จ.เชียงใหม่ นอกจากเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย ยังเป็นสนามการเมืองอันดุเดือด ไม่เพียงเป็นบ้านเกิดของอดีตนายกฯ ใน ‘ตระกูลชินวัตร’ หลายคน ยังเป็นจุดที่คนต่างรุ่น ต่างอุดมการณ์มาประชันความคิดกันผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง
รายการนอกBangkokชวนอาจารย์ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเล่าถึงพฤติกรรมการเลือกผู้แทนของคนเชียงใหม่ ในการเมืองระดับต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่น เช่น อบต., เทศบาล, อบจ. ไปจนถึงระดับชาติอย่าง ส.ส. ว่าพวกเขาใช้ปัจจัยอะไรในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครให้เป็นตัวแทนของพวกเขา
อีกคำถามสำคัญก็คือ จ.เชียงใหม่มีความสำคัญแค่ไหนสำหรับตระกูลการเมืองที่ปัจจุบันขึ้นไปสู่ระดับชาติแล้วอย่าง ‘ชินวัตร’
ชวนไปติดตามกันดู
จากเลือก ‘คน’ มาสู่ ‘พรรค’
การเมือง จ.เชียงใหม่สะท้อนภาพของวัฒนธรรมทางการเมืองของผู้คนซึ่งยืนบนฐานแบบนิยม ‘ตัวบุคคล’ การเลือกตั้งในอดีตก็เลยจะที่เน้นตัวบุคคลมากกว่าพรรคการเมือง ทำให้ ส.ส.มีอำนาจในการต่อรองกับพรรคการเมือง เพราะเขามั่นใจว่าไม่ว่าจะอยู่พรรคไหน คนก็ยังจะเลือกเขาอยู่
จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ส. และการกำเนิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย (ทรท.) มาเปลี่ยนสิ่งนี้ไป คือแม้การยึดโยงตัวบุคคลจะยังมีอยู่ แต่ความสำคัญของพรรคการเมืองมีมากขึ้น
ในการเลือกตั้งปี 2544 ทรท.นอกจากชูภาพ ‘นายกฯ คนเหนือ’ คือคุณทักษิณ ชินวัตรที่เป็นคน อ.สันกำแพง เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นพวกพ้อง ยังมีการชูนโยบายเน้นเศรษฐกิจรากฐานให้กับชุมชน กระทั่งมีการพูดกันเยอะว่า ทรท. ‘เอาเสาไฟฟ้า’ มาลงที่ จ.เชียงใหม่ ก็จะได้รับเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งผู้แทนไม่ว่าระดับไหน สำหรับคน จ.เชียงใหม่ การรู้สึกเป็นพวกเดียวกันมีความสำคัญ น้องเป็นคนที่ไหน? เป็นคนบ้านไหน? สมมุติเราจะเล่นการเมือง เริ่มจากระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก่อน ก็จะถูกถามว่าเป็นคนในตำบลนั้นหรือเปล่า อีกส่วนที่สำคัญคือพูดเหนือเป็นไหม ไม่ใช่ว่าเป็นคนเหนือแต่ไปอยู่ กทม.มา กลับมาพูดเหนือไม่ได้ เคยมีระหว่างไปลงพื้นที่เก็บข้อมูล ผู้สมัครคนหนึ่งไปหาเสียงแล้วพูดภาษากลาง ชาวบ้านก็บ่นว่า ‘เอ๊าบ่ใช่คนเหนือก๋า’ มันมีผลต่อความรู้สึกมาก
อีกปัจจัยคือคุณอยู่พรรคอะไร มาจากสายไหน เป็นคนในตระกูลการเมืองหรือเปล่า
ตระกูลการเมืองในเชียงใหม่
เมื่อพูดถึง ‘ตระกูลการเมือง’ ต้องถามว่ามองจากปัจจัยอะไร เช่น คนในครอบครัวเป็นนักการเมืองหลายคนหลายตำแหน่ง หรือเป็นนักการเมืองคนเดียวแต่ครองอำนาจยาวนาน
มันมีงานวิจัยของนักวิชาการหลายคน เช่นงานของคุณสติธร ธนานิติโชติจากสถาบันพระปกเกล้า ก็จะบอกว่าตระกูลการเมืองจะหมายถึงการสืบทอดการดำรงตำแหน่งผ่านกลไกการเลือกตั้ง ซึ่งหากยึดตามนิยามนี้ใน จ.เชียงใหม่ก็มีตระกูลการเมืองหลายตระกูลที่ค่อนข้างมีอิทธิพลจนดำรงตำแหน่งได้ยาวนาน เช่น ‘ตระกูลบูรณุปกรณ์’ ซึ่งเป็นทั้ง ส.ส. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ หรือ ‘ตระกูลชินวัตร’ ที่มีทั้งคุณทักษิณ, คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, คุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยคุณทักษิณก็เคยเป็นถึงนายกฯ จนมาถึงอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2566
คือการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองมันเกิดขึ้นในครอบครัวนั้นๆ มาอย่างยาวนานและมีการส่งต่อบทบาทหน้าที่ ส่งต่อองค์ความรู้หลายๆ อย่าง ทำให้มีโอกาสหรือทรัพยากรในการเข้าสู่การเมืองมากกว่าคนอื่น
และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 และปี 2566 เป็นรอยต่อที่สำคัญของเจนเนอเรชั่น การเลือกตั้งรอบหลังๆ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น มีทายาทนักการเมืองลงสมัครเยอะมาก
จังหวัดของ ‘ชินวัตร’ จริงไหม?
