ชาวเน็ตบางรายล้อเลียนกันขำๆ หลังสุ่มตรวจที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วพบว่าผู้ติดเชื้อระลอกใหม่เป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่าว่านี่คือเหตุการณ์ “พม่าตีกรุงแตกรอบสอง” ชวนให้นึกถึงสมัยเด็กๆ ที่โรงเรียนเชิญชวนแกมบังคับเข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ซึ่งไทยมีหน้าที่ชนช้าง ยิงปืนยาวข้ามแม่น้ำไปจัดการกับศัตรูต่างแดนที่บุกเข้ามาประชิดดินแดน
เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ได้เข้ามาตรงๆ โต้งๆ จนอดคิดไม่ได้ว่าถ้ามีผู้กำกับภาพยนตร์คนใดสนใจทำภาพยนตร์กึ่งสารคดี “พม่าตีกรุงแตกรอบสอง” จริง คงต้องเพิ่มฉากม้าไม้กรุงทรอยเข้ามาด้วย ในฐานะภาพแทนแบบตลกร้ายของคนงานข้ามชาติที่กลายเป็นผู้ป่วยและพาหะของเชื้อ
แต่การสู้รบกับ COVID-19 ก็ไม่เหมือนกับการชนช้างหรือยิงปืนยาวข้ามแม่น้ำสะโตงที่เราต้องฆ่าฟันผู้ติดเชื้อให้ตายไปข้าง และที่สำคัญคือผู้ติดเชื้อที่เป็นชาวแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ก็เป็นเพียงผู้ป่วยที่เคราะห์ร้าย (และเคราะห์ดีว่าได้รับการตรวจ) ขณะอยู่ในประเทศไทยคนหนึ่งเท่านั้น
[ หมายเหตุ: บทความนี้จงใจใช้คำว่าแรงงานข้ามชาติแทนคำว่าแรงงานต่างด้าวตามที่รัฐนิยาม เพื่อหลีกเลี่ยงอคติอันเกิดจากคำ ]
ผู้ร้ายในสายตาเธอ
เพิ่งหายอกหายใจกันคล่องขึ้นได้ไม่เท่าไหร่ ทั้งนักท่องเที่ยวที่กำลังตื่นเต้นกับบรรยากาศการเคานต์ดาวน์ตอนสิ้นปี พ.ศ.2563 และหลายคนที่กำลังกระเสือกกระสนทำงานชดเชยการขาดรายได้ในช่วงล็อกดาวน์ครั้งที่แล้วก็ต้องยกมือทาบอกแทบเป็นลม เมื่อมีข่าวพบผู้ป่วยโรค COVID-19 ระลอกใหม่นับหลายร้อยคนอีกครั้ง หลังจากที่เคลมว่าผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเป็น 0 ติดต่อกันมาหลายเดือน
ยอดผู้ป่วย ‘ระลอกใหม่’ ที่มหาชัย จ.สมุทรสาครมากกว่า 500 รายในวันแรก เพิ่มเป็นเกือบ 700 คนในวันที่สอง และกลายเป็นมากกว่า 1,000 ราย ในวันที่เขียนบทความนี้ (วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563) จากบรรดาตัวอย่างผู้ป่วยราว 3,800 คนที่ทราบผลตรวจแล้ว
บรรยากาศความหวั่นระแวง “มึงว่ากูติดยังวะ?” กลับมาอีกรอบ และเมื่อสถิติบอกเราว่าผู้ป่วยคลัสเตอร์ใหม่นี้ 90% ‘ไม่ใช่คนไทย’ สายตารังเกียจห่างเหินของคนในประเทศจำนวนมากจึงพุ่งเป้าไปที่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในมหาชัย และพื้นที่อื่นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้
หลายคอมเมนต์สนับสนุนให้ “ส่งพวกแม่งกลับประเทศ” หลายคนมองว่าคนงานลักลอบข้ามแดนนำเชื้อมาให้ แม้ข่าวยังไม่ฟันธงว่าต้นเชื้อมาจากไหน
ใครบางคน (ผู้ขี้บ่นและขี้โมโหที่เรารู้จักกันดี) ประกาศกร้าวผ่านสื่อว่า “เพียงคนไม่กี่คนที่ละเลยความรับผิดชอบต่อสังคม และมีพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัว จะสร้างปัญหาให้คนเป็นล้านๆ ได้…ขบวนการนำแรงงานเถื่อนเข้าประเทศนั้นจะต้องถูกดำเนินคดี ถูกทำลายให้สิ้นซาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ หรือประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพราะการแพร่ระบาดครั้งนี้ ตรวจพบผู้ติดเชื้อจากแรงงานต่างด้าวมากที่สุด
