ข่าวการเสียชีวิตของพริตตี้สาว พร้อมๆ กันกับการแชร์ข้อมูลงาน N ประเภทต่างๆ ซึ่งกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ ตั้งแต่ N ธรรมดา N อัพ N แรง N บิกินี ไปจนถึง N VIP รวมถึงการเปิดประเด็นธุรกิจ ‘เพศพาณิชย์’ ของผู้เคยเป็นอดีตเจ้าพ่ออาบอบนวด ทำให้หลายๆ คนมีแนวโน้มที่จะเข้าใจว่า พริตตี้ = ขายตัว ไปโดยปริยาย
คำถามคือทั้ง 2 อย่างนี้มันเท่ากันจริงหรือไม่? ตัวผู้เขียนเองก็อยากรู้เช่นกัน
และจากการสืบค้นข้อมูลก็พบว่า โลกของอาชีพที่เรียกกันว่า ‘พริตตี้’ มีความสลับซับซ้อน กว้างใหญ่ไพศาล ที่สำคัญ มีวิวัฒนาการ แปรเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมและเทคโนโลยี (คำศัพท์อย่างสารพัด N ทั้งหลาย ก็เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลายปีหลัง)
การสรุปง่ายๆ แบบฟันธงไปเลยว่า พริตตี้ = ขายตัว (หรือแค่คิดว่าพริตตี้ส่วนใหญ่อาจจะรับงาน N VIP) ไม่เพียงตัดโอกาสทำความเข้าใจอาชีพนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ยังอาจทำให้เราพลาดในการทำความเข้าใจสังคมไทยในบางแง่มุมที่หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่มันมีอยู่จริง ที่สำคัญคือใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
เมื่อรูปร่างหน้าตาคือทุนทรัพย์
แม้พริตตี้หลายๆ คนจะเรียกร้องให้ดูกันเรื่องความสามารถ และโดยความเป็นจริง แค่ความสวยอย่างเดียวไม่พอทำให้ได้รับค่าตอบแทนที่ดีหรืออยู่ในอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน ..แต่ก็ปฏิเสธข้อเท็จจริงเบื้องต้นไม่ได้เช่นกันว่า กุญแจที่ใช้ไขประตูบานแรกให้เปิดออกก่อนก้าวเข้ามาทำอาชีพนี้ก็คือ หน้าตา รูปร่าง ไปจนถึงบุคลิก
แค่ชื่ออาชีพ ‘พริตตี้’ หรือ pretty ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะที่น่าจะใช้กันแค่ในเมืองไทยเท่านั้น ก็บ่งบอกแล้วว่า อะไรคือทุนทรัพย์สำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ว่าจ้าง
หากจะสืบสาวที่มาของอาชีพพริตตี้ในเมืองไทยกันจริงๆ หลายคนชี้นิ้วไปที่งานมหกรรมรถยนต์ หรือ Motor Show ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2522 ตั้งแต่ยังจัดงานที่สวนลุมพินี โดยผู้ทำหน้าที่พริตตี้คนแรกๆ ของไทย ก็คือ อัญชลี ไชยศิริ และ ศิรินภา สว่างล้ำ ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ตัวงาน และหากใครได้เห็นรูปถ่าย การแต่งกายของทั้งคู่ก็เป็นเพียงการสวมเสื้อยืดคอกลมสกรีนชื่องานและกางเกงขายาว ไม่ต้องแต่งตัวเซ็กซี่เช่นพริตตี้ในงาน Motor Show ยุคปัจจุบัน
