เมื่อหญิงสาวเริ่มก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สะโพกเริ่มผาย หน้าอกเริ่มขยายใหญ่ ‘ชุดชั้นใน’ หรือยกทรงจึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่พวกเธอต้องสวม เพื่อปกปิดและอำพรางอัตลักษณ์เหล่านั้นเอาไว้ให้เรียบร้อย
แต่แล้ววันหนึ่ง พวกเธอก็เริ่มมีคำถามว่า ทำไมถึงไม่สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ของเพศหญิงออกมาได้เหมือนอย่างที่เพศชายทำ เพราะเหตุใดหน้าอกของพวกเธอถึงถูกมองว่าเป็น ‘สิ่งสงวน’ ที่ไม่สามารถแสดงออกได้ในที่สาธารณะ แถมยังกลายเป็นเรื่องอนาจารและไม่เหมาะสม จากเหตุนี้ จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีผ่านการไม่สวมชุดชั้นใน หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘โนบรา’ (no bra)
#nobra
กระแสโนบรากลายเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายในประเทศเกาหลีใต้ หลังนักแสดงและนักร้องสาว ซอลลี หรือ ชเว จิน-รี ได้โพสต์รูปถ่ายของเธอลงบนอินสตาแกรมที่มีผู้ติดตามจำนวนหลักล้าน ซึ่งรูปถ่ายส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ชุดชั้นใน เผยให้เห็นยอดอกของเธออย่างชัดเจน โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการหนึ่งไว้ว่า “บราก็เหมือนกับเครื่องประดับอย่างหนึ่ง มันมีชุดที่เหมาะกับการใส่บรา และก็มีชุดที่ไม่เหมาะกับการใส่บราด้วยเช่นกัน”
ซอลลีได้กลายเป็นไอคอนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนนิยมโนบราในประเทศเกาหลีใต้นับตั้งแต่นั้นมา ทำให้การเคลื่อนไหวในกลุ่มผู้หญิง (ทั้งคนธรรมดาและคนมีชื่อเสียง) มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด ล่าสุด ฮวาซา นักร้องสาวจากวง Mamamoo ก็ได้ทำให้กระแสนี้กลับมาบูมขึ้นอีกครั้ง หลังจากมีการเผยแพร่ภาพถ่ายของเธอที่สนามบิน โดยสวมใส่เพียงเสื้อยืดสีขาวที่ไม่มีชุดชั้นใน
แน่นอนว่าประเด็นนี้ก็มีทั้งกระแสตอบรับที่ดีจากผู้สนับสนุน ที่มองว่าการสวมใส่บราหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของ ‘สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล’ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่ไม่เห็นด้วย (ทั้งชายและหญิง) ที่มองว่าโนบราเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และยังเป็นการกระทำที่ ‘เรียกร้องความสนใจ’
แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกมีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีผ่านการ ‘โนบรา’
ปรากฏการณ์ ‘Free The Nipple’
ย้อนกลับไปในปีค.ศ. 1935 ที่เมืองแอตแลนติก รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการจับกุมชาย 42 คนในข้อหาเปลือยท่อนบนที่ชายหาด ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นในนิวยอร์ก จนในปีต่อมา ได้มีการยกเลิกการห้ามผู้ชายเปลือยท่อนบน ทันใดนั้นเอง การโชว์หน้าอกของผู้ชายในที่สาธารณะก็ไม่ถือเป็นเรื่องลามกอนาจารในสังคมอีกต่อไป แถมยังกลายเป็นเรื่องปกติมาจนถึงปัจจุบันนี้
แต่ในเมื่อผู้ชายทำได้ แล้วผู้หญิงล่ะ?
