เมื่อการบริหารงานของรัฐบาลมันห่วยแตก เราจะช่วยกันเอง
ประโยคนี้คือคำอธิบายของเพจ ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ กลุ่มที่เพิ่งเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของอาสาสมัคร ภายหลังมาตรการปิดแคมป์แรงงาน 30 วันของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้มีแรงงานหลายพัน จนถึงหมื่นชีวิตที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีงาน ไม่มีเงิน และยังไม่ได้รับการดูแล หรือมาตรการเยียวยาในภาวะวิกฤต ภายใต้คำสั่งของภาครัฐนี้
กลุ่มคนดูแลกันเอง ได้จัดระบบด้วยแผนที่แคมป์คนงาน 1,200 แห่งที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้อาสาสมัคร และประชาชนเข้าไปสำรวจ และสอบถามความต้องการของแต่ละแคมป์ ก่อนที่จะแมชท์ผู้บริจาคที่สะดวกในแต่ละพื้นที่ กับแคมป์ที่ใกล้เคียงกัน
ซึ่งหลังจากเริ่มเข้ามาทำส่วนนี้ได้ไม่นาน เหมา – ฤกษ์ อุปมัย และจิน -นิรัช ตรัยรงคอุบล อาสาสมัครทั้ง 2 คนของกลุ่มนี้ที่พูดคุยกับ The MATTER ต่างก็บอกว่า พวกเขาเห็นทั้งความเหลื่อมล้ำ ความบกพร่องของภาครัฐ และหวังว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามาดูแล รับผิดชอบผลจากคำสั่ง มากกว่าที่จะผลักภาระให้ประชาชนช่วยเหลือกันเองแบบในตอนนี้
กลุ่มดูแลกันเอง จากประชาชนที่ดูแลกันเอง
เพจกลุ่มคนดูแลกันเอง เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 หรือเรียกได้ว่าประมาณเพียง 1 สัปดาห์ แต่ตั้งแต่มีประกาศปิดแคมป์คนงาน จิน นิรัช หนึ่งในอาสาสมัครที่เป็นคนเริ่มต้นกลุ่มเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นเจ้าของร้านอาหาร ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐเช่นกัน โดยไม่ใช่แค่ร้านอาหาร แต่เขาได้เห็นความเดือดร้อนจากการปิดแคมป์ จึงคุยกับเพื่อน และเริ่มจากการทำอาหารไปให้แคมป์
“เราติดต่อไปทางแคมป์ เขาก็บอกเราว่าอาหารมีเยอะแล้ว แต่เขาขาดเรื่องของใช้ เราก็เลยรวบรวมเงินเอาไปให้เขาแทน ซึ่งทีนี้ สิ่งที่เราเห็นมันแย่กว่าที่คิด โดยเฉพาะสภาพความเป็นอยู่ การที่เขาได้สบู่ แชมพู ยาสีฟัน แล้วเขาดีใจมากๆ เราคิดว่ามันผิดปกติแล้ว มันควรจะเป็นของพื้นฐานที่มนุษย์ควรได้ เราก็เลยตั้งคำถาม ทีนี้พอซื้อของมันก็เหลือเงินอยู่ก้อนนึง เราก็เลยคิดว่าจะเอาไปให้แคมป์อื่นที่ถูกปิด เราเลยคุยกับเพื่อนอีกคน ที่ทำอยู่กลุ่มสหภาพแรงงาน เราถามเขาว่า มีแคมป์ที่ไหนที่เดือดร้อนอีก ซึ่งเขาก็บอกเราว่า พี่รู้หรือเปล่า กรุงเทพฯ มีแคมป์อย่างน้อยคือ 500 แคมป์ แล้วที่โดนปิด หลายๆ แคมป์ไม่ได้การชดเชย เพราะเป็นชาวต่างชาติ เราเลยรู้สึกแล้วว่า มันรุนแรงมาก เราเลยเอาเงินก้อนนั้นที่เหลือ ไปซื้อและเอาไปให้แคมป์
ทีนี้ ข้อมูลแคมป์มันหายากมาก เพราะว่ามันไม่ได้มีที่ไหนลงไว้ ผมเลยไปค้นหาในโซเชียลมีเดีย เช่นที่ช่องข่าวไปทำสกู๊ป เราก็ไปอ่านตามคอมเมนต์ว่าแคมป์นี้ไม่มีกินแล้ว แคมป์นี้มีคนป่วย แคมป์นี้มีเด็ก เราเห็นเสียงของคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเยอะมากๆ เราเห็นไม่มีใครทำ ก็เลยคุยกับเพื่อน รวบรวมข้อมูลชุดหนึ่ง จากการติดต่อไปประมาณ 20 แห่ง ว่าแต่ละแห่งมีแรงงานกี่คน มีคนป่วยไหม มีข้าวกินหรือเปล่า มีของใช้ไหม โพสต์ขึ้นในเฟซบุ๊กตัวเอง เผื่อใครสนใจจะช่วยเหลือ ก็ไปได้เลย
