แม้ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน จะออกปากเตือนสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวัน ระหว่างการหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ว่า “ใครที่เล่นกับไฟ ก็จะต้องพินาศด้วยไฟนั้น”
แต่เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) ทั่วโลกต่างจับจ้องความเคลื่อนไหวของสตรี ผู้ยืนหยัดจะ ‘เล่นกับไฟ’ ด้วยการเดินทางมาเยือนไต้หวัน – ดินแดนที่จีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของตนภายใต้หลักการ ‘จีนเดียว’ – แม้จะอยู่นอกกำหนดการอย่างเป็นทางการ และจีนก็ย้ำคำขู่อยู่หลายครั้ง
หญิงคนนั้น ที่สื่อไทยบางแห่งขนานนามว่า ‘สตรีแกร่ง’ ก็คือ ‘แนนซี เพโลซี’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกของสหรัฐฯ วัย 82 ปี
แต่งานการเมืองของเธอมีประวัติความเป็นมาอย่างไร? และการมาเยือนไต้หวันครั้งนี้ของเธอมีนัยสำคัญอย่างไร?
The MATTER ชวนย้อนส่องประวัติของ ‘เพโลซี’ นับตั้งแต่เริ่มเป็น ส.ส. เมื่อปี 1987 จนได้มาเป็นประธานสภาฯ สหรัฐฯ ครั้งแรกเมื่อปี 2007 และอีกครั้งในปี 2019 จนถึงปัจจุบัน – พร้อมกับชวนดูจุดยืนต่อต้านจีนเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนที่เธอยึดมั่นเสมอมา ไปจนถึงการเป็น ‘คู่กัด’ กับอดีตประธานาธิบดีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์
สภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกของสหรัฐฯ
“เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับคองเกรส เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับผู้หญิงในอเมริกา” แนนซี เพโลซี ส.ส.พรรคเดโมแครตจากแคลิฟอร์เนีย กล่าวสุนทรพจน์หลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2007
ถ้าว่ากันอย่างไม่เป็นทางการ ชีวิตการเมืองของเพโลซี – หรือชื่อเดิม แนนซี ดีอาเลซานโดร – เริ่มมาตั้งแต่เธอเกิด พ่อของเธอ โทมัส ลีอาเลซานโดร จูเนียร์ เคยเป็น ส.ส.รัฐแมรีแลนด์ ถึง 5 สมัย ก่อนจะมาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองบัลติมอร์ ขณะที่พี่ชาย โทมัส ดีอาเลซานโดร ที่ 3 ก็เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเดียวกัน
แนนซีจบการศึกษาปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ จากทรินิตีคอลเลจ (Trinity College) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปี 1967 ก่อนจะแต่งงานกับ พอล เพโลซี นักธุรกิจชาวอเมริกันในปีถัดมา ในระหว่างนั้น เธอย้ายและมาช่วยทำงานให้กับพรรคเดโมแครตอยู่ที่ซานฟรานซิสโก จนได้มาสนิทกับ ฟิลลิป เบอร์ตัน ส.ส.แคลิฟอร์เนีย
เบอร์ตันเสียชีวิตเมื่อปี 1983 โดยมี ซาลา ภรรยาของเขา เข้ารับตำแหน่งแทน หญิงผู้นี้คือคนที่ชักชวนให้เพโลซีเข้ามาเล่นการเมืองในตำแหน่ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ โดยขอให้ลงสมัครเลือกตั้งแทนที่เธอ ซึ่งจะเสียชีวิตไปในปี 1987 เพโลซีชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น ก่อนที่จะได้รับเลือกอีกครั้ง และทุกครั้ง ในเวลาต่อมา
ต่อมา เธอไต่เต้าจนได้รับตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ภายในพรรค ก่อนจะได้รับตำแหน่งเป็นวิปเสียงข้างน้อย (minority whip) เมื่อปี 2002 และได้รับเลือกให้เป็นผู้นำเสียงข้างน้อย (minority leader) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2003 ถือว่าเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
จนกระทั่งปี 2006 พรรคเดโมแครตได้ครองเสียงข้างมากหลังการเลือกตั้งกลางเทอม นั่นเปิดโอกาสได้เพโลซีได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ สหรัฐฯ (speaker of the House of Representatives) เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2007 ซึ่งเธอจะดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2011 ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในปี 2019 จนถึงปัจจุบัน
นักการเมืองผู้ยืนหยัดวิจารณ์จีนเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน
ในฐานะประธานสภาฯ เพโลซีขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองสายวิพากษ์ ที่คอยวิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม จนทำให้ฝ่ายรีพับลิกันไม่พอใจอยู่บ่อยครั้ง สำนักข่าว BBC ชี้ว่า ในช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพโลซีท้าทายเขาโดยตรงอยู่ตลอดเวลา
เพโลซีมักจะแสดงออกถึงความไม่พอใจทรัมป์ให้เห็นผ่านกล้องอยู่เสมอ โมเมนต์ที่คนจดจำคือ การฉีกบทพูดสุนทรพจน์ ขณะที่ทรัมป์กำลังกล่าวแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา หรือที่เรียกว่า ‘State of the Union’ เมื่อปี 2019
เพโลซีเองยังเป็นหัวหอกคนสำคัญในการนำกระบวนการถอดถอนทรัมป์ออกจากประธานาธิบดี (impeachment) จนอาจจะเรียกได้ว่า เธอเป็น ‘คู่กัด’ คนสำคัญของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะที่ฝ่ายทรัมป์เอง ก็ขนานนามเธอว่า ‘Crazy Nancy’
