“จากประโยคข้างต้น คิดว่าผู้เขียนรู้สึกอย่างไร?”
นี่คือโจทย์ภาษาไทยชวนปวดหัวที่สุดที่เราเคยทำมา และมักจะขมวดคิ้วพร้อมกับคิดในใจว่า “จะไปรู้ได้ยังไงล่ะ” ในเมื่อชีวิตจริง ผู้เขียนอาจเขียนถึงความเศร้าในยามที่กำลังสุขใจ หรือเขียนถึงความสดใสเพียงเพราะอยากหลุดพ้นจากความหดหู่ในชีวิต เรานึกถึงประเด็นนี้ขึ้นมาในระหว่างที่อ่านหนังสือ ‘ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก’ เพราะเนื้อหาเล่าถึงแต่ละตัวละคร ทั้งจากมุมที่คนอื่นมองและมุมที่พวกเขามองตัวเองซึ่งหลายครั้งที่แทบจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“เราไม่สามารถรู้เรื่องในใจของคนแต่ละคนหรอกครับ” คิมโฮย็อน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกกับเราในระหว่างบทสนทนาถึงมุมมองต่อหนังสือและเรื่องราวของตัวเขาเอง แม้ ‘ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก’ จะสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตที่ไม่อาจเลี่ยงความทุกข์ยากและความเจ็บปวดได้ ทว่าเนื้อหาเหล่านี้กลับปลอบโยนหัวใจผู้อ่านทั้งในเกาหลีและประเทศอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ไปกว่า 18 ประเทศเลยทีเดียว
วันนี้เราเลยอยากชวนมาทำความรู้จักกับคิมโฮย็อนให้มากขึ้น ทั้งชีวิต งานเขียน มุมมองต่อความเจ็บปวดและการยอมรับตัวเองของมนุษย์ รวมทั้งหาคำตอบภายใต้ตัวหนังสืออันแสนอบอุ่นนั้น ‘ผู้เขียนรู้สึกอย่างไร’ จากมุมมองของนักเขียนเอง
อะไรเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา
โดยปกติแล้วสังคมที่ใกล้กับเรามากที่สุดคือครอบครัว พอเราออกมาจากครอบครัวหน่อยก็มักจะเป็นเพื่อนบ้านหรือละแวกที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในละแวกนั้นมักจะเกิดขึ้นในร้านสะดวกซื้อ ผมเลยเอาร้านสะดวกซื้อมาเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดเรื่องราวแบบนี้ออกมาครับ
เล่าถึงสิ่งที่คุณอยากจะสื่อสารหรือความตั้งใจของหนังสือเล่มนี้ให้ฟังหน่อย
เหมือนกับชื่อหนังสือเลยคือ ‘ร้านไม่สะดวกซื้อ’ เพราะในร้านไม่สะดวกซื้อมันจะมีความไม่สะดวกสบาย ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในชีวิตคนทุกคน แต่ด้วยสังคมในยุคสมัยปัจจุบันนี้ เรามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ แล้วคนจะค่อนข้างอยากทำอะไรที่มันสบาย แล้วก็สะดวก จนบางทีเราไม่สามารถทนกับความไม่สะดวกได้ แต่ผมอยากจะบอกว่าความไม่สะดวกในชีวิตมันก็มีประโยชน์ มีคุณค่าบางอย่างด้วยเหมือนกัน เลยเขียนผ่านเรื่องราวเหล่านี้ออกมา
แล้วคุณค่าของความไม่สะดวกคืออะไร
คุณค่าของความไม่สะดวกคือการทำให้มนุษย์หรือคนในสังคมหันมาจับมือร่วมกัน ช่วยเหลือกัน เพราะว่าถ้าสบายเกินไป ชีวิตง่ายเกินไป เราอาจจะไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือกันก็ได้ ดังนั้นคุณค่าของความไม่สะดวกคือเราจะได้หันมาหาคนข้างๆ แล้วก็ช่วยกันแก้ปัญหาครับ