อย่างน้อยๆ คงทำให้เห็นว่าภาพแทนของแรงงานข้ามชาติในสายตาคนขี้โมโหคนนั้น คือ คนงานเถื่อนลักลอบข้ามแดน เป็นศัตรู เป็นสิ่งน่ารังเกียจที่รัฐมีหน้าที่เร่งผลักดันให้กลับไปอยู่ในที่สมควรอยู่
แม้ปัจจุบันคนงานข้ามชาติที่ยังทำงานอยู่ส่วนใหญ่คือแรงงานที่ตกค้างมาตั้งแต่การระบาดระลอกแรก คนเหล่านี้เคยมีเอกสารใบอนุญาตทำงานครบ แต่หมดอายุและไม่สามารถกลับประเทศไปต่อเอกสารได้เนื่องจากประเทศไทยปิดด่านข้ามแดน โดยรัฐมีมติ ครม. ผ่อนผันให้สามารถทำงานต่อไปได้จนถึงปี พ.ศ.2565
ความรังเกียจนี้เองทำให้เราเห็นภาพรั้วลวดหนามล้อมกักกันคนงานข้ามชาติ โดยมีคนไทยโยนน้ำและอาหารลอดรั้วไปให้จากที่ไกลๆ เหมือนการให้อาหารสัตว์ตามงานวัด หรือเห็นข่าวนายจ้างคนไทยเริ่มขนย้ายแรงงานข้ามชาติไปทิ้งตามต่างจังหวัดให้หาทางกลับไปอยู่กับญาติเอง
ก่อนจะมี COVID-19 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 มีคนงานข้ามชาติที่เข้าเมืองมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายสูงถึง 3,005,376 คน แต่ละคนเป็นผู้ที่สร้างรายได้เข้ารัฐปีละไม่น้อยจากการจ่ายค่าเอกสาร ค่าบัตรประกันสุขภาพชั่วคราว หรือค่าส่งสมทบประกันสังคม รวมแล้วไม่ต่ำกว่าคนละหนึ่งหมื่นบาท/คน/ปี
ส่วนคนงานไม่มีเอกสาร เป็นไปได้ทั้งกรณีลักลอบข้ามแดนมาใหม่ด้วยความช่วยเหลือจากคนในประเทศแลกกับสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ หรือทั้งกรณีเกิดจากนายจ้างไทยไม่ยอมต่ออายุให้ จนเอกสารประจำตัวหมดอายุไปเอง คนเหล่านี้กลายเป็นแรงงานเถื่อนที่อยู่มาก่อนจะมี COVID-19 และกลายเป็นแพะรับบาปที่ชัดเจนที่สุดในเวลานี้
“พอตำรวจขี่จักรยานมาตรวจ เราต้องรีบหลบลงคูคลอง เพราะนายจ้างไม่เซ็นต่อใบอนุญาตทำงานให้เรา” หนึ่งในคนงานภาคการเกษตรที่ จ.ตากเล่าไปก็หัวเราะขื่น
คนงานเหล่านี้เข้ามาทำงาน 3D หรืองานที่ไม่ค่อยมีแรงงานไทยอยากทำ เพราะมีลักษณะเป็นงานสกปรก (dirty job) งานอันตราย (dangerous job) และงานยาก (demanding หรือ difficult job) เช่น ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำงานรับใช้ในบ้าน ทำงานก่อสร้าง ทำงานเก็บพืชผักทางการเกษตร ทำงานในอุตสาหกรรมประมงที่ร่ำลือกันว่าสภาพการทำงานแย่จนใกล้เคียงคำว่าค้ามนุษย์ ฯลฯ แลกกับค่าแรงวันละไม่กี่ร้อยบาท
งานเหล่านี้คนไทยไม่ค่อยอยากทำ แต่แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำก็ยังมิวายถูกแปะป้ายว่าเป็นผู้ร้ายแย่งงานคนไทย
สิทธิเราไม่เท่ากัน
กระทรวงแรงงานบัญญัติคำว่า ‘คนต่างด้าว’ ไว้ว่าหมายถึง ‘บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย’ กินความหมายครอบคลุมถึงคนงานทุกคนที่ไม่ใช่คนไทย ทั้งคนงานประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานไร้ทักษะ และคนงานจากประเทศตะวันตกที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งสูง ใช้ทักษะมาก หรือถูกส่งตัวมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศเพื่อมาดูแลบริษัทสาขาในประเทศไทย
