หลายคนอาจได้เห็นเว็บรายงานผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แบบเรียลไทม์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 ที่ดีไซน์สะอาดตา ดูเข้าใจง่าย มีฟังก์ชั่นต่างๆ ให้เลือกดูตามแต่ละคนสนใจ ซึ่ง The MATTER ทำร่วมกับ Opendream ไปแล้ว
แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ โปรเจ็กต์ ที่บริษัทเทคโนโลยีแห่งนี้ทำเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้บริหาร กทม. รอบที่ผ่านมา เพื่อขยายการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยของคนไทย – ทลายมายาคติความเชื่อแบบผิดๆ ว่า คนไทยมีเพียง “ประชาธิปไตย 4 วินาที” ในคูหาเลือกตั้งเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ งานของ Opendream ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่หวังใช้เครื่องมือดิจิทัลมาสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม จะเน้นไปที่ ‘การศึกษา’ ‘สุขภาพ’ ‘ชีวิตความเป็นอยู่’
เพิ่งมาการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ที่ขยายขาในการทำงานไปสู่เรื่อง ‘การมีส่วนร่วมของประชาชน’ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
พวกเขาคาดหวังจากสิ่งเหล่านั้น
The MATTER ไปนั่งคุยกับ ‘เก่ง-ปฏิพัทธ์ สุสำเภา’ ผู้ร่วมก่อตั้ง Opendream ในวันที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เริ่มต้นทำงานได้ไม่นาน พร้อมๆ กันกับกระแส open data หรือการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้มามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศกำลังเฟื่องฟู (แต่ภาครัฐจะทำไหมหรือทำแค่ไหน ยังต้องไปต่อสู้กันอีกหลายๆ ยก)
อยากให้เล่าประวัติ Opendream เกิดขึ้นมายังไง
เราก่อตั้งเมื่อปี 2551 พื้นฐาน คือผมกับผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมดเป็นวิศวกร ทำงานเอกชน ทำงานโรงงานมาสัก 3-4 ปีก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยสนุก ก็เลยคิดว่าลาออกดีกว่า พวกผมก็เรียกว่า Gen Y ยุคแรกๆ เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ แต่เปลี่ยนงานแบบอัพเงินเดือนนะครับ พอทำไปสักพัก เงินก็เยอะดี แต่มันไม่ค่อยได้ใช้ เป็นความทุกข์ที่มันประหลาดๆ นิดนึง ไม่มีเวลามาใช้เงิน ก็เลยตัดสินใจลาออก ตอนนั้นก็คิดแบบเด็กๆ อายุยี่สิบหน่อยๆ ก็คิดว่าทำอะไรที่มันท้าทายชีวิตดีไหม แต่ยังคิดไม่ออกว่าทำอะไรดี เลยไปเป็นอาสาสมัครให้เอ็นจีโอ ไปช่วยเขาพัฒนาระบบดิจิทัล ใช้ความเชี่ยวชาญตัวเองในการช่วยคนอื่น แต่ทำได้สักปีนึง ก็คิดว่ามันท้าทายมากพอ ก็เลยมาตั้ง Opendream
