“เงินซื้อเทสไม่ได้”
เป็นคำคมคูลๆ ที่โผล่ขึ้นมาท่ามสินค้าราคามหาศาล
แหม่ โลกนี่มันช่างซับซ้อนวุ่นวายจริงๆ ในโลกที่เราต่างแสวงหาความมั่งคั่ง พอถึงจุดหนึ่งก็มีเรื่องยุ่งยากขึ้นมาอีก ว่าต่อให้มีเงินแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะจบได้แค่นั้น เพราะการมีเงินก็ไม่ได้แปลว่าจะดู ‘แพง’ ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งแน่นอนว่าในโลกใบนี้เราต่างก็อยากที่จะ ‘ดูดี’
คำว่า ‘ดูดี’ ก็เป็นคำที่กว้างและเป็นอัตวิสัย คือแล้วแต่จะมองว่าแบบนี้ดีไม่ดีอย่างไร ในการที่คนคนหนึ่งจะดูดีมีรสนิยมได้ก็มีปัจจัยส่งเสริมมากมาย แต่โดยรวมแล้วก็เป็นเรื่องของการที่ว่าคนคนนั้นจะสามารถ ‘เลือก’ สิ่งต่างๆ ได้อย่างไร ตั้งแต่การแต่งตัว การวางท่าที เลือกร้านอาหาร เลือกของที่จะรับประทานเข้าไป ไปจนถึงเลือกคำพูด เลือกบทสนทนา เลือกเสพสื่อไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือภาพยนตร์ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนและมาส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่ารสนิยมของแต่ละบุคคลขึ้นมาอย่างซับซ้อน
ในทางวิชาการ เจ้าพ่อนักสังคมวิทยาปิแอร์ บูร์ดิเยอ เป็นคนที่ให้ความกระจ่างถึงพลังและความซับซ้อนของรสนิยมผ่านงานเขียนชื่อ ‘Distinction: A Social Critique of the Judgement of Taste’ ซึ่งรสนิยมก็เป็นเรื่องซับซ้อนจริงๆ แหละ
คือถ้าจะบอกว่าเงินซื้อรสนิยมไม่ได้มันจริงไหม มันก็ไม่เชิงเพราะการที่จะมีรสนิยมที่ดีได้มันก็สัมพันธ์กับทุนที่มี ในทางกลับกันการมีรสนิยมที่ดีนั้นก็เกี่ยวข้องกับการ ‘สั่งสอน’ หล่อหลอมตั้งแต่วัยเยาว์
‘การเมืองเรื่องรสนิยม’
เหนือสิ่งอื่นใด ต้องบอกก่อนว่า รสนิยม เป็นเรื่องของ ‘การเมือง’ แบบหนึ่ง ในมุมมองของบูร์ดิเยอบอกว่ารสนิยมนี่แหละเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งชนชั้นทางสังคม ลักษณะสำคัญสำคัญของรสนิยมคือการเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งแยกระหว่าง ‘ของมีรสนิยม’ กับ ‘ของไร้รสนิยม’ ซึ่งถ้ามองกันจริงๆ แล้วเส้นแบ่งของ ‘ของดี’ กับ ‘ของไม่ดี’ ล้วนเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาทั้งนั้น
สิ่งที่บูร์ดิเยอเน้นคือ จริงๆ แล้วรสนิยมของแต่ละคนมันสัมพันธ์กับภูมิหลังทางสังคมของคนคนนั้น เช่น ถ้าเป็นคนชั้นแรงงาน ด้วยสภาพหรือข้อจำกัดทางสถานะทางเศรษฐกิจก็จะมาจำกัดรสนิยมในการกิน การแต่งตัว ดังนั้นการเอารสนิยมมาตัดสินคนจริงๆ ลึกๆ แล้วเป็นการปิดบังความไม่เสมอภาคทางสังคมอยู่ด้วย
ความซับซ้อนระหว่างรสนิยมและเงิน
‘รสนิยม’ มันเป็นเรื่องยาก เพราะตัวรสนิยมเองเป็นสิ่งที่ผ่านกระบวนการหล่อหลอมขึ้นมาอย่างซับซ้อน และความยากอยู่ที่มันเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ตัว ในมุมมองของบูร์ดิเยอบอกว่าวัยเด็ก หรือตอนที่เราเติบโตขึ้นนั่นแหละเป็นช่วงที่รสนิยมกำลังก่อตัวขึ้น และการก่อตัวของรสนิยมก็สัมพันธ์กับแทบทุกมิติในชีวิต