แต่ถ้าจะเอาชินปากเข้าว่า เมื่อพูดถึงแรงงานต่างด้าว ภาพในหัวเราส่วนมากก็ยังเป็นคนงานผอมแห้ง ตัวดำ หน้าตาเด๋อด๋า อาจมีเคี้ยวหมากหรือนุ่งโสร่งแถมไปด้วยในจินตนาการของแต่ละคน แต่ที่แน่ๆ เราแทบไม่เห็นภาพพนักงานออฟฟิศชาวตะวันตกอยู่ในคำนั้นแม้แต่น้อย
กลายเป็นเราจะเห็นฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ในคำว่า ‘คนต่างชาติ’ และเห็นคนงานเพื่อนบ้านแถบอาเซียน (ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม) เมื่อได้ยินคำว่า ‘คนต่างด้าว’ แทน
หลายคนส่ายหน้าดิก เมื่อมีความพยายามรณรงค์ให้ใช้คำว่า ‘แรงงานข้ามชาติ’ แทนคำว่า ‘คนงานต่างด้าว’ ซึ่งเป็นคำที่รัฐกำหนดไว้เป็นคำกลาง แต่สองคำที่ต่างกันกลับมีผลอย่างมากต่อการถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งในระดับการปฏิบัติของชุมชนชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ
พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ถือเป็นพื้นที่คลาสสิกของเหล่าผู้สนใจประเด็นแรงงาน เพราะเป็นบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 55,300 คน เข้ามาทำงานในหลายกิจการ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การเกษตร งานรับใช้ในบ้าน งานในสถานประกอบการขนาดเล็กอย่างโรงแรมหรือร้านอาหาร ฯลฯ
ที่สำคัญ แม่สอดมีทั้งนายจ้างชาว ‘ต่างชาติ’ หุ้นส่วนโรงงานขนาดใหญ่ และคนงาน ‘ต่างด้าว’ ผู้ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงแลกค่าจ้างขั้นต่ำ 315 บาท หรือในบางโรงงาน 8 ชั่วโมงแลกกับค่าจ้าง 130-150 บาท
ประเด็นเขตเศรษฐกิจกลายเป็นความอ่อนไหวในพื้นที่ หลายครั้งเมื่อกฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาเอาเอง อคติว่า “เป็นพม่าจะเอาอะไรมาก” “เป็นต่างด้าวจะได้สิทธิเท่าคนไทยทำไม” “อย่าเรียกร้องมากเดี๋ยวต่างชาติถอนทุนหนีไทย” “ถ้านายจ้างต้องจ่ายคนละ 315 บาทเท่าค่าแรงขั้นต่ำ เขาก็จ้างคนไทยไปเลยไม่ดีกว่าหรือ” ก็โผล่ขึ้นมาเบียดบังสิทธิ จนแทบไม่เห็นเลยว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานจะถูกบังคับใช้ได้อย่างไรในพื้นที่เช่นนี้
ในการไกล่เกลียคดีพิพาทแรงงานข้ามชาติชาวพม่าแบบไปเช้า-เย็นกลับ มาตรา 64 ที่ศาลจังหวัดแม่สอดเมื่อปีก่อน กลุ่มลูกจ้างรวมตัวกันกว่า 200 คนเข้าชื่อเรียกร้องให้นายจ้างชาวเกาหลี ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งให้จ่ายค่าจ้าง พร้อมค่าจ้างล่วงเวลา (OT) ย้อนหลัง ผู้พิพากษาในฐานะประธานในการไกล่เกลี่ยพูดกับคนงานที่ยืนยันว่าพวกเขาต้องได้ค่าตอบแทนย้อนหลังในอัตราเต็มตามที่กฎหมายกำหนดว่า คนงานชาวพม่าต้องเห็นใจนายจ้างชาวเกาหลีบ้าง และเงิน 30% จากที่กฎหมายระบุไว้ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว
“เขาเห็นเงินเท่านี้ก็ตื่นเต้นกันแล้ว” ผู้พิพากษาชายแซวแรงงานข้ามชาติในห้องพิจารณาคดี