มันก็เริ่มมีคนสนใจไปช่วยเหลือเยอะขึ้น แล้วเราก็คิดว่า 20 แคมป์ จาก 500 แคมป์นั้น มันเป็นส่วนที่น้อยมาก เราก็เลยพยายามค้นหา ก็โดนบอกให้ไปถามกระทรวงแรงงาน หรือกรมโยธา เราจะได้ไม่ต้องไปหาเอง พอเราถามว่ากระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลากี่วัน ก็ได้คำตอบว่าประมาณ 1 วัน แต่ก็ไม่รู้อีกว่าแคมป์ที่ขึ้นทะเบียนจะตรงกับตอนนี้หรือเปล่า มีแคมป์เถื่อนที่ตั้งเองหรือเปล่า ซึ่งหน่วยงานราชการเสาร์อาทิตย์ก็หยุด กว่าจะวันจันทร์ เราก็เห็นว่าคนก็ป่วยแล้ว ไม่มีข้าวกินแล้ว เด็กไม่มีนมกินแล้ว ดังนั้นกว่าเราจะได้ข้อมูลตรงนั้นมาเขาตายได้ และเราเห็นคนตาย คนอดอยากไม่ได้ ซึ่งเราเองมีแนวคิดว่า แม้เขาจะเป็นผู้ใช้แรงงาน แต่เขาก็ควรถูกทรีตในฐานะมนุษษ์คนนึง ไม่ใช่แค่แรงงาน 1 หน่วย เราเลยค่อยๆ ทำ หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนที่เข้ามาช่วยกัน”
คุณจิน ได้เล่าถึงเคสหนึ่งที่มาการส่งเข้ามา คือเคสแคมป์วิภาวดี 20 ที่มีแรงงานถึง 190 คน และมีคนที่ติด COVID-19 มากถึง 70 คน “คนที่ติดก็ต้องไปอยู่ในเต้นท์ที่มีผ้าใบล้อมรอบ และมีพื้นปูน พอฝนตกก็ต้องลุกหนีน้ำ เราเห็นแล้วเรารู้สึกโกรธมาก ว่าพวกเขาถูกทรีตไม่ต่างจากสัตว์ที่อยู่ในคอก แล้วคำถามคือทำไมคนถึงโดนกระทำได้ขนาดนี้ รัฐทำอะไรอยู่ ก็เริ่มมีสำนักข่าวติดต่อมา เพื่อนเราก็ไปให้ข่าวหลายๆ ที่ พอเรื่องเริ่มกระจายออกไป เราที่เป็นเสมือนต้นทาง ที่รวบรวมข้อมูลในอันแรก แล้วมันมีคนแคปไป คนติดต่อเข้ามาจำนวนมาก เราเริ่มรับไม่ไหว เหนื่อยมาก ก็เลยมาคุยกัน เริ่มต้นมีประมาณ 10 คน แล้วเราก็เปิดเพจขึ้นมา และสร้างระบบแล้ว”
ในขณะที่คุณจิน คือสายที่ติดต่อกับแคมป์ และผู้บริจาค คุณเหมา ฤกษ์ ก็เป็นคนที่คิดค้นระบบ และทำการจัดการข้อมูล รวมถึงระบบรับเรื่องสำรวจจากอาสาสมัครด้วย โดยคุณเหมาเล่าถึงระบบนี้ว่า “ผมเป็นคนที่คิด protocol การกระจาย cloud sourcing คือเราได้ยินเรื่องการปิดแคมป์มา ผมเป็นคนที่คิดวิธีว่าทำยังไงถึงจะรวบรวมข้อมูลของแคมป์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ให้ได้เร็วที่สุด โดยที่ใช้กำลังคนน้อยที่สุด ซึ่งข้อมูลแรกที่ได้มาเลย มันมาจากกรมแผนที่ทหาร คล้ายๆ ไฟล์ excel แต่มันจะมีข้อมูลที่เป็น code ส่วนตัวของเขา แต่ว่าจุดนึงที่ทำให้เราได้ประโยชน์มาก คือมันจะมีพิกัด ละติจูด กับลองติจูดที่สามารถทำให้เราวางแม็ปใน google map
ทีนี้ผมก็เลยอัพโหลดตัวข้อมูลที่ได้ทั้งหมด 1,200 จุดที่ได้มาในข้อมูลดิบขึ้นไปในคลาวด์ และก็ทำให้ออกมาเป็นการมาร์กพอสจุดลงไปใน google map พอเราได้ที่ทาง 1,200 จุดมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือให้คนที่อยู่ใกล้เคียงแต่ละบริเวณนั้นได้ไปสำรวจว่าจุดไหนที่เขาสามารถไปช่วยแจ้ง ลงพื้นที่ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นทีมงานของเรา อาจจะเป็นคนที่ใกล้ 2-3 จุด หรือในระแวกของตัวเองมี 5 จุด ก็ไปสำรวจและส่งข้อมูลกลับมาในแบบฟอร์มที่เราเซ็ทไว้”
ลิงก์แผนที่แคมป์คนงาน :google.com/maps
ตอนนี้ระบบของเรา จะมี open chat ของ Line ทางทีมก็จะมอนิเตอร์ว่ามีใครเสนอว่าตัวเองจะลงพื้นที่ไปตรงไหน และผมก็จะทำการอัพเดทข้อมูลในแม็ป ถ้าเป็นจุดที่ยังไม่มีคนสำรวหมุดจะเป็นสีฟ้า ถ้าเป็นจุดที่มีคนอาสาไปสำรวจ ก็จะเป็นสีเหลือง เพื่อที่จะสร้างเหมือนเป็นข้อมูลที่อัพเดทที่สุด และประสานข้อมูลหลังบ้านให้กับคนที่จะมาช่วย เพราะมันจะแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นหลังบ้าน ที่รับข้อมูลมาแล้วว่า แคมป์มีกี่คน ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง เขาก็จะไปแมทช์กับทีมบริจาคที่มีคนแจ้งเข้ามาว่าจะอยากจะบริจาค เพื่อที่ทุกคนจะได้ไม่ต้องส่งของมาที่เรา แต่ส่งของไปที่จุดที่เราช่วยประสานงานให้ เราเป็นตัวกลาง”
นอกจากเรื่องระบบแล้วคุณเหมาบอกกับเราว่า ตัวเขาเองไม่มีพื้นฐานเทคโนโลยีอะไรมากมาย แต่มาลุยกับการจัดระบบในครั้งนี้ ทั้งที่มาร่วมอาสากับกลุ่มคนดูแลกันเองแล้ว เพราะเห็นชัดว่าแรงงานถูกละเลย และตอนนี้ถือเป็นเรื่องความเป็นความตายของมนุษย์
