วันที่ 24 มิถุนายน นอกจากจะเป็นวันรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 แล้ว ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2482 – 2502 สถานะของ 24 มิถุนายนยังได้รับการประกาศจากรัฐบาลคณะราษฎรให้เป็นวันชาติอีกด้วย
แนวคิดการประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนให้เป็นวันชาตินั้น คณะราษฎรต้องการให้คนในชาติได้ภาคภูมิใจในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน และเป็นการผลักดันความหมายของวันที่ 24 มิถุนายนให้กว้างไกลไปกว่าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้วันดังกล่าวคนไทยทุกคนสามารถร่วมยินดีในวันนี้ได้[1]
การที่คณะราษฎรดำเนินการสร้างความหมายของชาตินี้ เป็นไปตามทฤษฎีแนวคิดเรื่อง ‘ชุมชนจินตกรรม’ ของ เบน แอนเดอร์สัน (Ben Anderson) นักวิชาการผู้ล่วงลับ ซึ่งนิยามว่า ชาติเป็นชุมชนจินตกรรมที่เราไม่จำเป็นต้องรู้จักกันแต่กลับมีสิ่งยึดโยงเราไว้ร่วมกัน[2]เช่น ‘ชาติไทย’ ที่เราไม่จำเป็นต้องรู้จักคนไทยทั้งประเทศ แต่เราและคนไทยคนอื่นๆ ที่ไม่รู้จักกัน กลับมีสิ่งยึดโยงบางอย่างร่วมกันได้ นั่นก็คือความเป็นชาตินั่นเอง
สื่อมวลชนเองก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน
ให้จินตกรรมเรื่องชาติเผยแพร่ไปยังความคิดของผู้คนในสังคม
เพราะสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือที่สามารถเผยแพร่
เข้าถึงคนจำนวนมากได้ดีกว่าเครื่องมือประเภทอื่น[3]
นอกจากนี้ สื่อมวลชนก็ยังเป็นสมรภูมิปะทะทางความคิดจินตกรรมความเป็นชาติในแต่ละช่วงสมัยของงานวันชาติ 24 มิถุนายนที่แตกต่างไปด้วย เพราะการจินตกรรมความเป็นชาตินั้น แม้จะมาจากการผูกขาดของผู้มีอำนาจในช่วงเวลาต่างๆ แต่การให้ความหมายของชาติก็ไม่เคยหยุดนิ่งและมีการแปรผันตลอดเวลา รวมถึงมีกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ใช้สื่อมวลชนเองจินตกรรมความเป็นชาติเพื่อต่อสู้ขับเคี่ยวต่อต้านการครอบงำทางอุดมการณ์จากผู้มีอำนาจในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย[4]
ในช่วงก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 สยามถูกจินตกรรมความเป็นชาติอีกรูปแบบหนึ่งภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชาติในความหมายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เป็นชาติที่ไม่เน้นเรื่องความเสมอภาคของคนในสังคม เป็นชาติที่มีลำดับชั้นต่างๆ กันลงมา ลำดับชั้นที่แตกต่างกันนี้ ทำให้คนในชาติมีหน้าที่แตกต่างกันไปตามสถานภาพของแต่ละคน[5]
การจินตกรรมเรื่องชาติของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นถูกท้าทายจากคนในสังคมผ่านทางสื่อหนังสือพิมพ์ที่ไม่ยอมรับการแบ่งชนชั้นในสังคม พวกเขาผลิตจินตกรรมความเป็นชาติขึ้นมาใหม่ผ่านทางสื่อหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง แม้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เองจะพยายามใช้ทั้งกลไกกฎหมายควบคุมเพียงใดก็ไม่อาจปิดกั้นการท้าทายนี้ จนเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์อภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
เมื่อการอภิวัฒน์เกิดขึ้น คณะราษฎรซึ่งถือเป็นนักชาตินิยม[6]ได้สร้างจินตกรรมความเป็นชาติขึ้นมาใหม่ เปลี่ยนความหมายชาติสยาม มาเป็นชาติที่ทุกฝ่ายเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน โดยมีคณะราษฎรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ การให้ความหมายของชาติใหม่นี้ คณะราษฎรใช้สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อวิทยุอย่างต่อเนื่อง โดยมีสื่อหนังสือพิมพ์ที่เจ้าของสนับสนุนคณะราษฎรก็ร่วมให้ความหมายชาติใหม่ด้วย