ไม่เพียงแต่ศาลและนายจ้าง คนงานข้ามชาติบอกตรงกันว่าเมื่อเขาประสบปัญหาและพยายามจะขอเข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ เช่น สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดหางาน หรือประกันสังคม ปฏิกิริยาที่เด่นชัดคือความรำคาญ คนงานข้ามชาติมักถูกไล่ต้อน ถามว่ามีล่ามหรือพูดไทยได้ไหม
“พอเราไปถามก็มักโดนตะคอกใส่ หรือแกล้งให้กลับไปเอาเอกสารนู่นนี่มายืนยัน แต่เขาปฏิบัติกับนายจ้างอย่างสุภาพมาก แทบจะเอามือกุมเป้าเลยนะเวลาคุย” คนงานเล่าด้วยความคับข้อง
หากไม่มีพวกเขา เราจะเสียอะไร
แชมป์-ฉัตรชัย พุ่มพวง จากกลุ่ม Union of Creative and Cultural Workers หรือ UCC เจ้าของวาทะ “แรงงานสร้างชาติ มิใช่มหาราชคนใด” เคยกล่าวไว้ว่า “มีแต่คนบอกว่าพม่าเผากรุงศรี ไม่มีใครบอกว่าพม่าสร้างกรุงเทพ”
เศรษฐกิจของประเทศดำเนินไปได้ส่วนหนึ่งก็เพราะคนงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคส่วนต่างๆ ทั้งการตัดเย็บ อุปกรณ์ไอที การก่อสร้างตึกอาคาร-รถไฟฟ้า งานบริการร้านทำเล็บ-ทำผม งานบริการในร้านอาหาร ไปจนถึงปลาบนจาน ก็มาจากสองมือของคนงานข้ามชาติทั้งสิ้น และสองมือ-สองตีนของคนงานข้ามชาติที่ช่วยกันสร้างเมืองก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ในกรุงเทพเท่านั้น
สำหรับพื้นที่แม่สอด ผ้ากันเปื้อนสตาบัคส์ อุปกรณ์ซัมซุง ชุดลายดิสนีย์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลิตมาจากคนงานข้ามชาติชาวพม่า พื้นที่มหาชัย ปลาและกุ้งมาจากการออกทะเลของคนงานบนเรือ และถูกลำเลียงมาคัดและจำหน่ายด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนงานชาวพม่า พื้นที่ จ.สงขลาและปัตตานี อาหารทะเลอาจมาจากหยาดเหงื่อของคนงานชาวกัมพูชา และในร้านอาหารอีสาน ลาบขมจานหนึ่งอาจถูกเสิร์ฟด้วยคนงานชาวลาว
เอกสารขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าประเทศไทยจ้างแรงงานข้ามชาติสูงถึง 6% จากกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศ คิดเป็นมูลค่า 4.3-6.6% ของ GDP (เมื่อปี ค.ศ.2010)
ในวันที่ COVID-19 จุดกระแสเลิกใช้สินค้าที่ผ่านมือคนงานข้ามชาติ และเรียกร้องให้รัฐส่งตัวคนงานข้ามชาติทั้งหมดกลับประเทศต้นทาง อาจเป็นวันที่เศรษฐกิจไทยยืนอยู่บนทางสองแพร่งว่าจะยืนยันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดด้วยตัวเอง
หรือจะกลับมาทบทวนว่าที่จริงแล้วหากแรงงานข้ามชาติคือมิตรผู้สร้างเมือง แล้วศัตรูที่แท้จริงของเราคือใคร
หากนายจ้างทั้งหมดยินดีทำเอกสารให้คนงานอย่างถูกกฎหมาย หากค่าเอกสารจะไม่แพงถึงปีละเป็นพันเป็นหมื่น หากเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อคนงานอย่างเป็นมิตรและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับคนไทย
หากทหารไม่ส่งคนไปคุมแต่ม็อบในกรุงเทพจนละเลยพื้นที่ชายแดน หากรัฐมีมาตรการจูงใจให้คนงานเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง หากเราได้ตรวจ COVID-19 เสมอหน้ากันทุกคน ด้วยงบประมาณจากภาษีของเรา และบัตรประกันสุขภาพ/ ประกันสังคมของเพื่อนแรงงานข้ามชาติ
หาก… หาก… หาก…
หากเราจะมองแรงงานข้ามชาติเป็นเพื่อนที่กำลังป่วยและต้องการกำลังใจ
หากเราจะเลิกรังเกียจกันด้วยคำว่าต่างด้าว