ในช่วงเวลาที่ต้องกักตัวอยู่บ้านเพื่อการอยู่รอดมนุษยชาติจากโรคระบาด ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ไข่ขาดตลาด ที่มีชุดอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นเพราะแม่บ้านสมัยใหม่ทำได้แต่ ‘เมนูไข่’ พวกไข่ต้ม ไข่เจียว ไข่ดาว พอต้องกักตัวก็ต้องบริโภคแต่ไข่ เพราะประกอบอาหารอะไรมากกว่านั้นไม่เป็น
อันที่จริงไข่ถือว่าเป็นอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารได้หลายเมนู ทั้งคาวทั้งหวาน ทั้งการกินเพื่ออยู่หรือเพื่อการพานิชย์
และการเข้าครัวไม่ใช่หน้าที่ของสมาชิกเพียงเพศเดียวในบ้าน ไม่ว่าใครก็ต้องทำได้ร่วมกันได้ ไม่ใช่ผลักภาระให้เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น เมนูไข่ พวกไข่ลวก ไข่ต้ม ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่คน ไข่ตุ๋น ก็เป็นการประกอบอาหารขั้นพื้นฐานที่ส่วนใหญ่ได้เรียนรู้จากการดำรงชีวิต ขนาดวิชา กพอ. สปช. ยังสอนซับซ้อนมากกว่านั้น และสอนว่าไม่ว่าจะเพศไหนก็ตามก็ต้องเรียนทั้งการหุงต้ม สอยเข็ม เย็บผ้า ปะชุน ปลูกถั่วงอก
ชุดอธิบายไข่ขาดตลาดนี้จึงไม่มีคุณค่าอะไรมากไปกว่าเป็นเพียงซากเดนระบบคิดชายเป็นใหญ่และเหยียดศักยภาพผู้หญิงจากปากของผู้ชาย
เพราะ ‘แม่บ้านสมัยใหม่’ นั้นมันก็มีความหมายและประวัติศาสตร์มายาวนาน ลากไปถึงการเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคมใหม่อย่าง ‘กระฎุมพี’ (bourgeoisie) ที่เป็นสามัญชนที่อยู่ระหว่างชนชั้นระหว่างไพร่ทาสกับขุนนางศักดินา อันเป็นผลสืบเนื่องจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่งปี พ.ศ.2398 ที่นำพาสยามเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยุโรป เกิดการผลิตรูปแบบใหม่ ที่การเกษตรไม่ได้มีเพื่อยังชีพและการค้าขายปลีกย่อยอีกต่อไปที่ ในบ้านหนึ่งผัวเมียจะต้องช่วยกันทำมาหากินประกอบอาชีพร่วมกัน
กระฎุมพีไม่ยอมถูกเกณฑ์ไพร่ไปเป็นแรงงานใต้สังกัดมูลนาย แต่ออกไปประกอบอาชีพอย่างอิสระ แล้วจ่ายเงินทดแทนแรงงานให้มูลนาย พวกเขาเริ่มมีอำนาจในการจับจ่าย ไวต่อการบริโภคและวัฒนธรรมสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็สร้างครอบครัวเดี่ยวที่ไม่ได้มีสมาชิกบริวารจำนวนมากเหมือนชนชั้นเจ้านาย จึงต้องแบ่งงานกันทำภายในสมาชิกครอบครัว ผู้ชายทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้เข้าครอบครัว ผู้หญิงรับผิดชอบกิจการภายในบ้าน ทำความสะอาด จัดแต่งบ้าน เลี้ยงลูกทำครัว เย็บปลอกหมอน ซ่อมแซมสิ่งของชำรุด จัดดอกไม้แห้งดอกไม้สด งานประดิดประดอย เพื่อเป็นการประหยัดไม่ต้องออกไปซื้อของแต่งบ้าน และจัดการค่าใช้จ่ายภายในบ้านที่สามีมอบให้
ด้วยการดำรงชีวิตของกระฏุมพี โรงเรียนหญิงล้วนสอนวิชาชีพและ
ผลิตแม่บ้านแม่เรือนจึงเกิดขึ้นเพื่อมาสนองวิถีชีวิตชนชั้นใหม่นี้
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2408 ที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมิชชันนารีที่สร้างโรงเรียนสอนหนังสือและการใช้จักรเย็บผ้า ซึ่งจักรเย็บผ้าถือว่าเป็นเทคโนโลยีขนาดเล็กในช่วงปลายของยุคแรกปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1760-1840) ที่สามารถสร้างผลผลิตได้เองจากในพื้นที่บ้าน จนนักเรียนโรงเรียนนี้สามารถผลิตเสื้อผ้าขายได้จำนวนมาก[1][2]