“คนงานเป็นคนที่ได้รับผลกระทบแรกๆ สุดเลย เวลาล็อกดาวน์ ไม่ให้เกิดการทำงาน เขาจะไม่ได้รับค่าแรงเป็นรายวันเลย ผมรู้สึกว่ามาตรการของรัฐที่จะดูแลเขาในเบื้องต้น ไม่มีอยู่แล้ว แล้วมันก็ไม่มีหลักประกันที่เป็นมาตรฐานสำหรับคนที่ทำอาชีพแรงงานเลย ผมไม่ได้เหมารวมผู้ว่างจ้างทุกคน ผมว่าผู้ว่างจ้าง ผู้รับเหมา แต่ละคนก็จะมีนโยบายในการดูแลแรงงานที่แตกต่างกัน แต่มันก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่า ทุกคนจะได้รับการดูแลเท่ากัน เพราะว่ามันอาจจะมีการดูแลในมาตรฐาน ซึ่งมันอาจจะพอหรือไม่พอ
ทั้งเรามองว่าเมื่อมันเกิดการโหมกระพือของข่าวหรือสื่อ ในกลุ่มที่ว่าแรงงานสามารถแพร่ระบาดได้ ทำให้เขาถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ และถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพหลายๆ อย่าง ผมรู้สึกว่าการช่วยเหลือของรัฐที่ไม่เป็นรูปธรรม ทำให้เราทุกคนต้องช่วยกัน จริงๆ ผมเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ เพราะว่าผมรู้สึกว่ามันแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอ อ่อนด้อย ของรัฐสวัสดิการ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันเป็นเรื่องของชีวิตคนที่ค่อนข้างจะเป็นปัจจุบันทันด่วนมาก เพราะปกติผมก็ไม่เห็นด้วยกับการให้ทาน หรือการวิ่งเพื่อระดมเงิน แต่ผมรู้สึกว่าตอนนี้มันคือความเป็นความตาย เราเลยมองว่าเราพอจะทำอะไรได้
จริงๆ ผมไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีอะไรมาเลย การแม็ปปิ้งในวันนั้นก็ยังลุยหาอยู่เลยว่าจะทำยังไงให้มันลงไปในแผนที่ ซึ่งก็พบว่าไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้าเรามีข้อมูลที่เพียงพอ ก็เลยเป็นตัวแผนที่ออกมาทันทีที่กรอกข้อมูล เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ เลยคิดว่าเราปล่อยไม่ได้ เรากับเพื่อนๆ ที่สนใจก็รวมตัวกัน ฟอร์มทีม ทำระบบ ออกแบบการรับ ส่งต่อข้อมูล และบริหารข้อมูล” คุณเหมาบอกกับเรา
ทั้งคุณจินยังเสริมอีกว่า จากการพูดคุยกับ 20 แคมป์ที่หาในตอนแรก 100% ยังไม่ได้รับการชดเชยจากรัฐ หมายถึงว่าจะเป็นลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ก็ยังไม่ได้เงินชดเชย ซึ่งนอกจากตัวเขา และคุณเหมาแล้ว ยังมีทีมส่วนสหภาพแรงงานที่จะคอยจี้ไปกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้แอคทีฟ และทำงานจริงๆ เพราะคนกำลังจะอดตาย
ปัญหา และสิ่งที่พบหลังมาช่วยดูแลกันเอง
การทำงานของกลุ่มคนดูแลกันเอง เป็นระบบมากขึ้น เมื่อมีแผนที่ โดยคุณเหมาบอกว่าหลังจากได้ข้อมูลความมั่นคง จากกรมแผนที่ทหาร แต่ก็ไม่ใช่ว่า 1,200 จุดของแคมป์นั้นจะตรงเป๊ะเลย “ข้อมูลที่เราได้มา ไม่ใช่ข้อมูลที่อัพเดทที่สุด พอมีคนที่ลงไปตามหมุดในจุด มันจะมี 2 ปัญหา ปัญหาแรกคือ มาร์กหมุดลงไปโดยที่ตรงนั้นไม่น่าจะมีแคมป์คนงานอยู่ แต่เป็นสำนักงานเขต เป็นต้น หรือเป็นหมุดที่ไม่ได้รับการอัพเดท คือเคยมีจุดนี้ แต่เสร็จ หรือโยกย้ายไปแล้ว รวมถึงปัญหาอีกอันคือว่า มีจุดบริเวณนั้นจริง แต่มาร์กไม่ตรง อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง 50-100 เมตร ซึ่งมันเป็น error ที่คนที่ลงพื้นที่ ก็จะแก้กลับมา และเราก็เหมือนจะลากจุดให้ตรง
อันที่ 2 คือปัญหาที่เราได้รับแจ้งจากอาสาสมัคร คือพอเราลงพื้นที่ไปแล้ว นโยบายของแต่ละจุด หรือแต่ละบริษัทที่ทำรับเหมาก่อสร้างก็จะไม่เหมือนกัน บางที่ถ้าตรวจแล้ว ติดเชื้อในแคมป์ ก็จะมีทหารมาเฝ้าอยู่ แล้วก็จะดูระแวดระวังการเข้าถึงข้อมูลของอาสาสมัคร บางทีก็เหมือนถูกไล่ให้ไปคุยกับสำนักงานเขต ไม่ให้พูดคุยโดยตรงกับคนงานในแคมป์ หรือถ้าในบางจังหวะได้รับข้อมูลจากคนดูแลข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ของเขาเอง จะเป็นข้อมูลนึง พอได้คุยกับคนในแคมป์ที่อยู่ข้างใน ก็จะเป็นอีกข้อมูลนึง ประมาณนี้ครับ นี่คือปัญหา หลายคนก็เจอไล่ให้ไปคุยกับสำนักงานเขตอย่างเดียว ซึ่งมันก็เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน”
