ใครๆ ก็รู้ว่าประเทศไทยเป็นเทศที่กำลังพัฒนา แต่เรา ‘กำลัง’ พัฒนามากี่ปีแล้วล่ะ
เข้าใจได้ว่าของอย่างนี้มันต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมของคนในชาติ ดังนั้นการพัฒนาของประเทศไทยในยุคนี้ จึงเดินทางมาถึงจุดที่มีความก้าวหน้าพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่น มีศาสนาอิสระที่สามารถชี้ทางรวยและความเป็นสุขในชีวิตหลังความตายได้อย่างแม่นยำ หรือ มีรายการพิเศษที่สร้างความสัมพันธ์อันไกล้ชิดระหว่างประชาชนและผู้นำประเทศ รวมไปถึงกำลังจะมีพาหนะดำน้ำจากเหตุผลที่ว่า “ใครๆ เค้าก็มีกัน” วั้ยตั่ยแล้วววว ก็น่าจะมีประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติแหละเนอะ
Young MATTER พาไปดูว่าประเทศแถวๆ เรา เขาพัฒนาด้านต่างๆ ไปถึงไหนกันแล้ว เราพอจะตามเขาทันบ้างหรือเปล่า ปะ! ไปศึกษาดูงานแบบไม่เสียตังสักบาทกันเลย
การศึกษาของไทยกับเส้นชัยที่ดูจะห่างออกไปทุกที
เรามาลองเล่นบทบาทสมมติว่าตัวเองเป็นนักเรียนมัธยมปลายกันหนึ่งวัน เริ่ม ! (ใครเป็นนักเรียนอยู่แล้วก็ต้องเป็นนักเรียนนะ ไม่งงเนอะ) สมมติว่าอาจารย์เดินเข้ามาในห้องเรียน แล้วให้โจทย์ในวิชาพลเมืองสังคมมาว่า ‘จงอธิบายสาเหตุความล้มเหลวของการศึกษาไทยพร้อมยกตัวอย่างประกอบ 10 คะแนน’ คิดว่าด้วยความที่ตัวเองเป็นฮอร์โมนวัยว้าวุ่นนั้น จะมีคำตอบที่ตรงกับวัยทำงานหรือคนที่ผ่านพ้นการศึกษาในวัยนี้ไปแล้วบ้างมั้ย…เชื่อว่าคงจะมีบ้างทั้งทางที่คิดว่ามันแย่แล้วจริงๆ กับส่วนที่คิดว่ามันก็ยังมีข้อดีอยู่บ้างนะ ถ้างั้นการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้อาจจะทำให้คำตอบเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งบ้างอย่างแน่นอน
โครงการประเมินผลนานาชาติ PISA (Programme for International Student Assessment) ของปี 2015 คะแนนเด็กไทยตามหลังเวียดนามในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการอ่าน ทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ซึ่งจาก 72 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในประชาคมอาเซียน สิงคโปร์มีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ในทุกด้าน (ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไกลห่างทุกประเทศออกไปเรื่อยๆ อีกด้วย) ส่วนไทยเรากลับต่อแถวรั้งท้ายที่อันดับ 55 โดยทำคะแนนได้ลดลงจากปีก่อน (ปี 2012) ในทุกรายวิชา แต่เวียดนามอยู่อันดับที่ 8! เกิดอะไรขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนคนนี้ ตอนนี้เขาได้ขึ้นแซงเราไปแล้ว หรือพวกเราเองที่วิ่งถอยหลังกลับไปเรื่อยๆ แล้วสาเหตุล่ะ เกิดจากครูที่เป็นผู้ให้หรือนักเรียนที่เป็นผู้รับกันแน่? แต่เอาเข้าจริง ตั้งแต่มีการวัดผลนักเรียนจาก PISA มา ประเทศไทยของเราก็อยู่อันดับรั้งท้ายมาโดยตลอด ก็ได้แต่หวังว่าในอนาคตที่ไม่ไกลนักจะวิ่งขึ้นเทียบเคียงกับต้นแถวได้ในสักวันหนึ่ง