จ.เชียงใหม่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่อาจจะเป็นความรู้สึกของผู้คน เพราะเห็นคนครอบครัวนี้ขึ้นไปถึง ‘จุดสูงสุด’ ของการเป็นผู้นำทางการเมือง เลยคิดว่าคนตระกูลนี้เป็นตัวแทนของจังหวัดด้วย
สิ่งที่ได้ยินมาตั้งแต่การเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2562 และเลือกตั้ง อบต.ในปี 2563 ก็คือคำว่า ‘เชียงใหม่..แพ้ไม่ได้’ คำถามคือทำไม อาจเพราะในความรู้สึก นี่คือบ้านฉัน ฉันต้องชนะ
แต่ถ้าพูดแบบนั้น อาจทำให้รู้สึกว่าเหมือนเขาโฟกัสแต่ จ.เชียงใหม่ที่เดียว ทั้งที่จริงๆ เขาต้องการ landslide ทั้งประเทศ แต่เชียงใหม่ก็เป็นเหมือน ‘ศึกศักดิ์ศรี’ นี่บ้านเกิดเขา เป็นนายกฯ มาตั้ง 2-3 คน และได้ ส.ส.มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้รับชัยชนะคือกลไกและกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ ทั้งระดับตำบลและจังหวัด เพราะก่อนที่จะได้เลือกตั้ง ส.ส. มันมีการเลือกตั้งในหลายระดับทั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) นายกเทศมนตรี อบต. และ อบจ.
สิ่งที่ต้องเน้นคือ อย่าเอาการเลือกตั้ง ส.ส. ไปวัดการเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนมาเป็นอันดับสองใน 5-6 เขต จากทั้งหมด 9 เขต ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย เซอร์ไพรส์มากๆ แต่การเลือกตั้ง อบจ.และ อบต.ในปีถัดๆ มา กลับได้คะแนนไม่สูงเลย นั่นแปลว่า ‘วิธีการเลือกตั้ง’ ของคนเชียงใหม่ ในระดับชาติกับท้องถิ่นมันแตกต่างกัน
วิธีเลือกตั้งของ ‘คนรุ่นใหม่’
คนรุ่นใหม่ใน จ.เชียงใหม่มีความผูกพันกับการเมืองระดับชาติมากกว่าระดับท้องถิ่น เขาจะมองเรื่องของพรรค นโยบาย และอุดมการณ์ ฉะนั้นการแสดงออกทางการเมืองของเขาจะไปแสดงออกออกผ่านกลไกการเลือกตั้งระดับชาติ
ตอนที่ไปทำงานวิจัยให้กับสถาบันพระปกเกล้าก็พบว่า คนรุ่นใหม่จะไปสนใจการเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2562 มากกว่า ต่างกับตอนเลือกตั้ง อบจ.ในปี 2563 ที่จะพบว่าไม่ตื่นตัวเลย ทั้งๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังแค่ปีเดียว
อีกปัจจัยที่น่าสนใจ คือใน จ.เชียงใหม่มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 10 กว่าแห่ง การจัดเลือกตั้งช่วงสอบอาจจะมีผลต่อการไปลงคะแนนได้ อย่างการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2566 ที่จัดช่วงปิดเทอม เด็กกลับบ้านครึ่งมหาวิทยาลัย บางพรรคจะมาจัดเวทีปราศรัยก็พบว่า ปิดเทอม ไม่มีใครมาฟัง
การเมืองเชียงใหม่กับระดับชาติ
สนามเลือกตั้งใน จ.เชียงใหม่เป็นภาพสะท้อนบางอย่างให้กับการเมืองระดับชาติได้ อย่างตอนเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 เราจะเห็นภาพการต่อสู้อย่างเข้มข้นของ 2 พรรคการเมือง คือเพื่อไทยกับอนาคตใหม่
สิ่งที่น่าสนใจคือกรณีคุณศรีนวล บุญลือ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 จากพรรคอนาคตใหม่ ได้เป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งซ่อม หลังจาก กกต.แจกใบส้มให้กับผู้สมัครที่ชนะเลือกจากพรรคเพื่อไทย เพราะมันเป็นการเลือกระหว่างพรรคที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ กับอีกข้าง ทำให้คุณศรีนวลได้คะแนนถึงกว่า 80,000 เสียง มากที่สุดในประเทศไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้แพ้เลือกตั้งด้วยซ้ำ
กรณีนี้จึงเป็นการสะท้อนภาพที่ไม่ใช่แค่เลือกผู้แทน แต่เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์
พอมาถึงการเลือกตั้งนายก อบจ. ในปี 2563 คุณทักษิณก็ลงทุนเขียนจดหมายน้อยมาให้เลือกผู้สมัครท่านหนึ่ง เพื่อปะทะกับอีกกลุ่มการเมืองหนึ่ง ตระกูลชินวัตรลงมาช่วยหาเสียงเยอะ เราก็คิดถึงว่าต้องทำขนาดนี้เลยเหรอกับการเลือกนายก อบจ.
