ทฤษฎีสมคบคิดมากมาย ความลี้ลับที่หาสาเหตุไม่ได้ถูกเล่าขานจากสถานที่แห่งนี้เรื่องแล้วเรื่องเล่า ตั้งแต่วิธีการสร้างที่ยังคงเป็นปริศนาเรื่อยมา พื้นที่ภายในที่ยังสำรวจไม่ครบ รวมถึงหน้าที่ของมัน ว่านอกจากจะเป็นจุดพักในโลกหลังความตายแล้ว ยังมีสิ่งอื่นใดซ่อนอยู่ใน ‘พีระมิดแห่งกีซา’ อีกหรือเปล่า
ด้วยความยิ่งใหญ่และซับซ้อนของสถาปัตยกรรม ชี้ให้เห็นว่าภูมิปัญญาของมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่มาหลายพันปี อาจจะยิ่งใหญ่เกินกว่าเราในวันนี้จะเข้าใจเสียด้วยซ้ำ เพราะคำถามมากมายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งมหัศจรรย์โลกยุคโบราณนี้ ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด มีเพียงข้อสันนิษฐานไปตามการค้นพบใหม่ๆ ราวกับเรากำลังแกะรอยความยิ่งใหญ่ของมหาพีระมิดนี้ได้เพียงทีละก้าวเท่านั้น
‘พีระมิดแห่งกีซา’เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณที่เก่าแก่ที่สุด ประกอบไปด้วยกลุ่มพีระมิดน้อยใหญ่ในบริเวณเดียวกันมากมาย ตั้งตระหง่านข้ามผ่านกาลเวลาบริเวณที่ราบสูงกีซา เมืองกีซา ประเทศอียิปต์ บทบาทของสถานที่นี้ขึ้นตรงกับความเชื่ออย่างแยกจากกันไม่ได้ พีระมิดถูกใช้เป็นสุสานของฟาโรห์ และเชื่อว่าเป็นที่พำนักก่อนเดินทางไปยังโลกหลังความตาย
พีระมิดแห่งนี้เป็นของฟาโรห์คูฟู มีความสูงถึง 147 เมตร หินนับล้านก้อน ก้อนหนึ่งหนักราวๆ 2.3 ตัน ถูกจัดเรียงซ้อนกันขึ้นไปประมาณ 200 ชั้น อย่างสลับซับซ้อน แต่ก็ยังไม่ซับซ้อนเท่าคำถามที่ว่า ‘พีระมิดถูกสร้างขึ้นอย่างไร?’ มีทฤษฎีมากมายตั้งแต่การใช้แรงงานคนลากหินขึ้นไปมีไม้พาดตามชั้น การลำเลียงหินไปตามแม่น้ำ ไปจนถึงทฤษฎีสมคบคิดที่สุดแสนจะเซ็กซี่ที่เชื่อว่า ‘นี่ไม่ใช่ฝีมือของมนุษย์ไงล่ะ’
ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมากนัก มีเพียงข้อสันนิษฐานจากนักอียิปต์วิทยา (ใช่แล้ว มีชื่ออาชีพนี้โดยเฉพาะ) ว่ามนุษย์เราสามารถสร้างที่แสนยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างไร แต่จากการศึกษาค้นคว้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบันคำตอบของเรื่องนี้หยุดอยู่ตรงที่ พีระมิดมักจะสร้างตามแนวแม่น้ำ และมักเร่งมือก่อสร้างในช่วงหน้าน้ำหลาก เพื่อขนส่งหินสี่เหลี่ยมทรงลูกบาศก์หนักหลายตันไปตามแม่น้ำ
จากบันทึกของหัวหน้าแรงงานที่ถูกพบบริเวณ ‘วาดี อัล-จาร์ฟ’ เมืองท่าริมทะเลแดง ได้บันทึกถึงการขนส่งหินที่ใช้ห่อหุ้มภายนอกพีระมิดไว้ยาวมาก เราจึงขอเล่าโดยย่อว่า พวกเขาใช้เรือในการลำเลียงหินจากตอนใต้เมืองทูรา พื้นที่ที่เต็มไปด้วยแร่หิน ใช้เวลาเต็มวันเต็มคืนขนหินลงไปยังพื้นที่จัดเก็บก้อนหินสำหรับการก่อสร้าง และนักวิจัยเชื่อว่าพวกเขาใช้วิธีสร้างทางลาดเพื่อเข็นหินขึ้นไปแต่ละชั้น
และจวบจนทุกวันนี้ พื้นที่แห่งนี้ยังคงเป็นปริศนาชิ้นเอกที่นักวิจัยอยากจะไขความลับให้ได้ เป็นความเซ็กซี่สำหรับผู้ชื่นชอบในทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ The MATTER เลยอยากชวนมาดูกันว่า ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมานี้ เราค้นพบ เข้าใจ และรู้อะไรเกี่ยวกับสุสานหลายพันปีแห่งนี้แล้วบ้าง?