ขณะที่คุณจิน ซึ่งเป็นคนประสานงานกับแคมป์จริงๆ เล่าว่า สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นมากว่าตอนแรก ทั้งในแต่ละแคมป์ ที่พบก็มีระดับการได้รับความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไปด้วย
“ระดับความช่วยเหลือที่เขาได้รับมีหลายระดับ ในระดับดี เขาก็บอกว่านายจ้างให้เงินมา 4,000 บาท สามารถไปซื้ออาหารสุก ข้าวสารมาปรุง เราก็บอกเขาว่าถ้าวันไหนนายจ้างไม่มีให้โทรมาหาเรา ส่วนในระดับกลาง คือผู้รับเหมาเอาข้าว ไข่ มาม่ามาให้ในระดับที่จำกัด และที่เหลือก็ให้ดูแลกันเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ผู้รับเหมาส่วนนึง ไม่มีงานก็ไม่มีเงินเหมือนกัน เขาก็เป็นแค่หัวหน้าคนงาน เราก็เคยโทรไปคุยกับผู้รับเหมาบางคน เขาก็บอกเราว่าเขาทำเต็มที่แล้ว เขาก็ยังไม่รู้ตัวเองเลยว่าเขาจะรอดหรือเปล่า ก็ช่วยๆ กันไป กับในระดับที่แย่มาก คือปิดแคมป์แล้วหายไปเลย มีแรงงานกัมพูชา 140 คนในแคมป์ที่ไม่รู้จะทำยังไง ออกก็ไม่ได้ มีทหารมาเฝ้าอยู่ คือระดับมันก็จะแตกต่างกัน
เรารู้สึกว่าล่าสุด ที่ รมต.แรงงานออกมาพูดว่านายจ้างต้องออกมารับผิดชอบส่วนนึงด้วย มันก็แย่อยู่ดี คือนายจ้างก็ไม่มีงาน แล้วเขาจะเอาเงินมาจากไหน คือมันไม่ใช่ทุกที่ที่เป็นบริษัทก่อสร้างใหญ่ๆ มันจะมีเล็กๆ น้อยๆ ย่อยๆ” คุณจินเล่า
“สถานการณ์ตอนนี้มันดีขึ้น ในแง่ที่คนเริ่มตระหนักเรื่องนี้ จริงๆ เราไม่โทษใครเพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่สนใจเรื่องแรงงานมาก่อน เราขับรถไปทองหล่อ เราก็ตั้งคำถามนะว่าตรงนี้มีแคมป์ด้วยหรอ มันอยู่ตรงไหน แต่เราขับรถไปแล้วก็เจอ มันทำให้เราเห็นว่าถ้าทองหล่อมีแคมป์ แปลว่ามันต้องมีแคมป์ที่อยู่ในทุกๆ ความเจริญ แต่มันเป็นหลุมดำ แปลว่าแถวบ้านทุกคนจะมีแคมป์ที่คุณไม่รู้ นั่นแปลว่าแรงงานพวกนั้นเขาไม่ถูกมองเห็นอยู่ในเมืองหลวง”
พอเรารู้ว่าทองหล่อยังมีแคมป์ เราก็หาอีกแล้วเจอว่า ทั้งพระราม 9 เอกมัย ปุณวิถี ทุกๆ ที่มีแคมป์ โดยตอนนี้ จากแผนที่ที่คุณเหมาทำ ก็มีคนอินบ็อกซ์มาว่า เจอแคมป์นี้แล้ว เขาก็ไปขับรถไปถ้าเจอคนก็ถามข้อมูลในแคมป์ว่าขาดเหลืออะไรบ้าง แล้วเราก็ไปบอกทางผู้บริจาคว่า เราเจอแคมป์นี้กันแล้ว ใครว่างไปบ้าง ก็จะมีผู้บริจาคในระดับที่ว่า จะส่งอาหารกล่องตลอด 14 วันให้แคมป์นี้ แล้วเราก็ไปต่อแคมป์ต่อไป เราก็สบายใจแล้ว แต่เราก็บอกผู้บริจาคว่า ถ้าวันไหนช่วยไม่ได้ก็บอกเราหน่อย เพราะเราไม่สามารถตามได้ตลอดในทุกแคมป์ได้ มันก็จะเป็นระบบสังคมขึ้นมา”
คุณจินมองว่า กระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น อาจจะมองข้าม หรือให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องของแรงงาน หรือแรงงานต่างชาติน้อยอยู่ ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่อยากร่วมประท้วงด้วย แต่ว่าการออกไปของเขามันอาจจะแปลได้ว่า เขาขาดรายได้ไป 1 วัน โดยตอนนี้คนก็เริ่มตระหนักเรื่องนี้การมากขึ้นจริงๆ แต่การขยับจากภาครัฐนั้นยังเป็นในระดับที่น้อยมาก
“รัฐเองก็เริ่มขยับ แต่จริงๆ ก็ยังเหมือนแค่หายใจออกมา 1 ที คือเอาอาหารแห้งไปลงหน้าแคมป์ แล้วก็ถ่ายรูป ซึ่งจริงๆ พวกเขาไม่ได้ต้องการอาหารแห้ง พวกเขาต้องการการดูแล คนในแคมป์ที่เราไปถาม บางแห่งพวกเขายังไม่เคยตรวจเชื้อ ไม่เคย rapid test ยังไม่เคยฉีดวัคซีน คิดว่าคนในแคมป์จะไม่ติดหรอ แล้วถ้าเค้าติด ใกล้ตาย เขาจะไม่แหกแคมป์แล้วหนีกลับบ้านหรอ ถ้าเค้าแหกแคมป์มาใครรับผิดชอบ ซึ่งพวกคุณก็จะมาด่าเขาอีกทีว่าคนงานไม่เชื่อฟัง คือตอนนี้คนจะตาย คนอยากมีชีวิตรอด ถ้าดูแลเขาดี มีมาตรการรับรอง ไม่มีใครหนีหรอก แล้วไม่มีใครต้องมาเหนื่อยเรื่องนี้ด้วย เพราะรัฐจะจัดการได้
