ช่วงนี้เราอาจได้เห็นภาพหญิงวัยกลางคนที่มักจะปรากฏตัวในสื่อของหมอปลา และสิ่งที่เรามักจะเห็นภาพที่คุณป้า—ซึ่งก็คือป้ารัตนา—ทำการพนมมือขึ้นและพูดกึ่งสาปแช่งว่า “ขอพระลงโทษอย่างหนักๆๆๆ”
นอกจากประเด็นที่ป้ารัตนากลายเป็นมีมและการที่ป้าเองเหมือนจะถูกบูลลี่ ในฐานะที่เป็นแฟนคลับป้ารัตนา ซึ่งหลายคนก็ชอบการตอบโต้ที่ตรงไปตรงมาของป้ารัตนา ในด้านหนึ่งนั้นสิ่งที่ป้ารัตนาทำก็เป็นสิ่งที่เราเองพอจะเข้าใจและสะท้อนความเชื่อบางอย่างของมนุษย์
การขอพระลงโทษ อันที่จริงก็เป็นสิ่งที่อยู่ในใจลึกๆ อยู่เหมือนกัน การขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษอาจจะพอนิยามในภาพกว้างๆ ว่าสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องทัณฑ์สวรรค์ (divine punishment) แนวคิดที่ปรากฏแทบจะในทุกศาสนาและในวัฒนธรรมทั่วโลก ความคิดเกี่ยวกับทัณฑ์สวรรค์สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องความยุติธรรม โดยเราเชื่อว่า โลกใบนี้อาจจะมีพลังเหนือธรรมชาติที่คอยสร้างความเป็นธรรมให้กับโลกที่ไม่ค่อยยุติธรรม คอยลงโทษคนที่ละเมิดกฎเกณฑ์หรือความถูกต้อง อาจจะมีลักษณะเป็นตัวตน เป็นเทพเจ้าเทวดาที่คอยสอดส่อง หรืออาจมีลักษณะเป็นระบบ เป็นนามธรรมเช่น กฎแห่งกรรม
ในแง่ของการลงโทษและการบอกเล่าเรื่องราวอย่างมีสีสันของมนุษย์กับเทพเจ้าย่อมหนีไม่พ้นปกรณัมกรีกโรมัน ตำนานของกรีกโรมันเป็นหนึ่งในชุดเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยการละเมิดและการลงโทษ ส่วนใหญ่เป็นการละเมิดอำนาจเทพเจ้าของเหล่ามนุษย์เดินดิน และเกือบทุกครั้งการลงโทษของเทพเจ้ากรีกนั้นไม่ได้เป็นการสาปให้ตาย แต่อภินิหารและโทษทัณฑ์ของการละเมิดสรวงสวรรค์นั้นนำพาให้เกิดการลงโทษที่แสนน่าทึ่ง เพื่อเป็นการฟังคำของป้ารัตนา The MATTER จึงชวนไปดูการลงหนักอย่างหนักของเหล่าทวยเทพ ว่าบทลงโทษไหนจะหนักถูกใจบ้าง
Prometheus
ข้อหา : ขโมยไฟมามอบให้มนุษย์
โทษ : โดนล่ามติดไว้กับภูเขาและให้นกอินทรีมาจิกตับทุกคืน