การที่เด็กคนหนึ่งจะโตขึ้นมาโดยที่มีรสนิยมที่ดีนั้น คาดหวังได้เลยว่าเด็กคนนี้จะต้องเติบโตขึ้นในบ้านที่มีความซับซ้อน จะต้องได้รับการขัดเกลาจากโรงเรียนที่ไม่ธรรมดา นึกสภาพของเด็กที่มีภูมิหลังจากบ้านซอมซ่อ กับเด็กที่สัมผัสกับการการอยู่ในบ้านที่รายล้อมไปด้วยวัฒนธรรม ไม่ว่าจะอาหารการกิน การมีตู้หนังสือ การดูหนังฟังเพลงจากต่างประเทศ จนกระทั่งได้ไปร้านอาหารดีๆ การได้ไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว และแน่นอนว่าการได้ไปโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนระดับสูง ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มากำหนด ‘ความสามารถในการรับรู้และเลือก’ ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดีกว่า มีรสนิยมกว่า
ดังนั้นหัวใจของการมีรสนิยมที่สำคัญมากๆ และเป็นสิ่งที่ ‘เงินซื้อโดยตรง’ ได้ยาก คือการมี ‘ความรู้’ ที่รู้และแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่มีรสนิยมจริงๆ
ตรงนี้เองที่ทำให้รสนิยมเป็นเรื่องยากที่จะสอนต่อให้มีเงินแค่ไหน เพราะในระดับของการรับรู้ (recognition) แล้วนั้น มันเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการปลูกฝัง (cultured) อย่างเป็นเวลานาน มากกว่าการที่จะเปลี่ยนไปปุบปับผ่านการมีเงินหรือความมั่งคั่งในภายหลัง
เงินซื้อรสนิยมได้ไหม?
คำตอบคือเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรสนิยมอย่างแน่นอน แต่ไม่เชิงว่าเงินจะสามารถซื้อรสนิยมได้โดยตรง อย่างที่บอกว่ารสนิยมเกี่ยวข้องกับการถูกฝังมาอย่างยาวนาน และเป็นเรื่องของมุมมองและการรับรู้ระหว่างความสวยงามและความธรรมดา ความประณีตและความหยาบเถื่อน
ซึ่งมุมมองการมองโลกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที ไม่ว่าจะใช้เงินมากแค่ไหนก็ตาม
เพราะอย่างน้อยๆ เช่นว่ามีการอ้างอิงถึงห้างขายของโหลๆ ในฐานะรสนิยมรูปแบบหนึ่ง คนที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางชั้นวางของแบบที่ใช้กันในร้านก็จะรู้สึกว่านี่เป็นสไตล์ที่ธรรมดาและยอมรับได้ ดังนั้นต่อให้มีเงินแค่ไหนก็ไม่อาจรับรู้ได้ว่าสิ่งนี้คือความไร้รสนิยม และไม่เห็นความจำเป็นจะต้องใช้เงินที่ตนเองมีเพื่อไปจัดซื้อรสนิยม เช่น การไปจ้างนักออกแบบต่างๆ มาช่วยออกแบบให้มีความสวยงามหรือดูมีรสนิยมมากขึ้นแต่อย่างใด
อาจฟังดูเป็นเหยียดห้างที่ขายของโหลๆ แต่พิเคราะห์ด้วยมุมมองทางวิชาการเราก็จะเห็นว่า การออกแบบชั้นในร้านขายของโหลๆ จะถูกออกแบบเพื่อฟังก์ชั่นในการจัดวางเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการออกแบบเพื่อให้วางของได้เยอะๆ ภายใต้พื้นที่จำกัด ทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในการมองปราดเดียว แต่ถ้าเป็นร้านในระดับที่ราคาสูงขึ้นมา ในการออกแบบชั้นวางก็อาจจะไม่ต้องเน้นจำนวน แต่เน้นความสวยงามและประสบการณ์ที่ตัวสินค้ากำลังถูกนำเสนออยู่
รสนิยมจึงเป็นสิ่งปรากฏในระดับของความคิดและวิธีคิด เช่น วิธีคิดใน ‘การคัดเลือกสิ่งของโดยอ้างอิงจากมูลค่า’ ก็อาจจะไม่ใช่วิธีการที่แพงจริงๆ ก็ได้ เพราะความถ้าคนที่แพงจริงๆ ก็ไม่น่าจะต้องคำนึงถึงราคาของสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ ดังนั้นรสนิยมจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและควรระวังก่อนที่จะตัดสินชี้นิ้วแบ่งแยกสิ่งต่างๆ ไป