ใครจะคิดว่าวันหนึ่งเราจะใช้ชีวิตท่ามกลางข่าวมลพิษทุกปี
ไม่ว่าจะปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เรื้อรังยาวนาน สารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม สารเคมีรั่วไหลจากโรงงานอุตสาหกรรม จนก่อให้เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้หลายครั้ง หรือแม้กระทั่งขยะมูลฝอยที่ไม่ได้รับการจัดการ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนในทุกๆ มิติ
นอกเหนือจากการแก้ปัญหาแบบเริ่มที่ตัวเองอย่างการสวมหน้ากากอนามัย อพยพหนีเมื่อเกิดเหตุร้ายแรง หรือแม้กระทั่งการแยกขยะในที่อยู่อาศัย ภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญที่จะเข้าไปจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างชัดเจน ทั้งการออกนโยบายป้องกันมลพิษ ควบคุมจัดการภาคเอกชน การประเมินและออกคำสั่งให้พื้นที่ประสบภัยเป็นพื้นที่ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหามลพิษที่เข้ามาบ่อนทำลาย ‘คุณภาพชีวิต’ ของผู้คนอย่างทันท่วงที
นอกเหนือจากคุณภาพชีวิตที่เลือนหาย มลพิษยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มนุษย์เจ็บป่วยและล้มตายมากขึ้น ทั้งปัญหาระบบทางเดินหายใจ ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคของระบบไหลเวียนโลหิตและมะเร็งปอด ตลอดจนสารปนเปื้อนที่อยู่ในอาหารและน้ำดื่ม เรียกได้ว่ามลพิษอยู่ในทุกอณูของชีวิตของเราเลยทีเดียว
ในเมื่อปัญหามลพิษยังเป็นวาระระดับโลก เราจึงอยากพาทุกคนไปสำรวจการเผชิญหน้าแก้ปัญหามลพิษจากทั่วโลกกัน ว่าเขาดูแลและจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไรกันบ้าง?
อินเดีย: PM2.5 ปัญหามลพิษ และชีวิตที่ต้องแลกมา
เริ่มต้นจาก ‘อินเดีย’ ประเทศที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเรา ที่เผชิญปัญหาค่า PM2.5 สูงสูสีกับไทย ด้วยสถานการณ์ค่าฝุ่นอยู่ในระดับ ‘เป็นอันตรายต่อร่างกาย’ ยาวนานหลายปี โดยเมื่อเดือนเมษายน ปี 2024 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ของไทยมีค่าฝุ่นละอองสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก อีกทั้งไทยและอินเดียเองก็มีสถิติผู้ป่วยจากค่าฝุ่นละอองสูง ปัญหาฝุ่นควันจากอุตสาหกรรมที่ทำให้เมืองใหญ่ๆ ของทั้ง 2 ประเทศต้องเผชิญกับปัญหานี้ทุกปี เป็นปัญหามลพิษที่มาจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ขยะและของเสียในแม่น้ำซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ซึ่งท่ามกลางวิถีชีวิตของคนอินเดียนับล้านล้านที่กิน ดื่ม ล้วนใช้น้ำจากแม่น้ำตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
แม้รัฐบาลอินเดียจะประกาศภารกิจ ‘อินเดียสะอาด’ (Clean India Mission) ตั้งแต่ปี 2014 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การลดการปล่อยมลพิษผ่านการจัดการสิ่งแวดล้อมของแต่ละรัฐ ทว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็ไม่ได้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโฟมพิษเหนือแม่น้ำยมุนาเมื่อปี 2021 และฝุ่นละอองพิษที่สูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน อินเดียมีขบวนการเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างนโยบายสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยขบวนการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดขบวนการหนึ่ง คือขบวนการ ‘Chipko’ ที่มุ่งต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยกลยุทธ์โอบต้นไม้และหลักการสันติอหิงสาแบบมหาตมะ คานธี จนประสบความสำเร็จตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และกลายมาเป็นแบบอย่างให้กับขบวนการเรียกร้องทางสิ่งแวดล้อมในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) แห่งอินเดีย ยังได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2070 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ค่าฝุ่นละอองในอินเดียยังคงสูงอย่างต่อเนื่องอยู่ พร้อมๆ กับปัญหาการจัดการขยะที่ยังคงมีอยู่ ท่ามกลางการเรียกร้องของภาคประชาชน เราจึงอาจต้องจับตามองต่อไปว่า อินเดียจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว และรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป
สวีเดน: โมเดลจัดการขยะรอบด้าน และการสร้างนิสัยให้รักษ์โลก
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เผชิญกับปัญหาขยะอย่างรุนแรง โดยสถิติของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในปี 2565 เรามีขยะมูลฝอยมากถึง 25.7 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีขยะที่กำจัดไม่ถูกวิธีมากถึง 7.1 ล้านตัน ทั้งนี้ทั้งนั้น การกำจัดขยะด้วยการฝังกลบก็สร้างปัญหาให้กับประชาชน ทั้งกลิ่นและทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นทางออกสำคัญที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างตรงจุด