พอหนังสือตีพิมพ์ออกไป ฟีดแบ็กจากคนอ่านเป็นยังไงบ้าง
ที่ผ่านมาจะมีรีวิวเขียนเข้ามาเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะทางเว็บไซต์หรืออินสตาแกรม ผมอ่านหมดเลย ส่วนใหญ่ฟีดแบ็กจะไปในทางคล้ายๆ กันคือเรื่องความอบอุ่นที่ได้รับจากหนังสือเล่มนี้ แล้วก็การคิดถึงคนในครอบครัวหรือคนในสังคมที่อยู่ในละแวกใกล้กัน รวมถึงการที่เราจะไม่สิ้นหวังในคนและสังคมด้วยเช่นกัน
คิดว่าตอบความตั้งใจแรกที่เขียนไหม
จริงๆ แล้วความคาดหวังแรกที่ตั้งใจไว้ เรื่องของเนื้อหา หรือฟีดแบ็กที่ได้มาอันนั้นถือว่าตรง แต่สิ่งที่ไม่ตรงคือไม่คิดว่ามันจะฮิตขนาดนี้ (หัวเราะ)
รู้สึกยังไงที่หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมมากเลย
จริงๆ แล้วความรู้สึกของผมเหมือนกับเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์อยู่ เพราะตอนที่หนังสือเล่มนี้ออกมาแล้วได้รับความสนใจเยอะ ผมรู้สึกดีใจมากๆ เหมือนอยู่บนรถไฟบนที่สูง แต่พอผ่านไปสักพักหนึ่ง เหมือนมีความรู้สึกกดดันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกี่ยวกับผลงานชิ้นต่อไปหรือจากกระแสของหนังสือเล่มนี้ ผมรู้สึกกดดันที่จะเขียนเล่มต่อไปให้ออกมาดี แต่การทำผลงานดีๆ ออกมาเพื่อตอบแทนผู้อ่านที่ชื่นชอบหนังสือของผม มันเป็นหน้าที่ที่ผมควรจะต้องทำ ดังนั้นผมเลยกำลังพยายามทำต่อไป
แต่นอกจากผู้อ่านที่เป็นชาวเกาหลีแล้ว อย่างที่ทราบกันว่าหนังสือของผมถูกตีพิมพ์ไปราวๆ 20 ประเทศ เลยทำให้หนังสือหรือผลงานชิ้นต่อไปของผม แทนที่จะต้องคิดถึงผู้อ่านชาวเกาหลีอย่างเดียว ผมจะต้องคิดถึงผู้อ่านจากไทย จากไต้หวัน แล้วก็ประเทศอื่นๆ ที่กำลังจะตีพิมพ์ด้วย แต่ว่ามีความสุขแล้วก็ดีใจมากครับ
ตอนนี้เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง
จะเรียกว่าความสำเร็จหรือเปล่า จริงๆ ผมก็ไม่อาจจะตอบได้ เพราะมาตรฐานความสำเร็จแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่างผมเองมาเป็นนักเขียนตอนอายุ 40 ปี แต่ก่อนหน้านั้นก็เขียนพวกบทภาพยนตร์มาก่อน แล้วหลังจากนั้นหนังสือเล่มแรกที่ผมเขียนก็เป็น Best Seller อยู่พักหนึ่ง แต่เล่มที่ 2 3 4 สำหรับผมไม่ค่อยดีเท่าไร พอมาเล่มที 5 คือฮิตมากๆ เลย ผมเลยรู้สึกว่า แทนที่เราจะโฟกัสว่ามันสำเร็จหรือล้มเหลว ให้โฟกัสดีกว่าว่าตอนนี้เรายังพยายามเขียนหนังสือเล่มที่ 6 ให้ออกมาดีกว่าเดิม
จริงๆ เรื่องของความสำเร็จไม่ได้เหมือนกันในทุกๆ คน การเป็นนักเขียน ยอดขายของเล่มนั้นๆ ก็สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือหลังจากที่เราออกหนังสือเล่มเดิมไปแล้ว ในเล่มถัดไป เรายังสามารถเขียนในสิ่งที่เราอยากจะบอกผ่านหนังสือของเราได้หรือเปล่า อันนั้นเป็นมาตรฐานการเขียนของผมมากกว่า ไม่ใช่ว่า เราสำเร็จแล้วหรือยัง เราขายได้มากได้น้อย ผมรู้สึกว่าต้องโฟกัสกับตรงนั้นมากกว่า
