ย้อนไปราวหลายสิบปีก่อน ผู้เขียนเคยดูรายการการ์ตูนที่เล่าเรื่องว่า มีเด็กคนหนึ่งทำท่าทีงงๆ กับโลกภายนอกจนทำให้กลุ่มตัวเอกต้องไปช่วย และเด็กคนนั้นก็พบว่า เขามีอายุ 50 ปี ได้แล้วล่ะ แต่ที่ยังมีสภาพภายนอกเป็นเด็กอยู่นั้นก็เพราะว่าเขามีอาการป่วย จนพ่อแม่ของเด็กคนดังกล่าวตัดสินใจทำการ cold sleep หรือแช่แข็งเขาไว้ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคตจะมียาที่สามารถรักษาอาการป่วยที่ตัวเขาเผชิญอยู่
เรื่องที่ว่าน่าจะเป็นแค่เรื่องแต่งที่อยู่ในความทรงจำของผู้เขียนและคนที่เคยดูการ์ตูนเรื่องดังกล่าวอยู่เพียงเท่านั้น จนกระทั่งเวลาผ่านไปมาถึงช่วงเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ.2019 ก็มีข่าวภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวที่มีลูกป่วยเป็นมะเร็ง และตัดสินใจแข่แข็งร่างของลูกเอาไว้ โดยหวังว่าในอนาคตจะมียาหรือวิธีการรักษาโรค ฟังดูแล้วช่างสอดคล้องกับเรื่องในการ์ตูนเหลือเกิน แต่เมื่อเป็นภาพยนตร์สารคดี นั่นหมายความว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
ที่ชวนให้เซอร์ไพร์สก็คือ เรื่องราวที่ว่าเป็นเรื่องของครอบครัวชาวไทย รวมถึงผู้กำกับก็เป็นสาวชาวไทย และภาพยนตร์สารคดีดังกล่าวได้รับรางวัลจากหลายๆ สถาบัน รวมถึงการคว้าสารคดีนานาชาติยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์ Hot Docs ที่ประเทศแคนาดา ส่งผลให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Hope Frozen’ คว้าตั๋วขั้นแรกเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดีคดียอดเยี่ยม โดยไม่ต้องนำภาพยนตร์ไปฉายในโรงภาพยนตร์ที่อเมริกาแต่อย่างใด และ ณ ตอน ที่เขียนบทความนี้อยู่ ภาพยนตร์ก็ติดรายชื่อกลุ่มแรก และอยู่ในช่วงรอลุ้นที่จะได้คัดตัวเป็นกลุ่ม shortlist เป็นการต่อไป
อะไรทำให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไปไกลได้ขนาดนั้น? เป็นโชคดีที่ ไพลิน วีเด็ล ผู้กำกับภาพยนตร์ตัดสินใจนำเอา Hope Frozen มาฉายในประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง และคราวนี้เธอได้สละเวลาระหว่างที่กำลังทัวร์ฉายภาพยนตร์มาเสวนากับผู้ชมเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์อีกด้วย
เรื่องราวของการแช่แข็งเพื่อสร้างความหวัง
เนื่องจากคำถามและคำตอบในช่วงเสวนาเกี่ยวข้องกับตัวสารคดี Hope Frozen อยู่ไม่น้อย จึงขออนุญาตบอกเล่าเนื้อหาของภาพยนตร์สารคดีโดยคร่าว เพื่อให้เห็นภาพโดยรวมและเป็นความเข้าใจต่อการตอบคำถามของผู้กำกับที่เราจะพูดถึงในประเด็นต่อไป
Hope Frozen เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องราวของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ ที่ประกอบไปด้วย สหธรณ์ ผู้เป็นพ่อของครอบครัว กำลังตกลงกับ นารีรัตน์ ผู้เป็นแม่ ว่าพวกเขาจะทำตามคำร้องขอของ แมทริกซ์ ที่เป็นลูกชายว่าจะมีน้องเพิ่มอีกคนหนึ่ง ผลพวงของความการตกลงกันในครอบครัว พ่อ-แม่-ลูก ทำให้เกิดผลึกความรักที่ชื่อว่า ไอนส์ หรือ ด.ญ.เมทรินทร์
ชื่อของ ไอนส์ มีที่มาจากคำว่า Ai (愛) เป็นภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าความรัก และน้องไอนส์ ก็เป็นตัวเชื่อมโยงสมาชิกในบ้านเนาวรัตน์พงษ์ให้สนิทชิดเชื้อยิ่งขึ้น เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ จึงเป็นเหมือนตัวขยายความสุขให้กับครอบครัว จนกระทั่งวันหนึ่งที่ทั้งบ้านรับทราบข่าวร้ายว่า น้องไอนส์ เป็นมะเร็งในสมองระดับรุนแรง และน้องอาจจะมีชีวิตไม่เกินวัยสองขวบ
