ถ้าเป็นนิยายวายก็ ‘นายพินต้า’ พอมาเรื่องการเงินการลงทุนก็ ‘ลงทุนศาสตร์’ และท้ายสุดกับงานแนวสืบสวนสอบสวน ก็มีชื่อ ‘กิตติศักดิ์ คงคา’
งานเขียนทั้งสามแนวที่ดูจะไม่ค่อยไปทางเดียวกันเท่าไหร่นัก อันหนึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์โรแมนติก อีกหนึ่งว่าด้วยโลกแห่งการเงิน และท้ายสุดกับเรื่องราวอาชญากรรมและคดีฆาตกรรมอันแสนมืดหม่น
แม้จะบอกไปว่าหนังสือทั้งสามแนวมีเนื้อหาไปคนละทิศคนทะทาง แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งสามนามปากกาที่พูดถึงไปข้างต้น กลับมีนักเขียนอย่าง ‘เบส—กิตติศักดิ์ คงคา’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง คอยสร้างสรรค์เรื่องราวบนหน้ากระดาษ พร้อมสร้างให้ทั้ง 3 นามปากกาเป็นที่น่าจดจำและประสบความสำเร็จในวงการหนังสือไทย
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครคนหนึ่งจะสามารถเขียนหนังสือในหลากหลายแนวได้เช่นนี้ กว่าจะมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่มของเบส จึงมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องราวและเนื้อหา แต่ทุกหน้ากระดาษคือภาพสะท้อนซึ่งจะพาเราแกะรอยไปสู่ตัวตนเบื้องหลังทั้ง 3 นามปากกา
เมื่อการเขียนคือจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนของชีวิต
การเขียนหนังสือเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนในชีวิตของใครหลายคน เบสเองก็คงเฉกเช่นเดียวกัน เขาเล่าย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2018 ซึ่ง ณ ตอนนั้น การเขียนสำหรับเขายังเป็นเพียงการหัดเขียนสนุกๆ สำหรับลงแค่ช่องทางออนไลน์เท่านั้น ประกอบกับปัญหาในชีวิตที่ถาโถมเข้ามา การเขียนจึงเป็นสิ่งเดียวที่เขายังคงทำได้และทำมันอยู่
“ชีวิตในเวลานั้น ผมต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ตัวผมป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ตอนที่ป่วยมากๆ มีภาวะที่ไม่สามารถมีความสุขกับเรื่องในชีวิตประจำวันได้เลย ยังจำได้เมื่อครั้งไปพบจิตแพทย์ เขาถามผมว่า มีอะไรบ้างที่ทำแล้วมีความสุข ตอนนั้นเราดันมีความสุขกับการเขียน เรารู้สึกว่าที่มีความทุกข์เพราะชีวิตเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ แต่การเขียนกลับเป็นโลกที่เราควบคุมมันได้ราวกับพระเจ้า”
“การเขียนจึงเป็นเหมือนการเยียวยา นับแต่นั้นมาผมจึงหันมาเขียนหนังสือเป็นอาชีพอย่างจริงจัง”
เบสอธิบายต่อว่า การจะเขียนหนังสือออกมาได้ดี อารมณ์และความรู้สึกของเราในช่วงเวลานั้นของชีวิตก็เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเรากำลังมีความทุกข์มากๆ ก็คงไม่สามารถเขียนงานซึ่งเต็มไปด้วยความมืดหม่นได้ เพราะสำหรับเขา การต้องเขียนงานในทำนองดังกล่าว อาจทำร้ายจิตใจผู้เขียน แถมยังเพิ่มความเครียดได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสาเหตุมันก็มาจากการต้องศึกษาหาข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็นที่มันค่อนข้างจะอ่อนไหว ในทางกลับกัน หากช่วงชีวิตในตอนนั้นมีความสุข ก็จะสามารถเขียนงานได้หลากหลายมากขึ้น
นั่นจึงทำให้หนังสือเล่มแรกของเบสเป็นนิยายวาย-โรแมนติก อย่าง ‘เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น’ ซึ่งตามที่เขาได้กล่าวไป เมื่อชีวิตอยู่ในช่วงทุกข์ การเขียนงานที่มีความสุขก็เปรียบเสมือนการเยียวยาชีวิตไปในตัวเองไปด้วยในตัว
“ชีวิตในตอนนั้น มันเครียดมาก ปัญหาหลายอย่างรุมเร้า เราเลยอยากเขียนอะไรที่มันเหมือนได้หนีจากโลกใบนี้ ต้องการอะไรที่มีแต่ความสุข มีแต่รอยยิ้ม งานชิ้นแรกจึงออกมาเป็น แนวโรแมนติกหวานๆ ตัดกับความจริงของชีวิตซึ่งไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่ามีความสุขเลย”
อย่างที่เราทราบกันดีว่า เบสไม่ได้สร้างสรรค์งานเพียงแค่แนวนิยายวาย-โรแมนติกเท่านั้น แต่ยังมีหนังสืออีกมากมายหลากหลายแนว อันเป็นอีกประเด็นชวนให้เราสงสัยต่อว่า อะไรคือจุดสำคัญซึ่งทำให้ตัวของเขาเปลี่ยนประเภทหนังสือที่เขียน แล้วการเปลี่ยนแนวส่งผลต่อตนเองในฐานะนักเขียนอย่างไร?
