“ไม่เอาน่า … ถ้าผมถูกฆ่า ค่อยมาทำหนังรำลึกน่าเบื่อๆ กันใหม่” อเล็กเซ นาวาลนี (Aleksei Navalny) ผู้นำฝ่ายค้านแห่งการเมืองรัสเซีย ให้คำตอบในสารคดี Navalny (2022) หลังถูกถามว่าจะบอกอะไร ในกรณีที่ถูกสังหาร
เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายใต้อากาศเย็นยะเยือกใกล้ขั้วโลกเหนือ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านแห่งการเมืองรัสเซีย หมดสติและเสียชีวิตปริศนา ในทัณฑนิคม หรือเรือนจำความมั่นคงสูงสุดที่เรียกว่า IK-3 Polar Wolf
กรมราชทัณฑ์ของรัฐบาลกลางรัสเซีย (Federal Penitentiary Service) เป็นฝ่ายประกาศการเสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยไม่ระบุสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนโฆษกของนาวาลนี คิรา ยาร์มาช (Kira Yarmysh) ยืนยันผ่าน X ในวันต่อมาว่า “อเล็กเซ นาวาลนี ถูกสังหาร”
ผู้นำโลกตะวันตก – โดยเฉพาะ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ – ออกมาแถลงชี้ว่า วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย มีส่วนรับผิดชอบต่อการตาย
กว่า 1 ทศวรรษ ของการเคลื่อนไหว การจากไปของนาวาลนี ถือเป็นการปิดตำนาน ‘ศัตรูตัวฉกาจ’ ของปูติน ที่ออกมาวิจารณ์ต่อระบอบอำนาจนิยมของผู้นำรัสเซียอย่างเด็ดเดี่ยว อย่างไม่มีวันหวนกลับ
คำตอบในสารคดีของเขาน่าจะสะท้อนว่าเขาไม่เกรงกลัวหากจะต้องตาย เช่นเดียวกับชีวิตทางการเมืองของเขาที่สะท้อนถึงความไม่เกรงกลัวต่ออำนาจล้นมือของเครมลิน
1.
‘โนวีช็อก’
กลางเดือนสิงหาคม 2020 นาวาลนีเดินทางไปที่เมืองทอมสค์ (Tomsk) กับโนโวซีบีสค์ (Novosibirsk) ในไซบีเรีย เพื่อพบปะและสนับสนุนสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นและทีมงาน รวมถึงไปถ่ายทำวิดีโอเพื่อเปิดโปงการคอร์รัปชั่นท้องถิ่นด้วย
ช่วงเวลานั้น เจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่จะต้องตามติดการเคลื่อนไหว และน่าจะต้องมาห้ามไม่ให้นาวาลนีถ่ายทำ กลับไม่ปรากฏตัวเลย อย่างน่าประหลาดใจ นาวาลนีถึงกับบอกว่า รู้สึกเหมือน “ถูกไม่ให้เกียรติ – แบบว่าเอาจริงเหรอ ผมอยู่นี่แล้ว ตำรวจผมอยู่ไหนล่ะ?” เขาเล่าในสารคดี Navalny
ไม่กี่วันต่อมา วันที่ 20 สิงหาคม 2020 นาวาลนีนั่งเครื่องบินกลับจากทอมสค์ไปมอสโก จู่ๆ เขาก็ร้องโหยหวน – เขาถูกวางยาพิษ
เครื่องบินต้องลงจอดฉุกเฉินที่เมืองออมสค์ (Omsk) เพื่อพาตัวนาวาลนีในอาการโคม่าเข้าสู่โรงพยาบาล เดิมทีแพทย์ที่นั่นจะไม่ยอมส่งตัวเขาเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลในเยอรมนี อ้างว่าป่วยเกินกว่าจะส่งตัว แต่ในที่สุดก็ยอมอนุญาต และนาวาลนีก็เดินทางถึงกรุงเบอร์ลิน 2 วันต่อมา
Bellingcat ทีมสืบสวนออนไลน์อิสระที่มีสำนักงานอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ สืบสวนจนระบุได้ว่า นาวาลนีถูกวางยาด้วย ‘โนวีช็อก’ (Novichok) สารพิษทำลายประสาท อาวุธเคมีอันเลื่องชื่อแห่งสหภาพโซเวียต แถมยังสืบสาวจนระบุตัวคนทำได้ด้วย โดยมีหน่วยความมั่นคงกลาง (Federal Security Service) ของรัสเซีย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
ขณะที่ อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้นเอง ก็ยืนยันว่าเป็นโนวีช็อก
“นาวาลนีคือเหยื่อการโจมตีด้วยสารพิษเคมีทำลายประสาทในกลุ่มโนวีช็อก ยาพิษนี้ถูกระบุในการทดสอบอย่างไม่มีข้อกังขา” แมร์เคิลกล่าว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นาวาลนีถูกรอบทำร้าย เมื่อปี 2017 นาวาลนีถูกสาดด้วยของเหลวสีเขียวสด ซึ่งปรากฏว่าเป็นสีย้อมที่เรียกว่า ‘เซลยองกา’ (Zelyonka) ถึง 2 ครั้ง จนตาเกือบบอด และเมื่อปี 2019 เขาก็ต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเจ้าตัวคาดว่า อาจจะเป็นเพราะโดนวางยาพิษเช่นกัน
2.