ตอนนั้น เราอยากเอาเครื่องมือดิจิทัลมาช่วย เป้าหมายก็จะอหังการนิดนึง คือเครื่องมือดิจิทัลมันจะปฏิบัติหลายๆ อุตสาหกรรม “เราอยากเอามาปฏิวัติงานที่สร้าง impact ให้สังคมบ้าง” ก็ตั้งกว้างๆ ประมาณนั้น พอทำได้สัก 1-2 ปี ก็ทำหลายเรื่องมาก ไปทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ทำเรื่อง open data เยอะแยะไปหมดเลย ก็พบว่า เหนื่อยมากเลย ปัญหามันมากเกิน เราจะทำทุกเรื่องไม่ได้ ก็เลยปวารณาตนว่า จะโฟกัสแค่ไม่กี่เรื่อง จากที่กระจายไปหมด เหลือ 2 เรื่องหลักๆ คือ สุขภาพกับการศึกษา
คือ Opendream จะมีเงื่อนไขการทำงานอยู่ 3 ข้อ 1.ต้องเลี้ยงตัวเองได้ 2.ต้องได้กำไรเป็นตัวเงิน และถ้าจะให้ดี 3.ควรจะได้กำไรแบบไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งมันก็มีไม่กี่เรื่องในประเทศไทยที่ทำแบบนั้นได้ แล้วเราก็สนใจเรื่องสุขภาพกับการศึกษาอยู่แล้ว เลยไปทำแอพฯ ด้านสุขภาพ เป้าหมายให้คนดูแลตัวเองได้ ทำเกมเพื่อการศึกษาเพื่อให้ unit ที่เล็กที่สุดของสังคมมันจัดการตัวเองได้
แต่ก็จะมีเรื่องหนึ่งที่ซ่อนๆ อยู่ คือการมีส่วนร่วม การทำประชาธิปไตยบนโลกดิจิทัล ก็พยายามหาทางทำมาตลอด แต่มันไม่เข้าเงื่อนไข 3 ข้อ คือไม่สามารถสร้างกำไรได้ อาจจะได้กำไรไม่เป็นตัวเงิน ก็จะลำบากนิดหน่อยในฐานะบริษัท แต่จู่ๆ ก็มีรัฐประหารในปี 2557 ก็เลยทำอะไรไม่ค่อยได้เลยในเรื่องนี้
กระทั่งปี 2562 สักสองสัปดาห์ก่อนจะเลือกตั้ง ก็มานั่งนึกๆ ดูว่า บรรยากาศการเลือกตั้งมันหายไปนาน น่าจะมาทำอะไรเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร แต่น่าจะทำอะไรสักอย่าง ไม่ได้เงินไม่เป็นไร แต่ควรจะต้องทำ เพราะว่าเหมือนเทศกาลเฉลิมฉลองของประชาธิปไตยที่ไม่ได้มีมานานแล้ว ก็เลยโทรไปหานิ้ว (อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา อดีต บก.บริหาร The Momentum) บอกว่า ไม่ได้เลือกตั้งมานานแล้ว กกต.ก็ไม่แน่ใจว่าจะเชื่อถือได้ไหม เรามาจับตา กกต. กันดีกว่า
ก็เล่าให้นิ้วฟังว่า ถ้าเราชวนคนไปมอนิเตอร์การเลือกตั้ง และนับคะแนนแข่งกับ กกต. แล้วภายใน 2 สัปดาห์ ก็เลยออกมาเป็น Vote62 เวอร์ชั่นแรกออกมา
เพราะ mission แรกของเราคือขยายขั้นตอนทางประชาธิปไตย เพราะมักมีคนพูดว่า ประชาธิปไตยของไทยมีเวลาแค่ 4 วินาทีเท่านั้นแหละ เราก็หาทางขยายมัน ทำยังไงให้การมีส่วนร่วมมันต้นทุนต่ำ และคนเข้ามาร่วมได้ง่ายๆ เลยนึกถึงการยืนดูการนับคะแนน