และถ้าหากสืบค้นไปไกลกว่านั้น ตำนานเกี่ยวกับพริตตี้ในระดับโลก มักอ้างอิงถึงสาวสวยที่ทำหน้าที่เชิญถ้วยรางวัลให้ผู้ชนะในการแข่งรถยนต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เรียกกันว่า Trophy Girls ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 โดยผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวที่ว่ากันว่าโด่งดังระดับเป็นตำนาน ก็คือ ลินดา วอห์น (Linda Vaughn) ซึ่งโด่งดังช่วงปี ค.ศ. 1960 จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘สุภาพสตรีอันดับหนึ่งของวงการมอเตอร์สปอร์ต’
แต่ก็มีอีกหลายๆ กระแสที่บอกว่า อาชีพพริตตี้เริ่มต้นจากพนักงานของห้างสรรพสินค้าในแผนกเครื่องสำอางซึ่งมีหน้าที่แนะนำผลิตภัณฑ์ ที่เรียกกันว่า BA (beauty advisor) ขณะที่ก็มีอีกกระแสหนึ่ง คือการที่แบรนด์เบียร์ยี่ห้อหนึ่งนำสาวสวยมาช่วยส่งเสริมการขาย
แต่ไม่ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ในเวลาต่อมา ก็พบเห็นสาวสวยในสนามแข่งรถจนเป็นเรื่องปกติ ภายใต้ชื่อเรียก umbrella girls (เพราะทำหน้าที่กางร่มให้กับนักแข่ง), pit girls หรือ grid girls แต่ถ้าไปอยู่ในประเทศญี่ปุ่นก็เรียกกันว่า race queen แต่พอมาเมืองไทย ก็กลายเป็นอาชีพ pretty ในที่สุด
ถือเป็นลักษณะเฉพาะแบบไทยๆ ที่หยิบยืมศัพท์ต่างประเทศมาใช้ได้อย่างเฉพาะตัว (เช่นเดียวกับอาชีพ coyoty) จนเจ้าของภาษาได้มาเห็นอาจงุนงง
ตำนานพริตตี้ไทยโดยสังเขป
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาชีพพริตตี้เป็นสิบๆ ชิ้น หลายชิ้นให้ข้อมูลน่าสนใจตามแต่ประเด็นที่ผู้วิจัยตัวหัวข้อเอาไว้ แต่มีบางชิ้นที่เราเห็นว่ามีข้อมูลสนุกๆ อยากนำมาแลกเปลี่ยนกัน นั่นคือ การสร้างความหมายของสาวพริตตี้ในอุตสาหกรรมรถยนต์โดยสื่อมวลชน ของ กมลวรรณ ขุมทรัพย์ (เผยแพร่ปี พ.ศ. 2548) และ แนวจริตของพริตตี้ในเขตกรุงเทพมหานคร ของ ณัฐฎา คงศรี (เผยแพร่ปี พ.ศ. 2560) ที่ให้ภาพแวดวงพริตตี้ได้อย่างน่าสนใจ
ที่สำคัญคือการที่งานวิจัย 2 ชิ้นทำห่างกันราวสิบปี ก็ทำให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแวดวงพริตตี้ ใครอยากข้อมูลแบบละเอียด คลิกไปที่ชื่องานวิจัยได้เลย
เนื้อหาโดยสรุปก็คือ นับแต่เริ่มต้นในงาน Motor Show ครั้งแรก ก็มีการใช้พริตตี้เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์งานต่อเนื่องจากถึงปัจจุบัน ไม่รวมถึงการจัดการประกวดมิสมอเตอร์โชว์ที่ยิ่งสร้างความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้นอีก เพราะดารานักแสดงชื่อดังหลายๆ คน ก็แจ้งเกิดจากการเป็นมิสมอเตอร์โชว์ เช่น น้ำฝน-กุลณัฐ กุลปรียาวัฒน์, โอ๋-ภัคจีรา วรรณสุทธิ์, เอ๊ะ-อิสริยา สายสนั่น ฯลฯ