แต่พอเป็นแบบนี้จะเห็นได้ว่า จ.เชียงใหม่เป็นพื้นที่ปักธงของ ‘ศึกศักดิ์ศรี’ บางอย่าง
วิธีตอบโต้นักการเมืองที่ ‘ไม่ชอบ’
ความรู้สึกของคนเชียงใหม่กับคุณศรีนวล ที่ภายหลังย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย
หลายๆ คนก็รู้สึกรับไม่ได้ แม้จะมีการอ้างว่า ที่ย้ายไปอยู่พรรคร่วมรัฐบาลน่าจะช่วยให้พัฒนาพื้นที่มากขึ้นได้
สิ่งที่คนเชียงใหม่ทำกับคนที่พวกเขาไม่ยอมรับ แม้จะไม่เล่นกันแรง แต่จะใช้วิธีหันหลังให้ อารยะขัดขืนเบาๆ ต่างกับคนที่เขาชอบ ก็จะเข้าไปกอด ถ่ายรูป รับใบปลิว สู้ๆ นะ แต่ถ้าเป็นคนที่เขาไม่ชอบ มากที่สุดคือเสียงโห่ หรือไม่ก็หันหลัง ignore ไปเลย
ความเปลี่ยนแปลง
ปัญหาของ จ.เชียงใหม่ คนชอบคิดเรื่องการท่องเที่ยว เศรษฐกิจปากท้อง แต่ตอนนี้สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ผสมกับเรื่องคุณภาพชีวิตคนและระบบสาธารณสุข ในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 แต่ละพรรคแทบจะไม่พูดถึงเรื่องปัญหาฝุ่นควันหรือ PM2.5 เลย แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 หลายพรรคหันมาพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น
การเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ระหว่างปี 2562-2566 เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงใน 4 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ผู้หญิง 2.ชาติพันธุ์ 3.คนรุ่นใหม่ และ 4.LGBTQ ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งนโยบายและวิธีในการหาเสียง
การเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2562 ทำให้มี ‘ส.ส.ชาติพันธุ์’ เข้าไปในสภา คือคุณมานพ คีรีภูวดล และเรายังได้เห็น ‘ส.ส.LGBTQ’ มาแล้ว
ส่วนตัวมีความฝันอยากเห็นสัดส่วน ส.ส.หญิงในสภามีมากขึ้น เพราะจากเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 มีสัดส่วนผู้หญิงเข้าไปในสภาแค่ 15.6% เท่านั้นเอง ด้านหนึ่งอาจเพราะคนรู้สึกว่า การเมืองเป็นพื้นที่ของผู้ชาย และอีกด้านเป็นปัจจัยเรื่องของความเชื่อและวัฒนธรรม ทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับอะไรบางอย่างจนทำให้ไม่มีโอกาสทำงานการเมือง เช่น ต้องดูแลครอบครัว อีกด้านก็คือ ส.ส.หญิงจะถูกโจมตีได้ง่าย วาทกรรม ‘ผู้หญิงเลว’ ในสังคมไทยมีเยอะมาก ทั้งที่จริงๆ มันไม่ควรถูกตราหน้าแบบนั้น
การเลือกตั้งระยะหลังๆ ไม่เฉพาะใน จ.เชียงใหม่ เราจะเห็นได้ว่า voter เก่งขึ้น รู้เลยว่าอะไรคือประโยชน์ของเขาในระยะยาว และเริ่มหันไปมองประเด็นที่มันหลากหลายมากขึ้น
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนผ่านของเจนเนอเรชั่น ไม่เฉพาะประชาชนยังรวมถึงผู้สมัคร จากที่สมัยก่อนจะบอกกันว่า คุณต้องอายุเท่านี้ๆ ถึงจะทำงานการเมืองได้ แต่ ณ วันนี้เราจะเห็นความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่เขามีโอกาสในการเข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