คุณพ่อที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย จึงสู้ตายเพื่อหาทางยืดชีวิตให้ผลึกความรักของครอบครัวได้อย่างดีที่สุด นับตั้งแต่การส่งลูกน้อยไปผ่าตัดถึง 12 ครั้ง ให้ยาเท่าที่หาได้ในประเทศไทย หรือที่ในหนังสารคดีระบุว่า “ไปจนสุดทางของวิทยาศาสตร์ในตอนนี้แล้ว”
เมื่อยืนยันว่าชีวิตของน้องไอนส์ต้องสิ้นสุดลงอย่างแน่นอน ทางเลือกต่อมาของผู้เป็นพ่อก็คือการตัดสินใจที่จะนำน้องไอนซ์ไปทำการ ไครออนิกส์ (Cryonics) ซึ่งเป็นเทคนิคการแช่แข็งร่างมนุษย์ทั้งร่างหรือบางส่วนเอาไว้ในอุณหภูมิต่ำ
ศาสตร์ดังกล่าวอาจจะฟังดูเหนือจริง แต่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะค่อยๆ เล่ารายละเอียดว่าขั้นตอนของการแช่แข็งเป็นยังไง ในขณะเดียวกัน ตัวสารคดีก็พูดคุยกับครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ในฐานะคนไทยที่นับถือพุทธศาสนาว่า คิดเห็นอย่างไรกับการกระทำของครอบครัวตัวเอง ที่ขนาดแมทริกซ์ผู้เป็นลูกชายยังเทียบเคียงว่า อาจจะเหมือนการกระทำของนักวิทยาศาสตร์คลั่ง (mad scientist)
แต่เมื่อสารคดีเดินเรื่องไปสัมภาษณ์คนรอบตัว และทีมงานขององค์กร Alcor Life Extension Foundation ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและจัดทำการแช่แข็ง ก็พบว่า ความตั้งใจของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์นั้นเกิดจากความรัก รักมากพอที่จะมอบโอกาสกับความเป็นไปได้ให้กับลูกสาวที่คนทั้งบ้านใส่ใจ ยอมทุ่มเททุกอย่างโดยหวังว่าอนาคตที่รออยู่จะมอบการรักษาจนสมบูรณ์ได้ หลังจากขั้นตอนแช่แข็งเสร็จสิ้นแล้ว สารคดีก็นำพาไปสู่ก้าวต่อไปที่ไม่คาดฝันของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ นั่นคือการกลายเป็นคนที่สื่อสนใจจับตามอง ทั้งในแง่ดีและร้าย
ผลลัพธ์ที่ตามมาในภายหลังจากที่ครอบครัวได้ทราบว่า คุณ Robert McIntyre ได้ใช้สารเคมีที่เขาคิดขึ้นเพื่อนำไปแช่แข็งสมองกระต่าย และสามารถคือการเก็บรักษาโดยที่โครงสร้างประสาท (Structure Of Connectomes) ได้สำเร็จแล้วแล้ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ แมทริกซ์ พี่ชายของไอนส์ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นในฐานะเด็กหนุ่มที่สนใจเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้ตัดสินใจเดินทางไปเพื่อพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์คนดังกล่าว
แต่ผลลัพธ์ของการเดินทางจะเป็นอย่างไร ส่วนนี้ขอสงวนไว้ให้ติดตามกันในภาพยนตร์สารคดีตัวเต็ม
คุยกับ ไพลิน วีเด็ล
ตามที่บอกไว้ตอนต้นว่า การฉายสารคดี Hope Frozen เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2019 เป็นการฉายครั้งที่สองในแผ่นดินไทย (ก่อนหน้านี้ฉายใน Bangkok ASEAN Film Festival) รอบนี้ ไพลิน วีเด็ล เดินทางกลับมาจากการทัวร์ฉายในอเมริกา เพื่อมาเสวนากับผู้ชมโดยเฉพาะ โดยช่วงสนทนามี รัชฎ์ภูมิ บุญบัญชาโชค เป็นผู้ดำเนินรายการรวมถึงแปลสรุปคำถามจากภาษาอังกฤษ
รัชฎ์ภูมิ : ทำไมถึงได้ตัดสินใจมาทำภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ?
