มองไปไกลสุดสายตาจากด้านหน้าของ อบต.แพรกษาใหม่ ท้องฟ้าและผืนดินถูกแบ่งเป็นเลเยอร์คล้ายกับภาพถ่ายของ ฟรานโก ฟอนตานา ด้านล่างคือสีแดงของหลังคาอาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถัดไปเป็นแนวต้นไม้และเนินดิน แต่ก่อนถึงท้องฟ้ากว้าง คือกองขยะขนาดมหึมาสูงกว่าอาคาร 3 ชั้น
บ่อขยะแพรกษาใหม่ตั้งอยู่ด้านหลังของที่ทำการ อบต.แพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัดเป็นผู้ดำเนินการบนพื้นที่กว่า 300 ไร่ รายล้อมไปด้วยหน่วยงานท้องถิ่นไม่ว่า ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), ศูนย์เทศบาล รวมถึงศูนย์ดูแลเด็กเล็กประจำเทศบาล ส่วนด้านหน้าถัดออกมาคือตลาดหน้า อบต. และถัดออกไปอีกหน่อยมีบ้านเรือนของประชาชนรายล้อมอยู่
ขนาดและความมหึมาของบ่อขยะแห่งนี้ทำให้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพจ ‘สปอร์ตไลท์บางปู’ นำไปโพสต์และมีคนเข้ามาแสดงความเห็นถึงปัญหากลิ่นจากบ่อขยะเป็นจำนวนมาก The MATTER จึงได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านถึงสภาพชีวิตบติดภูเขาขยะ ผลกระทบที่พวกเขาได้รับ และชวนมองปัญหาขยะไปให้ไกลกว่าเรื่องกลิ่น แต่ถามถึงสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยถึงมีขยะปริมาณมหาศาลขนาดกองเป็นภูเขาได้
ทั้งนี้ ต้องบอกไว้ก่อนว่าภูเขาขยะลูกนี้ไม่ใช่ลูกเดียวที่เคยเกิดเพลิงไหม้ลุกลามจนใหญ่โตเมื่อปี 2557 จนนำไปสู่การออกแนวทางจัดการการฟ้องร้องคดีความระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับบริษัทเอกชนต่อศาลปกครอง
ชีวิตใกล้ภูเขาขยะ
การเดินทางมาบ่อยขยะแพรกษาใหม่สามารถเข้าได้จาก 2 ซอยหลักคือ ซอยขจรวิทย์และซอยหมู่บ้านกล่องพิรุณ สำหรับในซอยจรุงวิทย์ ทันทีที่รถยนต์ขับขึ้นสะพานข้ามคลองทับนาง สุดสายตาคือรถเครนสีเหลืองนอนหมอบอยู่บนเนินเขายักษ์ เมื่อลดกระจกลง กลิ่นที่ลอยมาตามลมเป็นเครื่องยืนยันแคปชั่นในเพจสปอร์ตไลท์บางปูว่า “ลมหนาวมาก็จะเปรี้ยวๆ หน่อย” ได้เป็นอย่างดี
“มันเหม็น (กลิ่นขยะ) จนแสบจมูก เวลานอนต้องปิดกระจกแล้วเปิดแอร์ แต่บางทีกลิ่นก็ลอดเข้ามาเหมือนกัน ผมยังดีไม่เป็นไรมากอยู่มานานแล้ว แต่แฟนเป็นภูมิแพ้เนี่ยสิ” ยอร์ช (นามสมมติ) เจ้าของบ้านแห่งหนึ่งในซอยขจรวิทย์
ยอร์ชเล่าว่าเขาเกิดและโตที่ตำบลแพรกษาใหม่แห่งนี้ และยอมรับว่าได้กลิ่นขยะตั้งแต่ตัวเองจำความได้ เขาเล่าว่าช่วงที่บ้านเขาได้รับกลิ่นเหม็นที่สุดจะเป็นในฤดูร้อนและฤดูฝน รวมถึงในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ 20.00 น. เป็นต้นไปที่เครื่องจักรจะเดินเครื่องคุ้ยขยะขึ้นจากบ่อขยะ
ยอร์ชกล่าวว่า นอกจากปัญหากลิ่นขยะ ยังมีปัญหาน้ำขยะจากการขนส่งขยะที่อยู่ตามพื้นถนน และถึงแม้ในช่วงกลางคืนทางเจ้าหน้าที่จะมาทำความสะอาดอยู่เสมอ แต่บางครั้งก็เคยเกิดเหตุมอเตอร์ไซค์ลื่นน้ำขยะหน้าบ้านเขาเหมือนกัน