เมื่อข้ามไปอีกซีกโลก สวีเดน เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการจัดการขยะที่น่าสนใจ โดยล่าสุดรัฐบาลสวีเดนได้ออกกฎหมายให้แยกขยะเศษอาหารด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน หรือภาคธุรกิจ รวมไปถึงเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะจัดการกับขยะเหล่านี้อย่างเป็นระบบ แต่ในทางปฏิบัติแล้วการแยกขยะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวิถีชีวิตของชาวสวีเดน เพราะเมื่อปี 2017 ลูกค้าของ H&M ในสต็อกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน ได้ส่งเสื้อผ้าใช้แล้วของตัวเองเข้าสู่กระบวนการ upcycle หรือการใช้วัสดุจากสิ่งของใช้แล้วมาผลิตเป็นเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าอื่นๆ ด้วย เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงกลายมาเป็นอีกทางออกที่สวีเดนใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในประเทศ
นอกจากวัฒนธรรมการรีไซเคิลแล้ว ‘โรงงานไฟฟ้าจากการเผาขยะ’ ถือเป็นตัวละครสำคัญในการกำจัดขยะ และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของสวีเดน ตั้งแต่การฟื้นฟูบ้านเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 1940 พลังงานที่ได้จากการเผาขยะถูกนำมาใช้ในครัวเรือน พร้อมๆ กับสามารถกำจัดขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้กว่าล้านตัน ด้วยเหตุนี้เองปริมาณขยะฝังกลบของสวีเดนจึงมีเพียง 1% เท่านั้น
ในแง่หนึ่งการเผาขยะอาจสร้างความกังวลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่รัฐบาลสวีเดนมีประกาศว่า จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2045 พร้อมทั้งมีกฎหมายส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการลดยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ นอกเหนือจากการกำจัดขยะผ่านการเผาแล้ว ของเสียจากครัวเรือนก็ต้องถูกแยกออกและนำไปบำบัด เช่น การบำบัดน้ำและกากของเสีย หรือการกำจัดก๊าซชีวมวล
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษในสวีเดนประสบความสำเร็จคือ ‘ภาคประชาชน’ ที่สำคัญคือกลุ่ม ‘Fridays for Future’ ที่ก่อตั้งโดยเกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมคนสำคัญของโลก มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาวะโลกรวนในฐานะความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม นั่นทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนตัวเล็กๆ อย่างเราก็สามารถมีส่วนร่วม และเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ได้เช่นกัน
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย หลายองค์กรก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาขยะเช่นกัน เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา องค์กรสิ่งแวดล้อมในไทยกว่า 65 องค์กร แถลงการณ์คัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติก หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งรวมขยะ หรือแม้กระทั่งการเข้าชื่อยื่นร่างกฎหมายรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ ‘กฎหมาย PRTR’ โดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคประชาชนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 ผ่านมา
น่าสนใจว่าเราพูดถึงปัญหาขยะ มลพิษ และสิ่งแวดล้อมขนาดนี้แล้ว ทำไมเราถึงยังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้กันนะ?
สิงคโปร์: นโยบายที่ปรับใช้จุดแข็งของตนเองมาแก้ปัญหา
เมื่อย้อนกลับมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคที่ตั้งของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษสูงสุดทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ปัญหาฝุ่นควัน รวมไปถึงสารเคมีที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาค ซึ่งสิงคโปร์ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของการจัดการปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ผ่านนโยบาย ‘กรีนแพลน’ (Green plan)
จริงๆ แล้วประเทศไทยเราก็มีความพยายามสร้าง ‘เมืองสีเขียว’ เช่นกัน อย่างกรุงเทพฯ ที่พยายามจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบด้าน เพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมการคัดแยกขยะ หรือหลายชุมชนก็ผลักดันการจัดการขยะจนกลายเป็นจุดเด่น เช่น ชุมชนวัดจากแดงที่สามารถทอจีวรพระด้วยพลาสติกได้ แต่ชุมชนที่สามารถจัดการกับปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมได้ก็ยังคงมีน้อยอยู่ดี และนวัตกรรมต่างๆ ก็มีส่วนสนับสนุนให้การผลักดันเมืองสีเขียวเกิดได้ง่ายขึ้น