การศึกษาสำหรับแม่บ้านแม่เรือนเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเมื่อมิชชันนารีก่อตั้งโรงเรียนกุลสตรีวังหลังในปี พ.ศ.2417 และเริ่มมีโรงเรียนประเภทนี้ผุดตามมากขึ้นเรื่อยๆ และต่างมีหลักสูตรสอนภาษาต่างประเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศส คณิตศาสตร์ วิทยศาสตร์ สุขอนามัย โภชนาการ จิตวิทยาในการเลี้ยงเด็ก และศิลปหัตถกรรม ผลิตหญิงสาวจำนวนมากที่อ่านออกเขียนได้ ฉะฉาน มั่นใจ รู้จักเข้าสังคม มีความคิดความอ่าน ตื่นรู้และต้องการมีส่วนร่วมกับการเมือง บางนางออกมาทำงานนอกบ้านหารายได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้ชาย สร้างรายได้ด้วยตัวของเธอเองและเลือกบริโภคได้เอง
ผู้หญิงกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ‘สาวทันสมัย’ หรือ ‘สาวสมัยใหม่’ (modern girl) และได้กลายเป็นลักษณะของหญิงต้นศตวรรษที่ 20 ทั้งปักกิ่ง บอมเบย์ โตเกียว เบอร์ลิน โยฮันเนสเบิร์ก นิวยอรd พร้อมกับการเติบโตของวัฒนธรรมบริโภคและทุนนิยม ที่ภาพยนตร์ นิตยสาร และโฆษณาแฟชั่นที่เชื่อมวัฒนธรรม modern girl ทั่วโลก[3]
เมื่อเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่มีความรู้ทันสมัย อ่านออกเขียนได้ คำนวณเป็น สามารถใช้เครื่องจักร พวกเธอก็สามารถประกอบอาชีพค้าขายได้ด้วยการผลิตงานจากที่บ้านแล้วส่งไปขายโดยไม่ต้องออกไปขายของเองนอกบ้าน เป็นการประกอบอาชีพสร้างรายได้อื่นระหว่างเป็นแม่บ้านแม่เรือน เช่นเดียวกับแม่บ้านวิคตอเรียน
ในช่วงเวลานนั้น สาวทันสมัย และ แม่บ้านสมัยใหม่ เริ่มเขียนตำราเรียนสำหรับโรงเรียนหญิง พวกเธอหลายคนรวมตัวกันออกหนังสือพิมพ์นิตยสารแม่บ้าน ที่เป็นคู่มืองานบ้านงานครัว เย็บปักถักร้อย และข่าวสารความรู้ด้านกฎหมาย การเมือง สิทธิเสรีภาพ เหตุบ้านการณ์เมืองต่างประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองล้มราชวงศ์ในจีน ไปจนถึงเป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องหญิงที่เดือดร้อน ปลุกระดมผู้อ่านหญิงให้หันมาสนใจการศึกษา ปลดแอกจากสังคมชายเป็นใหญ่ กล้าตัดสินใจเลือกคู่ด้วยตนเองและปฏิเสธการคลุมถุงชน โจมตีวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นสูงชายที่มักแต่งงานผัวเดียวหลายเมียเพราะเป็นการกดขี่สตรี โจมตีการเลือกปฏิบัติทางเพศในแวดวงราชการ พวกนางกล้าหาญชาญชัยตั้งคำถามท้าทายระบอบราชาธิปไตย ตั้งแต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย[4]
แม่บ้านสมัยใหม่ยังรวมตัวกันก่อตั้งสมาคม
เพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ในแต่ละท้องที่
ที่เชียงใหม่ มีการก่อตั้งสมาคมสังคมสงเคราะห์ของผู้หญิง ชื่อ ‘สมาคมสตรีศรีลานนาไทย’ ในปี 2491[5] และเพื่อหาเงินสร้างโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด และออกหนังสือแม่บ้านชื่อเดียวกับสมาคม สตรีศรีลานนาไทย ให้เป็นคู่มือแม่บ้านในการจ่ายตลาดเลือกเนื้อสัตว์ การทำความสะอาดก่อนประกอบอาหาร ให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรค พยาธิ เคล็ดลับการแต่งบ้านให้สวยงามในราคาประหยัด และแจกสูตรทำอาหารคาวหวาน[6]
จังหวัดนครสวรรค์ก็เช่นกัน ที่สมาคมสตรีแม่บ้านแม่เรือนก็จัดกิจกรรมบ่อยครั้ง มีจัดอบรมแม่บ้านให้ความรู้งานบ้านงานเรือน ตั้งศูนย์ปลูกฝีให้กับประชาชน จัดทัศนศึกษาดูงานสังคมสงเคราะห์ รัฐสวัสดิการที่สหรัฐมะลายู จัดกิจกรรมฉายหนังหาเงินเข้าสมาคมสมทบทุนเพื่อดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ บริจาคสิ่งของเสื้อผ้าสมุดดินสอผ้าห่มแก่ประชาชนและนักเรียนท้องที่ต่างๆ บางครั้งเมื่อจังหวัดบ้านใกล้เรือนเคียง ประสบภัย สมาคมก็ร่วมมือกับเทศบาลและพ่อค้าระดมความช่วยเหลือภายในจังหวัด นำเงินและเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยไปช่วย[7]
แหม่ใครได้เป็น สส. จังหวัดนี้ ถ้าได้รู้ประวัติจังหวัดที่ตัวเองเป็นผู้แทน คงจะภูมิใจในแม่บ้านสมัยใหม่ในจังหวัดน่าดูเชียว….