ทางด้านมณี (นามสมมติ) ชาวบ้านในหมู่บ้านพฤกษาวิลล่าซึ่งมีเพียงกำแพงกั้นระหว่างพื้นที่หมู่บ้านและบ่อขยะให้ข้อมูลเช่นเดียวกับยอร์ชว่า หน้าร้อนเป็นฤดูกาลที่กลิ่นจากบ่อขยะรุนแรงที่สุด และบางครั้งก็รุนแรงจนแสบจมูก
แต่ทั้งยอร์ชและมณีต่างให้ข้อมูลตรงกันว่าบริษัทอีสเทิร์น เอเนอจี้ จำกัดซึ่งเป็นเจ้าของบ่อขยะแห่งนี้บริหารจัดการพื้นที่นี้อย่างเป็นระบบ มีการส่งเจ้าหน้าที่มาพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ แจกหน้ากากอนามัยและสิ่งของ รวมถึงตรวจเช็กกลิ่นอยู่เป็นประจำ
ในอีกซอยหนึ่ง บริเวณทางเลี้ยวเข้ามาจากถนนแพรกษา สู่ซอยตัดใหม่ที่เชื่อมกับซอยหมู่บ้านกล่องพิรุณ มีโรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษาซึ่งมีนักเรียนอยู่ราว 600 คน และเป็นอีกจุดนึงที่กลิ่นจากบ่อขยะแพรกษาโชยลมมา
“ไม่ใช่แค่เด็กๆ แต่ทุกคนได้รับผลกระทบ ดีหน่อยที่โรงเรียนติดแอร์ แต่เวลาพักเที่ยงหรือเด็กๆ ออกมาเล่นข้างนอกก็ได้กลิ่นอยู่ดี” ผู้ปกครองของเด็กคนหนึ่งกล่าว
เธอเล่าให้เราฟังว่าลูกสาวของเธอชอบมาบ่นถึงเรื่องกลิ่นอยู่บ่อยครั้ง ก่อนเสริมว่า “กลิ่นมันแย่ลงถ้าเทึยบกับ 10 ปีที่แล้ว น่าจะเป็นเพราะขยะเยอะขึ้นและทับทมมานาน”
ทางด้านครูในโรงเรียนแห่งนี้ก็ยืนยันว่ากลิ่นจากบ่อขยะโชยมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่เด็กมาถึงโรงเรียนและกำลังรอผู้ปกครอง และสริมว่าเรื่องกลิ่นจากบ่อขยะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ผู้ปกครองร้องเรียนกับทางโรงเรียนเสมอ (เพราะเด็กบอกผู้ปกครองอีกทีหนึ่ง) และสิ่งที่โรงเรียนทำได้คือ ประสานกับเทศบาลตำบลแพรกษาใหม่ในเรื่องนี้
นอกจากโรงเรียนแห่งนี้ จากการตรวจสอบของ The MATTER ยังมีโรงเรียนอีกหลายแห่งที่ได้กลิ่นจากบ่อขยะ เช่น โรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ที่ตั้งอยู่ภายในเทศบาลตำบลแพรกษาใหม่ รวมถึงมีคอมเมนต์จากโลกอินเตอร์เน็ตที่บอกว่ากลิ่นลอยไปถึงโรงเรียนสารสาสน์วิเทศสมุทรปราการ แต่ในช่วงที่เราลงพื้นที่ไม่พบกลิ่นดังกล่าว
ในเรื่องกลิ่นเหม็นจากบ่อขยะ รายงานข่าวจาก PPTVHD ซึ่งทางบริษัทอีสเทิร์น เอเนอจี้ จำกัดให้ข้อมูลระบุว่า ทางบริษัทติดตามผลกระทบต่อชุมชนอยู่เสมอ โดยในเรื่องกลิ่น บริษัทได้ติดระบบตรวจจับกลิ่นที่เรียกว่า Electronic Nose หรือ E-Nose ที่จะช่วยวัดว่าจุดไหนที่กลิ่นรุนแรงเกินมาตรฐานจะมีการแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำจัดกลิ่นของบริษัท เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลปัญหาในทันที นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่วัดกลิ่น แจกหน้ากากอนามัย และมีการพาชาวบ้านไปตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำ ซึ่งชาวบ้านบางส่วนให้ข้อมูลกับ The MATTER ว่าทางบริษัทเข้ามาช่วยเหลือจริง ขณะที่อีกส่วนบอกว่าไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัทมาเป็นเวลานานแล้ว
