‘เน็ตไอดอล??? นี่เป็นใคร? โอ้ย เนี่ยเหรอเน็ตไอดอล?’
ช่วงนี้มี ‘เน็ตไอดอล’ โผล่ขึ้นมาที่หน้าสื่อหน้าโซเชียลของเราบ่อยๆ ไล่สายตาไป แม้แต่วัยรุ่นตอนปลายชายหญิงวัยทำงานก็ยังเริ่มรู้สึกว่าเราตามโลกไม่ทันแล้วพี่บัวลอย
ลึกๆ (หรือบางคนก็พูดออกมาดังๆ) เวลาเราเห็นเน็ตไอดอล…ในสายตาของเราจะรู้สึกกังวลเล็กๆ เพราะคำว่าไอดอลมันก็น่าจะหมายถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่เน็ตไอดอลที่เห็นบ่อยเดี๋ยวนี้ ดูตู้มๆ งงๆ ขายครีม ขายยาลดน้ำหนัก แล้วยิ่งพอเป็นอะไรที่มีชื่อเสียง เราก็จะเริ่มกังวลว่าคนเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่จะชี้นำสังคมได้ มีคนอยากดำเนินรอยตาม
นั่นสินะ แล้วอินเตอร์เน็ตทำอะไรกับคนให้กลายไอดอล แล้วเรารู้สึกอะไรกับความโด่งดังและโฉมหน้าของไอดอลยุคออนไลน์
ไอดอลมาจากไหน และกำลังจะไปไหน
การที่เรารู้สึกว่า ‘เน็ตไอดอล’ มันไม่น่าจะใช่แบบนี้น้อ ไม่น่าใช่แบบคนธรรมดาๆ แถมยังค่อนไปทางเละๆ เทะๆ ถ้าพูดด้วยภาษาหรูๆ คือมีความสามัญ (profane) แต่ในความรู้สึกเรา ไอดอลมันน่าจะเป็นอะไรที่ ‘ดีกว่า’ นี้ ตรงนี้เองที่สัมพันธ์กับความหมายของ ‘การโด่งดัง’ ขึ้นมาของคนธรรมดาทั่วไป ด้วยพลังของอินเตอร์เน็ต
เดิมคำว่า idol เป็นเรื่องทางศาสนา หมายถึงภาพหรือวัตถุใดๆ ที่เป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประมาณว่าเป็นรูปเคารพที่เอาไว้ชื่นชม บูชา และกราบไหว้อุทิศตนให้ ดังนั้นความหมายหลักๆ ของไอดอลคือการเป็นตัวแทนของสิ่งที่สูงส่ง (sacred) อันเป็นสิ่งที่เราให้การบูชา
คาร์ล มาร์กซ์กล่าวไว้ว่า ‘ทุกอย่างที่เคยจับต้องได้ละลายเป็นอากาศ สิ่งต่างๆ ที่เคยศักดิ์สิทธิ์สามานย์ลง (All that is solid melts into air, all that is holy is profaned)’ สิ่งที่มาร์กซ์กำลังบอกคือระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของมูลค่า เรื่องเงินตราและการแลกเปลี่ยน ทุกอย่างที่ว่านั้นก็รวมถึงคติ ความคิด ความเชื่อ ไปจนถึงลำดับชั้นต่างๆ ด้วย
พอถึงจุดหนึ่งสังคมมันก็เปลี่ยนไปเนอะ ความหมายของคำว่าไอดอลมันก็เลยเคลื่อนออกมา กลายเป็นว่าบุคคลไหนที่ดูเป็นบุคคลตัวอย่าง ประสบความสำเร็จใดๆ ก็จะถูกเรียกว่าเป็นไอดอล โดยเฉพาะไอดอลของเหล่าวัยรุ่น ว่าเออ อยากเป็นแบบนี้ อยากโตไปได้แบบนี้
ดังได้ไงวะ อินเทอร์เน็ตกับการโฉมหน้าของมวลชน
มีคนบอกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ทำให้คนธรรมดามีพลังมากขึ้น อย่างกรณีเน็ตไอดอลก็อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีหรือทรัพยากรมีราคาถูกลงและกระจายออกไปได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
คนธรรมดาทั้งหลายก็เลยปรากฏตัวและ ‘ถูกเห็น’ ได้มากขึ้น
เมื่อก่อนนี้ ภาพที่เราจะเห็นได้จากสื่อใหญ่ๆ มันก็ถูกควบคุมจากคนบางกลุ่ม ภาพของชาวบ้านร้านตลาด คนธรรมดาทั้งหลายที่มีตัวตนแถมเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมกลับเป็นสิ่งที่เราจะไม่ค่อยได้เห็น หรือถ้าถูกเห็นก็จะเป็นการคัดเลือกเพื่อนำเสนอบางส่วนเท่านั้น