‘ผู้นำฝ่ายค้าน’
“นักวิจารณ์ปูตินที่เด็ดเดี่ยวที่สุด” “ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซีย” “เสียงแห่งมโนธรรม” ฯลฯ เหล่านี้คือฉายาจำนวนหนึ่งที่สื่อตะวันตกมีให้นาวาลนี – แล้วเขาคือใครกันแน่?
พื้นเพเดิมของนาวาลนีคือทนายความ เขาจบการศึกษาระดับปริญญาในด้านนิติศาสตร์ รวมถึงด้านการเงินอีก 1 ใบ ก่อนจะมาทำงานเป็นทนายความด้านอสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งปี 2000 ปีเดียวกับที่ปูตินขึ้นสู่อำนาจ นาวาลนีเริ่มเข้าสู่การเมืองด้วยการเมืองด้วยการเข้าร่วมพรรคเสรีนิยมที่ชื่อว่า ‘ยาบโลโก’ (Yabloko – แปลว่า แอปเปิล)
นาวาลนีเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะนักเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลรัสเซีย ด้วยการออกมาเปิดโปงเรื่องคอร์รัปชั่น วิธีหนึ่งที่เขาทำคือการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ‘shareholder activism’
นั่นคือการซื้อหุ้นจำนวนเล็กๆ ของแต่ละบริษัทที่มีรัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งจะทำให้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นได้ ทำให้เขาสามารถเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ความไม่โปร่งใสของแต่ละบริษัท ซึ่งผู้บริหารหลายคนก็เป็นคนใกล้ชิดของปูตินด้วย
ขณะเดียวกัน นาวาลนียังนำเรื่องเหล่านี้มาเปิดโปงผ่านบล็อก ซึ่งก็มีผู้อ่านจำนวนมาก สำนักข่าว Euronews วิเคราะห์ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า การเน้นประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่น ทำให้คนรัสเซียในวงกว้างรู้สึกตามไปด้วยว่าตัวเองโดนโกง และหันมาสนับสนุนนาวาลนี โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุดมคติทางการเมืองมาโน้มน้าว
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ที่ผ่านมา นาวาลนีก็มีประวัติแสดงความคิดเห็นไปในทางชาตินิยม ทั้งยังเข้าร่วมการชุมนุมและเดินขบวนของกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง ในวิดีโอปี 2007 เขาเคยสื่อว่า ชาวมุสลิมคือ ‘แมลงวันและแมลงสาบ’ ที่ต้องกำจัด ขณะที่ในอีกวิดีโอ นาวาลนีแต่งตัวเป็นหมอฟัน และสื่อว่าผู้อพยพคือ ‘ฟันผุ’
แนวคิดชาตินิยมเช่นนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาถูกไล่ออกจากพรรคยาบโลโกเมื่อปี 2007 ด้วย
นาวาลนีอธิบายในภายหลัง ในภาพยนตร์ Navalny ว่า ทำไปเพราะต้องการสร้างแนวร่วม “ในโลกปกติ ในระบบการเมืองปกติ แน่นอนว่าผมคงจะไม่มีวันไปอยู่ในพรรคการเมืองเดียวกับพวกเขา แต่ผมต้องการสร้างแนวร่วมที่กว้างขึ้น เพื่อต่อสู้กับระบอบ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งได้”
3.