The MATTER ได้พูดคุยกับ นิตยา มีศรี สส.สมุทรปราการเขต 5 เธอเล่าว่า ทางพรรคก้าวไกลติดตามเรื่องนี้เช่นกัน เพราะได้มีชาวบ้านมาร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาเรื่องกลิ่น รวมถึงกรณีขยะในบ่อสไลด์ไหลลงไปในคลองทับนาง โดยที่ผ่านมาทางพรรคในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้
- 8 ต.ค. 2566 พรรคก้าวไกลลงพื้นที่บ่อยะแพรกษาใหม่ ดูพื้นที่โดยรอบ
- 20 ต.ค. 2566 จัดสัมมนาร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
- 3 พ.ย. 2566 ยื่นหนังสือขอเข้าพบผู้บริหาร แต่ถูกปฏิเสธ โดยทางบริษัทมีหนังสือตอบกลับว่าจะให้เข้าพบต่อเมื่อมีแกนนำ อย่างเช่น หัวหน้าพรรคเข้าไปด้วย
ทั้งนี้ นิตยาระบุว่าในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.2566) จะมีการยื่นเรื่องให้ กมธ.ที่ดินและสิ่งแวดล้อมตรวจสอบเรื่องบ่อขยะแห่งนี้
โรงไฟฟ้าบ่อขยะแพรกษาใหม่
บ่อขยะแห่งนี้เป็นปลายทางของขยะจากจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดที่มีขยะมูลฝอยมากที่สุดเป็นลำดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพฯ โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษปี 2565 จังหวัดนี้มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 3,120 ตัน/ วัน และมีปริมาณขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องมากถึง 2,530 ตัน/ วัน หรือคิดเป็น 81.08%
สำหรับบ่อขยะแห่งนี้ มีปริมาณขยะเข้ามาราว 2,300 ตัน/ วัน มีขยะตกค้างอยู่ 1.2 ล้านตัน โดยในทุกวันจะมีการนำขยะประมาณ 500 ตันเข้าสู่โรงงานผลิตไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกกะวัตต์เพื่อเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า สกู๊ปจากสำนักข่าว Thai PBS ที่ได้ลงพื้นที่บ่อขยะแห่งนี้เมื่อปี 2565 ชี้ว่า เมื่อขยะเดินทางมาถึงที่บ่อขยะแห่งนี้ จะมีการฝังกลบแล้วหมักไว้เป็นเวลา 3-5 ปี ก่อนจะนำเข้าสู่เครื่องคัดแยกขยะเพื่อแยกขยะพลาสติกประมาณ 300 ตันเข้าสู่โรงไฟฟ้าขยะชุมชนแพรกษาใหม่ สมุทรปราการ เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งเข้าสู่ระบบการไฟฟ้านครหลวงต่อไป
ล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมกับเทศบาลเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกกะวัตต์เพิ่มขึ้นอีก 10 โรง อย่างไรก็ดี ชาวบ้านที่ The MATTER ได้พูดคุยตั้งข้อสังเกตว่า บ่อขยะแห่งนี้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่มีการตั้งโรงงานไฟฟ้าขยะ
คำถามที่น่าสนใจคือทำไมต้องเป็น 9.9 เมกกะวัตต์?