โพรมีทีอุสเป็นหนึ่งในตำนานที่โด่งดังและถือว่ามีอิทธิพลเป็นรากฐานความเชื่อของมนุษยชาติในโลกตะวันตก และอาจจะของโลกนี้ด้วย ตามท้องเรื่องที่เรารู้จักกันดีคือโพรมีทีอุสเป็นมนุษย์ที่หลอกเทพเจ้าซุส โพรมีทีอุสขึ้นไปถวายเครื่องบูชาให้กับทวยเทพโดยวางของบูชาเป็นสองกอง กองหนึ่งเป็นเนื้อที่หุ้มด้วยกระเพาะวัว ส่วนอีกกองเป็นกระดูกกระทิงหุ้มด้วยไขมัน—คงเป็นอาหารอย่างหนึ่ง อย่างแรกดูน่าเกลียดที่ด้านนอก อย่างหลังด้านนอกดูสวยงามน่ากิน ซุสเลือกอย่างหลังทำให้มนุษย์สามารถสังเวยเพียงกระดูกและไขมันในขณะที่เนื้อนั้นเก็บไว้กินได้ หลอกเท่านั้นไม่พอ ยังขโมยไฟกลับลงมาแจกให้มนุษย์ด้วย ที่บางตำนานบอกว่าซุสริบมาจากมนุษย์
สำหรับโพมีทีอุสถือเป็นมนุษย์ (mortal) คนแรกที่กล้าท้าทายพระเจ้า และสิ่งที่โพรมีทีอุสทำคือการขโมยไฟ บ้างก็ตีความว่าไฟนั้นคือตัวแทนของศาสตร์ (techne) คือเป็นจุดเริ่มของความรู้และศิลปะ (techne ของกรีกมีความหมายคล้ายๆ art ในความหมายกว้าง) ทั้งปวง อันเป็นอำนาจและรากฐานอารยธรรมของมนุษย์ สิ่งที่ซุสทำต่อมาคือส่งนางแพนดอราพร้อมหีบที่บรรจุสิ่งเลวร้ายทั้งปวงที่มนุษย์ต้องเผชิญพร้อมความหวัง (ซึ่งก็น่าคิดว่าความหวังเป็นพรหรือคำสาปกันแน่) ส่วนโพรมีทีอุสก็ได้รับโทษหนัก คือ ถูกเอาไปจำตรุด้วยการผูกไว้กับก้อนหิน โดยทุกๆ วันจะมีอินทรีมาจิกเอาตับของโพรมีทีอุสออกไป และเมื่อหมดวัน ตับนั้นก็จะงอกขึ้นมาวนเวียนไม่สิ้นสุด
ในตำนานเรื่องนี้ปรากฏหลายสำนวน บ้างก็เล่าว่าโพรมีทีอุสเป็นไททัน—วงศ์วานของซุสที่ซุสกำจัดก่อนสถาปนาโอลิมปัสขึ้น ส่วนโพมีทีอุสไม่ได้ร่วมวงศ์สงคราม ซุสเลยมอบหน้าที่ให้สร้างมนุษย์ แต่โพมีทีอุสดันรักสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นและขโมยไฟมาให้ ต่อมาโพรมีทีอุสก็ถูกเล่าและตีความใหม่เรื่อยๆ โดยเฉพาะแง่มุมของความเป็นมนุษย์ ความรู้ และการท้าทายพระเจ้า
Erysichthon
ข้อหา : มีอหังการ และไปตัดไม้จากป่าของเทวีดิมีเทอร์มาทำโต๊ะงานเลี้ยง
โทษ : โดนสาปให้หิวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนต้องกินเนื้อตัวเอง
มาที่ตำนานที่เรียบง่ายหน่อย ว่าด้วยมนุษย์ที่หยิ่งผยองจนไปละเมิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เข้า เรื่องราวของ เอรีซิชทอน (Erysichthon) ตามท้องเรื่องก็ทั่วๆ ไป เอรีซิชทอนเป็นกษัตริย์มนุษย์เดินดินนี่แหละ แต่ดูทรงจะเป็นกษัตริย์ที่มั่นอกมั่นใจในตัวเอง ซึ่งในความมั่นใจจนเกินมนุษย์นี้ความเชื่อแบบกรีกเรียกว่าอหังการ (hubris) คำว่า อหังการ ตามปรัชญากรีกมองว่าทำให้มนุษย์ละเมิดระบบระเบียบต่างๆ จนกลายเป็นทรราชได้ ทีนี้ ตามเรื่องกษัตริย์เอรีซิชทอนมีงานเลี้ยง จะจัดงานใหญ่ บางตำนานบอกว่าพี่แกจะเอาไม้ไปทำโต๊ะ บ้างก็บอกจะเอาไปทำโรงจัดเลี้ยง พี่แกก็เลยสั่งต้นไม้ และต้นไม้เจ้ากรรมก็ดันตัดไปจนถึงป่าศักดิ์สิทธิ์ของเทวีดิมีเทอร์ เทวีแห่งพืชพรรณและผลผลิต
ที่บอกว่าพี่แกค่อนข้างร้ายและหูตามัว คือ ไม้ที่ตัดๆ ไปก็ไปเจอต้นโอ๊กใหญ่ที่เป็นไม้ของเทพีดิมีเทอร์ โดยไม้นั้นเป็นที่อาศัยและที่บูชาของเหล่านางไม้ ตัวต้นไม้ประดับไว้ด้วยเครื่องสังเวยเพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์ โดยตัวของกษัตริย์เอรีซิชทอนเองเป็นคนไม่ใส่ใจ ซ้ำยังท้าทายอำนาจต่างๆ ในบางตำนานเล่าละเอียดถึงขนาดว่า เมื่อลงมือตัดโอ๊กใหญ่ ต้นโอ๊กนั้นสั่นไหวและมีเลือดทะลักออกมา พร้อมกับมีเสียงนางไม้กล่าวโต้ตอบด้วย ตัวเรื่องย้ำความบาปของเอรีซิชทอน ขนาดว่าคนตัดไม้ชี้ว่าต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ตัวเอรีซิชทอนก็คว้าขวานสับหัวคนตัดไม้แล้วลงมือตัดไม้เสียเอง
แน่นอนว่าด้วยอหังการนั้น นางไม้ในต้นโอ๊กนั้นก็สาป และเทวีดิมีเทอร์ก็พิโรธมาก ในเรื่องกษัตริย์กลับไปปาร์ตี้กินดื่ม โดยเทวีได้ส่งเทวีนามว่า ลิมอส (Limos) คือเทวีแห่งความหิวกระหายอันไม่สิ้นสุดและความเศร้าหมองไปสถิตอยู่ในท้อง ตัวเทวีจึงเป็นเหมือนกับเพลิงที่ทำหน้าที่เผาอาหารทุกอย่างที่เอรีซิชทอนกินเข้าไป ในเรื่องกล่าวว่า กษัตริย์หิวและกินไม่หยุดหย่อน ถึงขนาดขายลูกสาวตัวเองเป็นทาสครั้งแล้วครั้งเล่า (ลูกสาวมีพรให้แปลงกายได้ ขายเสร็จก็หนี) จนสุดท้ายจึงกัดกินร่างกายตัวเองและตายลง ปกติเทวีดิมีเทอร์ค่อนข้างอารี แต่ครั้งนี้สาปได้โหดมาก
Actaeon
ข้อหา : ไปเห็นเทวีอาร์ทีมิสอาบน้ำในสระ
โทษ : ถูกสาปให้เป็นกวาง และถูกล่าโดยหมาล่าเนื้อของตัวเอง
ตำนานเรื่องเทวีไดอานากับแอกทีออน เป็นตำนานในเรื่องเล่าชุด Metamorphoses ของ โอวิด กวีโรมัน ตัวตำนานชุดนี้หลักๆ จะเน้นอธิบายการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ ตามชื่อที่แปลว่าการกลายร่าง ในเรื่องเล่าถึงแอกทีออน