ทั้งนี้ชาติของคณะราษฎรนอกจากจะพยายามประนีประนอมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ความหมายของชาติในยุคนี้ถือว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเดียวกันที่ต่างช่วยกันสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น โดยการสร้างชาติก็เหมือนกับการสร้างตัวตนของทุกคน ถ้าร่างกายแข็งแรง มีวัฒนธรรมดี ศีลธรมและอารยธรรมดี ชาติก็จะดีตามไปด้วย
คณะราษฎรมักจะเปรียบเทียบชาติเหมือนร่างกายอยู่เสมอ[7]
และเมื่อทุกคนร่วมสร้างชาติกันจนสำเร็จแล้ว
ก็ย่อมมีสิทธิ์ร่วมฉลองในงานวันชาติได้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความชอบธรรมของคณะราษฎรสูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากการแก้ไขสนธิสัญญาเบาว์ริ่งได้สำเร็จ ทำให้สยามมีเอกราชโดยสมบูรณ์ จึงกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้วันชาติ 24 มิถุนายนพ.ศ. 2482 กลายเป็นวันเฉลิมฉลองเอกราชโดยสมบูรณ์ มีการเฉลิมฉลองใหญ่โตในสังคมไทยเวลานั้น
โดยงานวันชาติในปีแรก ถูกเรียกว่า ‘งานวันชาติและวันฉลองสนธิสัญญา’ สื่อมวลชนต่างให้พื้นที่ร่วมเฉลิมฉลองวันชาติ ทั้งการออกฉบับพิเศษ ลงเรื่องราวเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. 2475 มีบทความชื่นชมยินดีสมาชิกคณะราษฎร มีการนำคำปราศรัยของแกนนำผู้ก่อการมาตีพิมพ์
อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่า สื่อมวลชนเองเป็นเวทีปะทะทางการจินตกรรมความเป็นชาติ เจ้าของหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนคณะราษฎรก็สนับสนุนจินตกรรมความเป็นชาติใหม่นี้ แต่เจ้าของหนังสือพิมพ์อีกกลุ่มในยุคนั้นที่ไม่ได้สนับสนุนคณะราษฎร แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็ทำการต่อต้านการจินตกรรมนี้ แม้จะไม่ต่อต้านความสำคัญของวันชาติ 24 มิถุนายนอย่างเปิดเผย แต่มีวิธีการนำเสนอข่าวสารงานวันชาติ โดยการลดความสำคัญของคณะราษฎรลงไป ให้เหลือเพียงวันชาติโดยไม่กล่าวถึงความดีงามของคณะราษฎร หากจะเน้น ก็เน้นความสำคัญของเชื้อชาติไทยและบทบาทของกองทัพขึ้นมาแทน[8]
ในเวลาต่อมาเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ จนก่อกำเนิดลัทธิ ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’ ภายใต้บริบทของสงครามโลกครั้งที่2 ชาติก็ถูกเปลี่ยนความหมายอีกครั้ง
งานวันชาติ 24 มิถุนายนหลังพ.ศ. 2484 -2487 กลายเป็นงานยกย่องจอมพล ป.พิบูลสงคราม และให้นิยามว่าชาติไทยนั้น กองทัพมีบทบาทสำคัญในการอุ้มชูชาติ เป็นชาติไทยที่เป็นมหาอำนาจ มีวัฒนธรรมเยี่ยงอารยะประเทศต่างๆ ในยุคนี้การควบคุมสื่อมวลชนภายใต้สงครามโลกเป็นไปอย่างเข้มงวด กระดาษหนังสือพิมพ์อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล ดังนั้นสื่อมวลชนจึงต้องเห็นด้วยในทิศทางเดียวกับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม[9]
จนเมื่อคณะราษฎรสายพลเรือนโดยเฉพาะนายปรีดี พนมยงค์และสภาผู้แทนราษฎรร่วมมือกันโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามด้วยวิธีการในสภาสำเร็จ งานวันชาติ 24 มิถุนายนจึงถูกจัดและสร้างจินตกรรมความเป็นชาติใหม่อีกครั้ง ภายหลังความบอบช้ำของสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยงานวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2490 สื่อมวลชนนำเสนอจินตกรรมความเป็นชาติที่แตกต่างจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามอย่างเห็นได้ชัด คือมีการนำเอาลัทธิชาตินิยมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจินตกรรมความเป็นชาติด้วย โดยยังเป็นชาติที่ต้องการเป็นมหาอำนาจต่อไป แต่ลดความเป็นลัทธิผู้นำนิยมและกองทัพลงไป เน้นเรื่องชาติที่เป็นของทุกคน ประเทศไทยสามารถเป็นมหาอำนาจได้โดยไม่ต้องมีกองทัพที่เข้มแข็ง[10]
แต่การจินตกรรมในงานวันชาติ 24 มิถุนายนครั้งนี้
ก็มีช่วงเวลาแสนสั้นเพราะเมื่อเกิดการรัฐประหาร
ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จินตกรรมชาตินี้
ก็ถูกทำลายลงและไม่สามารถรื้อฟื้นกลับมาได้อีกดังเคย
การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ส่งผลต่องานวันชาติ 24 มิถุนายนอย่างเห็นได้ชัด เกิดความซบเซาลงในงานวันชาติผ่านการนำเสนอของสื่อมวลชนทันที ความเป็นชาติในการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนถูกแปรความหมายเป็นเพียงความมั่นคงของคณะรัฐประหารทันที หากคณะรัฐประหารมั่นคง ชาติก็จะมั่นคงตามไปด้วย[11]
การรัฐประหารครั้งนี้ ทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมที่ถูกลดบทบาทลงไปในช่วงคณะราษฎรเรืองอำนาจ ได้กลับมารื้อฟื้นพลังอีกครั้ง พวกเขาได้ใช้สื่อหนังสือพิมพ์สร้างจินตกรรมชาติใหม่ผ่านงานวันชาติ 24 มิถุนายน โดยพยายามเน้นชาติที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางและสังคมที่มีลำดับชนชั้น โดยชี้ว่าการแบ่งชนชั้นในสังคมไทยนั้นไม่นำไปสู่การกดขี่แบบสังคมตะวันตก มีการโจมตีระบอบประชาธิปไตยและคณะราษฎร[12]และพยายามลดความสำคัญของงานวันชาติ 24 มิถุนายน แม้จะไม่สามารถแยกวันชาติกับวันที่ 24 มิถุนายนออกจากกันได้ แต่ก็มีการลดทอนความชอบธรรมอย่างต่อเนื่องผ่านทางหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อประเภทเดียวที่ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐ ดังนั้นแม้คณะรัฐประหารจะกุมอำนาจสื่อวิทยุหรือสื่อโทรทัศน์ได้ แต่ก็ไม่สามารถผูกขาดการจินตกรรมความเป็นชาติได้อย่างชัดเจนอีกต่อไป
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหารในพ.ศ.2501 นิยามความเป็นชาติก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง พร้อมกับกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีกำลังเข้มแข็งขึ้นมาเรื่อย ๆ
จอมพลสฤษดิ์ให้ความหมายของชาติผ่านงานวันชาติ 24 มิถุนายนใหม่ โดยชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้คือสถานการณ์ปฏิวัติ ต้องเร่งจัดการภัยของชาติ เช่น ภัยคอมมิวนิสม์ ต้องใช้ความเด็ดขาดในการแก้ปัญหา ชาติจึงต้องถูกสร้างขึ้นใหม่ เพราะชาติในอดีตมีสิ่งโสโครกและเต็มไปด้วยความแตกแยก[13]ซึ่งเป็นการลดความชอบธรรมของคณะราษฎรในอดีตผ่านการปราศรัยในงานวันชาติ 24 มิถุนายนเอง
จอมพลสฤษดิ์เปรียบชาติเหมือนบ้าน มีพ่อกับลูก พ่อต้องจัดการบ้านให้สะอาดเรียบร้อยอย่างเด็ดขาด ต้องไม่มีการเลื่อนชั้นทางสังคม[14] ทุกอย่างต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย หวนกลับไปใช้คติความเชื่อแบบเก่าในสังคมไทยแตกต่างจากแนวคิดเรื่องชาติของคณะราษฎรอย่างยิ่ง
การจินตกรรมความเป็นชาติของจอมพลสฤษดิ์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษนิยมอย่างยิ่ง โดยกลุ่มอนุรักษนิยมเห็นว่าการมีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์นั้นต้องเป็นอำนาจที่เด็ดขาด ไม่ต้องมีการตรวจสอบเหมือนกับอำนาจแบบแนวคิดตะวันตก และชี้ให้เห็นว่าเป็นรูปแบบของประเทศไทยที่มีความชอบธรรมทุกประการ[15]
การจินตกรรมความเป็นชาติของจอมพลสฤษดิ์
ทำให้วันชาติ 24 มิถุนายนไม่มีความสำคัญ
และหมดความชอบธรรมลงไป เพราะจอมพลสฤษดิ์
ไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายของคณะราษฎรอีกแล้ว
ในเวลาต่อมาจึงมีการออกมติคณะรัฐมนตรียกเลิกวันชาติแยกขาดจากวันที่24 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ไม่มีการรำลึกให้เกียรติวันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ สื่อมวลชนไม่เขียนถึงบทบาทของคณะราษฎร แม้แต่จะรำลึกถึงการอภิวัฒน์ ก็มีแต่ความเงียบงัน
วันชาติ 24 มิถุนายนจึงมีอายุเพียง 20ปีเท่านั้น
ปัจจุบันนี้ วันที่ 24 มิถุนายนถูกลดความสำคัญลงไปอย่างมากจากอดีต รวมถึงการจินตกรรมความเป็นชาติไทยก็เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดี ด้วยยุคสมัยนี้ที่เทคโนโลยีสื่อมวลชนก้าวหน้ามาก มีสื่อใหม่มากมายที่ลุกมาท้าทายสื่อยุคเก่า เราจึงได้เห็นการให้ความหมายของชาติใหม่ๆ หรือการย้อนกลับไปสู่จินตกรรมความเป็นชาติสมัยคณะราษฎร ที่ปรากฏให้เห็นอีกครั้งผ่านทางหน้าสื่อสมัยนี้