สนธิ คชรัตน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกตว่า ประการแรก การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดที่ไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ไม่จำเป็นต้องทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ประการสอง โรงไฟฟ้าขนาดเล็กเช่นนี้ขายไฟฟ้าได้แพงกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และประการสุดท้าย ลดต้นทุน เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนค่าอุปกรณ์บำบัดมลพิษทางอากาศในราคาที่แพง รวมถึงไม่ต้องมีผู้ควบคุมบำบัดมลพิษที่จะคอยส่งรายงานให้กรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือกล่าวโดยย่อคือ โรงไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กง่ายต่อการดำเนินตามกฎหมายมากกว่า
“ตอนผมไปที่สหรัฐอเมริกา เขาบอกถ้าจะทำโรงไฟฟ้าขยะต้องทำขนาดใหญ่เลย เอาขยะจากทุกที่มากองไว้ แล้วขนไปที่ศูนย์กำจัดขยะ ไม่ใช่มีโรงไฟฟ้าทุกตำบลแบบนี้ มันดูแลได้ไม่ทั่วถึง แต่ที่นี่มันเล็กไป มันควรใหญ่ระดับ 20-30 เมกะวัตต์ไปเลย” สนธิแสดงความเห็น
วิกฤตขยะในไทย
การแก้ปัญหาบ่อขยะกับชุมชนเป็นเรื่องปลายทางที่ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และชุมชนยังต้องทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง แต่หนึ่งคำถามที่น่าสนใจกว่าน่าจะเป็น ทำไมประเทศไทยถึงมีขยะมหาศาลขนาดนี้ โดยข้อมูลจากรายงานสถานการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ปี 2565 ของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยทั้งหมด 25.7 ล้านตัน เท่ากับว่าคนที่อาศัยในประเทศไทยคนหนึ่งสร้างขยะตกที่ 1.07 กิโลกรัม/ คน/ วัน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ดีขึ้นตลอด 5 ปีให้หลัง
ในมุมของ สนธิ ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในไทยยังถือว่าไม่มากเท่าไหร่ แต่ปัญหาที่ยังหนักอยู่คือ ไม่มีการแยกขยะที่ดีพอ ทำให้ขยะมูลฝอยในชุมชนยังคงมีขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉายหรือหลอดไฟปนเปื้อน และเมื่อนำไปเผามีอันตรายต่อระบทางเดินหายใจ สนธิเสนอแนวทางการแก้ปัญหาขยะระยาวไว้ทั้งหมด 6 ข้อ
ข้อแรก ยกเลิกคำสั่ง คสช. 4/ 2559 ซึ่งยกเว้นให้การทำธุรกิจบางประเภท เช่น โรงงานเผาขยะสามารถตั้งในเขตชุมชนได้ ดังนั้น จึงต้องยกเลิกและกำหนดให้โรงงานเหล่านี้ต้องถูกตรวจและควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงกำหนดให้โรงงานเหล่านี้ต้องไปเปิดในพื้นที่อุตสาหกรรมเท่านั้น
ข้อสอง กำหนดสัดส่วนพลังงานทดแทนจากขยะให้สอดคล้องกับนโยบายจัดการขยะของภาครัฐ โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลขยะทั้งหมดเสียใหม่ และศึกษาศักยภาพในการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการสร้างโรงไฟฟ้าขยะอย่างไม่มีแผน และเพื่อวางแผนจัดการขยะในระยะยาว