ไพลิน : พอดีงานประจำเราเป็นนักข่าวนะคะ ตอนแรกที่จริงแล้วก็เป็นไอเดียของสามีของเรา (Patrick Winn) ที่เป็นนักข่าวเหมือนกัน ได้เห็นข่าวของครอบครัวจากทีวีและสื่อสังคมออนไลน์ในไทย ในทีแรกเราตั้งใจจะไปสัมภาษณ์ธรรมดา 15-20 นาที ปรากฏว่าเราอยู่เป็นชั่วโมง เพราะได้คุยกันเกี่ยวกับครอบครัวนี้ว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงความหมายของ ‘ความตาย’ ต่อพวกเขาอย่างไร
และเขาคิดลึกมากๆ เกี่ยวกับขบวนการไครโอนิกส์กับลูกของพวกเขา หัวพาดข่าวในไทยนั้นอาจจะออกมาแบบผวาๆ นิดนึง แต่พอไปเจอข้อมูลจริง มันเป็นเรื่องที่ลึกกว่าที่เห็นในรายการทีวีต่างๆ ค่ะ การสัมภาษณ์ 15 นาที เลยกลายเป็นการทำหนังสารคดี 4 ปีครึ่ง ไปแทนค่ะ
รัชฎ์ภูมิ : ตอนไหนที่คิดว่า หนังควรจบหรือไม่จบ
ไพลิน : คือถ้าตอบจริงๆ ตอนนี้ก็ยังกลับไปถ่ายได้นะคะ (หัวเราะ) พอทำสารคดีปั๊บเนี่ย เรื่องก็ยังเดินเรื่อยๆ เพราะมันเป็นชีวิตจริง ครอบครัวยังดำเนินชีวิตต่อไป เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดสินใจว่า นี่เป็นจุดจบนะ เป็นสิ่งที่ยากมาก แล้วเราจบเพราะว่าเราต้องจบเพราะทุนหมด (หัวเราะ) แล้วค่อยไปคิดกันในห้องตัดว่ามันจบจริงไม่จริง
รัชฎ์ภูมิ : รีแอ็กชั่นของคนดูในไทยกับคนดูต่างชาติแตกต่างยังไงบ้าง
ไพลิน : ในไทยเนี่ย หลายคนก็จะคุ้นเคยกับครอบครัว (เนาวรัตน์พงษ์) อยู่แล้ว จะเห็นจากในข่าว ก็จะไม่ค่อยมีคำถามว่าเขาเป็นใคร เกิดเรื่องมายังไง คนในไทยคิดอะไร ส่วนนี้จะเป็นคนต่างชาติถามมากกว่า รอบฉายในไทยรอบก่อนหน้านี้ก็จะมีสมาชิกครอบครัวมาด้วย เพราะฉะนั้นคำถามส่วนใหญ่เลยจะให้ทางครอบครัวตอบมากว่า แล้วก็มีคำถามที่ว่าความเชื่อตีกันไหม เชื่อว่าจะเป็นไปได้จริงไหม แล้วก็ชาวต่างชาติก็จะตอบเกี่ยวกับขั้นตอนในการผ่าตัด (ไคโรนิกส์) มากกว่าค่ะ
รัชฎ์ภูมิ : เวลาเราพูดถึงสารคดีของไทยเนี่ย มักจะเล่าเรื่องความเป็นจริง เล่าเรื่องคนชายขอบ คนยากไร้ ชนกลุ่มน้อยอะไรแบบนี้ ในมุมที่เป็นคนไทยเอง มันน่าสนใจมากที่ ดร.สหธรณ์ เป็น crazy rich asian ระดับนึง (ผู้ชมหัวเราะ) แล้วคนรวยในไทยเวลาอยู่ในสื่อ มักจะเป็นในละคร เป็นคนรวยที่ไม่ทำอะไร เลยน่าสนใจมากที่บ้านนี้ทำธุรกิจขายเลเซอร์ (เพื่อการแพทย์) อันนี้ตั้งใจหรือเปล่าครับ
ไพลิน : ค่ะ เป็นแรงผลักดันอย่างนึงนะที่ทำสารคดีนี้ พอเราเป็นนักข่าว เวลาเราก็จะเห็นสารคดีในเมืองนอกก็เกี่ยวกับละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ เลยดูเหมือนว่าทำให้คนไทยดูเป็นเหยื่อ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สำคัญและเราก็เชื่อว่าควรทำข่าวนี้ต่อไป