เบสไม่รอช้า รีบตอบข้อสงสัยนั้นของเราทันที โดยใจความสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแนวและประเภทการเขียนหนังสือของตัวเอง หลักๆ มาจาก การเป็นคนที่ค่อนข้างสมาธิสั้นและขี้เบื่อง่าย อีกทั้ง การต้องเขียนอะไรซ้ำๆ เป็นเวลานาน พอถึงจุดหนึ่งมันก็จะหมดไฟ หรือกระทั่งเบื่อที่จะเขียนหนังสือไปเลยก็ได้เช่นกัน
ดังนั้น การเปลี่ยนประเภทหนังสือที่เขียน จึงเป็นทางออกสำหรับเรื่องนี้ได้ดีที่สุด “เราใช้วิธีที่เปลี่ยนแนวไปเรื่อยๆ พอเขียนแนวนี้เล่มจบ 1 เล่ม รู้สึกว่ายังไม่ทันเบื่อเลย ก็เปลี่ยนไปเขียนแนวอื่น มันทำให้เหมือนเราได้รีเฟรชอยู่ตลอดเวลาด้วย”
“แนวหนึ่งเราจะเขียนสักประมาณ 1-2 เล่มต่อปี มันจะไม่ได้วนมาบ่อยขนาดนั้น แล้วกว่าที่มันจะวนกลับมาเขียนแนวเดิมอีกรอบ ก็จะมีเวลาในการเก็บสะสมคลังข้อมูล เก็บสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ประทับใจ สมมติว่าต้องเขียนงานแนวโรแมนติก มันก็จะมีอยู่ไม่กี่ท่า แบบการเจอกัน การบอกรัก ฯลฯ พอเราเขียนต่อกันมากๆ งานมันก็จะค่อยๆ แห้ง เพราะเราไม่มีไอเดียใหม่ๆ มาใส่ พอเราเว้นจังหวะไว้สักหน่อย งานมันก็สดขึ้น ใหม่ขึ้น แล้วตัวเราเองก็สดชื่นด้วย เพราะเราได้เขียนหลายๆ แบบ”
เบสอธิบายเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแนวการเขียนยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของการตลาดด้วยเช่นเดียวกัน โดยเขาได้ยกตัวอย่างให้เราฟังว่า ตัวเขาเองออกหนังสือมาอย่างต่ำปีละ 6 เล่ม ถ้าต้องออกแนวเดียวกันทั้งหมด 6 เล่มเลย คนอ่านก็อาจตามอ่านไม่ไหว การแบ่งแนวหนังสือที่เขียนให้หลากหลายขึ้น จึงช่วยเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มผู้อ่านไปด้วยในเวลาเดียวกัน หรือในส่วนคนที่ตามงานใดงานหนึ่งโดยเฉพาะ ก็สามารถซื้อเล่มเดียวต่อปี และอ่านทันได้ด้วย
“ต่อให้การเขียนมันสนุกเหมือนกันหมด
แต่การเขียนในแต่ละแบบมันก็มีความตื่นเต้น สนุก การทำงานที่ไม่เหมือนกัน
เอาง่ายๆ ว่า ทุกอย่างเป็นความสุขหมด
แต่การเขียนงานแต่ละแบบมันก็ให้ความสุขเป็นคนละเฉดสี”
การเขียนงานที่หลากหลายคือความท้าทายหนึ่งของชีวิต
“ผมว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการหาจุดตรงกลาง ระหว่างสิ่งที่คนอ่านอยากอ่านกับเราอยากเขียน ถ้าเราอยากเขียนอย่างเดียวเนี่ย เราก็เขียนอะไรไปเรื่อยเปื่อย มันก็ไม่มีคนอ่าน ไม่มีคนซื้อ แต่หากเราเขียนอะไรที่เขาอยากอ่านอย่างเดียว วันหนึ่งเราก็หมดไฟ ทำแต่งานตามใจนักอ่าน ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเลย”