เป้าหมายสำคัญคือสิ่งที่เราสื่อสารมันไปถึงคนอ่าน
ใช่ครับ นั่นคือใจความสำคัญหรือว่าหัวใจในการทำนิยายขึ้นมาเรื่องหนึ่ง
เมื่อกี้ที่บอกว่าชีวิตเหมือนโรลเลอร์โคสเตอร์ แล้วสมมติถ้าอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ชีวิตคุณจะเป็นเหมือนตัวละครไหน
ไม่อยากอยู่ในนี้ครับ (หัวเราะ) สาเหตุที่มาเป็นนักเขียน ก็เพราะว่าไม่ได้อยากเป็นคนที่แสดงอยู่ในนี้ เลยมาเป็นคนที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับคนอื่นๆ แต่ถ้าอยากให้ผมอยู่ในนี้จริงๆ คงเป็นลูกค้าที่มาซื้อของแล้วออกไปโดยที่ไม่มีเรื่องสำคัญหรือบทบาทในเล่มนี้เลย เพราะผมไม่ได้เป็นนักแสดงนำ ไม่ได้เป็นตัวเอกของเรื่องนี้ แล้วก็เป็นคนขี้อายด้วยครับ
แล้วอะไรทำให้คุณชอบชื่นชอบการทำงานเขียน
จุดเริ่มต้นคือผมเรียนเรื่องวรรณกรรมมา แล้วหลังจากนั้น ก็มาทำงานเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ หลังจากนั้นก็ได้มาทำงานในสำนักพิมพ์ ดังนั้นในช่วงเวลา 23 ปีที่ผ่านมา ผมทำงานเป็นนักเล่าเรื่องมาตลอด ไม่ว่าจะย้ายไปทำงานที่ไหน ก็จะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเขียนหรือว่าการแต่งเรื่องอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นมันเลยหล่อหลอมให้ผมฝึกทำงานในด้านนี้ แล้วก็ไม่สามารถไปทำในด้านอื่นแล้ว เพราะว่าผมอยู่กับสิ่งนี้มานานมากๆ สุดท้ายเลยกลายเป็นนักเขียนหนังสือครับ
ในงานเขียนของคุณคิมโฮย็อนมีหลายตัวละครที่มีมิติ ชวนให้นึกถึงคนใกล้ตัว ทำยังไงให้เราเข้าใจมนุษย์ แล้วเล่าออกมาผ่านแต่ละตัวละครได้
การสร้างตัวละครเหล่านั้น ผมจะคิดจากคนรอบตัวหรือคนที่ผมรู้จัก แต่ไม่ได้เอาชีวิตของเขามาเขียน 100% บางครั้งก็เอามาเป็นเหมือนเป็นวัตถุดิบ แล้วก็มาแต่งเพิ่มดูว่าในชีวิตจริง ถ้ามีคนแบบนี้จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เขาอาจจะคิดอะไร เป็นคนแบบไหน หรือบางทีก็เอามาจากตัวละครที่เห็นในหนัง ในละครอื่นๆ บ้าง
มีตัวละครไหนที่ชอบที่สุดในเล่มไหม
ลูกชายของคุณนาย็อมที่เป็นเด็กดื้อ เพราะว่าคล้ายๆ ผม (หัวเราะ)
แต่ดูเหมือนคุณจะเป็นอีกคาแร็กเตอร์หนึ่งเลยนะ
เราไม่สามารถรู้เรื่องในใจของคนแต่ละคนหรอกครับ (ยิ้ม)
คงเหมือนในหนังสือคือมุมของคนที่มองเข้ามา กับเรื่องราวจริงๆ ของเขาอาจจะไม่เหมือนกัน
ก็จริงครับ ผมคิดว่ามันเป็นประเด็นที่ดีมากๆ เลยที่พูดออกมา เพราะว่า ในหนังสือเล่มนี้ ตัวละครคนเดียวที่เข้าใจยากมากที่สุดคือทกโก เพราะมันจะมีเรื่องราวของเขาที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาเป็นมายังไง แล้วก็การเดินเรื่องตอนหลังที่เรามารู้ว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นคนแบบไหน ผ่านอะไรมาก่อน เหมือนกับชีวิตของคนเราที่มีความซับซ้อน เราไม่สามารถบอกได้ว่าเขาเป็นคนแบบไหนแค่เพราะว่าเรามองเขา แต่อย่างตัวละครอื่นๆ ในเรื่องนี้ ผมพยายามเขียนให้มันเรียบง่ายที่สุดเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าตัวละครอื่นๆ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากเลย เพราะมีแค่ทกโกคนเดียวที่เป็นตัวเอกของเรื่องนี้