แต่ว่าเราที่เป็นคนผลิตคอนเทนต์ก็คิดว่า ควรจะผลิตเนื้อหาแบบอื่นด้วยไหม คือพอเราไปคุยกับเพื่อนที่เป็นชาวต่างชาติ พอบอกว่า เมืองไทย เขาก็จะนึกถึง ‘ชายหาดที่สวย’ ‘สื่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้น’ แล้วก็ ‘ความยากจน’ ทำให้เขาดูเราเหมือนเราด้อยกว่า ไม่เท่าเทียมกัน ก็เลยอยากจะผลิตอะไรให้เขาเห็นด้วยว่า ‘เมืองไทยก็มีนักวิทยาศาสตร์’ ‘เมืองไทยก็มีคน upper middle class’ ‘เมืองไทยก็มีคนรักลูก’ ‘เมืองไทยก็มีคนที่คิดถึงปรัชญาความเป็นความตาย’ นะ
นี่คือสิ่งที่สามารถจะโยงเข้าหากันได้ ไม่ใช่ว่าเขาจะมองเห็นว่าคนไทยแตกต่างจากเขา ให้เห็นว่าเราก็เป็นคนเท่ากัน
รัชฎ์ภูมิ : ในเมื่อคนดูชาวไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ จึงน่าจะเข้าใจประเด็นของภาพยนตร์สารคดีได้ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของครอบครัวในภาพยนตร์จะคิดเห็นอย่างไร
ไพลิน : คือ…ก็ไม่แน่ใจว่าคนดูทั้งหมดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อย่างตอนนี้ก็ไม่ทราบเลยว่าคนดูที่นี่คิดแบบไหนค่ะ (หัวเราะ)
รัชฎ์ภูมิ : โครงสร้างของตัวหนังน่าสนใจตรงที่ ตอนแรกตัวเอกของเรื่องก็คือตัวคุณสหธรณ์ที่เป็นพ่อ แต่ในตอนท้ายเรื่องมีการเปลี่ยนตัวเอกกลายเป็นน้องแมทริกซ์แทน อันนี้ตั้งใจหรือเปล่าครับ
ไพลิน : ไม่ได้ตั้งใจเลยค่ะ เพราะตอนแรกที่เริ่มสัมภาษณ์น้องเพิ่งอายุ 13 ปีเอง แล้วถ้าสังเกตในหนังเราจะสัมภาษณ์น้องเป็นภาษาอังกฤษ แต่จะมีช่วงนึงที่น้องบวชจะสัมภาษณ์เป็นภาษาไทย ความจริงคือว่า เราสัมภาษณ์เป็นภาษาไทยหมดเลย แต่พอน้องเริ่มเรียนโรงเรียนนานาชาติ พอสัมภาษณ์เป็นภาษาไทยน้องเขาจะเรียบร้อยมาก (หัวเราะ) จะเรียกเราแบบ…คุณไพลินครับ พอเรียนโรงเรียนนานาชาติน้องเขาก็อยากฝึกภาษาเลยสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษแทน ปรากฏว่า บุคลิกเขาออกมา คือเขาเป็นคนที่ตลกแต่ตอนที่ใช้ภาษาไทยเขาจะไม่กล้า พอพูดอังกฤษเหมือนเขาแสดงออกมากกว่า เราก็เลยตัดสินใจว่าสัมภาษณ์น้องเป็นภาษาอังกฤษดีกว่า
ส่วนในเชิงโครงสร้าง ตอนแรกไม่คิดเลยว่าน้องแมทริกซ์จะเป็นคนเดินเรื่อง เพราะตอนแรกน้องอายุน้อยเกินไป สัมภาษณ์แล้วก็ไม่ได้เรื่องราวอะไรมากมาย ตอนแรกโครงสร้างของหนังจะเป็นการไปสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ที่อเมริกา พอเราไปคุยกับ ดร.สหธรณ์ ว่าจะไปอเมริกา เขาก็บอกว่า เอ้อ เอาน้องแมทริกซ์ไปด้วยไหม พอเราถามว่าถ้าถ่ายด้วยก็ไปได้ค่ะ
รัชฎ์ภูมิ : แสดงว่าที่จริงตอนแรกจะไปสัมภาษณ์ที่อเมริกานี่ไม่เกี่ยวกับที่บ้านเลย?