การหาจุดกึ่งกลางระหว่างนักเขียนและนักอ่านนับเป็นความท้าทายหนึ่งสำหรับนักเขียน อย่างไรก็ตาม สำหรับเบสแล้ว ความท้าทายอาจยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อต้องเขียนหนังสือหลากหลายเล่มในหลากหลายแนว
“การเขียนงานแต่ละแนว มันไม่สามารถก็อปปี้-เพสต์ (copy-paste) ได้ จะแค่เปลี่ยนเนื้อเรื่องข้างใน ยิ่งไม่ได้เลย เพราะวิธีการเล่าเรื่องมันก็คนละแบบ เพสซิ่ง (pacing) เป็นสิ่งสำคัญในการเล่าเรื่อง จังหวะความเร็วความช้าในการเล่าเรื่อง สิ่งที่ต้องขยี้ สิ่งที่ต้องขยาย และสิ่งที่ต้องขยับ มันต่างกันหมดเลย เพราะกลุ่มนักอ่านมีความต้องการไม่เหมือนกัน”
“เราต้องเข้าใจนักอ่านให้ดี เข้าแนวเรื่องที่ทำงาน มันจะทำให้เราสามารถบริหารจัดการงานที่ทำได้ ไม่งั้นถ้าเราเขียนหลายแนว แต่เขียนเหมือนกันไปหมด มันก็เหมือนเราเขียนจับฉ่าย กลายเป็นว่านักอ่านไม่มีใครชอบงานเราสักแนว เพราะมันไม่ได้ตรงใจใครจริงๆ ”
แม้การเขียนในหลากหลายแนว จำต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการเล่าเรื่องหรือวิธีการเขียน จนบางครั้งก็อาจแตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง แต่เชื่อว่าในงานเขียนแต่ละแนวของเบส น่าจะหลงเหลือเศษเสี้ยวบางอย่าง อันเป็นจุดร่วมสำคัญที่สะท้อนความเป็นกิตติศักดิ์ คงคาไว้ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญ ที่ช่วยให้นักอ่านจดจำชื่อนักเขียนคนนี้ได้ดี
สำหรับเบส แก่นกลางร่วมกันอย่างหนึ่งของงานเขียนแต่ละประเภท คือความเข้าใจในกลุ่มคนอ่านเป็นอย่างดี จนสามารถถ่ายทอดงานออกมาได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย หรืออาจกล่าวง่ายๆ จุดร่วมไม่ได้มีเป็นรูปธรรม แต่มันคือกรอบคิดที่ถูกครอบไว้ในงานทุกชิ้น
“วันนี้ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าตนเอง เข้าใจกลุ่มคนอ่านได้ดี ดังนั้นเวลาเราทำงาน เราเชื่อมั่นสัก 80% ว่างานที่ออกไปค่อนข้างจะตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ในทุกแนวผมจะใช้คำว่า ผมจะพยายามเขียนให้ตรงแนวที่สุด ซึ่งคำว่าตรงแนว มันเป็นคำที่ค่อนข้างกว้างนะ มันอาจไม่ใช่ซิกเนเจอร์ (signature) ว่ามันจะต้องมีคำนี้อยู่ในทุกเล่ม แต่มันเป็นวิธีคิดที่ใช้กรอบเดียวกัน ซึ่งค่อยๆ ดัดให้มันตรงกลุ่มนักอ่าน”
“มันคือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ
ผมต้องทำความเข้าใจมันอย่างมากว่า
นักอ่านแต่ละคนต้องการอะไรจากงานหนึ่งชิ้น”
ก้าวหนึ่งของความสำเร็จในฐานะนักเขียน