นั่นจึงเป็นข้อพิสูจน์ได้อีกอย่างว่า สื่อมวลชนนั้น ยังคงเป็นเวทีสำคัญในการต่อสู้ช่วงชิงความหมายจินตกรรมความเป็นชาติเหมือนเดิม
เผลอ ๆ อาจเข้มข้นยิ่งขึ้นด้วยซ้ำในยุคสมัยปัจจุบัน
บทความนี้ปรับปรุงเนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ “สื่อมวลชนกับการสร้างความชอบธรรมของคณะราษฎร:กรณีศึกษาวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482-พ.ศ.2503” ตามหลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2559
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]ณัฐกมล ไชยสุวรรณ , “สื่อมวลชนกับการสร้างความชอบธรรมของคณะราษฎร :กรณีศึกษาวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482-2503,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาวารศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาสื่อสารมวลชน,คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2559) ,195.
[2]เบน แอนเดอร์สัน,ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม Imagined Communities Reflections on the Origin and Spread of Nationalism,บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปลโดย กษิร ชีพเป็นสุข ,เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช,คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์,ฉลอง สุนทรวาณิชย์,ทรงยศ แววหงษ์,ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ,ภัควดี วีระภาสพงษ์,วีระ สมบูรณ์,ศุภมิตร ปิติพัฒน์,พิมพ์ครั้งที่ 1(กรุงเทพฯ:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,
[3]สายทิพย์ สุคติพันธ์,”ปฏิบัติการสื่อสารมวลชนกับการสร้างความชอบธรรมให้รัฐ”,วารสารรัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 14ฉบับที่ 2, พฤษภาคม-สิงหาคม 2531,111.
[4]ณัฐกมล ไชยสุวรรณ, “สื่อมวลชนกับการสร้างความชอบธรรมของคณะราษฎร :กรณีศึกษาวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482-2503,”เรื่องเดียวกัน,4.
[5]กรรภิรมย์ สุวรรณานนท์ , “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการสร้างชาติไทย,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์,บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย,2524,106.
[6]ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “รัฐประหาร 20มิถุนายน 2476,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต,สาขาวิชาประวัติศาสตร์,คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2534),39
[7]สุนทรพจน์ของนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีพูดทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อคืนวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2478 (2478,1กรกฎาคม) ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม52.หน้า1020.
[8]ประมวญวัน,ประมวญวัน ฉบับที่434 วันที่ 27มิถุนายน 2480,”หอสมุดแห่งชาติ,4.
[9]ศรีกรุง,”ศรีกรุง” ฉบับที่5018วันที่ 28มิถุนายน 2485,หอสมุดแห่งชาติ,3.
[10]ศรีกรุง,”มงคลนิมิตร” ฉบับที่7002วันที่ 27มิถุนายน 2490,หอสมุดแห่งชาติ,2.
[11]สยามนิกร,”สยามนิกร” ปีที่16วันที่ 26มิถุนายน 2494,” หอสมุดแห่งชาติ,1.
[12]สายชล สัตยานุรักษ์,คึกฤทธ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย” เล่ม 1 ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม, พิมพ์ครั้งที่1 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน,2550),160.
[13]สฤษดิ์ ธนะรัชต์,ประมวลสุนทรพจน์ พ.ศ.2502-2504, พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พระนคร,2507),37.
[14]เรื่องเดียวกัน,43.
[15]สายชล สัตยานุรักษ์ ,10ปัญญาชนสยาม เล่ม 2ปัญญาชนหลังการปฏิวัติ2475,286-287.