ผู้เป็นนายพรานและลูกหลานฮีโร่ที่บังเอิญเข้าไปในป่าที่เทวีไดอานาหรือเทวีอาร์ทีมิส—เทวีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์—กำลังลงเล่นน้ำกับเหล่านางไม้ ผลคือเมื่อเหล่านางไม้เห็นและเทวีกำลังตกใจนั้นก็ได้สาดน้ำใส่เพื่อพรางตาจากชายหนุ่ม เมื่อน้ำกระเซ็นไปโดนแอกทีออนร่างของเขาก็ได้กลายเป็นกวาง และถูกหมาล่าเนื้อของตัวเองไล่ก่อนจะฉีกร่างเป็นชิ้นๆ
ในบางเรื่องเล่าก็เล่าคล้ายๆ กับเรื่องอื่น คือ แอกทีออนจริงๆ ก็เป็นเชื้อสายเทพเจ้า เป็นลูกหลานของษัตริย์ผู้ก่อตั้งเมืองธีบส์ โดยตัวเองเป็นทั้งนักรบและนักล่า ทีนี้ก็เหมือนไปอวดโอ่ศักดาด้านทักษะการล่าว่าเยี่ยมยอดกว่าเทวี ผลก็เลยถูกสาปให้กลายเป็นกวางและโดนล่าเองไปตามระเบียบ
Sisyphus
ข้อหา : เป็นทรราช และละเมิดกฎเกณฑ์ของการเป็นเจ้าบ้าน
โทษ : ถูกนำไปขังที่โลกใต้พิภพ ให้เข็นหินก้อนใหญ่ขึ้นภูเขา ก่อนที่หินจะตกลงสู่ตีนเขาและต้องเข็นขึ้นไปใหม่อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ซิซิฟัสเป็นอีกหนึ่งตำนานการลงโทษที่กลายมาเป็นอุปมาหนึ่งของปรัชญาสมัยใหม่ คือ แนวคิดอัตถิภาวะนิยมในงานเขียนชื่อ The Myth of Sisyphus ของ อัลแบร์ กามูต์ งานเขียนที่ตั้งคำถามกับความวนเวียนไร้แก่นสารของโลกสมัยใหม่ กลับไปที่ซิซิฟัส ตัวซิซิฟัสถือเป็นตัวละครในตำนานที่ค่อนข้างโด่งดัง มีหลายตำนานเล่าถึง แต่รวมๆ คือเป็นกษัตริย์หรือมนุษย์ที่มีชื่อเรื่องเล่ห์กล บ้างก็ว่าเป็นทรราช เช่น กรณีการเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของเมืองคอรินท์ (Corinth) โดยเป็นกษัตริย์ที่ชั่วร้าย ชอบหลอกลวงพ่อค้าและนักเดินทาง ปล้นฆ่า จนกระทั่งถึงจุดที่ไปละเมิดกฎของกรีกที่เรียกว่า xenia คือกฎของการเป็นเจ้าบ้าน ถ้าเราเคยดูหนังเรื่อง ทรอย (Troy) จะมีกฎว่าถ้ามีแขกมาต้องเลี้ยงและมอบความปลอดภัยในการต้อนรับขับสู้ให้ แต่ซิซิฟัสทำกลับกันคือดันฆ่าคนที่มาในฐานะแขกในชายคาบ้าน ซุสผู้บริบาลกฎดังกล่าวก็เลยพิโรธ