ตอนนั้นก็ค่อนข้างประหลาดใจ คือไอเดียมันก็ใหม่มาก แล้วก็ไม่แนใจว่าคนจะเข้าใจไหม แต่ก็ปรากฎว่า มีคนส่งเข้ามากว่า 4,000 หน่วย ทั้งประเทศ คือเราให้คนส่งรูปการนับคะแนนเข้ามา แล้วก็จะมีคนมาช่วยกันพิมพ์เป็นตัวเลข ก็มีคนมาดูเป็นแสนเหมือนกัน เลยคิดว่าไอเดียมันก็สนุกดี เพราะทำให้คนเข้ามาร่วมได้
หลังเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 เราก็ทำกับการเลือกตั้งอื่นมาเรื่อยๆ ก็มีหน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมทำได้ เช่น คณะกรรมาธิการของสภา สถาบันพระปกเกล้า เลยกลายเป็นเหมือนประเพณีว่า ถ้าเลือกตั้งเมื่อไร Vote62 กับเพื่อนๆ ก็จะลุกขึ้นมาทำอะไรให้คนเฝ้าจับตาการเลือกตั้ง เพียงแต่ความคึกคักมันอาจจะไม่เท่ากับเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 เพราะการเลือกตั้งซ่อมหรือเลือกตั้งท้องถิ่น โมเมนตัมอาจจะดึงให้คนมาร่วมแบบเทศกาลไม่ได้ จนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุด ในปี 2565 ความรู้สึกเหมือนเทศกาลมันก็กลับมาอีก เพราะหายไป 9 ปี ก็เลยกลับมาทำอีก และคิดอหังการอีกแล้วว่า ต้องมีคนมารายงานข้อมูลเยอะมากๆ เลยอย่างน้อยสักครึ่งนึงของหน่วยเลือกตั้ง (กว่า 9,800 หน่วย) สุดท้ายก็ได้มาราว 4,000 หน่วย ก็ถือว่าเยอะมาก แล้วเราก็ทดลองหลายรูปแบบ เพราะคนที่มาร่วม Vote62 เราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เราเรียกว่าอาสาธรรมชาติ ที่นึกอยากร่วมก็เข้ามา dy[กลุ่มสอง คือพรรคการเมืองหรือสถาบันวิจัยที่เขาจะต้องส่งคนไปเฝ้าการนับคะแนนอยู่แล้ว ก็ customize ให้คนมามีส่วนร่วมได้
ที่น่าประหลาดใจคือ อาสาธรรมชาติคึกคักมาก มากกว่า 60-70% เข้ามามีส่วนร่วมด้วยตัวเอง เลยคิดว่าไอเดียวนี้มันใช้ได้ และน่าจะขยายไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมาถึงในอีก 1 ปีข้างหน้า
ทว่า Vote62 เราก็มองไว้ว่า ในกระบวนการเลือกตั้ง การนับคะแนนมันเป็นปลายๆ การเลือกตั้ง vote62 มันคือกระบวนการหลังเลือกตั้ง คือปิดหีบแล้ว ต้องมาดูการนับคะแนน แต่เลือกตั้งรอบนี้เราก็ขยายไปสู๋เครื่องมืออื่นๆ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้ากับ The MATTER ว่า ยังมีเครื่องมือไหนอีกนะที่ส่งเสริมประชาธิปไตยได้ ก็คุยกันว่ายังขาดเครื่องมือในการแนะนำว่าควรจะเลือกใคร คือปกติเราก็เลือกกันด้วยอารมณ์นั่นแหละ ชอบคนนี้ รักคนนี้ รักอุดมการณ์พรรคนี้ แต่สิ่งที่เราอยากเสนอให้เห็นในเชิงข้อมูลว่า นอกเหนือจากอารมณ์แล้ว ในเชิงของนโยบายล่ะ ผู้สมัครแต่ละคนมีนโยบายแบบไหน แล้วก็มาจับ match กันว่า นโยบายที่เราสนใจไปตรงกับผู้สมัครคนไหนบ้าง เพื่อขยายภาพว่า นอกจากการรักชอบพอกันแล้ว มันก็มีเรื่องอื่นๆ ด้วย และหวังว่าคนอื่นๆ จะใช้ข้อมูลที่เราแนะนำไปช่วยร่วมตัดสินใจ ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนไปลงคะแนนเลือกตั้ง
