“ฉันใช้ชีวิตอย่างอิสระตามกฎหมายค่ะ ฉันอยากทำลายกรอบเดิมๆ” และ “ฉันอยากเปลี่ยนแปลงอคติของประชาชนที่มีเกี่ยวกับการไม่สวมยกทรง”
นี่คือข้อความของ ‘ซอลลี่’ หรือ ‘ชเว จินรี’ ไอดอล และนักแสดงเกาหลีใต้ หนึ่งในผู้หญิงที่กล้าออกมาพูดถึงการไม่สวมยกทรง ผลักดันประเด็นสิทธิของผู้หญิง และถือเป็นคนในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ที่กล้าแสดงออกถึงความเป็นตัวเองตรงข้ามกับบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดว่าไอดอลควรจะเป็น
ซอลลี่ จากไปในวัย 25 ปี ในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2019 ในที่พักของเธอ ซึ่งแม้จะไม่มีรายละเอียดการเสียชีวิตของเธอออกมา แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต และความคิดเห็นเชิงลบที่ตัวเธอได้รับตลอดในวงการบันเทิง ถึงอย่างนั้น นอกจากประเด็นไซเบอร์บูลลี่ที่เธอถูกกระทำ เราเองก็อยากจดจำเธอในมุมของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีส่วนในการเคลื่อนไหว และขับเคลื่อนประเด็นสิทธิสตรีในสังคมปิตาธิปไตยในเกาหลีใต้
ขนบที่ซอลลี่แหก และออกนอกกรอบของขีดจำกัดทางเพศ
เกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่ยังมีความนิยมชาย และชายเป็นใหญ่แทรกซึมอยู่ในสังคม แม้ว่าปัจจุบันประเด็นของเฟมินิสม์ หรือ #metoo จะถูกพูดถึงมากขึ้น แต่ความเชื่อนี้ก็เป็นประเด็นที่ฝังรากลึกมากับความเชื่อตั้งแต่โบราณ ทำให้ยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลารวดเร็ว ซึ่งซอลลี่ ก็เป็นหนึ่งคนที่ยกประเด็นเรื่องของผู้หญิง และสิทธิในร่างกายมาพูดตลอด
อาจเรียกได้ว่า เธอเป็นผู้หญิง และเซเลบคนหนึ่งที่ก้าวจากขีดจำกัดของกรอบทางเพศ ที่กดขี่ความเป็นเพศหญิง ซอลลี่ท้าทายกับประเด็นนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเป็นผู้นำเรื่อง ‘โนบรา’ หรือการไม่สวมชุดชั้นในของผู้หญิง ซึ่งเธอมักถ่ายรูปลงอินสตราแกรมที่สวมเสื้อผ้าโดยที่ไม่ใส่บรา และยังพูดถึงประเด็นนี้ว่า “เป็นสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้หญิง”
ถึงอย่างนั้น การแสดงออกของเธอก็ถูกต่อต้านเป็นอย่างมาก ในรายการ ‘The Night of Hate Comments’ ของช่อง JTBC2 ที่เธอได้ไปเป็นพิธีกรร่วม เธอได้พูดถึงประเด็นที่ถูกวิจารณ์จากการอัปโหลดรูปไม่ใส่บราว่า “ฉันคิดว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพของแต่ละคน บางครั้งบราก็ไม่ดีต่อสุขภาพ พวกมันมีสายที่ไม่ดีสำหรับอวัยวะ และการย่อยอาหาร สำหรับฉัน ฉันมีปัญหากับการย่อยอาหาร เนื่องจากไม่สะดวกสบาย ฉันจึงไม่สวมใส่ ฉันคิดว่ามันเป็นธรรมชาติและสวยงาม” ซอลลี่ ยังเล่าอีกว่า เธอมองว่ายกทรงเป็นเครื่องประดับ และถ้ามันไม่เหมาะกับเสื้อผ้าบางชุด เธอก็จะเลือกไม่ใส่มันด้วย
เมื่อถูกถามว่า แม้จะเป็นประเด็น แต่ทำไมเธอถึงยังเลือกที่จะอัปโหลดภาพไม่ใส่บราต่อไป ซอลลี่ก็เล่าต่อว่า ในการโพสต์รูปครั้งแรก เกิดการถกเถียงมากมาย เธอกลัวและคิดว่าจะปกปิดมัน แต่ว่าเหตุผลที่เธอยังลงรูปเพราะว่า “ฉันต้องการเปลี่ยนแปลงอคติของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนั้น ส่วนหนึ่งของฉันก็อยากจะพูดว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่ และฉันยังได้ยินมาว่าเมื่อเร็วๆ นี้มีผู้คนจำนวนมากที่ออกไปข้างนอกโดยไม่สวมยกทรง”