- 1765 – นาธาเนียล เดวิสัน (Nathaniel Davison) ทูตชาวอังกฤษที่มีโอกาสได้ไปเยือนพีระมิดแห่งกีซา เขาเดินตามเสียงสะท้อนในทางเดินเข้าไปเรื่อยๆ เขาพบว่าหลังห้องของกษัตริย์ห้องของกษัตริย์มีช่องว่างที่สามารถคลานเข้าไปได้ หลังจากสำรวจเขาได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับห้องที่เขาค้นพบ เมื่อบันทึกของเขาถูกตีพิมพ์ ห้องว่างนั้นถูกเรียกว่า Davison’s Chamber
- 1818 – โจวันนี เบลโซนี (Giovanni Belzoni) นักสำรวจยุคใหม่ มีชื่อเสียงจากการลำเลียงรูปสลักครึ่งตัวของรามเสสที่ 2 ไปยังอังกฤษ แต่นั่นไม่ใช่เพียงงานเดียวในการเดินทางครั้งนั้น เขาเริ่มสำรวจมหาพีระมิด จนค้นพบวิหารอาบูซิมเบล และโบราณวัตถุอีกมากมาย
- 1837 – โฮเวิร์ด ไวส์ (Howard Vyse) นักอียิปต์วิทยา เป็นผู้นำการสำรวจพีระมิดแห่งกีซาของอังกฤษ ตั้งสมมติฐานว่าภายในมหาพีระมิดยังมีห้องที่ยังไม่ได้ค้นพบอยู่ จึงใช้ดินปืนยิงทะลุหินที่มีอายุหลายศตวรรษ จนพิสูจน์ได้ว่าเขาถูกต้อง เพราะสามารถค้นพบห้องฝังศพของฟาโรห์เมนเคอเรและห้องเพิ่มเติมอีก 4 ห้อง
- 1925 – จอร์จ แอนดรูว เรส์เนอร์ (George Andrew Reisner) นักอียิปต์วิทยา ค้นพบพีระมิดย่อยในบริเวณมหาพีระมิด เป็นส่วนหนึ่งของสุสานทางทิศตะวันออก พบว่าเป็นของราชินีเฮเทเฟเรสที่ 1 พระมารดาของฟาโรห์คูฟูผู้พำนักร่างอยู่ในพีระมิดแห่งกีซา ในห้องนั้นเต็มไปด้วยโบราณวัตถุอื่นๆ อีกมาก
- 1931-32 – เอมีล บาริซ (Émile Baraize) นักอียิปต์วิทยา เริ่มโครงการขุดค้นและบูรณะสฟิงซ์ครั้งใหญ่ ทั้งกำจัดทรายออกจนหมดและขุดค้นรอบๆ รวมถึงภายในพีระมิดเพื่อค้นหาห้องต่างๆ
- 1993 – รูดอล์ฟ กันเทนบริงก์ (Rudolf Gantenbrink) วิศวกรชาวเยอรมัน ใช้กล้องหุ่นยนต์สำรวจพื้นที่ทิ้งร้างบางส่วน จนพบประตูที่ถูกปิดผนึก
- 2006 – ฌ็อง ปิแอร์ ฮูแด็ง (Jean-Pierre Houdin) สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ศึกษาการสร้างพีระมิด ด้วยความร่วมมือจากบริษัทซอฟต์แวร์ 3 มิติ ใช้เทคโนโลยีการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อปรับปรุงและทดสอบสมมติฐานของเขา จนได้เสนอทฤษฎีทางลาดภายใน ในหนังสือ Khufu: The Secrets Behind the Building of the Great Pyramid
- 2015 – ScanPyramids Project ใช้รังสีคอสมิกสำรวจพื้นที่ด้านในโดยไม่ก้าวเข้าไป ค้นพบพื้นที่ขนาดใหญ่ ทางเดิน และทางเชื่อมไปยังพีระมิดอื่น
- 2023 – พบทางเดินยาว 9 เมตรด้านหลังทางเข้ามหาพีระมิด ซึ่งอาจนำไปสู่ห้องใหม่
- 2025 – นักวิทยาศาสตร์อ้างว่าพบโครงสร้างแนวตั้งขนาดใหญ่แปดจุดเชื่อมต่อทางเดินใต้ดินลึกหลายพันฟุต ด้วยเทคโนโลยี Synthetic Aperture Radar (SAR) อ่านภาพออกมาพบว่าใต้พีระมิดนั้น มีโครงสร้างคล้ายเสาขนาดใหญ่ โดยเสาแต่ละต้นนั้นมีเหมือนบันไดวนอยู่โดยรอบ สอดคล้องกับทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าพีระมิดนั้นเป็นโรงไฟฟ้า แต่การค้นพบนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน (แต่ฟังแล้วเซ็กซี่สุดๆ)
มนุษย์ตัวจ้อยอย่างเรายังมีเรื่องอีกมากมายบนโลกใบนี้ (รวมถึงนอกโลก) ที่ยังค้นไม่ค้นพบและไขคำตอบไม่ได้ เดิมทีเราอาจมองว่าความลึกลับจากธรรมชาตินั้น เราไม่อาจคาดคั้นหาคำตอบจากมันมาได้ทั้งหมด แต่สิ่งปลูกสร้างหลายพันปีแห่งนี้ก็เป็นอีกสิ่งลึกลับที่ไขคำตอบได้ยากเช่นกัน และช่วยยืนยันว่าแม้มนุษย์จะยังเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ แต่ก็ยังยืนหยัดท้าทายกับธรรมชาติมาตลอด ด้วยภูมิปัญญาในสมองขนาดเท่ากำปั้นนี้
เราเองก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ร้อยปีกว่าจะไขคำตอบเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างแสนซับซ้อนนี้ได้ แต่หากรู้คำตอบที่แน่ชัดในสักวัน ทฤษฎีมากมายที่เราเคยตั้งไว้อาจหมดความเซ็กซี่ไปเลยก็ได้นะ เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า การรู้คำตอบทั้งหมดหรือไม่รู้จะทำให้เราสนุกกับความลึกลับนี้ได้มากกว่ากัน
อ้างอิงจาก