“เราเป็นคนทำงานแบบมีเป้าหมายมาตลอดชีวิต เราชอบตั้งคำถามว่ามันต้องทำไปถึงตรงไหน เพื่อเราจะได้ถอดไอเดียกลับมาได้ว่า เราจะทำสิ่งนั้นไปได้อย่างไร ซึ่งพอเรามาทำตรงนี้จริงๆ เราก็เข้าใจไปเองว่า เราต้องมีหนังสือรางวัล หนังสือที่ได้ไปทำละคร หรือเราต้องทำยอดขายได้เยอะๆ แต่พอกลับมาเจอจริงๆ ทั้งหมดมันมุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการที่เราอยากเป็นนักเขียนที่นักอ่านยอมรับ มีคนรู้จักและชื่นชอบผลงานเราจริงๆ ”
“ซึ่งตลอดเวลาที่ทำงานมา พองานมีความเฉพาะตัวมากๆ กลุ่มคนอ่านก็จะเป็นกลุ่มๆ ตัวเราเองจึงอยากมีผลงานสักชิ้นที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง นักอ่านหลายๆ คนรู้จักหนังสือเล่มนี้”
“สำหรับผม ผมสามารถไปถึงเป้าหมายนั้นได้แล้ว เพราะผมได้ขายหนังสือ ‘กาสักอังก์ฆาต’ มา ซึ่งปัจจุบันมันตีพิมพ์เกือบจะ 20 ครั้งแล้ว ผมรู้สึกว่ามันมีนักอ่านจำนานมากรู้จักผลงานชิ้นนี้ แล้วเราเองก็รู้สึกว่ามันมีคนอ่านที่ชื่นชอบเราจากตัวผลงานจริงๆ มีคนที่ตามอ่านตามสนับสนุนเรา”
“มันไม่มีถ้วยรางวัล มันไม่ได้มียอดขาย มันไม่ได้มีตัวเลข ไม่ได้ให้อะไรเราทั้งนั้นในเชิงของการเป็น KPI ที่จับวัดได้ แต่สุดท้ายแล้วมันเป็นความรู้สึกของตัวเอง เหมือนเราหันกลับมาถามตัวเราว่า วันนี้คุณประสบความสำเร็จในแบบที่คุณอยากเป็นแล้วหรือยัง วันหนึ่งเราก็ตอบตัวเองมาอย่างมั่นใจและยินดีว่า เราประสบความสำเร็จในแบบที่เราเป็นแล้ว”
พอเบสบอกเราว่า ตัวเขาเดินมาถึงจุดที่สามารถเรียกได้แล้วว่ามันคือความสำเร็จในฐานะนักเขียนอย่างแท้จริง จึงชวนให้เราสนใจต่อว่า แล้วตัวเขายังมีขั้นถัดไปที่ยังอยากไปให้ถึงหรือไม่?
“อย่างที่ตอบไป ผมรู้สึกตนเองเข้าเส้นชัยไปตั้งแต่กาสักอังก์ฆาตแล้ว มันเติมเต็มชีวิตจนถึงขั้นเราไม่จำเป็นต้องเจียนต่อไปก็ได้ เรารู้สึกคอมพลีท (complete) เหมือนเราเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว หลังจากนี้มันจึงเป็นเหมือนชีวิตหลังเส้นชัยมากกว่า หมายถึงว่า ที่เหลือเราอยากทำงานต่อไป เพราะเราอยากตอบแทนคนอ่านที่ชื่นชมเรา เขายังอยากอ่านผลงานของเราอยู่ เราก็ไม่อยากทำให้เขาผิดหวัง ก็อยากทำผลงานที่ดีขึ้นไปให้เขา”
“แต่ถ้าถามทุกวันนี้ ผมก็ไม่ได้มีเป้าหมายอีกแล้วในเชิงของการเป็นนักเขียน คือไม่ได้อยากจะมีหนังสือขายดีไปกว่านี้ เพราะคิดว่ากาสักอังก์ฆาตก็เป็นจุดสูงสุดของชีวิตแล้ว ไม่ได้อยากจะขายงานไปทำละครเยอะแยะแล้ว เพราะทุกวันนี้ก็ขายมาเป็นสิบเรื่อง หรือรางวัลด้านวรรณกรรม ก็ได้มากว่า 60 รางวัล เกือบทุกเวทีในประเทศแล้ว มันเยอะมากจนรู้สึกว่ามันถึงจุดที่เราควรจะหยุดวิ่ง แล้วหันมาอิ่มเอมกับสิ่งที่มีอยู่สักที”
ถ้าอยากให้นักอ่านรู้จักกับเรามากขึ้น เล่มไหนบ้างที่อยากแนะนำ