นโยบายกรีนแพลนของสิงคโปร์ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นจุดเด่นของประเทศอยู่แล้ว เพราะเดิมเราอาจรู้จักสิงคโปร์ในฐานะเมืองที่สร้าง ‘วินัย’ ของผู้คนในการทิ้งขยะ หรือแม้กระทั่งความเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นโยบายดังกล่าวจึงมุ่งผสานการพัฒนาเทคโนโลยี และความร่วมมือจากภาคธุรกิจ เพื่อกระตุ้นคนในประเทศให้ใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษ หรือภาวะโลกรวน โดยมีภารกิจ 5 ด้านคือ
- การผสมผสานเมืองเข้ากับธรรมชาติ ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวนสาธารณะเพิ่มเติม เพิ่มจำนวนต้นไม้ในสวนที่มีอยู่เดิม และการสร้างการจัดการและระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุมถึงสัตว์
- ใช้พลังงานสะอาด จากการส่งเสริมการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สิงคโปร์มีจุดแข็งเรื่องความเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความเข้มแสงสูงสุด เสริมสร้างระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Power Grid) ตลอดจนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างอาคารสีเขียว (Green Building)
- สร้าง ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ ผ่านการสนับสนุนพลังงานสะอาด และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
- สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ด้วยการตั้งเป้าหมายเป็น ‘เมืองปลอดขยะ’ ไม่ว่าจะเป็นขยะอาหาร ขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะแก่เด็กและเยาวชน
- สร้างอนาคตที่ยั่งยืน ผ่านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญของสิงคโปร์ เช่น การแก้ปัญหาความร้อน ความมั่นคงทางอาหาร และน้ำท่วม
รัฐบาลสิงคโปร์มองว่า วิธีที่จะผลักดันให้ภารกิจทั้ง 5 ด้านสำเร็จได้ คือความร่วมมือทั้งจากประชาชนและภาครัฐ ที่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนไปด้วย กล่าวคือในปี 2030 สิงคโปร์จะลดการใช้น้ำ พลังงาน และขยะลง และจะบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2045
เนื่องจากที่ผ่านมาสิงคโปร์เผชิญภาวะขยะล้นเมือง เมื่อปี 2022 ปริมาณขยะในสิงคโปร์เพิ่มสูงถึง 7.39 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2021 ที่มีขยะเกิดขึ้น 6.94 ล้านตัน ขณะเดียวกัน การส่งเสริมการรีไซเคิลทำให้จำนวนขยะ 7.39 ล้านตัน ถูกรีไซเคิลไปแล้ว 4.19 ล้านตัน ตัวเลขนี้จึงพอจะบอกเราได้ว่า กระบวนการรีไซเคิลที่เข้มแข็งในทุกภาคส่วน ทำให้วัฒนธรรมการกำจัดมลพิษประสบผลสำเร็จ
เพราะปัญหามลพิษคือเรื่องใหญ่ ทุกภาคส่วนจึงต้องใส่ใจแก้ปัญหา
หากจะถอดรหัสการแก้ไขปัญหามลพิษจากทั้ง 3 ประเทศข้างต้น สิ่งสำคัญที่ทำให้นโยบายต่างๆ ได้ผล คือความร่วมมือร่วมใจในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่ใส่ใจปัญหานี้อย่างตรงจุด ด้วยการสาวให้ถึงต้นตอของมลพิษ ป้องกัน และสร้างนโยบายที่แข็งแรง ภาคเอกชนที่ไม่ดูดายต่อปัญหา ด้วยการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และมีส่วนร่วมสร้างสังคมปลอดมลพิษ และภาคประชาชนที่ให้ความร่วมมือเต็มที่ ทั้งการสร้างนิสัยรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสียงสะท้อนปัญหามลพิษที่กำลังเผชิญอยู่
เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาเบื้องต้น ข้อกังวลหนึ่งที่เรามักพูดถึงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม คือการ ‘ฟอกเขียว’ (Greenwashing) ที่ใช้นโยบายลดมลพิษ รักษ์สิ่งแวดล้อมบังหน้า แต่ก็ยังคงปล่อยก๊าซมลพิษอยู่ดี ดังนั้น การใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างลงลึก จึงเป็นข้อควรคำนึงถึงของภาคธุรกิจและภาครัฐ ที่จะทำให้ประชาชนสามารถอุ่นใจได้ ว่านโยบายที่เกิดขึ้นมาจากความพยายามรักษาสิ่งแวดล้อม และเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง
แม้ไม่อาจปฏิเสธว่าในประเทศของเรา การตั้งรับและป้องกันปัญหามลพิษจะเป็นเหมือนเรื่องเล็กที่ ‘ไว้ก่อนก็ได้’ แต่การตระหนักถึงปัญหาว่ามีอยู่จริง สังเกตผลกระทบ และส่งเสียงสะท้อนปัญหาออกไป ถือเป็นก้าวสำคัญที่เราจะทำได้ เพื่อผลักดันปัญหานี้อยู่ในสายตาของสังคม เพราะ 99% ของคนเรา ไม่อาจแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ นั่นจึงเป็นหน้าที่ของ ‘ทุกคน ทุกหน่วย’ ในสังคมที่จะต้องใส่ใจแก้ไขปัญหา
เพราะมลพิษมีอยู่จริง มีคนตายจากมลพิษจริง และหายนะของโลกจากมลพิษก็ส่งต่อถึงคนรุ่นหลังได้จริง
อ้างอิงจาก