ตอนจบของหนังสือชวนให้เรานึกถึงเรื่องการยอมรับตัวเอง (self-acceptance) คุณมองเรื่องนี้ยังไงบ้าง
บทสุดท้ายเหมือนเป็นการสารภาพของทกโกว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นใคร เคยทำอะไรมาก่อน หรือว่าในระหว่างการดำเนินเรื่องเขาคิดอะไรอยู่ เราจะเห็นว่าในบทอื่นๆ จะไม่เห็นสิ่งที่ทกโกคิดเลย จะเห็นแค่การกระทำของเขา แต่ในบทสุดท้ายที่ผมเขียน จะเหมือนกับให้ทกโกสารภาพ เพราะผมอยากให้ทกโกได้แสดงถึงความรับผิดชอบ และการยอมรับตัวตนของตัวเอง
ในระหว่างที่เขียนบทสุดท้าย ผมก็คิดว่าคนเราก็ควรจะยอมรับตัวเอง แล้วย้อนกลับมามองสิ่งที่ตัวเองเป็น ดังนั้นก็คาดหวังว่าผู้อ่านทุกคน พออ่านบทนี้แล้วก็จะได้มองย้อนกลับมาแล้วยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นจริงๆ ได้
อิงจากตัวละครในเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ อยากรู้ว่าอะไรทำให้มนุษย์ยอมรับตัวเองได้ยาก
เป็นเพราะว่าสิ่งที่ทำไว้มันเลวร้าย เลยไม่สามารถยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทกโกทำกับภรรยาหรือว่ากับลูกของตัวเอง มันรุนแรงมาก แล้วทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะการกระทำของตัวเขาเอง สุดท้ายแล้วเขาเลยเลือกที่จะออกมา แล้วกลายเป็นคนไร้บ้าน ถ้าไม่มีความช่วยเหลือของคุณนาย็อมช่วยเอาไว้ เขาคงจะไม่สามารถกลับมามองตัวเอง หรือยอมรับตัวเองได้
แล้วสิ่งที่ทำให้เราได้ย้อนกลับมามองตัวเองได้คืออะไร
อย่างในหนังสือเล่มนี้คือการที่ทกโกเขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ทำงานด้วยกันแล้วก็ลูกค้า เขาคุยกันไปเรื่อยๆ เลยย้อนกลับมาดูตัวเอง เพราะว่าโดยปกติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การได้ไปสนทนากับคนอื่น หรือเข้าสังคมกับคนอื่นมันจะทำให้เราสามารถสะท้อนกลับมาดูตัวเองได้
สมมติว่าเรายอมรับตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นๆ จะยอมรับในสิ่งที่เราเป็น หรืออาจจะอยู่ท่ามกลางคนที่มองไม่ตรงกับสิ่งที่เราเป็นจริงๆ คุณคิดว่ามุมมองของคนอื่นสำคัญแค่ไหน
ก็ให้คิดถึงปัจจุบัน และสิ่งที่ตัวเองเป็นตอนนี้ เพราะไม่ว่าคนอื่นจะมาวิพากษ์วิจารณ์เราหรือมาตัดสินเรา ทุกอย่างมันจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแค่ชั่วครู่ ชั่วขณะเท่านั้น หรือแม้กระทั่งเรื่องความกลัวเกี่ยวกับอนาคตที่เกิดขึ้น มันก็เป็นแค่ชั่วขณะเท่านั้น แต่ถ้าเราโฟกัสกับปัจจุบันกับสิ่งที่เราเป็นอยู่มันก็จะไม่น่ากลัวครับ