แน่นอนว่าแม้ซอลลี่จะถูกวิจารณ์ ถูกคอมเมนต์ในเชิงลบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เธอพูดและเริ่มทำก็สั่นคลอนขนบเดิมของสังคมเกาหลีใต้จริงๆ เพราะหลังจากนั้น ก็มีไอดอล และผู้หญิงที่เปิดเผยถึงการไม่สวมยกทรง และการเคลื่อนไหว #nobra ที่ถูกพูดถึงมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ในเกาหลี แต่อาจจะไปไกลกว่านั้นด้วย
นอกจากประเด็นเรื่อง #nobra แล้ว ซอลลี่เองก็ยังได้แสดงออกถึงประเด็นสิทธิในร่างกายของผู้หญิงอื่นๆ อีก ทั้งการโพสต์รูปภาพงานศิลปะของตัวเอง ผ่านอินสตาแกรมอีกบัญชี ที่ชื่อว่า @be_my_panties ที่มีทั้งภาพวาดผู้หญิง กับกางเกงในลายต่างๆ ภาพเปลือยของผู้หญิง และภาพวาดอื่นๆ ของเธอ ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดบัญชีนี้ ก็มีความคิดเห็นที่พูดถึงฝีมือทางศิลปะของเธอ รวมถึงส่ิงที่เธอทำว่าแปลกประหลาด อีโรติก หมกมุ่นเรื่องทางเพศ เช่นกัน
ซอลลี่เอง ยังมักแสดงความเห็นต่อกฎหมาย และสังคม ในประเด็นของผู้หญิงทางอินสตาแกรมเป็นประจำ โดยในเรื่องทางกฎหมาย ซอลลี่เคยแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการแก้กฎหมายต่อต้านการทำแท้ง หลังศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้พิพากษาว่า กฎหมายต่อต้านการทำแท้งนั้นผิดกฎหมาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องได้รับการแก้ไขในปลายปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเธอก็ได้โพสต์อินสตาแกรมฉลองการตัดสินของศาล พร้อมแฮชแท็ก #AbolitionOfLawsPunishingAbortion และข้อความว่า เสรีภาพแด่ทางเลือกและการตัดสินใจของผู้หญิง
ทั้งเธอเองยังเคยโพสต์ภาพสนับสนุน และให้กำลังใจ Comfort Women หรือหญิงบำเรอทหารญี่ปุ่น ที่เป็นเหยื่อในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ระลึกถึงผู้หญิงกลุ่มนี้ด้วย
ซอลลี่ ไม่เพียงฉีกออกจากข้อจำกัดทางเพศ เธอยังหลุดออกจากการควบคุมภาพลักษณ์ของไอดอล ที่มักถูกตีกรอบภาพลักษณ์จากค่าย และวงการ ว่าต้องมีคาแรคเตอร์ ต้องทำตัวดีเหมาะสม ต้องสมบูรณ์แบบ และวางตัวเรื่องความสัมพันธ์ โดยเธอทั้งการเปิดเผยความสัมพันธ์กับอดีตคนรัก ไลฟ์สไตล์ส่วนตัวอย่างการดื่มแอลกอฮอล์ และการแต่งตัวด้วย ที่ล้วนแต่แสดงออกถึงความเป็นตัวเองอย่างเสรีด้วย
สังคมชายเป็นใหญ่ และเฟมินิสต์ที่ถูกโจมตี
เกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างชายและหญิงมากเกือบจะที่สุดในเอเชีย โดยจากรายงานของ The Global Gender Gap Report ปี ค.ศ. 2018 ของ World Economic Forum พบว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ อยู่ที่อันดับ 115 จาก 149 ประเทศ ต่ำเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากภูฏาน และติมอร์ เลสเต ประเด็นเรื่องเพศ จึงยังเป็นหนึ่งประเด็นที่ผู้หญิง และสตรีนิยมพยายามขับเคลื่อน แต่ก็มักถูกโจมตี
จากความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ ซอลลี่จึงไม่ใช่คนเดียวที่ถูกโจมตีจากการแสดงออกว่าสนับสนุนประเด็นเฟมินิสม์ แต่ไม่ว่ามีนักแสดงหรือไอดอลคนไหนแสดงออกเรื่องนี้ ก็มักเป็นประเด็นที่ถูกโจมตีเช่นกัน อย่างเช่น กรณีไอรีน ไอดอลสาววง Red valvet ที่ถูกเผารูป ตัดรูป และคอมเมนต์เชิงลบ หลังพบว่าเธออ่านหนังสือของเฟมินิสต์ ‘Kim Ji Young born 1982’ หรืออย่างล่าสุด หนังสือเล่มนี้ก็ได้ถูกสร้างมาเป็นภาพยนตร์ ที่กำลังฉายอยู่ในเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งตัวหนัง และนักแสดงก็ถูกกระแสต่อต้านตั้งแต่ยังไม่ออกฉาย มีชาวเน็ตเข้าไปให้คะแนนเรตติ้งหนัง 0 ดาว และโจมตีโซเชียลมีเดียของนักแสดง
การที่ซอลลี่ เป็นนักแสดง และเซเลบในวงการบันเทิงที่พูดถึงประเด็นเรื่องเฟมินิสม์อยู่ตลอด ย่อมทำให้เธอเป็นเป้าโจมตีจากชาวเน็ตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็มีการพูดถึง และวิเคราะห์ถึงการเคลื่อนไหวของเธอว่าเป็นการขับเคลื่อนเฟมินิสม์ และสั่นคลอนสังคมปิตาธิปไตยในเกาหลีใต้ด้วย ว่าเธอเป็นผู้แสดงออกถึงเสรีภาพทางเพศ และสิทธิของผู้หญิง ในการควบคุม และตัดสินใจเรื่องเพศ โดยไม่ต้องคำนึงถึงแรงกดดันทางสังคม
ทั้งเธอยังไม่ได้ขัดขวางความคาดหวังทางสังคม และวัฒนธรรมในการเป็นผู้หญิงที่เป็นบุคคลสาธารณะ แต่เธอยังท้าทายความคาดหวังเหล่านั้น และยังกล้าพูดกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เธอทำด้วย แม้ต้องแลกกับการถูกกระแสเชิงลบ และต่อต้านแนวความคิดของเธอ
ท่ามกลางดราม่าต่างๆ รอบตัว แต่แนวความคิด และการแสดงออกของซอลลี่ ก็ถูกจดจำในฐานะผู้หญิงที่ขับเคลื่อนสตรีนิยมในสังคมชายเป็นใหญ่ แม้จะเคยมีคอมเมนต์สาปแช่ง และต่อต้านเธอมากมาย แต่ในมุมนึง ชาวเน็ตเกาหลีก็มองว่า เธอเป็นเฟมินิสต์ตัวจริง
“ซอลลี่ คือเฟมินิสต์ตัวจริง สิ่งที่เธอทำโดยไม่แคร์ความคิดเห็นของคนอื่นโดยไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน” หรือ “คนมักเรียกเธอว่าบ้า แต่ถ้าดูในอินสตราแกรมของเธอ เธอไม่เคยทำอะไรที่บ้าจริงๆ เลย นอกจากการไม่ใส่บราเพื่อความสบายของเธอเอง” หรือข้อความอื่นๆ ที่มองว่าสิ่งที่ยกย่องสิ่งที่เธอทำ และสนับสนุนเธอด้วย
ซอลลี่จากไป ทั้งที่ความเหลื่อมล้ำทางเพศในเกาหลีใต้ยังคงเป็นอุปสรรคของผู้หญิง รวมถึงแนวคิดเฟมินิสม์เองก็ยังไม่สามารถแสดงออกได้อิสระ โดยไม่ถูกโจมตีจากสาธารณชน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดที่เธอแสดงออก และสนับสนุนนั้นสั่นคลอนสังคมปิตาธิปไตยในเกาหลีใต้ และมาตรฐานที่เข้มงวดกับภาพลักษณ์ของไอดอล
รวมถึงจดจำเธอในฐานะศิลปิน นักร้องและนักแสดง ที่สร้างผลงานเพลงและละคร และภาพของเฟมินิสต์ ผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อผู้หญิง อย่างที่ครั้งหนึ่งเธอเคยพูดในรายงานว่า หวังว่าผู้คนจะมองมาที่เธอและคิดว่ามีคนแบบนั้นอยู่ และผู้คนจะยอมรับความแตกต่างนี้
อ้างอิงจาก