แม้จะขึ้นต้นว่า ‘สำนัก’ (ซึ่งตามปกติจะเล็กกว่า ‘กรม’) แต่แท้จริงแล้ว สำนักนายกรัฐมนตรีถือเป็น 1 ใน 20 กระทรวงของประเทศไทย และสำคัญที่สุดคือขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
แล้วเหตุใด ข้าราชการเบอร์ใหญ่ๆ ที่กำลังไปด้วยสวยในเส้นทางราชการของตัวเอง พอถูกโอนย้ายมายังส่วนราชการนี้ จึงมักถูกสื่อมวลชนใช้คำว่า มา ‘เข้ากรุ’ หรือ ‘ตบยุง’ ด้วย
เราจะพยายามคลี่คำตอบให้ได้รู้กัน
จากข่าว ‘เด้งบิ๊กโจ๊กเข้ากรุ’ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 2/2562 ที่โอนย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล จากการเป็นข้าราชการตำรวจ ในตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) มาเป็นข้าราชการพลเรือน ในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม
คงทำให้หลายๆ คนสงสัย (นอกเหนือจากเรื่อง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ไปทำอะไรมา) ว่า การถูกโอนย้ายไปอยู่ในส่วนราชการระดับเทียบเท่ากระทรวง แถมขึ้นตรงกับผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหารอีก ทำไมจึงถูกเรียกว่า ไป ‘เข้ากรุ-ตบยุง’
เหตุผลง่ายๆ เป็นเรื่อง ‘เส้นทางวิชาชีพ’ ที่เคยรุ่งโรจน์ก็อาจตกต่ำ กับ ‘บทบาทหน้าที่’ จากเคยทำงานสำคัญไปทำงานไม่สำคัญ หรือไม่ได้ทำอะไรเลย นั่นเอง
แล้วคนที่ไม่ยินดียินร้ายกับการถูกโอนย้ายนี้ มีวิธีคัดค้าน โต้แย้ง หรือต่อสู้หรือไม่?
คำตอบคือมีอยู่ ทั้งผ่านการคัดค้านตามขั้นตอนปกติ การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม และการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
เราขอหยิบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่เคยตัดสินคดีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมโหฬารให้กับรัฐบาลชุดก่อน นั่นคือ คดีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่ง ‘เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)’ เมื่อปี 2554
แม้ตำแหน่งใหม่ของถวิลจะเป็นถึงที่ ‘ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ’ ที่ถือเป็นข้าราชการระดับซี 11 เท่ากัน แต่ความสำคัญของบทบาทหน้าที่กลับแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพราะ สมช.ดูภาพรวมงานความมั่นคงของรัฐบาล ฝ่ายที่ปรึกษานายกฯ จะทำงานได้แค่ตามที่เลขาธิการนายกฯ มอบหมายเท่านั้น
ในคำฟ้อง ถวิลระบุว่า คำสั่งย้ายตนมาเป็นที่ปรึกษานายกฯ ระบุว่า จะมอบหมายงานสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงต่างๆ ให้ แต่ถึงเวลาจริงกลับไม่มีการมอบหมายงานใดๆ มาให้เลย เข้ากับคำศัพท์ ‘ตบยุง’ นั่นเอง คือไม่มีงานอะไรมาให้ทำ ได้แต่นั่งตบยุงไปวันๆ
ที่สุด ศาลตัดสินให้คืนตำแหน่งเลขาฯ สมช. แก่ถวิล และผลจากคดีนี้ ยังนำไปสู่การถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกฯ โดยศาลรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา
ไม่รวมถึงว่า ศาลปกครองใช้คดีนี้เป็นหมุดหมายในการตั้งแผนกขึ้นใหม่ เพื่อรับพิจารณาคดีแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะ – แผนกคดีบริหารงานบุคคล
อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างสำคัญของการย้ายถวิล และย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ รวมไปถึงบุคคลอื่นๆ ก่อนหน้านื้ที่ถูกย้ายด้วยมาตรา 44 ก็คือ กรณีแรกฟ้องศาลได้ กรณีหลังฟ้องศาลไม่ได้!
ตั้งแต่ปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งเปิดตำแหน่งใหม่ในสำนักนายกฯ สำหรับใช้โยกย้ายข้าราชการตำแหน่งสูงๆ ที่อยู่ระหว่างถูก ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือ สตง.ตรวจสอบ ย้ายมาทำงานที่สำนักนายกฯ ก่อน ในระหว่างที่คดีของเจ้าตัวยังไม่สิ้นสุด ถึง 100 ตำแหน่ง
‘กรุ’ ในสำนักนายกฯ ถึงขยายไปมากกว่าเดิม จนห้องทำงานไม่พอนั่ง ต้องย้ายไปใช้อาคารของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล รวมถึงเช่าที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ไว้รองรับ
โดยปัจจุบัน มีผู้อยู่ในกรุแล้วกว่า 40 คน ยังเหลือที่ว่างอีก 60 คน
แต่ใช่ว่า จะมีแค่การโยกย้ายเข้ามาทำงานที่สำนักนายกฯ เท่านั้น ที่สื่อมวลชนจะเรียกว่า ‘เข้ากรุ-ตบยุง’ ได้ กระทั่งการโยกย้ายในกระทรวงใดๆ ก็อาจถูกสื่อมวลชนเรียกด้วย 2 คำนี้ได้
เช่น
– ย้ายตำรวจ สน.สำคัญเข้าไปช่วยงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังเกิดกรณีฉาว
– ย้ายนายทหารระดับสูง ฝ่ายคุมกำลัง ไปทำงานในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
– ย้ายข้าราชการพลเรือน อธิบดีกรมสำคัญๆ ไปเป็นผู้ตรวจราชการหรือรองปลัดกระทรวง
ฯลฯ
แม้ทั้งหมดจะเป็นภาษาข่าว เพราะในภาษาราชการ การแต่งตั้งโยกย้ายไม่น่าจะมีคำว่า ‘เข้ากรุ-ตบยุง’ อยู่แน่ๆ
แต่ข้าราชการทั้งตำรวจ ทหาร หรือพลเรือนรายใด ที่ถูกโยกย้ายจากตำแหน่งเดิม แล้วสื่อมวลชนใช้คำพาดหัวด้วย 2 คำนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า อนาคตทางวิชาชีพต่อไปของพวกเขาอาจไม่สดใสเท่าใดนัก