ปีค.ศ. 2012 ‘ลีนา เอสโก’ นักแสดง ผู้กำกับ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวอเมริกาก่อตั้งแคมเปญ ‘Free The Nipple’ ขึ้น โดยเธอได้บันทึกภาพขณะวิ่งเปลือยหน้าอกบนถนนในนิวยอร์กเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี การเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นไปเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสตรี และส่งเสริมให้ทุกเพศมีความเท่าเทียมกันในเรื่องการเปลือยหน้าอกในที่สาธารณะ หรือการไม่จำเป็นต้องสวมใส่ชุดชั้นใน โดยไม่ถูกสังคมมองว่าโป๊หรือเป็นสิ่งอนาจาร
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังมีการระบุว่า ทั้งชายและหญิงต่างก็มีหน้าอก ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ และหน้าอกของทั้งสองเพศก็มีลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเยื่อเต้านม ลานหัวนม หรือหัวนม ซึ่งความแตกต่างระหว่างหน้าอกของผู้ชายกับผู้หญิงนั้นมีแค่ความสามารถในการผลิตน้ำนมสำหรับทารกเท่านั้น แต่ในหลายประเทศ การให้นมทารกในที่สาธารณะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากการเปิดเผยหน้าอกของผู้หญิงอาจไปกระตุ้นอารมณ์ทางเพศในผู้ชายได้
หลังจากโพสต์คลิปตัวอย่างภาพยนตร์ลงบนเฟซบุ๊ก และติดแฮชแท็ก #FreeTheNipple คลิปเหล่านั้นก็ถูกลบออกไป เนื่องจากเป็นการละเมิดกฎของเว็บไซต์ แต่เมื่อถึงปีค.ศ. 2014 เน็ตฟลิกซ์ก็เปิดตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ (แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าโรงฉายในหลายๆ รัฐ เนื่องจากมีเนื้อหาติดเรท) และทำให้เหล่าคนดังจำนวนมาก เช่น ไมลีย์ ไซรัส, เลนา ดันแฮม, เชลซี แฮนเลอร์, รีฮานนา และคริสซี ทีเกน ออกมาโพสต์รูปภาพลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อแสดงว่าพวกเขาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของลีนา
ลีนาได้ให้ความเห็นกับเว็บไซต์ Mic ว่า พวกเรากำลังอาศัยอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมที่หมกมุ่นอยู่กับหน้าอกของผู้หญิง และทำให้มันกลายเป็นวัตถุทางเพศ อย่างที่ปรากฏตามภาพยนตร์ โทรทัศน์ และนิตยสาร ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าคนเราหลงใหลในหน้าอกของผู้หญิงมากขนาดไหน ยกตัวอย่างในภาพยนตร์ แม้ผู้หญิงจะมีบทพูดน้อยกว่าผู้ชาย แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเปลือยกายมากกว่า
“ถ้าสังคมเราชอบดูหน้าอกผู้หญิงกันขนาดนั้น แล้วมันจะเป็นอะไรมากกับแค่หัวนม? และเพียงเพราะการเคลื่อนไหวของพวกเรามีชื่อว่า ‘ปลดปล่อยหัวนม’ ไม่ได้หมายความว่าพวกเราต้องการให้คนทั้งโลกเปลือยท่อนบน แต่มันเป็นการที่พวกเรามีสิทธิในการตัดสินใจต่างหาก” ลีนากล่าว
“หัวนมที่คุณไม่สามารถโชว์ได้ เป็นอะไรที่ทุกคนก็มีเหมือนกันหมด
แต่ใต้ราวนมที่ไม่ใช่ทุกคนจะมี คุณกลับได้รับอนุญาตให้โชว์ได้
ฉันไม่เคยเข้าใจเลย” – ไมลีย์ ไซรัส
ในปัจจุบัน การเปลือยอกของผู้หญิงถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายในนิวยอร์ก โดยทุกวันที่ 27 สิงหาคม ถือเป็น ‘วันเปลือยอกสากล’ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยองค์กรสตรี ‘Go Topless’ และจะมีการออกมาเดินขบวนเพื่อเฉลิมฉลองที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงเปลือยอกในที่สาธารณะได้รับการรับรองในปีค.ศ. 1992 และเป็นการเรียกร้องให้รัฐอื่นๆ เปลี่ยนเรื่องการให้นมบุตรของผู้หญิงในที่สาธารณะเป็นเรื่องถูกกฎหมายเสียที