ความรู้แม่บ้านแม่เรือนสมัยใหม่ ได้รับการยกระดับพัฒนามากขึ้นความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อไทยก้าวเข้าสู่ Pax Americana ในช่วง 1950’s กลายเป็นความรู้ที่เรียกว่า Home Economics เน้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ว่าด้วยโภชนาการ เรื่องครัวและเด็ก เครื่องแต่งกาย ศิลปะสัมพันธ์ การตกแต่งบ้าน การครองเรือนและเศรษฐกิจครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ จนมีสถาบันการศึกษาเฉพาะและหลักสูตรในมหา’ลัย คือวิชาคหกรรมศาสตร์และเคหเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เน้นการถนอมอาหารที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร ต่อมามีการก่อตั้งสมาคมคหเศรษฐศาสตร์ เหมือนกับการตั้ง American Home Economics Association ที่สนับสนุนให้แม่บ้านสมัยใหม่ประกอบอาชีพนอกบ้าน สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพิงครอบครัว หรือสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ด้วยวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับแม่บ้าน เช่น รับจ้างเลี้ยงเด็ก รับทำหน้าที่แม่บ้าน รับจ้างเย็บปักถักร้อย ช่างเสริมสวย ช่างครัวขายอาหาร ครูอาจารย์ โภชนากร นักสังคมสงเคราะห์ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนและบรรณาธิการนิตยสารสำหรับแม่บ้าน[8]
เห็นมั้ยล่ะ… ‘แม่บ้านสมัยใหม่’ เป็นอะไรมากกว่าคนทำเมนูไข่ง่ายๆ ให้ลูกผัวกิน แต่พวกเธอสามารถสร้างสาธารณประโยชน์และมีความรู้ความสามารถประกอบอาชีพได้มากกว่านั้น ไม่รู้เหมือนกันที่พ่นว่า แม่บ้านสมัยใหม่ที่มีปัญญาทำได้แค่ไข่เจียว ไข่ต้มนั้น ไปเอาภาพจำความเข้าใจแบบนั้นมาจากประสบการณ์บ้านไหน? หรือหมายถึงแม่ใคร?
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]จิตตมาศ จิระสถิตย์พร และ วัชระ สินธุประมา. จักรเย็บผ้า: การตัดเย็บสมัยใหม่ในการศึกษาของผู้หญิงไทย. วารสารราชพฤกษ์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2561).
[2] จอร์จ บรัดเลย์, แมคฟาร์แลนด์, เอ็ม.ดี. (บรรณาธิการ). ; จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล (แปล). หนึ่งศตวรรษในสยาม ค.ศ. 1828-ค.ศ. 1928 : ประวัติสังเขปของพันธกิจคริสตจักรโปรเตสแตนต์ในสยาม. กรุงเทพฯ : อินเตอร์ พับลิชชิ่ง เอ็นเตอร์ไพรส์, 2555, น. 117.
[3] Alys Eve Weinbaum [et al.] (editors). The Modern girl around the world : consumption, modernity, and globalization. Durham : Duke University Press, 2008, pp. 1-8.
[4] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และคณะ. สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. ; เปรมสิรี ชวนไชยสิทธิ์. ผู้หญิงกับอาชีพครูในสังคมไทย พ.ศ. 2456-2479, (อักษรศาสตรมหาบัณฑิต)บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539. ; อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต และ อวยพร พานิช. 100 ปี ของนิตยสารสตรีไทย (พ.ศ. 2431-2531). กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532.
[5] สภาพเมื่อแรกสถาปนากระทรวงมหาดไทย พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทยพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยารามราชภักดี (ม.ล. สวัสดิ์ อิศรางกูร ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2519.
[6] ชื่นแช่ม รามราชภักดี. สตรีศรีลานนาไทย. พระนคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2492.
[7] ที่ระลึกวันครบรอบปีที่ 3 สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จังหวัดนครสวรรค์ 4 มิถุนายน 2500.ธนบุรี : ส. บรรณภพการพิมพ์, 2500.
[8] ชาติชาย มุกสง. “จากแม่ศรีเรือนถึงแม่บ้านทันสมัย: การต่อสู้ทางศีลธรรมผ่านแม่บ้านหลังปฏิวัติ 2475 ถึงทศวรรษ 2500”. ชุมทางอินโดจีน ปีที่ 4 ฉบับที่ 7 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2558), น. 95-115.