ข้อสาม กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมโรงไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์เสียใหม่ กรณีนี้เข้ากับโรงไฟฟ้าแพรกษาโดยตรง (ขนาดโรงไฟฟ้า 9.9 เมกกะวัตต์) โดยให้โรงงานขนาดเล็กเหล่านี้ต้องจัดทำการประเมินยุทธศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในระยะ 5 กม. เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อสี่ กำหนดนิยามขยะมูลฝอยและแนวทางกำจัดขยะชุมชนที่อันตรายเสียใหม่ โดยให้ครอบคลุมถึงแร่ใยหิน ซึ่งเป็นส่วนผสมในขยะจำพวกฝ้าเพดานบ้าน เพราะเป็นขยะที่มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชนและระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
ข้อห้า ให้กรมกรมควบคุมมลพิษออกกฎหมายว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารพิษ เพื่อให้ข้อมูลของสารพิษเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อสร้างฐานข้อมูลและวางแผนป้องกันในอนาคต โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรับผิดชอบ
ข้อหก ปรับปรุงแก้ไข พรบ.โรงงาน พ.ศ. 2562 โดยให้โรงงานประเภท 105 (โรงงานประเภทคัดแยกและฝังกลบขยะ) และประเภท 106 (โรงงานรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรม) ที่ใช้เครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้าหรือคนงานต่ำกว่า 50 แรงคนเป็นโรงงานที่เป็นกิจการอันตราย เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจควบคุมกำกับ
สนธิเพิ่มเติมว่าควรมีการยกเครื่องกฎหมายขยะทั้งหมดเสียใหม่ ต้องมีการออก พ.ร.บ.ขยะแห่งชาติ เพราะในปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวกับการขยะยังกระจัดกระจาย เช่น ขยะมีพิษเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม, ขยะติดเชื้อเป็นของสาธารณสุข และขยะมูลฝอยเป็นของมหาดไทย สุดท้ายทำให้หน่วยงานท้องถิ่นไม่มีอำนาจเท่าที่ควร และขยะก็ถูกนำไปเทรวม จนนำไปสู่ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและเพลิงไหม้ตามมา
คนละไม้คนละมือ
‘ขยะเกิดจากเรา ดังนั้น เราควรมีส่วนร่วมในการจัดการขยะด้วย’ สนธิชวนมองในประเด็นนี้ เขาชวนให้ทุกคนหันมาแยกขยะให้เป็นประเภทมากขึ้น
สิ่งที่สนธิเน้นมากที่สุดคือ ประชาชนแบบเราๆ ควรแยกขยะที่มีพิษ เช่น ถ่านไฟฉายหรือหลอดไฟ แล้วกำชับกับเจ้าหน้าที่เก็บขยะในเรื่องดังกล่าว พร้อมกับที่ควร ลดการสร้างขยะ โดยเฉพาะขยะจากอาหาร พยายามอย่าให้มีอาหารเหลือทิ้ง หรือถ้ามีก็ควรนำไปย่อยเพือทำเป็นปุ๋ยหมักทิ้ง
ขณะที่ทางด้าน เพ็ญศรี แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศที่ทำงานกับขยะอันตรายหวังว่า กระทรวงศึกษาธิการจะมีการเพิ่มหลักสูตรว่าด้วยสิ่งแวดล้อมศึกษา เพื่อให้ข้อมูลประชาชนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาว่า ขยะคืออะไร เรามีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะได้อย่างไร วิธีคัดแยกขยะทำอย่างไร และสิ่งเหล่านี้สำแค่ไหน นอกจากนี้ ภาครัฐควรประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ในการแยกขยะตามสื่อต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้การคัดแยกขยะเป็นไปอย่างถูกวิธีมากที่สุด
“ขยะชุมชนพวกโฟม พลาสติก หลอด พวกนี้มันอยู่เป็น 100 ปี แล้วแผนปฏิบัติการภาครัฐที่บอกว่าเรื่องขยะพลาสติกก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย แสดงว่ามันใช้ไม่ได้ สุดท้าย พวกนี้ก็อยู่ในกองขยะ พอเผาก็เกิดสารไดออกซินหรือไม่ก็เอาไปทิ้งลงทะเล สุดท้ายกลายเป็นว่าประเทศไทยติดอันดับทิ้งลงทะเลอันดับ 10 ของโลก” สนธิทิ้งท้าย