ไพลิน : ไม่เกี่ยวเลยค่ะ เพราะเราไม่รู้จะเล่าเรื่องไปไหนแล้ว น้องไอนส์ก็เสียไปแล้ว ทำการแช่แข็งไปแล้ว ปรากฏว่าพอมาบอก ดร. สหธรณ์ ว่าจะไปอเมริกา ก็บอกว่าอยากให้น้องแมทริกซ์ไปด้วยเพื่อที่จะเรียนรู้เรื่องพวกนี้ แล้วน้องก็อยากมา เลยกลายเป็นการผจญภัยของน้องในเรื่องขึ้นมาเลย
รัชฎ์ภูมิ : ถือว่าเป็นอุบัติเหตุที่ดีเลย
ไพลิน : เป็นอุบัติเหตุจริงๆ
รัชฎ์ภูมิ : คนตัดต่อเข้าใจภาษาไทยบ้างไหม แล้วทำไมถึงเลือกเขาเป็นคนตัดต่อหนัง
ไพลิน : ไม่เข้าใจภาษาไทยเลยค่ะ คือได้คุยกับคนตัดต่อที่ไทยสองสามคนแล้วเขาบอกว่า “ไม่รู้จะตัดยังไง” คือมันอาจจะมีคนที่ตัดภาพยนตร์สารคดีที่มีฟุตเทจเยอะๆ นะคะ แต่เราหาไม่เจอ เราได้คุยกับหลายคนแล้วก็ไม่มีคนที่ตัดได้ แล้วงานก็ใช้เวลานาน ตัดต่ออยู่เกือบปีนึง ไม่มีใครว่างด้วย
รัชฎ์ภูมิ : ถ้าอย่างนั้นคุณไพลินก็ร่วมตัดเยอะ แล้วก็วางโครงสร้างให้เพราะคนตัดไม่เข้าใจภาษาไทยด้วยใช่ไหม
ไพลิน : ใช่ค่ะ คือเราทำซับไตเติล ทำกับฟุตเตจสัมภาษณ์ทั้งหมด
รัชฎ์ภูมิ : ฟุตเทจกี่ชั่วโมงเนี่ย?
ไพลิน : หลายชั่วโมงได้ค่ะ สัมภาษณ์ ดร.สหธรณ์ ก็ 14 ครั้ง แล้วก็นั่งทำซับไตเติล รอฟุตเทจสามเดือน ก็ดึงครอบครัวเราเอง ทั้งพ่อ แม่ น้องสาว มาทำด้วยค่ะ (หัวเราะ)
รัชฎ์ภูมิ : แล้วพาร์ตที่เป็นภาพธรรมชาติ ถ่าย landscape และพูดเรื่องปรัชญา ตรงนี้ถ่ายไว้ตั้งแต่แรกหรือมาเติมตอนหลัง
ไพลิน : ถ่ายไว้เรื่อยๆ ค่ะ พอเราเปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำปุ๊บ เราวางแผนไว้เลยว่าต้องมีหนึ่งวันที่ถ่ายฟุตเพิ่มเพื่อไว้เป็นฉากคั่นค่ะ
ก็เลยต้องไปหาคนตัดหนังที่เบอร์ลิน (ประเทศเยอรมนี) เลย แล้วก็ต้องหาคนตัดที่เคยมีประสบการณ์ตัดต่อสารคดีจากเอเซียมาก่อน โชคดีที่เธอ (คนตัดต่อ) เคยตัดสารคดีจากเกาหลีใต้ ดังนั้นก็เลยจะมีความคุ้นชินกับงานที่ไม่ใช่ภาษาของตัวเอง ไม่ใช่วัฒนธรรมตัวเอง แล้วงานที่เห็นก็โชคดีที่ออกมาสวยงาม
รัชฎ์ภูมิ : ทราบว่าหนัง Hope Frozen กำลังออกทัวร์อยู่ อยากจะทราบว่าพอจะมีแนวโน้มที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ปกติบ้างไหมครับ
ไพลิน : จะมีฉายอีกทีในวันที่ 7 ธันวาคม ปี ค.ศ.2019 ที่หอภาพยนตร์แห่งชาตินะคะ แต่ถ้ารอบฉายโรงธรรมดาแบบ SF หรือ Major ในปีหน้าอาจจะมีโอกาสอยู่ แต่ยังพูดถึงรายละเอียดไม่ได้ค่ะ
รัชฎ์ภูมิ : ค่าใช้จ่ายของกระบวนการทั้งหมดคือเท่าไหร่ แล้วค่าเก็บรักษาน้องไอซ์ทั้งชีวิต เขาเซ็นสัญญากันยังไง