พอเขียนเรื่องนี้จบแล้วรู้สึกยังไงบ้าง
รู้สึกว่าในที่สุดก็เขียนจบแล้ว (หัวเราะ) พอย้อนกลับมาอ่านก็สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ผมมี แล้วก็วิธีคิดที่มีต่อผู้คน ต่อสังคมได้อย่างชัดเจนเลยว่าในขณะที่เขียนผมรู้สึกยังไงกับสังคมนั้นๆ
สิ่งที่ยากที่สุดของการเขียนหนังสือเล่มนี้คืออะไร
ส่วนที่ยากที่สุดไม่ใช่การแต่งเรื่อง แต่มันเป็นการเขียนเรื่องที่ตอนนั้นที่ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้ตีพิมพ์ไหม มันเป็นการเขียนขึ้นมาโดยไม่ได้ทำสัญญากับสำนักพิมพ์ ไม่ได้มีการจ้างงานหรือว่าอะไรเลย ผมเขียนแค่เพราะอยากเขียน เลยมีความกลัวว่า เขียนแล้วจะได้ตีพิมพ์ไหม สุดท้ายอาจจะไม่ได้ตีพิมพ์ก็ได้ จุดนี้มันยากกว่าการแต่งเรื่องอีกครับ
อะไรเป็นแรงผลักดันว่าฉันต้องเขียนเรื่องนี้ออกมา ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะได้ตีพิมพ์หรือเปล่า
จริงๆ สิ่งที่ผลักดันให้เขียนก็ง่ายมากเลยครับ เพราะว่าอยากเขียน ไม่ว่าจะได้ตีพิมพ์ หรือไม่ได้ตีพิมพ์ แต่นี่คือสิ่งที่ผมอยากเขียนหรืออยากจะบอก มันเหมือนกับเวลาเราเห็นไม้สวยๆ เราก็รู้สึกว่าอยากเอาไม้นี้ไปทำเฟอร์นิเจอร์จังเลย ในมุมของนักเขียนมันเหมือน สิ่งที่ควรจะเป็นวัตถุดิบของหนังสือที่ดีได้ เขาก็จะรู้สึกฝืนมันไม่ได้ แล้วก็อยากจะจับสิ่งเหล่านั้นมาเขียนเป็นหนังสือ
คิดว่าประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือความเจ็บปวดมีส่วนที่เป็นแรงผลักดันด้วยหรือเปล่า
ใช่ครับ เพราะการเขียนหนังสือเล่มหนึ่งมันมักจะเกิดจากเหตุการณ์หรือความเจ็บปวดต่างๆ ที่เคยผ่านมาในอดีต แล้วคนที่เป็นนักเขียน คุณสมบัติที่ดีคือควรจะจำสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ หรือจดบันทึกสิ่งเหล่านั้นเอาไว้เพื่อวันหนึ่งจะได้เอาออกมาเป็นสิ่งที่เขาอยากจะเขียนและอยากจะถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้
ในมุมนักเขียนสิ่งนี้อาจจะเป็นวัตถุดิบได้ แต่ในฐานะคนทั่วไปล่ะ ความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ไหม
เรื่องความเจ็บปวดหรืออดีตที่เกิดขึ้นในมุมของคนอ่าน ผมรู้สึกว่ามันควรจะรับมือได้ด้วยการที่เราพยายามจริงใจกับความรู้สึกที่เป็นอยู่ โดยไม่โกหกหรือพยายามหนีปัญหาครับ ให้พยายามเผชิญหน้ากับปัญหาแล้วก็หาทางแก้ไขให้ได้ ถ้าเราเผชิญหน้ากับมัน สิ่งนี้แหละจะทำให้ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตของเรามันเป็นยังไง
ถ้ามีคนที่รู้สึกว่าการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ เลย เพราะเราคงไม่อยากเจอความเจ็บปวด จะบอกเขายังไงดี