แม้ปัจจุบันเราจะเห็นดาราฮอลลีวูดมากมายออกมาเปลือยอกหรือโนบรา ถึงอย่างนั้น เรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากถึงขนาดที่จะเปลี่ยนค่านิยมของคนหมู่มาก เพราะแม้กระทั่งนักแสดงสาวขวัญใจใครหลายคนอย่าง เอมม่า วัตสัน ที่เป็นนักสิทธิสตรีและเป็นถึงทูตสันถวไมตรีขององค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ยังถูกโจมตีจากการถ่ายภาพโนบราให้กับนิตยสาร Vanity Fair ในปีค.ศ. 2017 ว่าสิ่งที่เธอทำส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์นักสิทธิสตรี และถูกเรียกว่าเป็น ‘Bad Feminist’ ซึ่งเธอก็ได้ออกมาอธิบายว่า “เฟมินิสม์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้สิทธิในการเลือกกับผู้หญิง และฉันก็ไม่เห็นว่าหน้าอกของฉันจะไปส่งผลกับสิทธิสตรีตรงไหน”
หน้าอกผู้หญิงกับนิยามความไม่เหมาะสม
การเปลือยอกเป็นเรื่องธรรมชาติในสังคมตั้งแต่สมัยเก่าแก่ สังเกตได้จากประติมากรรมหรือศิลปะยุคก่อนที่มักจะเน้นไปที่เรือนร่างเปลือยเปล่าของชายหนุ่มและหญิงสาว แต่เมื่อยุคของการล่าอาณานิคมมาถึง หลายประเทศถูกครอบงำทางวัฒนธรรมแนวคิดแบบวิคตอเรียน การโป๊เปลือยจึงได้ถูกปรับเปลี่ยนความหมายไป ศิลปะที่โป๊เปลือยถูกมองว่าเป็นเรื่องบัดสี ระบบศีลธรรมและจารีตประเพณีทำให้คนมองว่าการเปิดเผยเนื้อหนังมังสาเป็นเรื่องที่ผิด และยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1885 จนมาถึงปัจจุบัน
โดยอารยธรรมนี้ก็แผ่มาถึงแถบเอเชีย ยกตัวอย่างประเทศไทย ที่แม้จะมีหลักฐานยืนยันว่าการเปลือยอกของผู้หญิงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นเป็นเรื่องปกติ สังเกตได้จากจิตรกรรมหรือภาพวาดฝาผนัง ซึ่งปรากฏให้เห็นวิถีชีวิตและอิสระในการใส่หรือไม่ใส่เสื้อของผู้หญิงสมัยก่อน แต่เมื่อเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมที่ชาติตะวันตกเข้ามา ผู้หญิงไทยก็ได้รับอิทธิพลการแต่งกายแบบวิคตอเรียน ที่สุภาพสตรีชนชั้นสูงต้องสวมเครื่องแต่งกายมิดชิด รักนวลสงวนตัว หญิงไทยจึงมีการหาผ้ามาปกปิดร่างกายโดยเฉพาะทรวงอก เพื่อให้มีความเป็นอารยชนและเท่าเทียมกับชาติอื่นๆ มากขึ้น รวมถึงการที่รัฐบาลได้เข้ามาจัดการการแต่งกายของประชาชน โดยออกประกาศกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งกาย ‘ตามแบบสากลนิยม’ ซึ่งมีใจความดังนี้
‘ให้แต่งกายให้สมกับเป็นอารยชน โดยกำหนดการแต่งกายและทรงผมแบบใหม่ ขอให้สตรีทุกคนไว้ผมยาว เลิกใช้ผ้าโจงกระเบน เปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงแทน เลิกการใช้ผืนเดียวคาดอกหรือเปลือยกายท่อนบน ให้ใส่เสื้อแทน‘
ประกาศกฎหมายฉบับนี้ จึงถือเป็นการกำหนดและปลูกฝังค่านิยม ‘ความเรียบร้อย’ และ ‘ความเหมาะสม’ ในการแต่งกายของหญิงไทย การเปลือยอกเลยถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายตั้งแต่นั้น
เมื่อจารีต วัฒนธรรม และค่านิยมประกอบเข้าด้วยกัน รวมไปถึงสังคมบริโภคนิยมที่สื่อมักจะนำเสนอเรือนร่างของเพศหญิงไปในวัตถุทางเพศ จึงเกิดเป็นการกดขี่อำนาจของเพศหญิงไม่ให้มีเสรีภาพในการโชว์เรือนร่าง พร้อมกับตั้งบทบาทว่าผู้หญิงจะต้องรักนวลสงวนตัว ไม่เปิดเผยเนื้อหนังมังสาในที่สาธารณะ จนบางที่ถึงขั้นมีกฎหมายเข้ามาควบคุม โดยให้เหตุผลว่าการเปลือยกายจะนำมาสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม
‘ชุดชั้นใน’ สัญลักษณ์ต่อต้านการกดขี่
ปัญหาของชุดชั้นในจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เพียงเพราะความไม่สบายเนื้อสบายตัวในการสวมใส่ หรือค่าใช้จ่ายที่สูงเท่านั้น แต่การเลิกใส่ชุดชั้นในหรือการเปลือยนมในที่สาธารณะ ยังถูกตีความหมายได้อีกอย่าง นั่นก็คือการต่อสู้กับอำนาจที่กำลังกดขี่เพศหญิง ผ่านการท้าทายกฎหมาย ศาสนา และวัฒนธรรม
ชุดชั้นในกับการกดขี่เพศหญิงมีความเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่สมัยช่วงศตวรรษที่ 19 เพราะผู้หญิง (โดยเฉพาะชนชั้นสูงในประเทศฝรั่งเศส) จะถูกบังคับให้สวมใส่เสื้อยกทรงรัดรูป (The Corset) หรือชุดชั้นในที่ใส่ไว้เพื่อปรับให้เอวคอดกิ่วและหน้าอกตั้งตามความนิยมของสมัยนั้น ซึ่งถ้าหากผู้หญิงคนไหนไม่เป็นไปตามที่กล่าว จะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงต่ำต้อย ไร้ศักดิ์ศรี และขาดศีลธรรม แต่ความสวยงามตามพิมพ์นิยมก็พ่วงมาด้วยความเจ็บปวดทรมาน เนื่องจากชุดชั้นในที่ใส่ต้องรัดแน่นถึงขนาดที่ทำให้ร่างกายมีอาการปวด ชา ร่างกายผิดรูป และอวัยวะภายในเกิดการเคลื่อนที่ จึงทำให้มีการดัดแปลงขนาดและรูปแบบมาเป็นอย่างชุดชั้นในที่เราเห็นกันทุกวันนี้