การเกิดขึ้นและเข้าถึงได้มากขึ้นของอินเทอร์เน็ตทำให้คนธรรมดาทั้งหลายสามารถมีชื่อเสียงได้มากขึ้น และแน่ล่ะ ว่าคนทั่วๆ ไปก็มีแนวโน้มที่จะชอบอะไรในทำนองเดียวกัน เป็นสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยและเข้าใจได้ง่ายๆ
อินเทอร์เน็ตมันทำให้เห็นว่านี่แหละอะไรคือ ‘แมส’ ที่แท้จริง
ถ้าเราลองคิดดูดีๆ มวลชน ก็คือคนที่อยู่ในสังคมเรานี่แหละ เพียงแต่พวกเขาไม่เคยมีหน้าตา ไม่เคยถูกมองเห็นได้ชัดขนาดนี้มาก่อน
ด้วยอินเทอร์เน็ตที่มันทั่วถึงขึ้น มันเลยทำให้คนธรรมดามีพลังที่จะถูกเห็น (visible) และสร้างชื่อเสียงขึ้นมาได้
การเมืองเรื่องรสนิยม
ไม่นับเรื่องอาชญกรรมและการเอารัดเอาเปรียบเช่นการขายครีมตกเกรด
ไอ้ความรู้สึก ‘คันยุกยิก’ เวลาที่เห็นพวกเน็ตไอดอลที่ไม่ได้ ‘มีคุณภาพ’ เสมอกับความคาดหวังของภาพคนดังตามมาตรฐานของเรา เราอาจรู้สึกว่าคนนี้นี่หน้าวอกไปนิด จมูกแหลมไปหน่อย ทำไมคิ้วหนาจัง หรือทำไมสภาพเหมือนนักเลงขี้ยาจังเลย
ถ้ามันเป็นเรื่องรสนิยมเพียวๆ คือเน็ตไอดอลก็แสดงตัวไป มีคนกรี้ดก็กรี้ดไป แต่ไม่ได้ทำอะไร แล้วเรารู้สึกว่า ‘ยี้รสนิยมนี่ไม่ได้เรื่อง’ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) บอกว่าตรงนี้เองที่รสนิยมมีประเด็นทางการเมืองติดอยู่ด้วย คือเราเคยชินกับรสนิยมที่เรามองว่า ‘มีคุณภาพ’ กว่า แล้วพอเราเห็นรสนิยมอีกรูปแบบหนึ่งเราก็รู้สึกว่าไอ้รสนิยมดาษๆ แบบนี้มันไม่ควรจะถูกเห็น แล้วเราก็วิตกว่ามันไม่ควรที่จะเป็น ‘ไอดอล’ คือไม่ควรที่จะถูกเผยแพร่ออกไปเพราะมัน ‘ไร้รสนิยม’
สิ่งที่บูร์ดิเยอพยายามชี้ให้เห็นคือ รสนิยม มันเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับภูมิหลังทางสังคม หรือทุนต่างๆ ที่กลุ่มคนนั้นๆ หล่อหลอมขึ้นมา การแบ่งแยกทางรสนิยมโดยนัยมันมีความสูง-ต่ำแอบแฝงอยู่ การแยกแบบนี้จึงมีนัยทางการเมือง คือการดูถูกแบ่งแยกทางชนชั้นแอบแฝงอยู่
ที่เห็นและที่เป็นอยู่
อินเทอร์เน็ตทำให้เรามองเห็นกลุ่มคนที่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อน จริงๆ การดิ้นรนของเน็ตไอดอลที่เราเห็นกัน มันก็ไม่ต่างอะไรกับเราทุกคนในระบบทุนนิยม ที่ต่างก็ดิ้นรนผลักดันตัวเองให้เข้าสู่สถานะที่ดีกว่าผ่านการสะสมทุน
สิ่งหนึ่งที่เราควรระวังคือการตัดสิน ว่าเรากำลังเอามาตรฐานรสนิยมของตัวเองไปตัดสินรสนิยมของคนอื่นอยู่รึเปล่า หรือการเห็น ‘รสนิยมรูปแบบอื่นๆ ’ มันทำให้เราระคายตาหรือไม่
จะว่าไปอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการทำให้เราเห็นกลุ่มคนที่ไม่เคยเห็น ไม่ใช่แค่เรื่องรสนิยมหรือความน่าขบขันที่เราเห็นแล้วจะหัวเราะเยาะ แต่ยังทำให้มองเห็นด้วยว่าไอ้สิ่งนั้นมันมีปัญหาอยู่
สิ่งที่เราเห็นก็คือสิ่งที่มันเป็นอยู่ นอกจากคนในวงจรของเราแล้วยังมีคนในสังคมที่มีคุณภาพชีวิตต่างกับเรา มีข้อจำกัดทางความรู้ มีความเสี่ยงเรื่องสาธารณะสุข มีปัญหาเรื่องการบริโภคสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้คุณภาพแถมยังส่งผลกับสุขภาพ มีปัญหาพฤติกรรมของเยาวชน เรื่อยไปจนถึงปัญหาอาชญากรรมต่างๆ
การที่มองเห็น อย่างน้อยๆ มันก็ทำให้เราตระหนักถึงปัญหาของคนในสังคม
การตระหนักถึงปัญหาน่าจะเป็นก้าวแรกของการแก้ไขปรับปรุง
ไม่ใช่ว่าพอระคายตาแล้ว ก็จะเอาไปวางให้พ้นหูพ้นตา แล้วทำเป็นว่าไม่มีอะไร