‘ในนามของความรัก ว่ากันว่า อายุเป็นเพียงตัวเลข’
เอาเข้าจริงความรักออกจะเป็นเรื่องวุ่นวายอยู่เหมือนกัน เราจะรักหรือสานสัมพันธ์กับใครก็คอยมีคนมาช่วยดู ช่วยกะเกณฑ์ว่า เอ๊ะ คนนี้นี่เหมาะสมมั้ยนะ ด้วยเพศ ด้วยวัย ด้วยฐานะ การงาน อาชีพ หน้าตา ดูเหมือนว่าสังคมจะมีเกณฑ์คร่าวๆ กะไว้ให้เราคำนึงในการที่จะรักใครเสมอ
และเพราะอายุมันไม่ได้เป็นแค่ตัวเลข สมัยก่อนเรามักกะเกณฑ์ว่าในความสัมพันธ์ของชายและหญิง ผู้ชายอายุมากกว่าคบหากับสาวน้อยที่อายุน้อยกว่าก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ถ้ากลับกันเป็นหญิงสาวที่มีอายุมากกว่าแล้วคบหา
กับเด็กหนุ่มที่ละอ่อนกว่า แบบนี้สังคมก็จะเริ่มซุบซิบแล้วว่า
“คนนี้กินเด็กอ่ะแกร”
แต่โลกก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ระยะหลังเราจะเห็นบทพิสูจน์ที่ว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน เรื่องอายุเป็นแค่เรื่องรอง ดูเหมือนจะไม่ได้มีแต่บ้านเราเท่านั้นที่มีกระแสสาวรุ่นพี่นิยมเดทรุ่นน้อง แถมในทางกลับกันก็กลายเป็นว่าเหล่าหนุ่มน้อยทั้งหลายมีเป้าหมายเป็นสาวๆ ที่อายุเยอะกว่าตัวเอง
เมื่อความรัก ‘เสมอภาค’ มากขึ้น?
การแต่งงานและความรักสุดท้ายก็ไปเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในสมัยก่อนการแต่งงานถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเลื่อนฐานะทางชนชั้น เช่นในยุควิคตอเรียน หรือแม้แต่ในแถบเอเชียอย่างบ้านเรา การที่ลูกสาวของบ้านไหนเป็นที่ต้องการของชายหนุ่มที่เหมาะสมถือเป็นเรื่องที่พึงปรารถนาสุดๆ ดังนั้นในมิติทางสังคม ผู้หญิงจึงมักมองหาผู้ชายที่อายุมากกว่าเพราะเป็นการแสวงหาความมั่นคงในชีวิตให้กับตัวเอง
และด้วยเหตุผลทางชีววิทยา ผู้ชายจึงมองไปที่หญิงสาว
ที่อายุน้อยกว่าในการหาคนที่จะมาทำหน้าที่แม่ในการผลิตทายาทต่อไป
ทุกวันนี้ความคิดแบบที่ว่าก็ยังมีอยู่บ้าง แต่สภาพความเป็นจริงก็เปลี่ยนแปลงไปมากกว่ายุควิคตอเรียนเยอะ เดี๋ยวนี้ผู้หญิงเองก็มีความมั่นคงทางการเงินได้ด้วยตัวเอง สามารถมีการศึกษา ทำงาน ก้าวหน้า และมั่งคั่งได้ด้วยตัวเอง วิถีของการเป็นผู้หญิงที่เคยถูกจำกัดอยู่แค่การหาสามีดีๆ มีลูก แล้วนั่งเลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน เลยไม่ได้เป็นแค่ความฝันสำคัญเพียงอย่างเดียวของผู้หญิงอีกต่อไป
Courgar Phenomenon ปรากฏการณ์รักต่างวัย
ปรากฏการณ์สาวรุ่นพี่กับหนุ่มที่อายุน้อยกว่าถือว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของยุคสมัยใหม่เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากเราจะเริ่มเห็นการเดทหรือรักต่างวัยมากขึ้นในบ้านเราแล้ว ในสังคมตะวันตกเองก็มีจนกระทั่งเรียกกันว่าเป็นปรากฏการณ์ Courgar Phenomenon