นับตั้งแต่นั้น ผู้หญิงจึงถูกปลูกฝังกันไว้ว่าเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ พวกเธอจะต้องสวมใส่ชุดชั้นในด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอำพรางไม่ให้โป๊ เรื่องของสรีระ เรื่องของการเสริมสร้างความมั่นใจ ซึ่งมีข้อถกเถียงมากมายถึงข้อดีและข้อเสียของการสวมใส่ชุดชั้นใน
มีผลวิจัยจากศาสตราจารย์ Jean-Denis Rouillon ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์การกีฬาจากฝรั่งเศส ที่ได้ติดตามและทดลองกับผู้หญิงอายุระหว่าง 18-35 ปี จำนวน 35 คน เป็นระยะเวลานานกว่า 15 ปี ซึ่งผลสรุปก็ได้ชี้ให้เห็นว่า ชุดชั้นในไม่ได้มีผลต่อการยกกระชับหน้าอก แถมยังชะลอการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อหน้าอกอีกด้วย
เมื่อไม่มีผลวิจัยที่ยืนยันถึงอันตรายร้ายแรงจากการไม่สวมใส่ (รวมถึงไม่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม) การใส่ชุดชั้นในจึงควรเป็นสิทธิ์ของพวกเธอที่จะเลือกใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ ประเด็นนี้ไม่ต่างอะไรกับการต่อต้านการถูกบังคับให้ใส่กระโปรงและแต่งหน้า ที่ผู้หญิงต้องการที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘สิทธิในการมีความชอบธรรมในร่างกายของตน’ (body integrity) และ ‘สิทธิในการตัดสินใจเรื่องส่วนบุคคล’ (autonomy)
ครั้งหนึ่งในคลื่นลูกที่ 2 ของสตรีนิยม ชุดชั้นในเคยถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิสตรี โดยกลุ่ม ‘Bra-burning Feminists’ หรือนักสตรีนิยมเผาชุดชั้นใน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปฏิบัติการสุดโต่งของยุคนั้น เพื่อเป็นการต่อต้านการประกวดนางงาม (Miss America) ในปีค.ศ. 1968 ด้วยการโยนข้าวของและทำลายสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ผู้หญิง และหนึ่งในนั้นก็คือชุดชั้นใน
กิจกรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถือเป็นการชูประเด็นเรื่องเพศวิถีให้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองและประเด็นสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็เป็นการเอาชนะข้อจำกัดบนร่างกายที่ว่าจุกนมหรือท่อนบนของเพศหญิงก็สามารถเปิดเผยในที่สาธารณะได้เหมือนกับเพศชาย และการหลุดพ้นจากบทบาทตามทัศนคติของสังคมที่มีมาแต่อดีต แต่การต่อสู้ที่อีกฝ่ายมีบรรทัดฐานหรือศีลธรรมของสังคมเป็นอาวุธ ก็นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหินพอสมควร โดยเฉพาะในสังคมแถบเอเชียที่หลายๆ ประเทศมักจะมีคติสอนหญิงให้มีความเรียบร้อย สำรวม และสงวนตัว
ต่อให้ในอนาคตมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เปิดกว้างมากขึ้น แต่เนื่องจากวัฒนธรรมและจารีตของสังคมที่กดทับมาอย่างยาวนาน รวมถึงสื่อที่ยังคงผลิดซ้ำทำให้หน้าอกของผู้หญิงกลายเป็นสิ่งยั่วยุทางเพศ ประเด็นนี้จึงน่าสนใจตรงที่ว่าจะมีผู้หญิงมากน้อยแค่ไหนที่กล้าเปิดเผยหน้าอกของพวกเธอในที่สาธารณะ และการถูกสายตาจ้องมองหรือเสียงวิพากษ์จากสังคมจะเป็นอุปสรรคหรือไม่
แม้การเคลื่อนไหวจะยังไม่เป็นที่ประจักษ์มากนักและยังมีความก้ำกึ่งระหว่างความเหมาะสมและไม่เหมาะสม แต่ก็นับว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่ค่อยๆ ผลักดันให้สังคมเปิดกว้างเรื่องความเท่าเทียม ซึ่งก็อาจนำไปสู่กันปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายหรือจารีตของสังคมในอนาคตต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
PAINTING AS A SUBJECT OF KNOWLEDGE: NUDE FAMALE IN “DEVI” OF THANET AWSINSIRI