ทีนี้ ก็ต้องมาดูว่า ก่อนเลือกตั้งมีเครื่องมือหนึ่ง เพื่อช่วยตัดสินใจ ระหว่างเลือกตั้งมีเครื่องมือหนึ่ง เพื่อความโปร่งใส หลังเลือกตั้งมีเครื่องมือนึง เพื่อมอนิเตอร์ อย่างน้อยมันทำให้ pipeline การมีส่วนร่วมเพื่อประชาธิปไตยมันครบ เพราะเลือกตั้ง มันก็เป็นแค่สมการเดียวในประชาธิปไตย ยังมีสมการอื่นๆ เช่น หลังได้รับเลือกตั้งมาแล้ว จะทำยังไงให้ผู้ถูกเลือกมี accountable ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องมาคิดว่า สุดท้ายแล้วกระบวนการมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยก็ต้องหาเครื่องมือในการตรวจสอบนักการเมืองด้วย
สิ่งที่ได้จากการทำหลายๆ โปรเจ็กต์เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีอะไร
อาจจะแยกเป็นที่ดีอยู่แล้วและควรทำต่อไป ผมขอแยกเป็น good bad try
สิ่งที่ดีอยู่แล้ว และเพื่อนๆ vote62 น่าจะเห็นตรงกันคือ อาสาธรรมชาติมีพลังมากและเขาพร้อมที่จะมีส่วนร่วม ควรที่จะหาทางทำงานร่วมกัน ต่อยอดให้กลายเป็นชุมชนให้ได้ นี่คือสิ่งที่ดี
สิ่งที่ไม่ดี มีเยอะแยะเลย เพราะ Vote62 มันใช้เงินตัวเอง มันไม่ได้ถูกทำให้เป็นงานหลักของใคร ทุกคนก็จะมีภารกิจของตัวเองและ ‘แบ่งเวลาว่าง’ มาทำ ถ้าขำๆ ก็คงได้ไปเรื่อยๆ แต่อาจจะไม่ยั่งยืนเท่าไร ฉะนั้น รอบหน้าควรจะคิดจริงจังให้เป็น mission ของคนใดคนหนี่ง แต่ตอนนี้มันยังเป็นโครงสร้างหลวมๆ ทำให้งานไม่ได้ประสิทธิถาพอย่างที่ควรจะเป็น เช่น อาสาธรรมชาติทั้งหลายก็ไม่ได้รับฟีดแบ็กว่า เข้ามามีส่วนร่วมและผลมันเป็นอย่างไร ซึ่งเราก็ไม่มีเวลาทำ เพราะทุกคนก็ยุ่งกันหมด ก็เป็นสิ่งที่เราทำได้ไม่ดีเลย และควรจะปรับปรุงมากๆ โดยเฉพาะคนที่มามีส่วนร่วม สิ่งที่เขาดั้งด้นไปถ่ายรูปมา มันส่งผลกระทบยังไงบ้าง
ส่วนสิ่งที่คิดว่าน่าจะลองทำในรอบถัดไป คงเป็นเรื่องการขยาย pipeline การมีส่วนร่วมประชาธิปไตยในเฟสต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าแก้เรื่องการที่เป็นงานอาสา ไม่มีคนรับผิดชอบหลักไม่ได้ ก็อาจจะเจ๊งเหมือนเดิม อาจจะต้องมีเจ้าภาพให้ได้ เพราะ Opendream ก็เป็นแค่หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เราไม่ได้เชี่ยวชาญการ run เครือข่าย อาจจะต้องตั้งเป็นองค์กรมาทำหน้าที่ผลักดันด้านประชาธิปไตย
คุณเก่งเป็นคนไปสร้างแคมเปญ ขอให้ใช้ “เลขไทย” ในเอกสารราชการเท่าที่จำเป็น มันสำคัญยังไงกับการทำงานเชิงดิจิทัล เพราะจริงๆ บางโปรแกรมโยนเลขไทยไปสุดท้ายมันก็ถูกเปลี่ยนเป็นเลขอารบิกทันทีอยู่แล้ว
