ในการอภิวัฒน์ 2475 ก็เช่นกัน ทั้งที่ตั้งต้นนั้นมีผู้รวมก่อการเพียง 115 คนเท่านั้น
นั่นถึงทำให้ผู้ก่อการวางแผนลวง ให้ทหารและพลเรือนกว่า 2,000 คน เข้าใจผิดว่าจะมีการซ้อมรบจึงมารวมตัวกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม แถมไม่ได้มาตัวเปล่าแต่มีอาวุธติดมาครบมือ โดยไม่มีใครนึกเอะใจ เพราะมีคำสั่งไว้แล้วล่วงหน้า
เมื่อบวกรวมกับกับกำลังพลทหารบกที่เคลื่อนมาจากกรมทหารม้าที่ 1 ยังไม่นับรวมทหารช่าง และกองกำลังอื่นที่สมทบระหว่างทาง ทั้งหมดได้ทำการขยายแนวปิดล้อมถนนราชดำเนิน โดยใช้กระสอบทรายตั้งแนว และมีรถถังจอดคุมเชิงอยู่
เท่ากับว่า แผนการระดมพลเพื่อรอการปฏิวัติครั้งนี้ก็สำเร็จไปเกินครึ่งแล้ว
3. อ่านประกาศคณะราษฎรช่วงย่ำรุ่ง
คีย์เวิร์ดที่ป้อน : the leader of a constitutional monarchy raising 3 fingers up by right hand while making a speech standing high up in the middle of a big square and the temple is behind looking very stand out from the crowd at 6 o’clock in the morning in Thailand 1950 in black and white photography
ช่วงเวลาสำคัญที่สุด ซึ่งถูกจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ไทยก็มาถึง กับการประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีใจความว่า
“การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ การปกครองแบบพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง ใครจะออกเสียงหรือความเห็นคัดค้านอย่างใดมิได้ทั้งสิ้น การปกครองนี้ได้ปล่อยให้อาณาประชาราษฎร์เผชิญโชคชะตาทางเศรษฐกิจและการภาษีต่างๆ ไปตามลำพัง ไม่ได้คิดหาทางแก้ไขบูรณะบ้านเมืองให้ดีขึ้น จะปล่อยให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายและเป็นไปตามยถากรรมนั้นเป็นการไม่พึงบังควรยิ่ง เราจึงต้องทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์ทรงสถิตอยู่ใต้กฎหมาย”
“ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”
หลายคนคงรู้สึกคุ้น เพราะนี่เป็นข้อความเดียวกับที่สลักไว้บนหมุดคณะราษฎร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่การปกครองแบบประชาธิปไตยจวบจนทุกวันนี้
มาถึงตอนนี้บรรดาทหารที่มาโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็เริ่มหันซ้ายหันขวาสบตากันบ้างแล้ว ผู้ก่อการจึงต้องเริ่มดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อควบคุมสถานการณ์ ด้วยการสลับกำลังพลคละกันในแต่ละกองทัพ จากนั้นให้เข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญ
4. แจกใบปลิวให้ประชาชน
คีย์เวิร์ดที่ป้อน : Thai soldiers in boats near the tiny canal hand out flyers to people in order to celebrate victory over democratic revolution in 1932
ไม่ว่าจะควบคุมใจกลางเมืองได้ดีขนาดไหน แต่หากยังไม่ได้รับความยินยอมจากกลางใจประชาชน อย่างสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 การอภิวัฒน์ครั้งนี้ก็ไร้ความหมาย
ผู้ก่อการจึงเปิดฉากกดดัน ร.7 ด้วยการเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งเล็กใหญ่มาเป็นตัวประกัน หนึ่งในนั้นถือเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ขณะที่พระองค์พำนักอยู่ที่วังไกลกังวล ถึงจะมีความวุ่นวาย แต่จนแล้วจนรอดก็ลุล่วง มีการปลดอาวุธบรรดาทหารองครักษ์ได้สำเร็จ
เมื่อคณะราษฎรได้เชิญตัวประกันที่สำคัญมาไว้ในมือได้บางส่วนแล้ว จึงได้ออกประกาศ ว่า “ด้วยบัดนี้ คณะราษฎรได้จับพระบรมวงศานุวงศ์มาไว้เป็นประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณะราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงษานุวงศ์จะต้องถูกทำร้ายด้วย”
ช่วงเวลาต่อมา คำประกาศของคณะราษฎรถูกเผยแพร่โดยอาศัยใบปลิวที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่เรารู้จักกันคือ ปรีดี พนมยงค์ ได้แอบจัดพิมพ์และเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า
โดยปรีดีได้ซุ่มอยู่ในเรือบริเวณคลองบางลำพู พร้อมใบปลิวซึ่งนับเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญ หากการอภิวัฒน์สำเร็จก็จะแจกจ่าย แต่หากล้มเหลวก็จะปล่อยทิ้งในสายน้ำเสมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น
คำประกาศดังกล่าวมีใจความ 6 ประการ คือ ความเป็นเอกราช ความปลอดภัยในประเทศ ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ ต่อด้วย สิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ เสรีภาพ มีความเป็นอิสระ และท้ายสุดต้องมีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
5. ร.7 มีพระราชหัตถเลขาตอบคณะราษฎร
คีย์เวิร์ดที่ป้อน : The view of the back of the Thai king sitting down on a desk, writing a letter in a royal palace, the window in front of him showing the view to the sea in 1950 in black and white photography
เช่นนี้แล้ว สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทำอะไรได้อีก นอกเสียจากเสด็จนิวัติกลับสู่พระนคร พร้อมมีพระราชหัตถเลขาตอบคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารของคณะราษฎร ที่ได้ส่งทูตไปเจรจา พร้อมหนังสือกราบบังคมทูลว่า
“คณะราษฎรไม่ประสงค์ที่จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น…”
และตามที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตอบผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารซึ่งเป็นฝ่ายเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีข้อความตอนหนึ่ง ว่า
“ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามรัฐธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อคุมให้โครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญโดยสะดวก…”
“ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้า ไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดย ไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
ก่อนที่พระองค์จะเสด็จนิวัตพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งขบวนพิเศษ แล้วเวลาต่อมาผู้แทนราษฎรได้เดินทางเข้าเฝ้า ณ วังศุโขทัย นำเอกสารสำคัญขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายรวมสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ และพระราชกำหนดนิรโทษกรรม
ทั้งนี้ ในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475 ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัติว่า ‘ชั่วคราว’ เพื่อย้ำว่า รูปการปกครองของระบอบใหม่นี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำของคณะราษฎรจะกำหนดได้ฝ่ายเดียว แต่ต้องเกิดการประนีประนอมกับทุกฝ่ายด้วย
จวบจนวันนี้ แม้ประวัติศาสตร์ย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475 จะยังคงถูกวิพากษ์ด้วยมายาคติหลากหลาย ทั้งชิงสุกก่อนห่าม หรือเป็นการยึดอำนาจของคนกลุ่มน้อย แต่สิ่งที่ไม่อาจแย้งได้ คือนั่นได้นำมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นสมบัติของประชาชนคนรุ่นหลัง