การจากไปของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ ซึ่งไม่ใช่แค่ในวงวิชาการ แต่เป็นการสูญเสียปัญญาชนคนสำคัญของสังคมไทย
ด้วยผลงานและเนื้องานวิชาการของอาจารย์ที่เป็นงานเขียนเผยแพร่สู่สาธารณชน จึงมีผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่คนในวงการวิชาการเท่านั้น และในอีกแง่หนึ่งคือเนื้องานที่มีความหลากหลาย ไม่ได้มีเพียงมิติทางประวัติศาสตร์ แต่สามารถส่งผลต่อผู้ศึกษาหรือผู้คนที่ค่อนข้างกว้างขวาง ถ้าเราสนใจบริบทสังคมไทยร่วมสมัย ไปจนถึงเรื่องราวเล็กน้อยอื่นๆ เราเองก็น่าจะเคยอ่านงานของอาจารย์อยู่บ้าง ไม่ว่าจะจากหนังสือหรือจากคอลัมน์ประจำของอาจารย์ก็ตาม
ในมิติทางวิชาการที่จริงจังขึ้น ผลงานหรืองานวิชาการของอาจารย์ก็มีความโดดเด่นในด้านงานวิชาการที่ข้ามสาขาต่างๆ โดยเฉพาะการสลายเส้นแบ่งของประวัติศาสตร์และวรรณคดีศึกษา นอกจากประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เต็มไปด้วยสีสันแล้ว อาจารย์ยังเป็นนักวรรณกรรมศึกษาที่เชื่อมโยงวรรณกรรมเข้ากับประวัติศาสตร์ หรือเป็นผู้อ่านตัวบทวรรณกรรมในฐานะส่วนหนึ่งของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ผลงานจำนวนมากของอาจารย์ยังเข้าข่ายงานวิชาการประเภทวัฒนธรรมศึกษา รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของไทยคดีศึกษาด้วย เป็นการทำความเข้าใจความเป็นไทยและบริบทไทยร่วมสมัยต่างๆ ซึ่งไม่แปลกเลยสำหรับคนทำงานวิชาการ หรือคนชอบอ่านงานประเภทนี้ที่จะบอกว่า เราเองต่างได้รับอิทธิพลจากกรอบความคิดหรือวิธีคิดจากอาจารย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เพื่อเป็นการรำลึกถึงอาจารย์นิธิ The MATTER ชวนย้อนอ่านผลงานบางส่วน ซึ่งต้องขอออกตัวก่อนว่า เนื่องจากผลงานของอาจารย์มีความหลากหลาย และส่งผลกระทบต่อผู้คนในมิติที่แตกต่างกัน งานเขียนทั้ง 8 ชิ้นนี้ จึงเป็นเพียงแค่ผลงานบางส่วน และหลายส่วนก็มีอิทธิพลในมิติวรรณกรรมศึกษา วัฒนธรรมศึกษา และไทยคดีศึกษา (Thai Studies)
การปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ. 2431 (2509)
งานวิชาการต่างๆ หลายครั้งมีรากฐานมาจากงานศึกษาในช่วงแรก และนี่คือวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยเหตุการณ์ปราบฮ่อ เป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะสัมพันธ์กับการรวมอำนาจในสมัยรัชกาลที่ 5 และการเกิดกลุ่มโจรฮ่อขึ้นในบริเวณพื้นที่ลาว ซึ่งไทยเองได้พยายามปราบปรามแต่ก็ไม่สำเร็จ ประกอบกับฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะสิบสองจุไท และทำให้เกิดการเสียดินแดนขึ้น
ส่วนความน่าสนใจของวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ อาจารย์ได้ระบุว่า การเลือกเหตุการณ์ดังกล่าวในขณะนั้นมีข้อมูลขัดแย้งและคลุมเครือ บางส่วนของข้อเขียนและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็สัมพันธ์กับผู้เขียนงานนั้น ซึ่งจะได้อิทธิพลจากความเป็นชาตินิยม งานของอาจารย์จึงอยากเข้าไปร่วมใช้วิธีทางประวัติศาสตร์ เพื่อศึกษาและสอบทานเทียบเคียงหลักฐานต่างๆ โดยใช้หลักฐานที่มีน้ำหนัก เช่น บันทึกของชาติที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างอังกฤษ มาสร้างความกระจ่างให้กับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น