การเดินทางของฉันและเธอคือการเรียนรู้ ไหนดูประเทศอื่นซิ
การเดินทางในแต่ละวันของเหล่าชีวิตในเมืองใหญ่อย่างเราๆ เต็มไปด้วยความยากลำบากยิ่งนัก โบกแท็กซี่ก็ไม่รับ หรือจะโบกรถเมล์ถ้าเจอสายที่คนขับมีคติประจำใจอย่าง “ไม่ซิ่งก็ซี้” เราจะตายมั้ย เอาหละๆ ค่อยๆ คิด เห็นป้ายรถเมล์พอดีเลย นั่งพักก่อนละกัน นี่มันที่นั่งของเด็กอายุเท่าไหร่เนี่ย จะดูที่ป้ายว่ามีสายอะไรวิ่งผ่านบ้างตัวเลขก็จืดจางซะมองแทบไม่เห็น แดดก็ส่อง นี่ก็งง ว่ามีหลังคาแล้วมันช่วยอะไร ตัดภาพไปที่ป้ายรถเมล์ของประเทศสิงคโปร์เขามีการปรับปรุงให้เป็นคาเฟ่ขนาดย่อมๆ มีหนังสือไว้ให้อ่าน ไม่ทำให้การรอรถเมล์น่าเบื่ออีกต่อไป แล้วดูป้ายรถเมล์บ้านเราสิ เรียบง่าย บางป้ายก็ไม่มีที่นั่งอีก แต่น่าดีใจที่ตอนนี้ก็มีกลุ่ม Ten to niety กำลังพยายามทำให้ป้ายรถเมล์ไม่น่าเบื่อเหมือนกับที่สิงคโปร์ทำอยู่ โดยนำร่องป้ายรถเมล์แถบเจริญกรุงกันก่อน
ส่วนถ้าใครที่ยังงงเส้นทางตอนนี้ก็มีกลุ่ม May Day ร่วมปรับปรุงป้ายรถเมล์โดยเริ่มนำร่องจากเกาะรัตนโกสินทร์ ประชาชนร่วมมือร่วมใจกันเองแบบนี้ป้ายรถเมล์บ้านเราต้องน่าใช้มากขึ้นแน่ๆ เมื่อป้ายรอรถดีแล้ว ขั้นต่อมาก็คือรถประจำทาง ที่เห็นการปรับปรุงเป็นรูปร่างชัดเจนก็น่าจะเป็นที่ขอนแก่น มี Khonkaen City Bus อย่างกับรถเมล์เกาหลี ผู้โดยสารหยอดเงินตอนขึ้น หรือใครจะรูดบัตรรถประจำทางก็ได้ ราคาก็ไม่แพง ผู้ใหญ่ 15 บาท นักเรียน 10 บาทตลอดสายจ้า แถมยังเช็กผ่านแอพพลิเคชั่นได้ด้วยว่ารถเมล์จะมาเมื่อไหร่ หูย ถ้ามีที่กรุงเทพบ้างก็คงจะดีเว่อร์ เพราะสภาพรถเมล์ที่กรุงเทพนั้นก็อย่างที่รู้ๆ กันเนอะ ส่วนตัวเลือกในการหนีรถติด ก็คงจะหนีไม่พ้นขนส่งมวลชนแบบราง BTS MRT Airport Link ที่ต้องลุ้นกันอีกว่าจะเจอแจ็กพ็อต หรือระบบขัดข้องหรือเปล่าน้า เรื่องราคาไม่พูดถึงแล้วกันเดี๋ยวจะยาว
ในขณะที่บ้านเรายังต้องลุ้นกับการใช้ขนส่งมวลชนแบบราง อินโดนีเซียก็เตรียมสร้าง Hyperloop เป็นขนส่งที่เหมือนเรานั่งอยู่ในแคปซูลแล้วเดินทางผ่านท่อ ว่ากันว่ามีความเร็วประมาณ 1,200 กม./ชม. นอกจากประหยัดพลังงานแล้วยังประหยัดพลังงานเนื่องจากใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ตอนแรกก็ดูเหมือนพอสูสี ไปๆ มา อินโดจ๋า รอหนูก่อน ขนส่งมวลชนแบบรางบ้านหนูยังไม่เสถียรเลย
เกม คือ กีฬา ไม่ใช่ยาเสพติด
กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ถ้าใครติดเกมอย่าไปยุ่งกับมัน แคร่ก ! (เสียงเทปสะดุด) ไม่ใช่สิๆ จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ถูก รู้หรือเปล่าคำว่า ‘เกม’ ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานนั้นหมายถึง ‘การแข่งขันที่มีกติกากำหนด’ ไม่ว่าจะเป็นเกมกีฬาหรือเกมคอมพิวเตอร์ก็ตาม แต่ถึงแม้ความหมายของคำว่า ‘เกมกีฬา’ กับ ‘เกมคอมพิวเตอร์’ จะมาเป็นคู่ใกล้ชิดสนิทกันมากแค่ไหน ทั้งสองอย่างนี้กลับไม่เคยมาบรรจบหรือถูกมองให้ใกล้เคียงกันเลยสักนิดเดียว
ไปดูที่ จีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น สำหรับพวกเขาเกมคือ ‘กีฬา’ E-Sport (electronic sports) คือการแข่งกีฬาในโลกออนไลน์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าการแข่งเกม ซึ่งถ้าเทียบกับกีฬาอย่างฟุตบอลหรือแบดมินตันที่มีทั้งแข่งขันในแบบเดี่ยวและแบบทีม การแข่งขันใน E-sport ก็ไม่ต่างกันเลย การจะนำมาซึ่งชัยชนะในกีฬาชนิดนี้ก็ต้องอาศัยซึ่งทักษะความสามารถและการฝึกฝน รวมไปถึงความสามัคคีเช่นเดียวกัน ล่าสุดประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรามาเลเซีย ได้เปิดตัว The APU eSports Malaysia Academy ซึ่งเป็นสถาบันที่เปิดขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กที่รักในการเล่นเกมและการแข่งขัน เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถไปเลย แทนที่จะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
เอาน่า ความคิดคนเราเปลี่ยนกันได้เสมอแหละ เห็นว่าบ้านเราก็เริ่มมีการผลักดันเพื่อให้เกมได้รับการสนับสนุนจากระทรวงการกีฬาบ้างแล้วเหมือนกันนะ
ทางเท้าไทย ทางเท้าใคร ทางเท้าประเทศเพื่อนบ้านว่าไงคะ (จ่อไมค์ถาม)
กรี๊ด… เสียงหญิงสาวกรีดร้องเมื่อโดนกับกับระเบิดเข้าเต็มเปา กับระเบิดที่ว่านี้ก็คือน้ำขังใต้กระเบื้อง ถ้าใครไม่ใช้เจ้าถิ่น หรือเดินไม่ระวังก็เปิดแผ่นป้ายเจอกันได้ง่ายๆ สามารถพบเจอได้ทั่วไปตามฟุตปาธหรือทางเท้าบ้านเรา นอกจากหลุมบ่อที่มากมาย บางทีเดินอยู่ดีๆ ก็มีมอเตอร์ไซค์แว้นขึ้นมาให้หลบหลีก ไม่หลบก็บีบแตรไล่ เดี๋ยวนะ นี่ฉันเดินอยู่บนทางเท้าถูกมะ ต้องเตือนสติตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่านี่ทางเท้าหรือถนนกันแน่ จริงๆ เขาก็มีโทษนะ ถ้าขับขี่บนทางเท้าโดนปรับ 400 – 1000 บาท แต่พี่มอเตอร์ไซค์คงถือคติแร้วงัยคัยแคร์ แถมเดินไปๆ เจอแผงลอยตั้งเต็มทางเท้าจนอยากจะแวะนั่งกินมันซะเลย กว่าจะถึงจุดหมายก็จะมีอุปสรรคมากมายมาให้เราพบเจอ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเล่นเกมยังไงยังงั้น
แต่ทางเท้าของเพื่อนบ้านเราอย่างเช่น มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ ใครที่เคยไปมาแล้วก็จะเห็นได้ว่าทางเท้าของเขาคือทางเท้าจริงๆ เรียบเนียนไม่มีกับดัก และไม่มีอุปสรรคเข้ามาทดสอบระหว่างเดิน สามารถเดินชิลๆ ได้สบาย รัฐบาลเคยบินไปดูงานที่ประเทศเพื่อนบ้านหรือยังนะว่าเขามีการจัดการยังไง
ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินล่ะ เขาหลับสบายไร้รอยต่อทอเต็มผืนไหม
คดีอาชญากรรมเป็นข่าวคึกโครมกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะฆ่ากันตาย หรือปล้นจี้ ถามหน่อยว่าความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเราอยู่ที่ไหน สนับสนุนช่วง ถามมาตอบไป โดย Vision of Human หนึ่งในโครงการของ Institute for Economics and Peace (IEP) เขามีการจัดอันดับประเทศปลอดภัยที่สุดในโลก ปี2016 โดยวัดจากความมั่นคงทางการเมือง การทำสงคราม ความขัดแย้งในประเทศและอาชญากรรม ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 125 จาก 193 ประเทศทั่วโลก
ประเทศในแถบเอเชียที่อันดับใกล้ๆ เราหน่อยก็คือศรีลังกาอยู่ในอันดับ 97 สิงคโปร์นี่นำเราไปไกลอยู่ในอันดับที่ 20 อย่าเพิ่งหมดหวังกัน เพราะ Vision of Human ก็บอกว่าประเทศไทยเนี่ยมีการปรับปรุงดีขึ้นในทุกๆ ปี เมื่อย้อนกลับมาดูสถิติการเกิดอาชญากรรมในปี 2559 ที่กองสารนิเทศตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูลสถานภาพอาชญากรรมพบว่า ความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ คดีที่ได้รับแจ้งจะเป็นคดีอุกฉกรรจ์ พยายามฆ่า และทำร้ายร่างกาย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการทะเลาะวิวาทและเมาสุรา ส่วนความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ คดีที่ที่ได้รับแจ้งมากที่สุดคือลักทรัพย์ ที่น่าสนใจคือช่วงเวลาที่ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ คือช่วงกลางวัน ตั้งแต่เที่ยงถึงหกโมง ส่วนชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ก็ตั้งแต่เที่ยงคืนยันหกโมงเช้า สถานที่เกิดเหตุก็คือ ตามตรอก ซอก ซอยต่างๆ ส่วนการขโมยมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์จะเกิดขึ้นในช่วง หกโมงเย็นถึงเที่ยงคืน
ใครจะทำอะไรก็ต้องระมัดระวังกันให้ดี เพราะเท่าที่ดูเวลาการเกิดเหตุรวมๆ กันก็ทั้งวันแล้วนะ แต่ก็น่าดีใจที่มีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่อย่าเพิ่งดีใจนานค่ะ เพราะกองสารนิเทศตำรวจบอกว่าปี 2560 คาดว่าอาจมีแนวโน้มการเกิดอาชญากรรมมากขึ้นเพราะความผันผวนทางเศรษฐกิจ มาลุ้นดีกว่าว่าปีนี้ไทยเราจะอยู่อันดับที่เท่าไหร่น้า
4g ทั่วไทย จินตนาการเท่านั้นที่สำคัญที่สุด
โอ๊ย…เมื่อไหร่รูปจะโหลดขึ้นสักที 4G หมดอีกแล้วเหรอ เพิ่งใช้มา 3 วันเองนะ เธอจะทำกับฉันอย่างนี้ไม่ได้ ถามว่าโวยวายไปแล้วได้อะไร ทำใจอย่างเดียวค่ะ เพราะในบรรดา 89 ประเทศทั่วโลกจากการสำรวจของ OpenSignal ไทยเราอยู่อันดับที่ 71 โอโห รั้งท้ายไปอีก ส่วนประเทศที่มาเป็นอันดับ 1 ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะตอนนี้ประเทศเขาไปถึง 5G แล้ว ไม่ใช่ใครที่ไหนเกาหลีใต้นั่นเอง