นอกจากตำนานเรื่องกษัตริย์ชั่วร้ายแล้ว ซิซิฟัสยังถูกเล่าเป็นทำนองเดียวกันกับโพรมีทีอุส คือ เป็นมนุษย์ที่อาจหาญไปท้าทายพระเจ้าและกฎของธรรมชาติ โดยไปหลอกความตาย (Death) บ้างก็ว่าเป็นเฮดีส ในเรื่องซิซิฟัสมนุษย์ที่ทำการโกงความตาย—บ้างก็ว่าถึงสองครั้ง ทั้งมีการหลอกจับเฮดีสขึงโซ่จนไม่สามารถไปเอาความตายจากที่อื่นได้ ร้อนถึงเอรีสเทพสงครามต้องมาช่วย ในขณะเดียวกันก็บอกให้เมียไม่ต้องฝังร่างทำให้ซิซิฟัสกลับจากความตายและใช้ชีวิตอยู่ได้จนแก่อีกรอบ ทีนี้ โทษของซิซิฟัส คือ ซุสได้สาปให้ซิซิฟัสต้องเข็นหินก้อนใหญ่ขึ้นภูเขาทุกวัน พอหมดวันหินก็จะกลิ้งตกลงมาที่เดิม ต่อมาการเข็นหินอย่างไม่รู้จบก็เลยถูกนักปรัชญาสมัยใหม่เอาไปใช้นิยามชีวิตของมนุษย์ในโลกยุคสงครามที่มันไร้ความหมาย ไร้แก่นสาร ดำเนินวนเวียนไปเหมือนกับการเข็นหิน
Tantalus
ข้อหา : ทรยศพระเจ้าและขโมยอาหารทิพย์ไปให้มนุษย์
โทษ : ถูกขังในนรกให้ยืนอยู่ในสระน้ำใสสะอาด มีร่มเงาของต้นไม้ผล แต่ถ้าพยายามจะดื่มน้ำหรือฉวยเอาผลไม้ น้ำจะลดต่ำลง และกิ่งไม้จะโบกสะบัดจนเอื้อมไม่ถึง
ถ้าเราดูมนุษย์ที่ถูกลงโทษ—ซึ่งด้านหนึ่งตำนานทั้งหลายก็มนุษย์เขียนขึ้นเนอะ โดยความหมายเราอาจจะรู้สึกว่า มนุษย์ถูกลงโทษเพราะละเมิดเส้นแบ่งของความเป็นมนุษย์ ละเมิดกฎเหล็กบางอย่าง เช่น ความตาย การนำความรู้มาให้ ในทางกลับกันแม้ว่ามนุษย์จะถูกลงโทษ เราก็เห็นกลิ่นอายการท้าทายอำนาจของมนุษย์ที่มีต่อสรวงสวรรค์อยู่ในที กรณีของแทนทาลัสก็คล้ายๆ กันกับโพรมีทีอุสหรือซิซิฟัส ตัวแทนทาลัสเองเป็นลูกของซุสแหละ คือ เป็นกึ่งเทพ โดยสถานะแทนทาลัสถือเป็นกษัตริย์ของมนุษย์ และเป็นมิตรสหายใกล้ชิดของเทพโอลิมปัส เข้านอกออกใน กินข้าววันรวมญาติด้วยกันได้
ทีนี้ ก็เหมือนๆ กับหลายเรื่อง คือ ตัวละครที่ไม่ใช่เทพหรือเทพเองก็ตามมักจะรักมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น friend of family หรือเป็นครอบครัวเทพโอลิมปัสเอง โดยนัยแทนทาลัสก็คือหักหลัง—อย่างน้อยคือหักหลังความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยความผิดแทนทาลัสมี 2-3 เรื่องที่เล่าต่างๆ กัน ทั้งเป็นคนที่เผยความลับสวรรค์ที่ไปได้ยินได้ฟังมาขณะที่ขึ้นไปบนโอลิมปัส อีกข้อคือพี่แกเล่นฆ่าลูกตัวเองเพื่อดูว่าฟ้ามีตาไหม และอีกประการคือขึ้นสวรรค์ไปกินข้าวไม่พอดันขโมยมาให้มนุษย์ด้วย ประเด็นอยู่ที่อาหารทิพย์บนสวรรค์จะมีอยู่สองอย่างคือ nectar และ ambrosia เป็นเครื่องดื่มทิพย์และอาหารทิพย์ ในหลายตำนานจะอ้างว่าอาหารสองอย่างนี้มอบความเป็นอมตะและพลังให้กับเทพ