งานวิจัยชิ้นนี้สามารถเข้าถึงได้แล้ว โดยอยู่ในคลังวิทยานิพนธ์ของจุฬาฯ ทั้งนี้ นอกจากงานวิจัยดังกล่าวจะทำให้เราเห็นมิติอันซับซ้อน และวิธีการทางประวัติศาสตร์แล้ว หัวข้อศึกษาระดับปริญญาเอกของอาจารย์ที่มิชิแกนก็มีความน่าสนใจคือ Fiction as history อาจารย์ใช้บันเทิงคดีอินโดนีเซียในการศึกษา ซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับงานในยุคต่อๆ มา ทั้งประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่อ่านสนุกของอาจารย์เอง และงานเขียนในด้านวรรณกรรมศึกษา หรือการอ่านประวัติศาสตร์สังคมที่สัมพันธ์กับวรรณกรรม
สามารถอ่านได้ที่: cuir.car.chula.ac.th
ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก (2525)
หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างเป็นตำราเล่มแรกๆ ของอาจารย์หลังจากจบการศึกษาในช่วงปี 2519 ก่อนจะกลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากคำนำของหนังสือ งานเขียนนี้เป็นตำราวิชาประวัติศาสตร์นิพนธ์ ซึ่งปกติจะเผยแพร่เป็นแผ่นๆ เพื่อประกอบการเรียนในคลาส ต่อมามูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้จัดการพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม ทำให้สามารถเผยแพร่ไปในวงกว้างขึ้น และอาจนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ อาจารย์ยังระบุอีกว่า ผลอย่างหนึ่งของการเผยแพร่คืออาจได้รับคำติติง เพราะตำราเล่มนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่ จึงทำให้ตำราอันเป็นแนวทางทั้งการสอนและการศึกษาประวัติศาสตร์เล่มนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นต่อไป
สำหรับเนื้อหาของประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก นั้นมีความสนุก เพราะพูดถึงประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ พาให้เห็นว่ายุคโบราณเขียนประวัติศาสตร์กันอย่างไร และใครเป็นผู้เริ่ม ทั้งนี้งานเขียนชิ้นนี้ก็สามารถเข้าถึงและอ่านได้ฟรีอีกด้วย
สามารถอ่านได้ที่: openbase.in.th
ปากไก่และใบเรือ: รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (2527)
ปากไก่และใบเรือ นับเป็นงานวิชาการที่สำคัญมากๆ ชิ้นหนึ่งของวงการศึกษา ทั้งวรรณกรรมศึกษาและการศึกษาประวัติศาสตร์ งานเขียนมีความสร้างสรรค์ ทำให้ความคิดในมิติทางประวัติศาสตร์และความเข้าใจสังคมไทย ทั้งในอดีตอันใกล้และปัจจุบันชัดเจนขึ้น โดยเป็นงานศึกษาประวัติศาสตร์ที่ใช้วรรณกรรมและวัฒนธรรมศึกษา เช่น กรอบแนวคิดทฤษฎี เข้าร่วมทำความเข้าใจสังคมไทย
กรอบแนวคิดฯ โดยสังเขปคือ การให้ภาพประวัติศาสตร์ รวมถึงประวัติศาสตร์เชิงความคิดที่สัมพันธ์กับการก่อตัวขึ้นของชนชั้นที่เรียกว่า กระฎุมพี เป็นอิทธิพลจากกรอบทฤษฎีของมาร์กซ์ ซึ่งอาจารย์นำความคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจที่กลับมามีอิทธิพลต่อสังคม รวมถึงการก่อตัวขึ้นของชนชั้น ไปจนถึงกิจกรรมทางปัญญา เช่น การอ่าน การเขียน การเกิดขึ้นของระบบการศึกษา และการรื้อคิดความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณกรรมและวรรณคดีที่ถูกโยงเข้าสู่บริบท เพราะทั้งใช้บริบทกลับมาเข้าใจตัวบทวรรณกรรมใหม่ และใช้วรรณกรรมกลับไปเข้าใจบริบทสังคม