เราเห็นว่าตอนนี้สังคมเริ่มขยับ มันเป็นการแชร์ความโกรธร่วมกันหลายๆ เรื่อง แล้วรู้สึกว่าเราคาดหวังอะไรกับรัฐไม่ได้ ซึ่งอย่างน้อยตอนนี้เราเป็นชนชั้นกลาง มีปากมีเสียง เราด่ามันได้ เราโพสต์เฟซบุ๊กได้ แค่ผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะคนต่างชาติ เขาสู้อะไรไม่ได้ ได้แต่รอวัน และโชคชะตาว่าจะมีใครให้ค่าเขาบ้าง”
ไม่เพียงแค่อาหาร การกิน แต่คุณจินยังเล่าถึงเคสช่วยเหลือคนงานที่คลอดลูกให้เราฟังด้วย ซึ่งในหลายแคมป์ยังมีคนงานที่ท้อง และรอคลอดอีกหลายราย
“เมื่อวันก่อนมีนายจ้างที่วนรถไปหา รพ.ให้แรงงานไปคลอดลูก ซึ่งหายากมากในสภาวะนี้ จนลูกไหล โดยตอนเข้า รพ. พาคนงานไปได้ แต่ตอนออกจาก รพ. ต้องจ่ายเงิน เขาขอความช่วยเหลือเรา เพราะค่าใช้จ่ายเป็นหมื่น เราก็เอาเงินไปช่วยเขา ก่อนวางโทรศัพท์กับนายจ้างเขาก็บอกเราว่า ไม่รู้ว่าที่เหลือจะทำยังไง เพราะว่าที่แคมป์ตอนนี้เหลือคนท้องแก่อีก 3 คน ซึ่งถ้ายังไม่ให้เปิดแคมป์ ก็ไม่มีเงิน เขาก็ไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนี้”
“เวลาเราช่วยทุกคน เราบอกทุกคนว่า นี่ไม่ใช่บุญคุณ ไม่ใช่การทำบุญ ไม่ต้องมาตอบแทนเรา ขอให้ทุกคนคิดเลยว่านี่คือสิ่งที่เรากำลังตอบแทนการทำงานหนัก แต่ได้เงินน้อย เพราะมันจะไม่มีตึก ไม่มีถนน ไม่มีสะพานอะไรทั้งนั้น เพราะคนชนชั้นกลาง ไม่ทำงานอะไรแบบนี้ ดังนั้นนี่คือสิ่งที่คุณต้องได้รับ จากการที่รัฐไม่ดูแล เราพยายามพูดกับทุกคนว่าอย่าคิดว่าตอนนี้เรามาทำบุญ ไม่งั้นเราจะใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นสะพานบุญ เป็นเครื่องมือในการทำความดี มันจะวนเวียนอยู่ในความสงสาร ความเมตตา เราไม่อยากผลิตวงจรนี้อีกแล้ว
กลุ่มคนดูแลกันเอง เราเกิดขึ้นมาเพราะเราเห็นมนุษย์ตายไม่ได้ ไม่ใช่แค่ทำความดี ถ่ายรูป เรารีบไป รีบช่วย รีบกลับ แล้วเราค่อยมาชี้แจงว่าเราทำอะไรกันไปบ้าง แต่ว่าพอหลังๆ มีคนมาช่วยเยอะ ก็มีคำถามนะว่าไปจริงหรือเปล่า ไม่เห็นมีรูป เราก็ชี้แจงไป ซึ่งจริงๆ เรื่องรูป ก็มีความกังวลซึ่งเราก็ลืมนึกไป เพื่อนที่ทำสหภาพแรงงานก็มาเตือนเรา จากกรณีที่เราเอารูปแคมป์วิภาวดี 20 ไปลง แล้วข่าวมันไปไกล เขาก็บอกเราว่า กรณีแบบนี้นายจ้างจะไม่ชอบ เพราะพออยู่ในกระแส เขาจะถูกตั้งคำถาม ดังนั้นคนที่ให้ข่าว คนที่นักข่าวไปสัมภาษณ์จะได้รับความเดือดร้อน แรงกดดันมันจะไปอยู่ที่แรงงาน เพราะเขาไม่สามารถต่อสู้กับอำนาจแบบนี้ได้ ดังนั้นเราในกลุ่มเราก็จะคุยกันเรื่องนี้ด้วย
จริงๆ มันมีรายละเอียดหลายอย่างที่พอเรามาทำ เราก็คิดว่ามันแย่มากๆ บาร์มันต่ำไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว แต่ในความแย่มันก็มีข้อดีที่คนเริ่มเห็นแล้วว่า ก็มีคนที่เขามีแนวโน้มความคิดประชาธิปไตยก็มาเป็นอาสาสมัคร มาช่วยเป็นหลังบ้านเรา ด้วยความบังเอิญมันทำให้เรื่องแรงงานถูกพูดถึงในสังคมภาพกว้างด้วย มีเพื่อนเราชาวต่างชาติที่พอรู้ก็ช่วยติดต่อสำนักข่าวต่างประเทศ เราก็ไปให้ข่าว มันก็เป็นโดมิโนที่ถูกพูดถึงไป
แต่ยังไงเราเชื่อในการลงมือทำ คือเราคิดว่าเป็นข่าวก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ แต่ที่ให้เป็นข่าวตอนนี้เราหวังว่ากระทรวงแรงงานจะอาย ไม่อยากโดนด่า และมาช่วย มันคือฟังก์ชั่นที่ข่าวจะช่วยได้ ทั้งถ้าเป็นข่าวในระดับต่างประเทศ ก็มีเรื่องของแรงงานข้ามชาติ สิทธิมนุษยชน”
ปิดแล้ว คำสั่งมา แต่มาตรการไม่มี
เป็นเวลาเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว ตั้งแต่คำสั่งปิดแคมป์เริ่มใช้ในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 แต่ทั้งคุณเหมา และคุณจิน ก็บอกเราว่ายังไม่เห็นมาตรการ หรือการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐเลย โดยในเชิงข้อมูลคุณเหมาเล่าว่า
