เรากำลังอยู่ในประเทศที่สำนักข่าวและประชาชนตื่นตัวมะงุมมะงาหราหาหลักฐานและต้องการลากตัวผู้กระทำความผิดให้กับการตายของพริตตี้สาว มากกว่าการตายของนักเคลื่อนไหวการเมืองที่ถูกอุ้มฆ่าผ่าท้องยัดเสาปูนถ่วงแม่น้ำโขง หรือการตายของแกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมของชาติพันธุ์เชื้อสายกะเหรี่ยงที่ถูกฆ่าเผายัดถังแล้วทิ้งลงเขื่อน
ไม่ได้บอกว่าอาชีพใดหรือใครมีคุณค่ามากกว่า หรือสื่อและเจ้าหน้าที่รัฐต้องกระตือรือร้นกับคดีใดเป็นพิเศษกว่ากัน แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าการอุ้มฆ่ายัดเผา หรือผ่าท้องยัดเสาปูนถ่วงน้ำจะอุกฉกรรจ์ น่าสะเทือนขวัญสยดสยองกว่าก็ตาม
พวกเขาและเธอ ทั้งพริตตี้รับงานที่มีเส้นบางๆ ขั้นกับ sex worker, ชาติพันธุ์ที่ถูกเรียกว่า ‘กะเหรี่ยง’, ผู้ที่คิดต่างทางการเมืองไม่สนับสนุนลัทธิกษัตริย์นิยม และเผด็จการ ต่างถูกลดทอนคุณค่าความเป็นคน ผลักไสให้เป็นคนชายขอบของสังคมและพลเมืองชั้นสองของรัฐ จนมีชีวิตที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกทำร้ายถึงตาย
ในกรณีของการตายของพริตตี้สาวจากการรับงานเอ็น จึงเป็นผลลัพธ์ของความไม่เอาไหนของรัฐในการคุ้มครองสวัสดิภาพอาชีพต่างๆ และความล้มเหลวเรื่องการปฏิบัติทางเพศ ที่ผู้ซื้อบริการพริตตี้งานเอ็นคิดว่าจะปฏิบัติกับเนื้อตัวร่างกายพวกเธอยังไงก็ได้ สามจอกสี่สอกกรอกเข้าก็ได้ แล้วทันทีที่พริตตี้ตายเพราะรับงานก็จะต้องมีคนไปขยี้ซ้ำว่าสมเหตุสมผลแล้วเพราะมีอาชีพตั้งเยอะตั้งแยะไม่ทำ ดันมานุ่งน้อยห่มน้อยกินเหล้าเมายาเอนเตอร์เทนผู้ชายกลัดมัน เร่ไปหาเขาเอง จะถูกข่มขืนชำเราหรือทำร้ายก็ไม่เห็นแปลกอะไร
ทำนองเดียวกันกับคนที่เชื่อว่าคนทำงานในโรงเชือดหมู่ในบั้นปลายก็จะตายทรมานเหมือนหมูโดนทุบ
ยิ่งสำนึกแบบไทยๆ ที่แยกอาชีพบริการกับข้ารับใช้ไม่ออก พริตตี้ยิ่งเป็นอาชีพที่ถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศแทนมนุษย์ ผู้ว่าจ้างนึกอยากจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ งานวี งานเอ็นแรง คิดว่าจะล้วงควักขยำแรงๆ ทำอะไรต่อมิอะไรก็ได้เพราะจ่ายเงินแล้ว
มันก็ปฏิเสธไม่ได้แหละว่า เค้าจ้างพริตตี้มาเป็นวัตถุทางเพศ เพราะเป็นอีกอาชีพหนึ่งของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ เริ่มมาจากการนำหญิงสาวสวยนุ่งน้อยห่มน้อยดึงดูดกลุ่มลูกค้าผู้ชายในงานที่ผู้ชายคือกลุ่มบริโภคหลัก เช่น งานยนตรกรรม มอเตอร์โชว์ ลานเบียร์ มีหน้าที่แนะนำสินค้าส่งเสริมการขายเท่านั้น ก่อนพัฒนามาเป็นพริตตี้สปาให้บริการนวดเฉพาะจุด รับงานเอนเตอร์เทนทานข้าวดูหนังปาร์ตี้ และพริตตี้บอยที่เน้นตลาดผู้บริโภคหญิงและชายรักชาย
แม้พริตตี้เกิร์ลจะเป็นอาชีพวัตถุทางเพศ แต่ก็มีนักศึกษาหญิงหลายคนสมัครใจเข้าสู่ตลาดแรงงาน หารายได้ได้เองและก็เหมาะกับช่วงวัยพอดี
กล่าวกันว่า เมื่อแรกมีพริตตี้คือสนามแข่งรถในอเมริกาเมื่อ ค.ศ.1930 ที่นำพริตตี้เป็นผู้เชิญถ้วยรางวัล ขณะเดียวกันใน ค.ศ.1939 เบียร์ยี่ห้อ Rheingold ก็ได้นำหญิงสาวสวยใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการขาย จากนั้นก็มีพริตตี้เรื่อยมาในธุรกิจที่ต้องการดึงดูดลูกค้าผู้ชาย ในไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ.2522 ในงานมอร์เตอร์โชว์ที่สวนลุมพินี ที่ต่อมามีชื่อว่า งานบางกอกอินเตอร์เนชั่ลแนลมอเตอร์โชว์ (Bangkok International Motor Show) แม้พริตตี้จะเริ่มมีในไทยตั้งแต่ พ.ศ.2522 กระทั่งหลังเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 พริตตี้กลายเป็นอาชีพสำคัญและขยายตัวไปยังตลาดสินค้าต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้า ในช่วงเวลาที่ประชาชนลดจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคลงอย่างมาก[1]