ไพลิน : เอาค่าใช้จ่ายไครโอนิกส์ก่อนนะคะ คือก่อนที่จะเข้ากระบวนการทำ ส่วนใหญ่คนจะตัดสินใจก่อนเสียชีวิต คือไม่ได้ตัดสินใจทำตอนเสียชีวิตเลย แต่จะตัดสินใจก่อนหลายปี โดยต้องมาเป็นสมาชิกของ Alcor ก่อน ซึ่งค่าสมาชิกปีละประมาณ 400 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ แล้วมาถึงกระบวนการจริงๆ ถ้าเก็บแค่หัวหรือแค่สมองก็เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด 80,000 เหรียญฯ ถ้าทั้งตัวก็เป็น 120,000 เหรียญฯ ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะที่อยู่หน้าเว็บไซต์ของเขาไม่ใช่เรื่องปิดบังอะไร แต่อยากจะบอกว่าทางครอบครัวบริจาคให้กับหน่วยงานวิจัยมะเร็งในเด็ก เยอะกว่าที่เขาจ่ายในการทำไครโอนิกส์นี้ค่ะ
รัชฎ์ภูมิ : จะมีช่วงหนึ่งของภาพยนตร์ที่เป็นช่วงสั้นๆ ที่คุณพ่อและทุกคนอยู่ในวินาทีสุดท้ายของน้องไอนซ์ หลังจากแพทย์นิติเวชระบุว่าน้องเสียชีวิต แล้วทีมดูแลด้านไครโอนิกส์ก็มาเลย คำถามที่สนใจจะถามก็คือในไทยยังไม่มีเทคโนโลยีนี้ อยากจะรู้เรื่องขอบเขตของการระบุขอบเขตการตายและการแพทย์ มีขอบเขตอย่างไรที่จะถูกระบุในเชิงกฎหมายได้ เพราะมันไม่ได้ถูกอธิบายในหนังอย่างชัดเจน อยากรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรในประเทศไทย?
ไพลิน : ต้องบอกก่อนว่าเราไม่นักกฏหมายเราเลยไม่ทราบว่าเขามีขอบเขตอยู่ตรงไหน ทราบแค่ว่ามีทั้งแพทย์และตำรวจที่เซ็นยืนยันในใบมรณะบัตรว่าน้องเสียชีวิตแล้วจริงๆ แล้วก็รอพักนึงก่อนจะให้ทีมไครโอนิกส์เข้ามา คือหลายคนจะคิดว่าต้องทำก่อนน้องเสีย แต่ต้องรอน้องเสียก่อนค่ะ
(ผู้ตั้งคำถามเสริมว่าจุดที่สงสัยคือระบบการแพทย์ของประเทศไทยยอมรับกระบวนการไครโอนิกส์ให้มาอยู่ในกระบวนการจัดการร่างกายแล้วหรือยัง)
ไพลิน : ยังไม่มีการระบุค่ะ เพราะฉะนั้นจึงยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดขอบเขตที่บอกว่าทำได้หรือไม่ได้ คือไม่มีใครในเมืองไทย หรือในเอเซียเคยทำมาก่อน เพราะฉะนั้นน้องเป็นเคสแรก แต่การนำร่างน้องไปต่างประเทศนี่คือสิ่งที่ทำได้ คือมีกฎหมายรองรับไว้ (นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับทางสถานทูตอเมริกา) และทาง Alcor ก็ประสานงานการรับศพไว้ค่ะ
รัชฎ์ภูมิ : สงสัยในเรื่องกระบวนการทำงานครับว่าคุณไพลินเริ่มเข้าไปทำงานตอนช่วงจังหวะไหนของเหตุการณ์ แล้วไอเดียตั้งต้นว่าจะเล่าเรื่องมันถูก shape ขึ้นมาอย่างไร ไปเจออะไร แล้วนำไปสู่อะไร เป็นอย่างไรบ้าง