“ตอนนี้ยังไม่เห็นอะไรเลย เท่าที่ได้ข้อมูลมา เราได้ข้อมูลมาคือแค่แคมป์ตรงไหนบ้าง มีผู้ติดต่อตรงไหนบ้าง ซึ่งเราก็ต้องมาแมทช์กันเองอีกที เพราะหากสิ่งที่ได้มาไม่ได้เป็นพิกัด เราก็ต้องมาเดาเองว่า มันอยู่ที่เดากันไหม บางครั้งการช่วยเหลือของรัฐมันมาในแง่ อะนี่ข้อมูลเพิ่มเติม เพิ่มให้ แต่ว่าการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม ตอนนี้เรายังไม่เห็นอย่างเป็นทางการ”
“สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนว่า เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของใครเลย ไม่ใช่แม้กระทั่งของผู้ใช้แรงงาน เพราะนอกจากผู้ใช้แรงงานแล้ว ก็ยังมีกลุ่มอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการให้หยุดงานรายวัน คือผู้ค้าขายที่มีรายได้รายวัน มาตรการที่ไม่มีเลย และการเลี่ยงบาลีที่รัฐบาลไทยถนัด ก็ไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ แต่ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ให้เกิดการทำงาน ค้าขาย หรือปิดครึ่งนึง ไม่ปิดครึ่งนึง ทำให้รัฐปฏิเสธการเยียวยา และช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น นี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และน่าขยะแขยงมาก”
นอกจากนี้ คุณเหมายังมองว่าหลังจากปิดแคมป์มาแล้ว ไม่ได้ช่วยลดการระบาด หรือทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลยด้วย
“การที่จะหยุดได้คือการที่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และรัฐบาลดำเนินนโยบายเรื่องวัคซีนอย่างไม่จริงใจ มีการสอดไส้ hidden agenda เป็นสิ่งที่คนทั่วประเทศดูออก แต่ว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจที่ทำอะไร
ตอนนี้ปัญหาเฉพาะหน้า คือรัฐบาลหาแพะรับบาป ให้กับทุกกิจกรรมที่เป็นความล้มเหลวของรัฐบาล เช่น มีตัวเลขระบาดเพิ่มขึ้น ก็ปิดผับบาร์ พอยังระบาดเพิ่มขึ้นอีก ก็ปิดแคมป์คนงานเพิ่ม ซึ่งมันเป็นมาตรการโทษคนอื่นแบบที่รัฐบาลถนัด ไม่เคยโทษตัวเอง
สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือต้องระดมฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่การออกกฎหมาย พรก.ฉุกเฉินไม่ให้คนโพสต์อะไรที่สร้างความกลัว มันยิ่งแสดงความไร้สมรรถภาพ และด้อยประสิทธิภาพ ของรัฐมนตรี ผู้นำ และฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด”
ด้านจินเอง เสริมว่านอกจากมาตรการในการดูแลไม่มีแล้ว ในการตรวจโรค หรือการป้องกันโรคนั้น ยังแทบไม่มีเลย แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจเลยของรัฐบาล
“สัปดาห์ก่อนที่สอบถาม ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเลย ส่วนเรื่องการตรวจโรค มี 3 ที่ใน 20 แคมป์ที่ตรวจแล้วไม่ติด, 1 ใน 20 แคมป์ ที่มีคนงาน 40 คน ได้รับวัคซีนแอสตร้าเข็มแรกแล้ว และมีแคมป์ที่แย่ที่สุดคือวิภาวดี 20 ที่มีคนงาน 190 ติด 70 แม้จะอยู่กันคนละฝั่ง แต่ปัจจัยในการใช้ชีวิตมันเอื้อให้เชื้อแพร่กระจายได้รวดเร็วมากๆ มาก ไม่ได้มีมาตรฐานในการดูแลขนาดนั้น สิ่งที่รัฐควรทำ ถ้าเชื่อว่าแคมป์คือตัวการระบาด ทำให้คนติด รัฐก็ควรปูพรมตรวจแคมป์ก่อน ถ้าเชื่อว่าพวกเขาเป็นตัวแพร่ระบาด แต่นี่คือปิด ปิดแล้วไม่มีการตรวจ เราก็ไม่รู้ว่าจะปิดทำไม อาหารก็ไม่ให้ ไม่ดูแลเขา
เราให้ไปหาเลยว่าแคมป์ไหนได้รับการดูแลอย่างดี เราบอกได้เลยว่าไม่มี เรากล้าพูดเพราะตอนนี้คนทั่วไปยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากรัฐเลย ชนชั้นกลางยังไม่ได้เตียง เสียชีวิตที่บ้าน ทั้งๆ ที่ปกติเวลาเกิดวิกฤตรัฐจะดูแล เพราะเชื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นพลังหลักในการเป็นฐานเสียงก้อนใหญ่ แต่รอบนี้ก็โดนเท ไม่ว่าจะเป็นคนที่สนับสนุน หรือไม่สนับสนุนรัฐบาลนี้ก็ตาม ซึ่งไม่ต้องพูดเลยว่าแคมป์จะเกิดอะไรขึ้น แคมป์เป็นกลุ่มสุดท้ายในระบบชนชั้น รัฐไทยไม่ได้แคร์ โดยเฉพาะรัฐทหารแบบนี้”