มุมแรก ในฐานะโครงสร้างพื้นฐาน หลายๆ ประเทศมันพิสูจน์แล้วว่า ถ้าเราทำ open data และมีเวทีการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน มันก็ช่วยลดภาระรัฐได้ และตอบสนองความต้องการประชาชนได้ แต่การเปิดข้อมูลต่างๆ มันก็เป็นปลายทาง จุดสำคัญคือกระดุมเม็ดแรกต้องติดให้ถูก คือข้อมูลที่เปิดมันต้อง human readable และ machine readable ไปพร้อมๆ กัน
ความวิปริตในการใช้เลขไทยของราชการไทย ในเชิงเทคนิคแล้วมันไม่ส่งผลอะไรมาก ผมเขียนโปรแกรมในการแปลงเลขไทยเป็นเลขอารบิกได้ แต่ในทางเอกสารมันสะท้อนความไม่คงเส้นคงวา เลขไทยควรจะมีที่อยู่ของมันอย่างชัดเจน ข้อเสนอที่น่าจะดีที่สุด ที่รัฐน่าจะแฮปปี้ คือรัฐก็น่าจะกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเหมือนประเทศญี่ปุ่น ที่ยกตัวอย่างญี่ปุ่น เพราะ conservative พอๆ กัน และมีเลขของตัวเองเหมือนๆ กัน ควรจะกำหนดให้ชัดเจนว่า ที่อยู่ของเลขไทยควรจะอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วที่เหลือให้ใช้ ‘เลขคำนวณ’ ให้หมด ของที่อยู่ในตาราง ของที่จะนำไปคำนวณ ควรจะเป็นเลขอารบิกทั้งหมด
เพียงแต่ถ้าเป็นแบบนั้น ข้อดีคือนำไปใช้ประโยชน์ง่าย ข้อเสียคือต้นทุนของฝั่งผู้ปฏิบัติงานจะสูงขึ้นมากๆ เช่น คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ มันถูกคุมด้วยมาตรฐาน มอก.820 ซึ่งเลขอารบิกเป็นประชากรชั้นหนึ่ง เลขไทยต้องกด shift เสมอ ถ้ามีการบังคับใช้เลขไทย ต้นทุนในการปฏิบัติงานจะสูงขึ้นมาก เพราะต้องกด shift ทำให้การทำงานไม่ได้สะดวกขึ้น
แคมเปญนี้ก็เลยบอกว่า ไม่ต้องใช้มันหรอก เพื่อให้มันต้นทุนต่ำ จะไปใช้ในบางจุดก็ได้ เช่น รอยแก้ว แต่สำหรับเลขคำนวณไม่ควรใช้เลขไทยเลย
ส่วนการใส่เลขไทยในโปรแกรมแล้วมันเปลี่ยนเป็นเลขอารบิกเลย อาจเพราะ 1.โปรแกรมมันรองรับ convert เลขไทยเป็นเลขอารบิกอัตโนมัติ 2.โปรแกรมไม่ได้รองรับหรอก แต่ผู้ผลิตเอกสารไปใช้ฟ้อนต์ประหลาดที่แปลงเลขอารบิกเป็นเลขไทย ซึ่งเป็นแบบนี้แล้ว แนวทางไม่ชัดเจน ผู้ใหญ่ในบ้านเราอาจจะอ้างเรื่องต้องอนุรักษ์ แต่ไม่ได้คิดถึงความคงเส้นคงวา จึงควรจะพิจารณาให้ดีๆ เพราะถ้า guideline ไม่ชัดมันก็เละ ถ้าจะทำให้ชัด ก็ต้องคิดถึงผู้ปฏิบัติงาน และเปลี่ยนไปได้ตามเทคโนโลยี
เราก็เลขคิดว่า ไม่ใช้เลขไทยไปเลยในเอกสารราชการ ก็น่าจะดีที่สุด
ภาพรวม 15 ปี ที่ Opendream ก่อตั้งมา พบเห็นอะไรบ้างกับการใช้เครื่องมือดิจิทัลร่วมพัฒนาประเทศ และอยากให้เกิดอะไรขึ้นในสังคมนี้