อะไรนะ ตรงนั้นไกลไปหรอ ขยับมาใกล้ๆ ก็ได้ เพื่อนบ้านอาเซียนอย่างมาเลเซียก็มีความเร็วเน็ตนำเราอยู่ที่อันดับ 58 ห่างกันแค่ 13 อันดับเอง แต่ก็พอปลอบใจได้นะว่าอย่างน้อยในอาเซียนก็ยังมีประเทศอื่นที่เน็ตช้ากว่าเรา ก็ได้แต่หวังว่าในอนาคตอินเทอร์เน็ตบนมือถือบ้านเราจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ให้สมกับเป็นไทยแลนด์ 4.0 จะคลื่น 900 1800 หรือ 2100 MHz ก็ขอให้สัญญาณมันดีเถอะค่ะ ไม่งั้นดิฉันจะไปตั้งกระทู้พันทิป
ต้นไม้งาม คนก็งดงาม บ้านเมืองไหนทำได้บ้าง?
มีใครเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “แกๆ วันนี้เราไปเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์ให้ชุ่มปอดแถวสี่แยกลาดพร้าวกันเถอะ” ถ้าเป็นโลกแห่งความจริงที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ทุกวันนี้ก็คงไม่มีใครเคยได้ยินแน่นอน มันก็ไม่ต่างอะไรกับอากาศบริสุทธิ์ในเมืองที่ไม่มีอยู่จริงนั่นแหละ ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะ 20 ปีมานี้ ต้นไม้ในเมืองไทยลดลงถึง 3 ล้านไร่ ใครอยากสูดอากาศบริสุทธิ์ก็คงต้องไปโน่น ‘หมู่บ้าน คีรีวง จ.นครศรีธรรมราช’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องธรรมชาติที่สวยงามและอากาศอันแสนบริสุทธิ์ หรือ ขึ้น ‘ปาย’ สถานที่เที่ยวยอดฮิตเปี่ยมโอโซนเมื่อฤดูหนาวมาเยือน
แต่การมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรเฉพาะบางจุดนั้น แสดงให้เห็นว่าไทยเรามีการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยโอเค ต่างกับ ญี่ปุ่น ที่การมาถึงของ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ ได้คร่าจำนวนประชากรต้นไม้ในกรุงโตเกียวคิดเป็น 60 % จากทั้งหมด เขาฟื้นขึ้นมาได้ จนในปี 1980 ญี่ปุ่นมีจำนวนต้นไม้ในเมืองสูงถึง 235,000 ต้น ซึ่งมากกว่าที่เคยมีมาซะอีก
หรือสิงคโปร์ ที่มีการจัดสรรค์พื้นที่สีเขียวและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในป่าหรือเมือง เรียกว่าทั้งคนและสิ่งแวดล้อมเป็นมิตรกันอย่างแท้จริง
ที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่ว่ามองไม่เห็นข้อดีที่บ้านเรามีหรือเลือกมองแต่ข้อเสียนะ ที่ The MATTER นำเสนอเรื่องนี้ก็เผื่อว่าเราจะได้หยิบส่วนดีของเขามาปรับใช้กับประเทศเราบ้าง ใครๆ ก็อยากเห็นประเทศตัวเองดีขึ้นทั้งนั้นแหละ ถูกมั้ย?
อ้างอิงข้อมูลจาก
m.facebook.com/kkcitybus
www.tgpl.in.th
https://www.facebook.com/thailandfootpath/
www.thairath.co.th/content/809056
www.thairath.co.th/content/519793