ไพลิน : ไม่ได้การวางแผนอะไรมาก เพราะตอนที่เราเข้าไป ประมาณสองเดือนหลังน้องไอนส์เสีย เราก็หยุดถ่ายไม่ได้ ตามสัญชาตญาณของคนทำหนัง แล้วทุกครั้งที่คุยกับครอบครัวก็จะมีประเด็นใหม่ขึ้นมา พอสัมภาษณ์ครั้งที่สองก็รู้ว่าคุณพ่อยังวิจัยมะเร็งสมองอยู่ ที่บ่งบอกว่ามีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวทั้งที่ทำงานขายเลเซอร์ ก็มาเรียนรู้การวิจัยเซลล์มะเร็ง แล้วก็มีเรื่องน้องแมทริกซ์เข้ามา คือพอถ่ายไปสักพักเราก็มีสิ่งที่เราอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ก็ทำให้เราถ่ายไปเรื่อยๆ จนเราหมดงบค่ะ (หัวเราะ)
(มีถามเพิ่มเติมว่าตั้งใจจะจบหนังอย่างที่ฉายหรือไม่)
ไพลิน : ตอนแรกเราตั้งใจจะเล่าอีกทางหนึ่ง แต่จากการที่ครอบครัวไปเจอสื่อร้ายแรง เลยต้องการความเป็นส่วนตัวบ้าง เราก็โอเค ไม่เป็นไร เราต้องให้เกียรติ เลยไปถ่ายนักวิทยาศาสตร์แทน จนถึงวันสุดท้ายของการถ่ายทำ ในการเก็บภาพสุดท้ายวันท้ายๆ เราก็ไปคุยกับคุณพ่อ แล้วคุณพ่อก็บอกว่า “เรื่องตอนจบจะถ่ายยังไง งั้นเอาแบบนี้ไหม” เราก็แบบ เอ๊ะ มาไง ก็เหมือนกับว่า มาถึงจุดที่เขายอมรับและเหมือนว่าครอบครัวได้รับเยียวยาแล้ว
รัชฎ์ภูมิ : แล้วถ้าคุณพ่อไม่ให้ถ่ายแบบที่เป็น มี alternate ending แล้วจัดการยังไงกับฟุตเทจและชีวิตส่วนตัว
ไพลิน : เรื่องจัดฟุตเทจก็จัดในหัวไปตลอดเวลานะคะ แล้วก็จะมีน้องสาวมาช่วย ตัดไปเรื่อยๆ ส่วนชีวิตส่วนตัวต้องถามสามีด้วยค่ะ (หัวเราะ) คือเหมือนความสำคัญที่สุดในชีวิตช่วงสี่ปีที่ผ่านมาคือการถ่ายครอบครัวนี้ วันพักร้อนจะไปเที่ยวก็เคยยกเลิกมาแล้ว เพราะน้องแมทริกซ์จะไปบวช ก็ทุ่มเทเยอะมากเพราะถ้าไม่ได้ถ่ายช่วงชีวิตที่สำคัญก็จะเล่าสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้
ส่วน alternate ending ใช่ไหมคะ เวอร์ชั่นก่อนเวอร์ชั่นนี้ก็จะให้จบที่ไปอเมริกา แล้วเป็นความทรงจำระหว่างน้องไอนซ์กับครอบครัว
คำถามหนึ่งที่เรามักจะโดนถามบ่อยๆ ก็คือ จะทำการแช่แข็งตัวเองหรือเปล่า คำถามที่เราจะตอบบ่อยๆ ก็คือ เราคิดว่าตัวเราเองไม่ได้สำคัญขนาดนั้น แต่เราก็คิดว่าการตัดสินใจที่จะแช่แข็งตัวเองมันมีความต่างจากการตัดสินใจแช่แข็งลูก แล้วเราก็ยังไม่มีลูกของตัวเอง เราเลยคิดไม่ออกว่าเราจะตัดสินใจอย่างไร เราเลยไปตัดสินการเลือก (ของครอบครัว) ไม่ได้ แต่เราทำในสิ่งที่ทำได้ ดังนั้นถ้าลูกของเราตายเราคงจะทำอะไรเท่าที่เราสามารถทำได้
อ้างอิงข้อมูลจาก