เราก็คงเป็นจุดเล็กๆ ในการผลักดัน ก็อยากให้ดิจิทัลเป็นหนึ่งในเครืองมือในการพัฒนาประเทศ
ผมว่าต่อให้ทุกอย่างมันดูแย่ในปัจจุบัน แต่ถ้าเทียบกับ 15 ปีที่แล้วตอนเราเริ่ม Opendream หลายอย่างมันก็ดีขึ้น ผมจำได้ว่าตอนปี 2553 เรากับเพื่อนๆ เคยพูดเรื่อง open data คนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเปิด มันคืออะไร เปิดแล้วจะทำไปทำไม เราจำได้ว่า เมื่อก่อนไม่มีใครเข้าใจมันเลย แต่ตอนนี้ อย่างน้อยภาครัฐก็มาเปิดศูนย์ open data ของตัวเอง แม้จะเชื่อว่ามันน่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่เขาก็ได้พยายาม นี่คือสิ่งที่ดี
สิ่งที่แย่ก็คือ ความวิปริตในการใช้เลขไทย เมื่อก่อนผมจำได้ว่ามันยังมีการใช้ผสมผสานกัน เช่น มติ ครม. ก่อนปี 2554 มีการใช้เลขอารบิกเป็นหลัก ยกเว้นแค่บางกระทรวงที่ใช้เลขไทย แต่ผมคิดว่ามันยังมีความ ‘บันยะบันยัง’ ในการใช้เลขไทย ไม่ใช้แบบไม่ดูตาม้าตาเรือ เทียบกันตอนหลังๆ ที่ใช้กันแบบไม่บันยะบันยัง โดยเฉพาะยิ่งช่วงหลังโควิด-19 ที่มันจะต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลเยอะมาก ทั้ง URL อินเทอร์เน็ต รหัส ZOOM ที่มันต้องใช้เลขอารบิก มันเพี้ยนไปหมดเลย ซึ่งผมว่าคงมีคนฟีดแบ็กแหละ แต่อาจจะติดฝั่งธุรการ ฝั่งสารบรรณ ซึ่งก็ทำให้เกิดขั้นตอนเพิ่มเติม ในการเปิดเผยข้อมูล ทำ open government
Opendream ก่อตั้งด้วยเป้าหมายที่จะใช้เครื่องมือดิจิทัลสร้างความเปลี่ยนแปลง คิดว่าที่ผ่านมา งานของเราได้สร้าง impact อะไรกับสังคมไทยบ้าง
เราอาจจะยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเนื้อเป็นหนังได้ เพราะวงล้อของสังคมมันใหญ่มาก แต่สิ่งที่เราทำได้ และค่อนข้างพอใจระดับหนึ่ง คือการแสดงตัวอย่างให้เห็นว่า เครื่องมือดิจิทัลมันมีศักยภาพในการสื่อสาร เช่น เรื่องสุขภาพ ถ้าจะให้คนดูแลสุขภาพตัวเอง แอพฯ ต่างๆ ช่วยอะไรได้บ้าง หรือถ้าจะหยุดยั้งโรคระบาด แอพฯ หรือเครื่องมือดิจิทัลจะช่วยอะไรได้บ้าง ผมว่าอันนี้เราแสดงตัวอย่างให้คนที่อยู่ในแวดวงนั้นๆ เห็นว่าเอาไปใช้อะไรได้บ้าง
แต่ถ้าจะขนาดเปลี่ยนแปลงสังคม ผมว่า Opendream อย่างเดียวทำไม่ไหว คงต้องใช้บทบาทเรื่องทำตัวอย่างให้ดู และค่อยๆ หาจุดคานงัด พองัดเล็กๆ ไป ทุกคนเห็นตัวอย่าง และเข้ามาช่วยกันงัด ให้ทั้งอุตสาหกรรมมันพลิกได้
คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก แต่เราก็ยังคิดว่า บทบาทที่เราทำได้ดีที่สุด คือการแสดงตัวอย่าง เทคโนโลยีใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ ให้หน่วยงานที่ต้องทำเรื่องพวกนี้ทำได้ดีขึ้น