พริตตี้ในยุคนั้นจึงมีแค่ PG เป็น promotion girl สร้างสีสันเต้นโชว์ประกอบจังหวะ ต้อนรับชักชวนลูกค้าให้สนใจผลิตภัณฑ์บริการใหม่ๆ กับ MC เป็นพิธีกร พรีเซนต์สินค้าบนเวที ไม่ได้มี N-up N-V N-บิกินี่ N-แรง หลากหลายเท่าทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามพริตตี้ก็ยังเป็นอาชีพที่ถูกปล่อยให้อยู่ในพื้นที่ ‘ธุรกิจสีเทา’
พริตตี้ไม่ถูกกฎหมายหากแต่ก็ประกอบการเป็นล่ำเป็นสัน รายได้ดี ภาครัฐรู้เห็น ทว่าไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการขั้นพื้นฐานใดๆ พริตตี้รับงานเอ็นจำต้องดื่มกินอัพยาในบางปาร์ตี้ ไปจนถึงงานขายบริการทางเพศ ที่ต่างก็มีความสุ่มเสี่ยงพอๆ กัน หากต้องไปรับงานไปแขกในที่รโหฐานมิดชิด ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายยิ่งกว่าขับแท็กซี่วินมอเตอร์ไซค์เมื่อเจอผู้โดยสารบอกทางไปยังที่เปลี่ยวๆ ไกลๆ หรือครูสอนพิเศษตามบ้านอีก แต่พอโดนดูถูก ล่อลวง ทำร้าย แบล็กเมล์ก็ไปร้องเรียนกับใครก็ไม่ได้อีก
ด้วยอาชีพที่ต้องใช้เรือนร่างจริตจะก้านและความงามเพื่อเป็นวัตถุทางเพศ อาชีพของพวกเธอจึงอยู่ในธุรกิจและอุตสาหกรรมเพศพาณิชย์ ในสังคมที่เชื่อเรื่องศีลธรรมทางเพศว่า เซ็กส์จะต้องอยู่ภายใต้สถาบันการแต่งงานหรือกรอบความรักโรแมนติก ประเดี๋ยวประด๋าวน้ำแตกแล้วแยกทางก็พอจะอดทนได้บ้าง แต่ต้องไม่ใช่ซื้อขายเป็นสินค้าบริการ แม้แต่การบริการเย้ายวนทางเพศอย่างพริตตี้ก็ไม่ได้
ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่เห็นองค์กรสตรีที่ไหนออกมาเคลื่อนไหวคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานพริตตี้ หรืออย่างน้อยที่สุดแสดงความกังวลใจเมื่อพริตตี้ตายในหน้าที่เลย ซ้ำยังเป็นอาชีพที่ถูกใช้เป็นคำด่า เหมือนกับเวทีขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เอา ‘พริตตี้’ มาด่านายกรัฐมนตรี
แต่ครั้นจะให้มวลมหาประชาพริ้ตตี้เคลื่อนไหวเรียกร้องการคุ้มครองทางกฎหมาย มีสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ก็เห็นจะยาก เพราะเป็นงานอิสระที่ความสาวเป็นคุณสมบัติสำคัญ กว่าจะผลักดันอะไรสำเร็จได้สักเรื่อง พวกเธอก็คงเปลี่ยนไปประกอบสัมมาอาชีพอื่นหรืออายุเกินอาขีพแล้ว
อันที่จริงต่อให้ค้าบริการทางเพศ (ไม่ใช่ ‘ขายตัว’ นะจ๊ะ ไม่มีใครเขา ‘ขายตัว’ กันหรอก ต่อให้จะมีเซ็กส์แลกเงินสักกี่ครั้ง เราก็ยังมีกรรมสิทธิ์ในนาผืนน้อยของเรา เจ้าของเนื้อตัวร่างกายก็คือเราเอง) หรือจะรับงานเอ็นไหน มันก็ไม่ใช่ปัญหาสังคมเน่าเฟะ ศีลธรรมเรียวลง หรือคนตกเป็นทาสเงินตรา อวัยวะเพศเรา เราตัดสินใจได้เองว่าจะใช้มันอย่างไร ร่างกายไม่ใช่ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดสิ้นเหมือนถ่านหิน น้ำมันก๊าซ นำกลับมาใช้อีกไม่ได้ มันจึงไม่มี ‘เปลืองตัว’ หรอก
ปัญหาของอาชีพเพศพาณิชย์จึงอยู่ที่การไม่ได้รับการคุ้มครองยอมรับทางกฎหมาย เพราะมันยังคงถูกมองว่าละเมิดต่อศีลธรรมทางเพศ ที่เซ็กซ์หรือการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศควรเป็นไปเพื่อการเจริญพันธุ์ เติมเต็มชีวิตรักละครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งของร่างกายและเพศวิถีผู้หญิง ไม่ใช่เอาไว้ค้าขายหากิน ต่อรองทางธุรกิจ หรือสร้างอำนาจเช่นอำนาจทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงจึงเป็นได้แค่แม่และเมียในโลกของศีลธรรม
เหมือนกับที่การกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีหน้าที่พัฒนาสังคมคุณภาพชีวิตประชาชน จัดการระบบสวัสดิการ แต่พอรัฐมนตรีไปบรรยายในงานประชุมเชิงปฏิบัติการผู้นำสตรีในศตวรรษที่ 21 กลายเป็นว่าสตรีทุกท่านมีดีเอ็นเอของความเป็นแม่และภรรยา จงหาให้พบและใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม (เอ่อ…คิดอ่านเช่นนี้ศตวรรษที่ 21 จริงๆ เล้ยยยย)
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]ณัฐฎา คงศรี. แนวจริตของพริตตี้ในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560, น. 31-33.