‘นาวาลนี’
ภายหลังจากรักษาตัวที่ชารีเท (Charité) โรงพยาบาลในกรุงเบอร์ลิน จนหายดี นาวาลนีก็เดินทางกลับรัสเซียในอีก 5 เดือนต่อมา คำถามที่ทุกคนถามเขาตลอดมา คือ กลับมาทำไม?
คำตอบของเขาก็เรียบง่าย “ผมมีประเทศของผมและความเชื่อของผม ผมไม่อยากละทิ้งทั้งประเทศและความเชื่อนั้น และผมไม่สามารถทรยศทั้งอย่างแรกและอย่างหลังได้”
“ถ้าความเชื่อของคุณมีคุณค่า คุณต้องกล้ายืนหยัดให้กับมัน และถ้าจำเป็น ก็ต้องยอมเสียสละอะไรบางอย่าง”
17 มกราคม 2021 นาวาลนีเดินทางถึงท่าอากาศวนูโคโวในกรุงมอสโก ก่อนจะถูกตำรวจควบคุมตัวในทันที จุดประกายการประท้วงครั้งใหญ่ โดยมีผู้ชุมนุมหลักหมื่นคนออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนาวาลนี
ณ เวลานั้น นาวาลนียังถูกต้องโทษจำคุกรอลงอาญา ในคดีฉ้อโกงเกี่ยวกับ อีฟ โรเช (Yves Rocher) แบรนด์เครื่องสำอางจากฝรั่งเศส ซึ่งเจ้าตัวเองก็บอกว่า เป็นการลงโทษที่มีแรงจูงใจทางการเมือง นั่นทำให้ศาลมอสโกจึงตัดสินลงโทษจำคุกนาวาลนีเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ด้วยข้อหาละเมิดทัณฑ์บน
และภายหลัง เขาจะยังถูกตัดสินจำคุกเพิ่มอีก 9 ปี ด้วยข้อหาฉ้อโกง และอีก 19 ปี ด้วยข้อหาสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรง (extremism)
ต่อมา เดือนธันวาคม 2023 นาวาลนีก็หายตัวไปจากเรือนจำเดิม ทีมงานไม่สามารถตามตัวได้ 20 วัน จนกระทั่งระบุตำแหน่งได้ พบว่าถูกย้ายมาอยู่ที่ทัณฑนิคมที่เรียกว่า IK-3 Polar Wolf อันห่างไกล และขึ้นชื่อด้วยสภาพที่โหดร้าย
และนั่นคือเส้นทางที่นำมาสู่การเสียชีวิตของนาวาลนี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ซึ่งเราคงไม่มีทางได้รับรู้เร็วๆ นี้ว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไรกันแน่
ยูเลีย นาวาลนายา (Yulia Navalnaya) ภรรยาม่ายของนาวาลนี ประกาศจะสานต่องานทางการเมืองของสามีผู้ล่วงลับของเธอต่อไป “ฉันจะสานต่องานของอเล็กเซ นาวาลนี … ฉันอยากมีชีวิตอยู่ในรัสเซียที่เสรี ฉันอยากสร้างรัสเซียที่เสรี” เธอกล่าวในวิดีโอที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“ฉันขอเรียกร้องให้คุณยืนเคียงข้างฉัน ไม่ใช่แค่แบ่งปันความเศร้าโศกและความเจ็บปวดที่ไม่มีสิ้นสุด … ฉันขอให้คุณแบ่งปันความโกรธแค้นร่วมกันด้วย ฟืนไฟ ความโกรธ และความเกลียดชัง แด่ผู้ที่กล้าดีทำลายอนาคตของพวกเรา” นาวาลนายากล่าว
หลังถูกถามโดย แดเนียล โรเฮอร์ (Daniel Roher) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี Navalny ในที่สุดนาวาลนีก็ยอมตอบ ว่าอะไรคือสารที่เขาอยากส่งต่อให้กับผู้สนับสนุนและประชาชน ในกรณีที่เขาถูกจำคุก หรือแม้กระทั่งถูกฆ่า
คำตอบนั้นก็คือ “อย่ายอมแพ้”