จวบจนช่วงสุดท้ายของการพูดคุย เราจึงอยากให้เบสได้แนะนำหนังสือของตนเอง ที่พอจะช่วยให้นักอ่านหน้าใหม่ ได้รู้จักตัวตนหรือเข้าใจความเป็นกิติศักดิ์ คงคามากขึ้น สักหน่อย ซึ่งตัวเขาก็ได้หยิบยกมา 3+1 เล่ม อันเป็นหนังสือที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับนักอ่านหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกับนักเขียนผู้นี้
“เล่มแรกก็คงต้อง กาสักอังก์ฆาต นะ ซึ่งถือเป็นผลงานสืบสวนเต็มตัวเล่มแรก แล้วก็เป็นผลงานที่เปลี่ยนชีวิตเลย อีกทั้งยังเป็นผลงานที่พูดได้เต็มปากว่า ทำให้ผมเป็นนักเขียนที่มีคนรู้จักจริงๆ เล่มนี้เป็นผลงานในฐานะเลกาซี (Legacy) แล้วกัน หมายถึงว่า เป็นผลงานที่เปลี่ยนชีวิตผมเลย ดังนั้น จึงให้เกียรติกับเล่มนี้ที่สุด”
โดยตัวเบสก็ได้ตอกย้ำกับทางเราซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “ถ้าอยากอ่านหนังสือผม อยากรู้จักตัวผมจริงๆ กาสักอังก์ฆาต น่าจะตอบทุกอย่างได้”
“เล่มที่สอง เป็นเล่มเชิงจิตวิญญาณข้างในแล้วกัน ผมชอบ ‘จวบจนสิ้นแสงแดงดาว’ ครับ เป็นเรื่องของราชวงศ์กัมพูชาตาบอด ที่ต้องหนีสงครามเขมรแดงมายั่งฝั่งไทย โดยมีผู้นำทางชื่อ ‘อุทิศ’ เป็นคนรับใช้ในบ้าน ทั้งเรื่องตัวละครเอก คนเล่าเรื่องไม่เห็นอะไรเลย ตอนเขียนเรื่องนี้ ผมรู้สึกได้ดึงจิตวิญญาณข้างในมาค้นหาและตามหาบางสิ่งบางอย่างในชีวิตออกมา ได้มาเจอตัวตนความเย่อหยิ่งเหมือน ‘รุธิระ’ ตัวเอก แต่ตาบอด ไปไม่ถูกกับชีวิต กับ อุทิศ ผู้เป็นคนถ่อยตัว ต่อสู้ และไม่ยอมแพ้”
“เราเห็นตัวเองอยู่ในหนังสือเล่มนี้เยอะมาก มันเป็นหนังสือที่น่าจะเป็นตัวผมสูงมากๆ อีกเล่มหนึ่งเลยก็ว่าได้”
“เล่มที่สาม อยากพูดถึง ‘หนึ่งนับวันนิรันดร’ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันเป็นนิยายที่ผมเขียนเป็นเรื่องที่สองของชีวิตเลย แต่กว่าจะถึงวันที่หนังสือเล่มนี้ได้ออก ก็เป็นเล่มที่ประมาณที่ 20 แล้ว เพราะผมแก้แล้วแก้อีกกว่า 5 รอบ การแก้ในที่นี้คือ ผมเริ่มเขียนใหม่ทั้งหมด ไม่ได้เอาต้นฉบับเก่ามานั่งแก้นะ และหนังสือเล่มนี้เขียนไปน่าจะเกือบ 1,000 หน้า A4 แต่ท้ายสุดมีต้นฉบับตีพิพม์แค่ 100 หน้า A4 เท่านั้น”
“ผมผูกพันกับพล็อตของหนึ่งนับวันนิรันดรมาก เป็นสิ่งที่คิดขึ้นมาในหัวแล้วไม่สามารถเอาออกจากหัวได้อีกเลย และผมยังต่อสู้กับการจะทำหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นนิยายให้ได้ มันก็เลยมีความผูกพันในแง่ของการทั้งรักทั้งเกลียด มันเป็นตัวแทนแห่งความจับจดของผม ที่ผมเขียนหนังสือเล่มเดียวได้ตั้ง 5 รอบ”
หลังจากเบสได้ให้ชื่อหนังสือ ซึ่งสามารถพาผู้อ่านไปรู้จักกับตัวตนของนักเขียนผู้นี้มากขึ้นแล้ว เรายังรู้มาอีกว่า เขากำลังมีผลงานแนวสืบสวนเล่มใหม่อีกหนึ่งเล่ม ที่เพิ่งเปิดให้พรีออเดอร์กันไปไม่นานมานี้ เราจึงอยากชวนเบสมาพูดถึงหนังสือเล่มนี้กันอีกสักนิด