สามารถอ่านได้ที่: sameskybooks.net
* พิมพ์ครั้งที่ 4 ปี 2555
สุนทรภู่: มหากวีกระฎุมพี (2528)
แม้ทุกวันนี้จะยังมีประเด็นว่า สุนทรภู่เป็นคนระยอง แต่ในการศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมค่อนข้างได้ข้อยุติแล้วว่า สุนทรภู่ กวีราชสำนักนั้นเป็นคนกรุงเทพฯ งานเขียนชิ้นนี้ค่อนข้างสะท้อนความเชื่อมโยงของโลกวรรณกรรม และบริบทสังคมในประวัติศาสตร์ยุคใกล้อย่างรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ซึ่งถ้าดูแล้วค่อนข้างส่งผลเป็นรากฐานความคิดบางอย่างมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การคิดใหม่ในมิติของความเข้าใจเรื่องสุนทรภู่ อาจารย์เสนอให้เรามองสุนทรภู่ในฐานะชนชั้นกระฎุมพี คือเป็นชนชั้นใหม่ที่ไม่ใช่แรงงานหรือนายทุน ไม่ใช่เจ้าศักดินา และไม่ใช่ชาวนา แต่เป็นสุนทรภู่ที่อยู่ในพื้นที่ของผู้มีการศึกษาและมีอิทธิพลด้านรสนิยม
งานเขียนของอาจารย์เสนอว่า สุนทรภู่ค่อนข้างเหมือนคนชนชั้นกลางในปัจจุบัน เพราะมีการปรับคำประพันธ์หรือผลงานของตัวเองไปสู่ตลาดหรือผู้อ่านทั่วไป ไปจนถึงความคิดที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมการอ่านในยุคนั้นที่ก่อนหน้านี้ความบันเทิงคือโคลงกลอน ไปเป็นเรื่องการฟัง เป็นการขับร้องเพื่อความบันเทิง แต่งานของสุนทรภู่กลับออกแบบเพื่อการอ่านด้วย
* พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2545
การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (2529)
การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานเขียนยอดฮิตของอาจารย์ที่หลายๆ คนได้อ่าน แน่นอนว่าประวัติศาตร์ช่วงเสียกรุงฯ และรอยต่อมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่ชัดเจนนัก เช่น ในตำราเรียนต่างๆ ผู้นำคนสำคัญอย่างพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ยังเต็มไปด้วยปริศนาและความคลุมเครือ ไปจนถึงความเข้าใจในมิติทางการเมือง การเปลี่ยนผันในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง สมัยนั้นก็เป็นหนึ่งในช่วงประวัติศาสตร์ของการสูญเสียและลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง
งานเขียนชิ้นนี้จึงค่อนข้างเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์สไตล์อาจารย์ เพราะเลือกไฮไลต์ไปบางประเด็นอย่างความเข้าใจเรื่องอำนาจ การเมือง และการบริหารในยุคดังกล่าว โดยอาจารย์เองก็เล่าและแบ่งประเด็นช่วงเวลาอย่างถี่ถ้วน และเต็มไปด้วยสำนวนภาษา ทำให้กลายเป็นงานประวัติศาสตร์ที่ทั้งเข้มข้นและอ่านสนุก
สามารถอ่านได้ที่: matichonbook.com
* พิมพ์ครั้งที่ 15 ปี 2565
ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ ว่าด้วยประเพณี, ความเปลี่ยนแปลง และเรื่องสรรพสาระ (2538)
เมื่อเราพูดคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ เรามักนึกถึงเรื่องเล่าระดับชาติ และการต่อสู้เพื่อสร้างบ้านเมืองของชนชั้นนำ แต่สิ่งที่อาจารย์พูดถึงบ่อยคือ ประวัติศาสตร์และเรื่องราวเล็กๆ ของวัฒนธรรมชาวบ้าน หรืออาจเรียกว่าวัฒนธรรมไพร่ หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความที่เป็นงานเขียนแบบลำลอง เราจะได้อ่านเรื่องราวที่อาจารย์เล่าจากการนึกคิดถึงสิ่งต่างๆ หรือไปพาเรามองยังเกร็ดหรือเรื่องราวประวัติศาสตร์ มิติทางวัฒนธรรมที่มีนัยทางสังคม และการทำความเข้าใจสังคมที่ทั้งสนุก น่ารัก และได้ความรู้เล็กๆ อันสัมพันธ์กับเรื่องใหญ่ๆ อื่นๆ