แต่ภาพลักษณ์ของพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์ จากแนะนำตัวงาน ช่วยค่ายรถยนต์ต่างๆ ประชาสัมพันธ์สินค้า ก็ถูกทำให้ดูเซ็กซี่มากขึ้นเรื่อยๆ จากการนำเสนอผ่านสื่อมวลชน – และกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ติดตัวพริตตี้มาจนถึงทุกวันนี้ คือนอกจากสวย บุคลิกดี ยังต้องเซ็กซี่อีกด้วย
อาชีพพริตตี้ถูกผูกติดกับงาน Motor Show มาเป็นสิบปี กระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 หลังจากนั้นหลายๆ แบรนด์ที่ต้องการฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนั้น ก็ใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ให้คนสนใจ ด้วยการจ้างสาวสวย (และหนุ่มหล่อ) มาช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าตามงานอีเวนต์ต่างๆ
และเนื่องจากพริตตี้ส่วนใหญ่ ไม่มีสัญญาว่าจ้างถาวร จำนวนไม่น้อยเลยเข้ามาทำงานในลักษณะพาร์ทไทม์หรือฟรีแลนซ์ ทำให้เป็นไปได้ว่าคนใกล้ๆ ตัวของคุณสักคน อาจปลีกเวลาจากงานประจำไปรับงานพริตตี้ในบางโอกาส
หลายเฉดของ ‘อาชีพ’ พริตตี้
งานวิจัยของ ณัฐฎา คงศรี ซึ่งได้ข้อมูลเชิงลึกบางส่วนจากการสัมภาษณ์พริตตี้ 11 คน ยังจำแนกประเภทของพริตตี้ออกเป็น 8 ประเภท นั่นคือ
- เชียร์เบียร์
- แนะนำผลิตภัณฑ์
- งานอีเวนต์
- งาน MC
- งานสวัสดี
- งานทานข้าว
- งาน entertain
- งาน VIP
งานแต่ละประเภทจะมีความยากง่าย ชั่วโมงการทำงาน และอัตราค่าตอบแทนแตกต่างกันออกไป ไม่ใช่ว่าพริตตี้ทุกคนจะทำได้ทุกอย่าง และไม่ใช่ว่าพริตตี้จะรับงานทุกอย่างมาทำ นี่คือเหตุผลที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นๆ ของบทความว่า ความสามารถเกี่ยวข้องกับได้รับการว่าจ้างในงานบางประเภทด้วย เช่น งาน MC หรือที่เรียกกันว่า ‘งานโฟน’ ก็ต้องมีความสามารถในการพูดแนะนำแบรนด์/สินค้า รวมถึงสามารถจบการขายได้ด้วย บางคนรู้ตัวว่าไม่ถนัดการพูด ก็มักเลือกรับแค่งานอีเวนต์ หรือ ‘งานยืนสวย’ หรือบางคนถนัดโพสต์ท่ามากกว่าก็มักไปรับงานถ่ายแบบ
หากดูประเภทงานทั้ง 8 ของพริตตี้ดีๆ จะพบว่า งานที่ 1.-4. จะทำงานในที่สาธารณะ ส่วนงานที่ 5.-8. จะทำงานในพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น โดยว่ากันว่างานที่เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับผู้มีอาชีพพริตตี้จำนวนไม่น้อย ก็คือ ‘งานสวัสดี’
ถามว่างานสวัสดีคืออะไร? พูดง่ายๆ ก็คืองานที่พริตตี้เข้าไปแนะนำตัวกับผู้ว่าจ้าง พูดคุยกันเล็กน้อย แล้วรับค่าตอบแทนกลับมา ซึ่งมักเป็นงานที่ใช้เวลาน้อย แต่กลับได้ค่าตอบแทนสูง จากนั้นหลายคนก็อาจรับงานทานข้าว ดูหนัง บางครั้งก็ไปทำ ‘งานโกหกพ่อแม่’ เช่น รับจ้างไปอวดว่าเป็นแฟน