การที่เราต้องผ่านความเจ็บปวดหรือสิ่งที่มันไม่สะดวกสบายในชีวิต มันจะรู้สึกง่ายมากถ้าเรามีความฝันหรือว่ามีเป้าหมายที่จะไปให้ถึง ในระหว่างที่เราจะต้องเดินทางไป มันมักจะมีความไม่สะดวกสบายอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ถ้าเราไม่มีความฝันหรือไม่มีเป้าหมาย เรื่องความเจ็บปวดเหล่านี้มันจะเป็นเรื่องที่ทนได้ยากมากๆ หรือว่ารับมือกับมันได้อย่างยากลำบาก แต่ถ้าเรามีความฝัน เราจะสามารถทนได้ เพราะเราจะรู้ว่าเราจะไปที่ไหนอยู่ แล้วเราต้องการทำอะไรให้สำเร็จ
เหมือนกลับมาที่เรื่องจริงใจกับตัวเองอย่างที่คุณบอก เพราะถ้าตอบตัวเองได้ว่า เราต้องการอะไร แล้วหลังจากนั้นจะไปต่อได้ง่าย
ใช่ครับ เพราะการมีความฝันคือเราต้องรู้ให้ได้ว่าเราต้องการอะไร
คำถามสุดท้าย คุณคิมโฮย็อนคิดว่าเรื่องแต่งอย่างนิยาย การ์ตูน วรรณกรรมต่างๆ แม้กระทั่งหนังสือที่คุณเขียนสำคัญต่อชีวิตผู้คนยังไงบ้าง
ความสำคัญของหนังสือ นวนิยายหรือการ์ตูนเพราะมีเรื่องราวที่ซ่อนเอาไว้อยู่ แล้วมนุษย์เป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตโดยการสร้างเรื่องราว หรือว่ามีเรื่องราวในชีวิตของตัวเองที่ต้องการบอกเล่าอยู่แล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนหรือเป็นคนแบบไหน การที่เราใช้ชีวิตไป มันมักจะมีเรื่องราวเกิดขึ้นเสมอ
ดังนั้นคนที่สามารถเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่า หรือสามารถอ่านแล้วทำความเข้าใจได้ จะทำให้เราสามารถเข้าใจชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นละครหรือหนังสือก็ตาม คนที่ไม่สามารถเข้าใจเรื่องเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตหรือเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้เลย เพราะเขาไม่ได้อินไปกับเรื่องราวที่คนอื่นเล่าอยู่
เหมือนช่วยให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้น
ใช่ครับ ผมก็คิดแบบนั้น แล้วก็รู้สึกว่า การอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือของผมหรือเล่มไหนก็ตาม ถ้ามันทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ เข้าใจตัวเอง หรือเข้าใจคนอื่นๆ ได้มากขึ้นก็คงจะดี
แล้วนอกจาก ‘ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก’ แล้วมีผลงานการเขียนไหนที่คุณมีความหมายกับคุณ หรืออยากเล่าถึงอีกไหม
จริงๆ มีผลงานอีกชิ้นซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของผมเลยชื่อว่า Mangwon-dong brothers ซึ่งจริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ยังไม่ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยหรือยังไม่ถูกเอามาตีพิมพ์ในประเทศไทย แต่เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับความอบอุ่นหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์เช่นเดียวกัน แล้วผมรู้สึกว่าหลายๆ คนถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนั้น อาจจะมีความอบอุ่นหรือได้รับอะไรได้มากขึ้น เลยอยากจะแนะนำหนังสือเล่มนั้นให้ได้รู้จัก เลยอยากจะให้ตีพิมพ์ในประเทศไทยเร็วๆ ครับ