สามารถอ่านได้ที่: matichonbook.com
* พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2557
บริโภค/โพสต์โมเดิร์น (2547)
หลังปี 2540 ถือเป็นช่วงเวลาที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่และการก้าวเข้าสู่สังคมแห่งเทคโนโลยี บทบาทของอาจารย์ในช่วงนั้น คือการเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ผลิตผลงานระดับขายดี อ่านสนุก และให้ความรู้พร้อมความเข้าใจ โดยเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สังคมกำลังเผชิญความสั่นคลอน และความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ นำไปสู่การบริโภคและการมาถึงของสื่อ เช่น โทรทัศน์ โฆษณา และความบันเทิงอื่นๆ ดังนั้น การทำความเข้าใจสังคมร่วมสมัย จึงเป็นอีกหนึ่งบทบาทของนักคิดและนักวิชาการ
สำหรับตัวอาจารย์เองก็ค่อนข้างร่วมสมัย มีความเข้าใจกรอบความคิดต่างๆ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่เข้ามาในสังคมไทยในช่วงนั้น (ซึ่งดำรงอยู่จนทุกวันนี้) นอกจากการบริโภคแล้ว คือกรอบความคิดใหม่ๆ เช่น คอนเซ็ปต์ยอดฮิตอย่างโพสโมเดิร์นก็เข้ามามีอิทธิพล และเป็นที่ถกเถียงของวงวิชาการไทยด้วย งานเขียนเล่มนี้จึงเป็นการทำความเข้าใจสังคมไทยร่วมสมัย โดยพาเราไปมองความเป็นไปบางส่วนที่อาจแปลกประหลาดอย่างคุ้นเคย พาเราไปรู้จักตัวเราเองในฐานะปัจเจกชน พาไปมองการเป็นส่วนหนึ่งของโลกทุนนิยม และวงจรของการบริโภคอย่างไม่สิ้นสุด ไปจนถึงเรื่องราวอื่นๆ ในสังคมร่วมสมัยของเรา
สามารถอ่านได้ที่: m.se-ed.com
รากหญ้าสร้างบ้าน ชนชั้นกลางสร้างเมือง (2552)
ส่งท้ายด้วยงานเขียนที่ทำความเข้าใจบริบทร่วมสมัย โดยเชื่อมโยงกับผลงานหรือความสนใจก่อนๆ ของอาจารย์เอง งานเขียนชิ้นนี้เกิดขึ้นในช่วงการเมืองไทยร่วมสมัย ยุคที่มีประเด็นเรื่องชนชั้น เป็นความขัดแย้งทางชนชั้นที่สัมพันธ์กับการเมือง คือความขัดแย้งของคนเมืองและคนชนบท ถ้าเรามองย้อนกลับไป งานประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของอาจารย์ก็พูดถึงการก่อตัวขึ้นของชนชั้นที่เราเรียกว่า ชนชั้นกลางในปัจจุบัน (กระฎุมพี) งานเขียนนี้ให้ภาพต่อเนื่องของการก่อตัวขึ้นของ 2 ชนชั้นในนามประชาชน และพยายามอธิบายด้วยมิติทางวัฒนธรรมของคน 2 กลุ่มที่มีที่มาและความคิดแตกต่างกัน โดยอิงจากบริบททางประวัติศาสตร์ทั้งใกล้และไกล เช่น การยึดโยงกับระบบจารีต และความไม่เสมอภาคของชนชั้นกลางในยุคนั้น รวมถึงชนชั้นรากหญ้าที่เชื่อในความเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้รับสิทธิ์และโอกาสจากนโยบายใหม่ๆ และการเลือกตั้ง
งานเขียนชิ้นนี้จึงเป็นหนึ่งความพยายามในฐานะนักวิชาการ สำหรับการสร้างตรงกลางและความเข้าใจในรอยร้าว และการเมืองร่วมสมัยในฐานะจุดขัดแย้ง ทั้งในเชิงความคิดและเชิงเศรษฐกิจของคน 2 กลุ่ม เป็นความเข้าใจที่จะเปิดให้ทุกฝ่ายเข้าใจซึ่งกันและกัน และอาจเป็นกระทั่งความเข้าใจที่เสนอแนะไปยังพื้นที่การบริหารของรัฐ เพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจ อันเป็นบทบาทสำคัญหนึ่งของนักวิชาการ
สามารถอ่านได้ที่: ookbee.com