การทำโทษของพวกทรยศก็เลยค่อนข้างหนักเหมือนกัน คือ แทนทาลัสถูกเอาไปขังไว้ในโลกใต้พิภพ โดนสาปให้ยืนอยู่ในสระน้ำที่ท่วมเสมอคอ และบนศีรษะมีต้นไม้ที่เต็มไปด้วยผลแผ่กิ่งก้านอยู่ แต่ในการยืนอยู่ตรงนั้นทั้งน้ำและกิ่งก้านของผลไม้ที่ชื่นฉ่ำและสุกงอมหอมหวาน เมื่อแทนทาลัสอยากจะก้มหน้าลงดื่มกิน น้ำนั้นก็จะไหลหนีริมฝีปาก ส่วนผลไม้นั้นก็เชิดกิ่งหนีเมื่อเขาไขว่คว้า การสาปนี้จึงเหมือนเป็นการเอาสิ่งที่ปรารถนาล่อไว้เพียงเอื้อมมือแต่ก็ไม่สามารถเอื้อมถึงได้
Cassandra
ข้อหา : ผิดสัญญากับอพอลโล
โทษ : มองเห็นอนาคต แต่บอกใครก็ไม่มีใครเชื่อ ต่อมารับรู้หายนะของครอบครัว ทว่าถูกมองเป็นคนบ้าในสายตาคนอื่น
ส่งท้ายด้วยทัณฑ์ทรมานของฮีโร่หญิงที่ถือว่าค่อนข้างครีเอทีฟและทรมานใจคนที่โดน รวมถึงเป็นต้นเรื่องของการล่มสลายของทรอยอันยิ่งใหญ่ด้วย คาสซานดราเป็นธิดาของกษัตริย์กรุงทรอย เป็นน้องสาวของเฮกเตอร์ ตัวแคนซาสดราเองเป็นนักบวชในวิหารของอพอลโล ถือกันว่านางมีโฉมงดงามที่สุดในนครและเทพอพอลโลก็หลงรักเธอด้วย ทีนี้ ในเวอร์ชั่นทั่วๆ ไป อพอลโลก็คงจะมีดีลไว้ พอดีลเสร็จแคสซานดราก็ตกลงปลงใจว่า อะ จะตกล่องปล่องชิ้นกันนะ เทพอพอลโลก็มอบของขวัญให้เป็นการมองเห็นอนาคตให้
ทว่า หน้างานแคสซานดราไม่รู้อีท่าไหน ดันไม่ยอมตามตกลง ก็คือหนี แล้วผิดสัญญาความรักกับอพอลโล แหม่นึกภาพ คนมันให้ใจไปแล้ว ของก็ซื้อให้แล้ว ดันมาชิ่งกันได้ แต่อพอลโลก็แสบคือไม่ใช่แค่จะถอนพร แต่กลับสาปซ้ำ ได้พรว่ามองเห็นอนาคตใช่มั้ย สาปซ้ำว่าถึงมองเห็นและทำนายอะไรที่เป็นความจริงไป พูดอะไรออกไปก็จะไม่มีใครเชื่อ ความซวยคือแคสแซนดราไม่ได้เป็นแค่หมอดูกะโหลกกะลา แต่เป็นนักบวชหญิงและเป็นธิดากษัตริย์ พอตัวต้นเรื่องคือเจ้าชายปารีสเสด็จไปสปาตาร์ แคสซานดราเองก็เห็นอนาคตและพยายามเตือนไม่ให้ไป โดยทั้งเรื่องจะมีหลายตอนมากที่แคสซานดรามองเห็นการล่มสลายและพยายามเตือน ซึ่งหลายรอบเธอก็ถูกเอาไปขังบ้าง ตีอกชกหัวแทบจะเป็นบ้า และมองเห็นการล่มสลายของบ้านเกิดลงไปกับตา ไม่นับว่าชีวิตของเธอคือผกผันและรับกรรมมากมายมหาศาล ถูกข่มขืน และกลายเป็นของกำนัลสงคราม
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.greekmyths-greekmythology.com
Illustration by Krittaporn Tochan