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า ณ เวลานี้ คือจุดยืนของเพโลซีที่วิพากษ์วิจารณ์จีนมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่า เธอเคยแม้กระทั่งไปยืนประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กลางกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 1991 หรือ 2 ปี หลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในพื้นที่ตรงนั้น
“แด่ผู้ที่สูญเสียชีวิตเพื่อประชาธิปไตยในจีน” คือข้อความบนป้ายที่เพโลซียืนถือร่วมกับเพื่อน ส.ส. เบน โจนส์ และ จอห์น มิลเลอร์
เหตุการณ์ประท้วงครั้งนั้นทำให้สำนักข่าว ABC มองว่า เป็นเครื่องตอกย้ำบทบาทของเพโลซี ในฐานะผู้นำเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์จีน
ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพโลซีพยายามผลักดันเรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในจีนอยู่เสมอมา เหตุการณ์ที่เป็นที่พูดถึงมากคือ การมาเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปี 2002 ของ หู จิ่นเทา รองประธานาธิบดีจีนในขณะนั้น ซึ่งเพโลซีพยายามยื่นจดหมายให้เขา 4 ฉบับ เพื่อเรียกร้องการปล่อยตัวนักกิจกรรม แต่ก็ปรากฏว่า ในครั้งนั้นหูไม่ยอมรับจดหมาย
การผลักดันในอีกทางหนึ่งของเพโลซี คือพยายามเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการจัดกีฬาโอลิมปิกส์โดยจีน ซึ่งเธอพยายามทำมาตั้งแต่ปี 1993 และครั้งสำคัญคือการพยายามให้ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช คว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิกส์ที่กรุงปักกิ่งเมื่อ 2008 แต่ก็ไม่สำเร็จ ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว เธอยังพยายามเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่จัดในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาด้วย
“ถ้าเราไม่ออกมาพูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีนเพียงเพราะความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจ ก็เท่ากับเราจะไม่มีความชอบธรรมทางศีลธรรมใดๆ ในการพูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในแห่งหนใดในโลกนี้เลย” คือเหตุผลที่เธอเคยไว้ให้ สำหรับจุดยืนของเธอ
เยือนไต้หวัน: ทริปประวัติศาสตร์ สมฐานะประธานสภาฯ
หนังสือพิมพ์ The New York Times ชี้ว่า การเยือนไต้หวันครั้งนี้ ถือเป็นบทสรุปที่ตอกย้ำ 3 ทศวรรษแห่งการท้าทายจีนของเพโลซี หากจะมีสิ่งใดที่เรียกว่า ‘มรดก’ (legacy) สำหรับเธอ ก็คงจะต้องเป็นทริปเยือนไต้หวันครั้งนี้ – ทริปที่นักข่าวหลายคนได้แต่บอกว่า เป็นอีกชั่วขณะแห่งประวัติศาสตร์ – และจะไม่มีใครห้ามเธอได้
แม้ทางการจีนจะส่งคำเตือนหลายครั้ง กระทั่ง สี จิ้นผิง ออกปากเตือนด้วยตัวเองว่า ‘อย่าเล่นกับไฟ’ ขณะที่ฝ่ายบริหารอย่าง โจ ไบเดน ก็มีรายงานว่าไม่ได้สนับสนุนการมาเยือนอย่างเต็มที่ แต่เมื่อเวลา 22.43 น. ของวันที่ 2 ส.ค. 2022 เที่ยวบิน SPAR19 ก็พาเพโลซีมาเยือนไต้หวันในท้ายที่สุด
ต่อมาไม่นานหลังจากที่เดินทางถึง เพโลซีได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า “การมาเยือนไต้หวันของผู้แทนคองเกรสของเรา ถือเป็นการให้เกียรติแด่การยึดมั่นอย่างไม่เสื่อมคลายของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนประชาธิปไตยอันเบ่งบานของไต้หวัน” ก่อนจะย้ำว่า “การที่สหรัฐฯ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชน 23 ล้านคนของไต้หวันมีความสำคัญยิ่งกว่าที่เคย เมื่อโลกต้องเผชิญตัวเลือกระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตย”
การเยือนไต้หวันเพื่อตอกย้ำจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย ดูเหมือนจะเป็นประเด็นหลักที่เพโลซีพยายามจะสื่อออกไป
แอนโทนี ซูร์เชอร์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส BBC ประจำทวีปอเมริกาเหนือ วิเคราะห์ว่า การไปเยือนไต้หวันครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามในการตอกย้ำ ‘มรดก’ ทางการเมืองของเพโลซี ซึ่งเธออาจจะต้องลงจากตำแหน่งประธานสภาฯ ในอีกไม่นาน หากพรรครีพับลิกันได้ครองเสียงข้างมากหลังการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือน พ.ย. นี้
การวางทริปไต้หวันในฐานะหมุดหมายสำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ดังที่เธอพยายามสื่อสาร อาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการลงตำแหน่งอย่างสง่างาม – คือความเห็นของซูร์เชอร์
แต่เมื่อจีนย้ำเตือนอยู่หลายครั้งถึง ‘ผลลัพธ์ที่ต้องตามมา’ ของการมาเยือนครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่ายกระดับความตึงเครียดทางการทหารระหว่าง 2 มหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐฯ ในแบบที่ไม่เคยเป็นมา ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เราคงได้แต่คาดเดา และเฝ้าติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด
อ้างอิงจาก