ความหมายของ ‘Courgar Phenomenon’ ก็คือการพูดถึงความสัมพันธ์ของหญิงสาวที่อายุมาก (กว่า) กับหนุ่มน้อยที่อายุน้อยกว่า ซึ่งอายุจะห่างมากระดับ 7-8 ปี หรือแค่ไม่กี่ปี ก็ใช้นิยามนี้ได้เหมือนกัน
นักสังคมวิทยาอธิบายว่าปรากฏการณ์สาวๆ ที่หันมาชอบเด็กส่วนหนึ่งเกิดจากการที่กลุ่มเป้าหมายเดิมๆ ของหญิงวัยกลางคน ซึ่งก็คือชายหนุ่มที่มีการศึกษาผู้มาพร้อมกับความมั่งคั่งและอายุมากกว่า เดี๋ยวนี้หาได้ยากแล้ว ผนวกกับการที่ผู้หญิงมีความมั่นคงและมีการศึกษาเองแล้ว ก็เลยเกิดรูปแบบความสัมพันธ์ที่กลับด้านขึ้น
Old is the new Hot!
ผู้หญิงไม่ได้มีดีแค่รูปลักษณ์ ในสายตาของเด็กหนุ่มๆ เลยก็มีทัศนคติเชิงบวกต่อผู้หญิงที่แก่กว่าตัวเอง คือไม่ได้มองว่าแก่กว่าเปล่าๆ
แต่อายุที่มากกว่ามาพร้อมกับความเจ๋งด้วย
คือมองว่าหญิงสาวที่อายุมากกว่าตัวเองเป็นคนที่สามารถจัดการเรื่องราวหรือความรับผิดชอบหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องการงาน ดูแลเด็กๆ ดูแลบ้าน การดูแลร่างกายตัวเอง ดูแลการเงินและการเข้าสังคม
จะว่าไปก็เรียกได้ว่าเด็กหนุ่มสมัยนี้มีวิสัยทัศน์ขึ้น ไม่ได้มองแค่ว่าแก่แล้วจะร่วงโรยหรือสนใจแค่รูปลักษณ์อย่างเดียว แต่มีการมองเห็นที่ลึกขึ้นไปว่า อายุที่มากขึ้นมาพร้อมกับประสบการณ์และความลุ่มลึกต่างๆ ที่เพียบพร้อมขึ้นนั่นเอง
เว็บไซต์หาคู่ EliteSingles บอกว่าเดี๋ยวนี้หนุ่มๆ วัยกำลังน่าขบที่อายุประมาณ 20-30 ปีมักจะตั้งค่าว่าพวกเขามองหาหญิงสาวที่อายุมากกว่าตัวเอง 3-6 ปี ดังนั้น แก่กว่า มีโอกาสมากกว่านะจ๊ะ ว่าไม่ได้
ในโลกที่ซับซ้อนขึ้น เปิดกว้างขึ้น และเสมอภาคขึ้น สถานะและความสัมพันธ์ของบุคคลก็อาจจะมีความซับซ้อน หลากหลายและเป็นเรื่องส่วนตัวมากขึ้น เกิดแนวความคิดใหม่ๆ มากขึ้น ไอ้ความคิดเรื่องความรักที่เป็นอุดมคติ เป็นเรื่องของคนสองคน เติมเต็มซึ่งกันและกัน อาจจะเป็นจริงมากขึ้นได้มากขึ้นก็ได้
แต่สุดท้าย กระแสเรื่องความรักต่างวัย ก็แสดงให้เห็นว่าอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคเสมอไป แต่อาจเป็นคุณสมบัติที่ เอ้า สาวๆ ที่ยังโสด ฟังแล้วก็อย่าหยุดแซ่บ เราอาจจะกำลังเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของหนุ่มน้อยที่จะมาช่วยเติมความสดใสให้กับชีวิตเราอยู่ก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
en.wikipedia.org/wiki/Cougar_(slang)