ทั้งนี้ สารพัดงานที่ว่าจะมีเรตค่าจ้างตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น ต่อการทำงานไม่กี่ชั่วโมง แต่หากเป็นพริตตี้ที่มีนามสกุล เช่น นามสกุลจากนิตยสารชื่อดังทั้งหลาย ก็อาจทำให้ค่าตอบแทนเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่า
งาน N : งานเลือกคน คนเลือกงาน
พริตตี้ที่รับงาน N ไม่จำเป็นต้องจบลงบนเตียง และไม่ใช่พริตตี้ทุกคนจะรับงาน N
งาน N ย่อมาจาก entertain ไม่ใช่ว่าพริตตี้ทุกคนจะทำได้ เพราะต้องใช้ทักษะสูงมาก ทั้งต้องยิ้มสวย คุยเก่ง ยังต้องสร้างความบันเทิงให้ลูกค้าได้ด้วย หลายคนยังปฏิเสธจะรับงานเช่นนี้เพราะมองว่า ‘เปลืองตัว’
หลายๆ คนน่าจะได้เห็นอินโฟกราฟิกและข้อความในกรุ๊ปไลน์ของคนในแวดวงพริตตี้ด้วยกันว่า ปัจจุบันมี N หลายประเภท ทั้ง N ธรรมดา (ห้ามแตะเนื้อต้องตัวพริตตี้) N อัพ (ยาเสพติด) N บิกินี (ใส่ชุดว่ายน้ำ) N แรง (ล้วงควักได้แต่ห้ามมีเพศสัมพันธ์) ไปจนถีง N VIP – แต่ในงานวิจัยที่เราอ้างถึงจะแยกงาน N กับงาน VIP ออกจากกัน
ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้พริตตี้บางคนเลือกรับงาน N ก็มีทั้งปัจจัยเรื่องรายได้ เกรงใจลูกค้า (เพราะมักรู้จักมายาวนาน) อยากลองงานในรูปแบบใหม่ ไม่รวมถึงปัจจัยเรื่องการเข้าถึงสิ่งเสพติดทั้งหลาย
พริตตี้บางคนรับงาน N ไปต่างประเทศกับลูกค้าได้เงินกลับมาเป็นแสน ขณะที่บางคนก็พัฒนาจากงาน N ไปเป็นงาน VIP กระทั่งถึงขั้นมีคนเลี้ยงดูในที่สุด
แต่เนื่องจากพริตตี้เป็นอาชีพที่มีอายุการทำงานสั้น แถมแข่งขันสูง และเหตุผลที่หลายๆ คนเข้าสู่แวดวงพริตตี้ก็มาจากเรื่องค่าตอบแทนเป็นหลัก ก็อาจเป็นไปได้ว่า หลายๆ คนอาจเปลี่ยนใจมารับงาน N ในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม กระทั่ง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักการเมืองอดีตเจ้าของฉายาเจ้าพ่ออาบอบนวด ก็ยังพยายามแยกผู้ที่รับอาชีพพริตตี้ กับผู้ที่ใช้อาชีพพริตตี้แฝงเข้ามาขายบริการทางเพศออกจากกัน (ด้วยการใช้คำว่า ‘พริตตี้เก๊’)
ทั้งหมดทั้งมวลคือข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพพริตตี้ (ซึ่งไม่ได้มีแค่ผู้หญิงนานแล้ว แต่ยังมีพริตตี้บอย และชื่อเรียกอื่นๆ แต่ทำงานในลักษณะเดียวกัน) หวังว่าข้อมูลที่เราเล่ามาโดยสังเขปจะช่วยให้หลายๆ คนเข้าใจจักรวาลของอาชีพนี้มากขึ้นว่า มันมีโอกาส อุปสรรค ความเสี่ยง และความท้าทายอย่างไร
และไม่ใช่ทุกคนจะเข้าไปสู่ธุรกิจ ‘เพศพาณิชย์’ แม้จะอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงกว่าอาชีพอื่นๆ อยู่บ้างก็ตาม