จินยังมองว่า การที่รัฐปิดแคมป์ โดยไม่ดูแลเลยนั้น อาจทำให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดได้ คือการที่แรงงานพังแคมป์ และหนีออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องรับผิดชอบด้วย
“ผมถามว่า แคมป์เป็นร้อย คนไม่ได้รับการดูแล และมีคนติด ถ้าเขาไม่ได้รับการดูแล และไม่อยากรอความตาย เขาจะทำอะไร ระหว่างอยู่เฉยๆ กับพังแคมป์ ซึ่งถ้ามีการพังแคมป์แรก แล้วแคมป์ต่อมาเห็นว่ามีการพังแคมป์เกิดขึ้น มันจะมีการพังต่อหรือเปล่า ถ้ามีการลุกฮือเกิดขึ้น รัฐจะทำยังไง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาไม่ติดเชื้อ ว่าเขาจะปล้นสะดม เราไม่โทษใครเลยถ้าจะมีการพังแคมป์ เพราะรัฐไม่ดูแล และให้ภาคประชาชนไปสนับสนุนกันเอง เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะมันเลวร้ายแน่นอน ซึ่งโดยความรู้สึกเขาไม่ได้อยากจะทำแบบนี้ ถ้ามันไม่มีสถานการณ์ หรือทางเลือกสุดท้าย เราคิดว่ามันเกิดขึ้นได้ถ้าพวกเขาไม่ได้รับการดูแล ช่วยเหลือเลย
อย่างแคมป์กิ่งแก้ว อยู่ใกล้โรงงานที่ระเบิดไม่ถึง 5 กิโลเมตร แต่ไม่ได้รับการอพยพ ต้องรอนายอำเภอ ต้องรออะไรต่างๆ จนไฟดับ ทหารที่คุมก็บอกว่าไฟดับแล้ว อยู่ต่อไป ขนาดเราตามข่าวเรายังเห็นความน่ากลัว ทั้งจากไฟ จากควัน ซึ่งวันนั้นมีการรายงานว่ามีคนหนีออกไป 10 กว่าคน ก็ต้องถามว่ารู้ได้ไงว่าเขาไม่ติด และเขาไปไหน คำถามนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงานต้องตอบ แต่ก็ไม่มีใครรู้
ถ้าเป็นเราโดนทำแบบนี้ ไม่มีงาน ปิดแคมป์ ติดโรค ไม่มีกิน นอนพื้นเปียกๆ อยู่ก็ตาย เมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์หมดสิ้นหนทางเขาจะทำอะไรก็ได้ สิ่งนี้ รัฐไม่เข้าใจ ไม่ก็รัฐเข้าใจ แต่ไม่แคร์”
เพราะรัฐต่างหากที่ต้องดูแลพวกเรา เมื่อกลุ่มคนดูแลกันเอง อยากเลิกดูแลกันเองให้เร็วที่สุด
งานอาสาเป็นงานที่ใช้ใจอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤตนี้ เมื่อเราถามคุณจิน ถึงความช่วยเหลือที่ทางกลุ่มต้องการ เขาตอบเราว่า หากเป็นไปได้ เขาอยากหยุดกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด เพราะทุกคนต่างก็เหนื่อย และหวังว่ารัฐจะเข้ามาทำหน้าที่ได้แล้ว
“เราอยากหยุดเพจให้เร็วที่สุด แต่การหยุดเพจมันแปลว่าต้องมีคนมารับผิดชอบ คือภาครัฐเข้ามาดูแล งานนี้ไม่ได้ตังค์ อาสาทุกคนมีงานประจำอยู่แล้ว เราอยากช่วย แต่ไม่ไหว แล้วมันเครียดด้วย มีคนทักมาทุกวัน ไม่มีเงินแล้ว ไม่มีกินแล้ว เรารับความเศร้าทุกวัน”
ขณะที่เหมาเองก็บอกเราว่า ตอนนี้ที่มาช่วยกันเพราะคือเรื่องเฉพาะหน้า แต่สุดท้ายก็ต้องมีการแก้ไข และเรียกร้องที่โครงสร้างจากรัฐ
“ผมคิดว่าท้ายที่สุด ที่ตอนนี้ทุกคนมาช่วยกัน เพราะมันคือเหตุการณ์เฉพาะหน้า คือความเป็นความตาย คือผลจากโครงสร้างสังคมที่ผิดเพี้ยน แต่ว่าตอนนี้ต่อให้เราเข้าไปบีบรัฐบาลให้มีการเยียวยา มันก็ไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลมันจะทันต่อชีวิตของแรงงานหลายแสนคนในแคมป์ทั่วกรุงเทพฯ หรือเปล่า ผมเลยคิดว่าตอนนี้เราเลยช่วยไปก่อน แต่เราไม่ได้ช่วยเพราะเราชอบช่วย เพราะถ้ามันผ่านช่วงนี้ไปได้ ค่อยมุ่งโจมตีเรื่องความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างอีก เราทำไปพร้อมกัน”
“โครงสร้างมีสองอย่าง คือการรับประกันคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ คนในชาติ หรือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งตอนนี้มันไม่มีอยู่แล้ว และระบบการทำงานโครงสร้างของรัฐเองในหน่วยราชการ หลังจากที่เรามาลุยเรื่องนี้ เราก็รู้สึกว่าผมที่ไม่ได้มีความสามารถ หรืองบประมาณ ผมกับทีมยังสามารถช่วยกันสร้างแพลตฟอร์มได้ มันแสดงให้เห็นว่ารัฐก็สามารถที่จะทำได้ได้ดีกว่ามาก ด้วยทรัพยากร และงบที่มีมากกว่าที่อุทิศให้งานนี้โดยเฉพาะ