หนังสือเล่มใหม่ล่าสุด มีชื่อว่า ‘รจเลขกัมมันต์’ เป็นหนังสือในชุดฝาแฝดยอดนักสืบเช่นเดียวกันกับกาสักอังก์ฆาต ซึ่งเบสอยากให้ไทยมีเซ็ตนักสืบเป็นของตัวเอง มีหลายเล่มมาต่อกัน คล้ายกับ คินดะอิจิ เชอร์ล็อค โฮมส์ หรือ ปัวโรต์ โดยในเล่มนี้จะเล่าผ่านสายตาของพี่ชายที่เป็นตำรวจนักสืบ ซึ่งต้องปลอมตัวเป็นนักโทษในเรือนจำ เพื่อไปสืบคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในเรือนจำ
“หนังสือเล่มนี้ นอกจากในเชิงความสนุกที่เราตั้งใจไว้ว่า จะต้องมีคดีซับซ้อนที่จะเล่าให้คนอ่านตื่นเต้นและประทับใจแล้ว ซึ่งหนึ่งคือเราได้ไปสัมภาษณ์อดีตนักโทษจริงๆ ได้ไปสัมภาษณ์ผู้คุม หรือแม้แต่ตำรวจที่ส่งคนเข้าไปอยู่ในเรือนจำ สายตาทุกคนที่มองไปที่เรือนจำ มันแตกต่างกันหมดเลย เราค่อยๆ ทำความรู้จักสถานที่แห่งนี้ สถานที่ที่เราไม่มีวันรู้จักด้วยตนเอง ผ่านสายตาหลายๆ คน”
“สิ่งหนึ่งที่มันกระทบใจมากที่สุด คืออดีตนักโทษคนหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่า จริงๆ เรือนจำ อาจไม่ได้เป็นภาพจำอย่างที่ทุกคนรู้จักนะ เพราะเรือนจำมันมีความหวังอยู่เยอะเลย คนข้างในก็มีความหวังที่จะกลับมามีชีวิตแบบคนข้างนอกมี ดังนั้น การอยู่ในเรือนจำ จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องต่อสู้ในเชิงจิตวิญญาณที่สุด เพราะมันต้องอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป คุณถึงจะมีชีวิตอยู่”
เบสเสริมว่า การเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ส่วนหนึ่งเพราะอยากนำเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอดต่อ ให้คนได้มองเห็นภาพอดีตนักโทษหรือผู้ทำความผิดในอีดแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเขาก็ได้เน้นย้ำว่า นี่ไม่ใช่การ romanticize เพียงแต่อยากให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องยอมรับความผิดพลาดของเขาก็ได้ แต่เราอาจต้องยอมรับในความเป็นมนุษย์ของพวกเขา
และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังของนักเขียนผู้อยู่เบื้องหลังทั้งสามนามปากกา ไม่เพียงแต่ความทุ่มเทและความตั้งใจซึ่งถูกใส่มาในแต่ละเล่ม หนังสือของเขาก็ยังเป็นเสมือนภาพสะท้อนตัวตน ที่ช่วยให้ผู้อ่านได้รู้จักกับมุมมองและความคิด อีกทั้ง ยิ่งแต่ละนามปากกานำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างกันด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เราได้เห็นถึงอีกหลายๆ แง่มุมของความเป็น ‘กิตติศักดิ์ คงคา’ ได้ดีมากยิ่งขึ้น