มันทำให้เห็นเลยว่านี่คือความล้มเหลวอย่างร้ายกาจของรัฐบาล และระบบราชการไทย ที่ต้องถูกรื้อถอน รื้อสร้าง หรือทำลาย และมานั่งพิจารณากันใหม่ว่า งบประมาณที่จ่ายไป และประสิทธิภาพของระบบราชการไทย มันมีแค่ไหนในช่วงวิกฤตนี้ อันนี้เป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหา ซึ่งจริงๆ มันมีอีกหลายภาคส่วนมากๆ ที่มันเป็นปัญหามายาวนาน”
การทำแผนที่นี้ ก็เป็นการใช้ข้อมูลอย่างนึงในการรับมือกับปัญหาวิกฤต ซึ่งหลายประเทศไม่ว่าจะไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ก็แสดงให้เราเห็นถึงการใช้ข้อมูลของรัฐให้เป็นประโยชน์ มาผสานกับมาตรการ และการเยียวยา เหมาก็เสริมกับเราว่า เขากลับเห็นว่ารัฐบาลทำเทคโนโลยีให้เป็นเรื่องยาก ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีควรจะเป็นเรื่องง่ายที่สุดด้วย และต้องใช้เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกให้คนที่ไม่มีเทคโนโลยีมากที่สุด
“อย่างของผมที่ทำแผนที่ ผมก็คิดตลอดว่า คนที่จะช่วยเราได้เป็นใคร เราก็คิดว่าคนที่น่าจะช่วยเราได้ น่าจะเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้อยู่แล้ว และอะไรที่เป็นโปรแกรมพื้นฐานที่คนน่าจะใช้ได้ ซึ่งก็คือ google map, google form เป็นเทคโนโลยีที่มีให้ใช้ฟรี โดยที่ไม่ต้องโหลดแอปใหม่ สามารถเข้าได้เลย และทุกคนมีไลน์
ผมมองกลับกันกับรัฐบาล ผมมองว่ามีแอพฯ อะไรที่ทุกคนใช้อยู่แล้ว เอามาทำให้เกิดประโยชน์ที่สุด มากกว่าจะสร้างภาระไปทำแอพฯ ใหม่ ให้คนโหลดแอพฯ ใหม่ เป็นอะไรที่มันยาก สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ไหนๆ ก็มีข้อมูลมากมายแล้ว ควรทำเทคโนโลยีให้เป็นเรื่องง่าย อย่าบังคับให้ทุกคนโหลดแอพ มันไม่จำเป็น แค่บราวเซอร์ มันก็เขียนแอพฯ ได้แล้ว ตอนนี้กว่าจะโหลดแอพฯ ก็ต้องมีไอดี มีแอคเคาท์ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมี มันเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำไปเรื่อยๆ สิ่งสุดท้ายที่รัฐควรให้ทำคือโหลดแอพฯ แต่มันกลับเป็นสิ่งแรกที่เขาให้ทำ”
สำหรับตอนนี้ เพจกลุ่มคนดูแลกันเองไม่ได้รับความช่วยเหลือเป็นเงิน ซึ่งคุณจินมองว่าจะเกิดความยุ่งยาก ในการเคลียร์บัญชี การแจกแจงรายละเอียด “อย่างที่บอกเราไม่ได้มีเซ็นเตอร์ ไม่มีคนขับรถไปส่ง เราต้องการแค่คนที่แจ้งเข้ามาในเพจว่าแคมป์อยู่ตรงนี้ หรือผู้บริจาคอยู่จุดไหน เราจะได้สามารถบันทึกได้ว่า ถ้ามีแคมป์ หรือมีความช่วยเหลือใกล้ เราจะส่งคอนแท็กให้”
“ถ้าถามว่าอยากได้อะไร ตอบคือ ทุกอย่างที่มนุษย์ต้องการ ล่าสุดเราสั่งคุกกี้ดอกไม้มาให้คนงาน มันอาจจะดูสิ้นเปลือง แต่เรารู้สึกว่ามนุษย์ไม่ได้ต้องการแค่ปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต เราฟังเพลง เราดูหนัง เราไปเที่ยว กินอะไรอร่อยๆ เพื่อที่จะเติมเต็มความเป็นมนุษย์ด้วย ตอนนี้แรงงานขาดปัจจัย 4 แต่เมื่อบางที่ได้รับความช่วยเหลือประมาณนึง สิ่งที่เราอยากจะให้พวกเขาต่อไปคือ entertainment ไม่ว่าจะนิทานเด็ก นิตยสาร วิทยุ เพลงท้องถิ่นเค้า อะไรก็ได้
เพราะเราคิดว่ามนุษย์คนนึง ควรที่จะได้รับการดูแลในฐานะมนุษย์คนนึง ไม่ใช่มองว่าเป็นแรงงาน มีแค่นี้ก็ดีแล้ว มีกินก็ดีแล้ว สุดท้ายแล้วเราไม่อยากให้การช่วยเหลือนั้น เป็นการกดทับเขาอีกทีนึง เป็นการมองว่าน่าสงสารเพราะจน เพราะโง่ เมื่อไรก็ตามถ้าเธอมองว่าเขาเป็นมนุษย์ เราจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร”
เข้าไปดู และร่วมเป็นผู้บริจาค หรือผู้สำรวจแคมป์กับกลุ่มคนดูแลกันเองได้ ตามลิงก์นี้ facebook.com/noonecaresbangkok